ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
ปหาราทสูตร
[๑๐๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ควงไม้สะเดาที่นเฬรุ- *ยักษ์สิงสถิต ใกล้กรุงเวรัญชา ครั้งนั้น ท้าวปหาราทะจอมอสูร เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท้าวปหาราทะจอมอสูรว่า ดูกรปหาราทะ พวกอสูรย่อมอภิรมย์ในมหาสมุทรบ้างหรือ ท้าวปหาราทะจอมอสูรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกอสูรย่อมอภิรมย์ในมหาสมุทร ฯ พ. ดูกรปหาราทะ ในมหาสมุทรมีธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาสัก เท่าไร ที่พวกอสูรเห็นแล้วย่อมอภิรมย์ ฯ ป. มี ๘ ประการ พระเจ้าข้า ๘ ประการเป็นไฉน ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ มหาสมุทรลาด ลุ่ม ลึกลงไปโดยลำดับ หาได้โกรกชันเหมือนเหวไม่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรลาด ลุ่ม ลึกลงไปโดยลำดับ หาได้โกรก ชันเหมือนเหวไม่ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๑ ใน มหาสมุทร ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่ ฯ อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่ง ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอไม่ล้นฝั่ง นี้เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์อัน ไม่เคยมีมาประการที่ ๒ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่ ฯ อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรไม่เกลื่อนด้วยซากศพ เพราะในมหาสมุทร คลื่นย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่งให้ขึ้นบกทันที ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่ มหาสมุทรไม่เกลื่อนด้วยซากศพ และในมหาสมุทรคลื่นย่อมซัดเอาซากศพเข้าหา ฝั่งให้ขึ้นบกทันที นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๓ ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่ ฯ อีกประการหนึ่ง แม่น้ำสายใหญ่ๆ บางสาย คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมละนามและ โคตรเดิมหมด ถึงความนับว่ามหาสมุทรนั่นเอง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่ แม่น้ำสายใหญ่ๆ บางสาย คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำ เหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมเปลี่ยนนามและโคตรเดิมหมด ถึงความ นับว่ามหาสมุทรนั่นเอง นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๔ ใน มหาสมุทร ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่ ฯ อีกประการหนึ่ง แม่น้ำทุกสายในโลก ย่อมไหลไปรวมยังมหาสมุทร และสายฝนจากอากาศตกลงสู่มหาสมุทร มหาสมุทรก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือ เต็มเพราะน้ำนั้นๆ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่แม่น้ำทุกสายในโลกย่อมไหลไป รวมยังมหาสมุทร และสายฝนจากอากาศตกลงสู่มหาสมุทร มหาสมุทรก็มิได้ ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มเพราะน้ำนั้นๆ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ประการที่ ๕ ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่ ฯ อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่ เคยมีมาประการที่ ๖ ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่ ฯ อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรมีรัตนะมากมายหลายชนิด ในมหาสมุทรมี รัตนะเหล่านี้ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม มรกต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่มหาสมุทรมีรัตนะ มากมายหลายชนิด ในมหาสมุทรนั้นมีรัตนะ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้ว ไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม มรกต นี้เป็นธรรมที่ น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๗ ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึง อภิรมย์อยู่ ฯ อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรเป็นที่พำนักอาศัยของพวกสิ่งมีชีวิตใหญ่ๆ และสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรนั้นมีดังนี้ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคลา ปลาติมิรมิงคลา พวกอสูร นาค คนธรรพ์ แม้ที่มีร่างกายประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐ โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ ก็มีอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่ มหาสมุทรเป็นที่พำนักอาศัยของสิ่งที่มีชีวิตใหญ่ๆ และสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรนั้น มีดังนี้ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคลา ปลาติมิรมิงคลา พวกอสูร นาค คนธรรพ์ แม้ที่มีร่างกายประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐ โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ ก็มีอยู่ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๘ ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้แลธรรมที่น่า อัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการ ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ จึง อภิรมย์อยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ภิกษุทั้งหลายย่อมอภิรมย์ในธรรมวินัย นี้บ้างหรือ ฯ พ. ดูกรปหาราทะ ภิกษุทั้งหลายย่อมอภิรมย์ในธรรมวินัยนี้ ฯ ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในธรรมวินัยนี้ มีธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่ เคยมีมาสักเท่าไร ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว จึงอภิรมย์อยู่ ฯ พ. มี ๘ ประการ ปหาราทะ ๘ ประการเป็นไฉน ดูกรปหาราทะ มหาสมุทรลาด ลุ่ม ลึกลงไปโดยลำดับ ไม่โกรกชันเหมือนเหว ฉันใด ใน ธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการกระทำไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ มิใช่ว่าจะมีการบรรลุอรหัตผลโดยตรง ดูกรปหาราทะ ข้อที่ในธรรมวินัยนี้มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการกระทำไปตามลำดับ มีการ ปฏิบัติไปตามลำดับ มิใช่ว่าจะมีการบรรลุอรหัตผลโดยตรง นี้เป็นธรรมที่น่า อัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๑ ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึง อภิรมย์อยู่ ฯ ดูกรปหาราทะ มหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่ง ฉันใด สาวก ทั้งหลายของเราก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ล่วงสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้แม้เพราะเหตุ แห่งชีวิต ดูกรปหาราทะ ข้อที่สาวกทั้งหลายของเราไม่ล่วงสิกขาบทที่เราบัญญัติ ไว้แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๒ ใน ธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่ ฯ ดูกรปหาราทะ มหาสมุทรไม่เกลื่อนด้วยซากศพ เพราะในมหาสมุทร คลื่นย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่งให้ขึ้นบก ฉันใด ดูกรปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลผู้ทุศีล มีบาปธรรม มีสมาจารไม่สะอาดน่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว มิใช่ สมณะ แต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญญาว่า ประพฤติพรหมจรรย์ เสียใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเพียงดังหยากเยื่อ สงฆ์ย่อม ไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น ประชุมกันยกวัตรเธอเสียทันที แม้เขาจะนั่งอยู่ท่ามกลาง ภิกษุสงฆ์ก็จริง ถึงกระนั้น เขาก็ชื่อว่าห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจาก เขา ดูกรปหาราทะ ข้อที่บุคคลผู้ทุศีล มีบาปกรรม มีสมาจารไม่สะอาดน่า รังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติ พรหมจรรย์ แต่ปฏิญญาว่าประพฤติพรหมจรรย์ เสียใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเพียง ดังหยากเยื่อ สงฆ์ย่อมไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น ประชุมกันยกวัตรเธอเสียทันที แม้เขาจะนั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ก็จริง ถึงกระนั้น เขาก็ชื่อว่าห่างไกลจาก สงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเขา นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการ ที่ ๓ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่ ฯ ดูกรปหาราทะ แม่น้ำสายใหญ่ๆ บางสาย คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมละนามและ โคตรเดิมหมด ถึงความนับว่ามหาสมุทรนั่นเอง ฉันใด ดูกรปหาราทะ ฉันนั้น เหมือนกัน วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวช เป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมเสีย ถึงความนับว่าสมณศากยบุตรทั้งนั้น ดูกรปหาราทะ ข้อที่วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคต ประกาศแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมเสีย ถึงความนับว่าเป็นสมณศากยบุตร ทั้งนั้น นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๔ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุ ทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่ ฯ ดูกรปหาราทะ แม่น้ำทุกสายในโลก ย่อมไหลไปรวมยังมหาสมุทร และสายฝนจากอากาศตกลงสู่มหาสมุทร มหาสมุทรก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือ เต็มเพราะน้ำนั้นๆ ฉันใด ดูกรปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน ถึงแม้ภิกษุเป็นอัน มากจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่อง หรือเต็มด้วยภิกษุนั้น ดูกรปหาราทะ ข้อที่ถึงแม้ภิกษุเป็นอันมากจะปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มด้วย ภิกษุนั้น นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๕ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่ ฯ ดูกรปหาราทะ มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม ฉันใด ดูกรปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมวินัยนี้มีรสเดียว คือ วิมุตติรส ดูกรปหาราทะ ข้อที่ ธรรมวินัยมีรสเดียว คือ วิมุตติรส นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ประการที่ ๖ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่ ฯ ดูกรปหาราทะ มหาสมุทรมีรัตนะมากมายหลายชนิด รัตนะในมหาสมุทร นั้นมีดังนี้ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม มรกต ฉันใด ดูกรปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมวินัย นี้ก็มีรัตนะมากมายหลายชนิด รัตนะในธรรมวินัยนั้นมีดังนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมี องค์ ๘ ดูกรปหาราทะ ข้อที่ธรรมวินัยนี้มีรัตนะมากมายหลายชนิด รัตนะใน ธรรมวินัยนั้นมีดังนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ประการที่ ๗ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่ ฯ ดูกรปหาราทะ มหาสมุทรเป็นที่พำนักอาศัยของสิ่งที่มีชีวิตใหญ่ๆ สิ่งมีชีวิต ในมหาสมุทรนั้นมีดังนี้ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคลา ปลาติมิรมิงคลา พวกอสูร นาค คนธรรพ์ แม้ที่มีร่างกายประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐ โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ มีอยู่ ฉันใด ดูกรปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมวินัยนี้ ก็เป็นที่พำนักอาศัยแห่งสิ่งมีชีวิตใหญ่ๆ สิ่งมีชีวิตในธรรมวินัยนี้ มีดังนี้ คือ พระโสดาบัน ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล พระสกทาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล พระอนาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อ กระทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล พระอรหันต์ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ ดูกรปหาราทะ ข้อที่ธรรมวินัยนี้เป็นที่พำนักอาศัยแห่งสิ่งมีชีวิตใหญ่ๆ สิ่งชีวิตมี ในธรรมวินัยนี้มีดังนี้ คือ พระโสดาบัน ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติ ผล พระสกทาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล พระอนาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล พระอรหันต์ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อความ เป็นพระอรหันต์ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๘ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่ ดูกรปหาราทะ ในธรรมวินัยนี้ มีธรรมที่น่า อัศจรรย์ อันไม่เคยมีมา ๘ ประการนี้แล ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่ ฯ
จบสูตรที่ ๙

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ บรรทัดที่ ๔๐๓๐-๔๑๖๓ หน้าที่ ๑๗๔-๑๘๐. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=4030&Z=4163&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=23&A=4030&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=23&siri=92              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=109              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=23&A=4282              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=5375              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=23&A=4282              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=5375              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i101-e.php#sutta9 https://suttacentral.net/an8.19/en/sujato https://suttacentral.net/an8.19/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]