ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
๓. เสขปฏิปทาสูตร
ว่าด้วยผู้มีเสขปฏิปทา
[๒๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ. ก็สมัยนั้น สัณฐาคารใหม่ที่พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ให้สร้างแล้วไม่นาน อันสมณพราหมณ์ หรือมนุษย์ผู้ใดผู้หนึ่งยังมิได้เคยอยู่เลย. ครั้งนั้น พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานพระวโรกาส สัณฐาคารใหม่อัน พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ให้สร้างแล้วไม่นาน อันสมณพราหมณ์หรือมนุษย์ผู้ใดผู้หนึ่งยังมิได้ เคยอยู่เลย ขอเชิญพระผู้มีพระภาคทรงบริโภคสัณฐาคารนั้นเป็นปฐมฤกษ์ พระผู้มีพระภาค ทรงบริโภคเป็นปฐมฤกษ์แล้ว พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์จักบริโภคภายหลัง ข้อนั้น พึงมี เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์สิ้นกาลนาน. พระผู้มีพระภาค ทรงรับด้วยดุษณีภาพ. ลำดับนั้น พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ ทราบการรับของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกขึ้นจาก อาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วเข้าไปยังสัณฐาคารใหม่ แล้วสั่งให้ ปูลาดสัณฐาคารให้มีเครื่องลาดทุกแห่ง ให้แต่งตั้งอาสนะ ให้ตั้งหม้อน้ำ ให้ตามประทีปน้ำมัน แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายปูลาด สัณฐาคาร ให้มีเครื่องลาดทุกแห่ง แต่งตั้งอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ ตามประทีปน้ำมันแล้ว บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงทราบกาลอันควรเถิด. [๒๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าไปยังสัณฐาคาร ทรงชำระพระบาทยุคลแล้ว เสด็จเข้าไปสู่สัณฐาคาร ประทับนั่ง พิงเสากลาง ทรงผินพระพักตร์ตรงทิศบูรพา. แม้ภิกษุสงฆ์ชำระเท้าแล้ว เข้าไปสู่สัณฐาคาร แล้วนั่งพิงฝาด้านทิศปัศจิม ผินหน้าเฉพาะทิศบูรพาแวดล้อมพระผู้มีพระภาค. แม้พวกเจ้าศากยะ เมืองกบิลพัสดุ์ ชำระพระบาทแล้ว เสด็จเข้าไปสู่สัณฐาคาร ประทับนั่งพิงฝาด้านทิศบูรพา ผินพักตร์เฉพาะทิศปัศจิม แวดล้อมพระผู้มีพระภาค. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงยังพวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถาตลอดราตรีเป็นอันมาก แล้วตรัสเรียกท่านพระอานนท์มาว่า ดูกรอานนท์ ปฏิปทาของเสขบุคคลจงแจ่มแจ้งกะเธอ เพื่อพวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ เถิด เราเมื่อยหลัง เราจักเหยียดหลังนั้น ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาค- *โปรดให้ปูลาดผ้าสังฆาฏิเป็น ๔ ชั้น สำเร็จสีหไสยาสน์ ด้วยพระปรัสเบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาท เหลื่อมพระบาท มีพระสติสัมปชัญญะ ทรงมนสิการสัญญาในอันเสด็จลุกขึ้น. [๒๖] ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เชิญท้าวมหานามศากยะมาว่า ดูกรมหานาม อริยสาวก ในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณใน โภชนะ ประกอบความเพียรเครื่องตื่น ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันเป็นธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม ตามความปรารถนา เป็นผู้ได้ โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก. [๒๗] ดูกรมหานาม อย่างไร อริยสาวกจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล อริยสาวก ในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมารยาทและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูกรมหานาม อย่างนี้แล อริยสาวกชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล. [๒๘] ดูกรมหานาม อย่างไร อริยสาวกจึงจะชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อม ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยโสตแล้ว ... ดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว ... ลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว ... ถูกต้องโผฏฐัพพะ ด้วยกายแล้ว ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อ สำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัส ครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ดูกรมหานาม อย่างนี้แล อริยสาวกชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย. [๒๙] ดูกรมหานาม อย่างไร อริยสาวกจึงจะชื่อว่าเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ อริยสาวก ในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วกลืนกินอาหาร ไม่ใช่เพื่อจะเล่น เพื่อจะมัวเมา เพื่อความผ่องใส เพื่อความงดงาม เพียงเพื่อความดำรงอยู่แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้ เพื่อบำบัดความอยากอาหาร เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่า จักกำจัดเวทนาเก่าเสียด้วย จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นด้วย ความเป็นไปแห่งอิริยาบถ ความเป็นผู้ไม่มีโทษ และความอยู่ เป็นผาสุกจักมีแก่เรา ดูกรมหานาม อย่างนี้แล อริยสาวกชื่อว่าเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ. [๓๐] ดูกรมหานาม อย่างไร อริยสาวกจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่น อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เวลากลางวันชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการเดิน การนั่ง เวลากลางคืน ในปฐมยาม ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการเดิน การนั่ง เวลากลางคืน ในมัชฌิมยาม สำเร็จสีหไสยาสน์โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ มนสิการสัญญาในอันที่จะลุกขึ้น เวลากลางคืน ในปัจฉิมยาม ลุกขึ้นแล้ว ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการเดิน การนั่ง ดูกรมหานาม อย่างนี้แล อริยสาวกชื่อว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่น. [๓๑] ดูกรมหานาม อย่างไร อริยสาวกจึงชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ คืออริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ๑. เป็นผู้มีศรัทธา คือเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มี- *พระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไป ดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและ มนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม. ๒. เป็นผู้มีหิริ คือ ละอายกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ละอายต่อการถึงพร้อม แห่งอกุศลธรรมอันลามก. ๓. เป็นผู้มีโอตตัปปะ คือ สะดุ้งกลัวกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต สะดุ้งกลัว ต่อการถึงพร้อมแห่งอกุศลธรรมอันลามก. ๔. เป็นพหูสูต ทรงธรรมที่ได้สดับแล้ว สั่งสมธรรมที่ได้สดับแล้ว ธรรมเหล่าใดงาม ในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ธรรมทั้งหลายเห็นปานนั้น อันท่านได้สดับมามาก ทรงจำไว้ได้ สั่งสมด้วยวาจา ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดด้วยดี ด้วยความเห็น. ๕. เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม มีความ เข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย. ๖. เป็นผู้มีสติ คือ ประกอบด้วยสติและปัญญาเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง ระลึกได้ ตามระลึกได้ แม้ซึ่งกิจการที่ทำไว้แล้วนาน แม้ซึ่งถ้อยคำที่พูดไว้แล้วนาน. ๗. เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญา อันเห็นความเกิดและความดับ อันเป็น อริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ดูกรมหานาม อย่างนี้แล อริยสาวกชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ. [๓๒] ดูกรมหานาม อย่างไร อริยสาวกจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ อันเป็นธรรม อาศัยซึ่งจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม ตามความปรารถนา เป็นผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกายเพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริย ทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติ บริสุทธิ์อยู่ ดูกรมหานาม อย่างนี้แล อริยสาวกชื่อว่าเป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ อันเป็นธรรมอาศัย ซึ่งจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมตามความปรารถนา เป็นผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก. [๓๓] ดูกรมหานาม เพราะอริยสาวกเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลอย่างนี้ คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลายอย่างนี้ รู้จักประมาณในโภชนะอย่างนี้ ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอย่างนี้ ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ อย่างนี้ เป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ อันเป็นธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่ง เป็น เครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม ตามความปรารถนาเป็นผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก อย่างนี้ บัณฑิตจึงกล่าวอริยสาวกนี้ว่าเป็นผู้มีเสขปฏิปทา ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมซึ่งเป็นดุจฟองไข่ที่ไม่เน่า ควรจะชำแรกกิเลส ควรจะตรัสรู้ ควรจะบรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากกิเลสเครื่องประกอบ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า. ดูกรมหานาม เปรียบเหมือนฟองไข่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ฟองไข่เหล่านั้น แม่ไก่นอนทับ กก อบให้ได้ไออุ่นดีแล้ว ถึงแม่ไก่นั้นจะไม่เกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ขอลูกไก่เหล่านี้พึงทำลายเปลือกไข่ด้วยปลายเล็บเท้าหรือด้วยจะงอยปาก ออกได้โดยสะดวกเถิด ดังนี้ ลูกไก่ภายในเปลือกไข่นั้นก็คงทำลายเปลือกไข่ออกได้โดยสวัสดี ฉันใด ดูกรมหานาม อริยสาวกก็ฉันนั้นเพราะท่านเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลอย่างนี้ คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอย่างนี้ รู้จักประมาณในโภชนะอย่างนี้ ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอย่างนี้ ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ อย่างนี้ เป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ อันเป็นธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม ตามความปรารถนา เป็นผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบากอย่างนี้ บัณฑิตจึงกล่าวอริยสาวกนี้ว่า เป็นผู้มีเสขปฏิปทา ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมซึ่งเป็นดุจฟองไข่ที่ไม่เน่า ควรจะชำแรกกิเลส ควรจะ ตรัสรู้ ควรจะบรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากกิเลสเครื่องประกอบ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า. ดูกรมหานาม อริยสาวกนั้นอาศัยจตุตถฌาน มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ ไม่มี สิ่งอื่นยิ่งกว่านี้อย่างเดียว ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติ บ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็น อันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์ อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์ อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึก ถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ข้อนี้เป็นความ แตกฉานแห่งฌานข้อที่หนึ่งของอริยสาวกนั้น เปรียบเหมือนลูกไก่เจาะเปลือกไข่ออก ฉะนั้น. ดูกรมหานาม อริยสาวกนั้นอาศัยจตุตถฌาน มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ไม่มี สิ่งอื่นยิ่งกว่านี้อย่างเดียว เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียน พระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ กายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจ สัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็น หมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษ์อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการ ฉะนี้ ข้อนี้ เป็นความแตกฉานแห่งฌานข้อที่สองของอริยสาวกนั้น เปรียบเหมือนลูกไก่เจาะ เปลือกไข่ออก ฉะนั้น. ดูกรมหานาม อริยสาวกนั้นอาศัยจตุตถฌาน มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ ไม่มี สิ่งอื่นยิ่งกว่านี้อย่างเดียว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้ เพราะ อาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ข้อนี้เป็นความแตกฉานแห่ง ฌานข้อที่สามของอริยสาวกนั้น เปรียบเหมือนลูกไก่เจาะเปลือกไข่ออก ฉะนั้น.
ความเป็นผู้มีวิชชาและจรณะ
[๓๔] ดูกรมหานาม แม้ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลนี้ ก็เป็นจรณะของเธอ ประการหนึ่ง แม้ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายนี้ ก็เป็นจรณะของเธอ ประการหนึ่ง แม้ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง แม้ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่นนี้ ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง แม้ข้อที่ อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการนี้ ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง แม้ข้อที่ อริยสาวกเป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ อันเป็นธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม ตามความปรารถนา เป็นผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบากนี้ ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง แม้ข้อที่ อริยสาวกระลึกชาติก่อนๆ ได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณ อย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้ง อาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ นี้ก็เป็นวิชชาของเธอประการหนึ่ง แม้ข้อที่อริยสาวก เห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียน พระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ กายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของ มนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้ นี้ก็เป็นวิชชาของเธอประการหนึ่ง แม้ข้อที่อริยสาวกทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ซึ่งปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลาย สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ นี้ก็เป็นวิชชาของเธอประการหนึ่ง.
คาถาสนังกุมารพรหม
ดูกรมหานาม อริยสาวกนี้ บัณฑิตสรรเสริญว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาแม้เพราะเหตุนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจรณะแม้เพราะเหตุนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะแม้เพราะเหตุนี้ แม้ สนังกุมารพรหมก็ได้กล่าวคาถาไว้ว่า ในชุมชนที่ยังรังเกียจกันด้วยโคตร กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐสุด ในหมู่เทวดาและมนุษย์ ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ประเสริฐสุด. [๓๕] ดูกรมหานาม คาถานั้น สนังกุมารพรหมขับดีแล้ว มิใช่ขับชั่ว กล่าวดีแล้ว มิใช่กล่าวชั่ว ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระผู้มีพระภาคทรงอนุมัติ แล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นแล้ว ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า สาธุๆ อานนท์ เธอได้กล่าวเสขปฏิปทาแก่พวกเจ้าศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ ดีแล. ท่านพระอานนท์ได้กล่าวภาษิตนี้จบลงแล้ว พระศาสดาทรงยินดี พวกเจ้าศากยะ เมือง กบิลพัสดุ์ ชื่นชม ยินดี ภาษิตของท่านพระอานนท์ ดังนี้แล.
จบ เสขปฏิปทาสูตร ที่ ๓.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ บรรทัดที่ ๔๘๐-๖๕๙ หน้าที่ ๒๒-๒๙. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=480&Z=659&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=13&A=480&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=13&siri=3              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=24              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=13&A=472              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=300              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=13&A=472              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=300              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i024-e1.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.053.than.html http://www.buddha-vacana.org/sutta/majjhima/mn053.html https://suttacentral.net/mn53/en/sujato https://suttacentral.net/mn53/en/horner

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]