ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
อุคคสูตรที่ ๒
[๑๑๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บ้านหัตถีคาม ใน แคว้นวัชชี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำอุคคคฤหบดีชาวบ้านหัตถีคาม ว่าเป็นผู้ประกอบ ด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการ พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ครั้นได้ ตรัสพระดำรัสนี้แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปสู่พระวิหาร ฯ ครั้งนั้น เวลาเช้า ภิกษุรูปหนึ่ง นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยัง นิเวศน์ของอุคคคฤหบดีชาวบ้านหัตถีคาม ครั้นแล้วจึงนั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้ ลำดับนั้น อุคคคฤหบดีชาวบ้านหัตถีคามได้เข้าไปหาภิกษุนั้น ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วภิกษุนั้นได้กล่าวกะอุคคคฤหบดีชาวบ้านหัตถีคาม ว่า ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ท่านว่า เป็นผู้ประกอบด้วยธรรม ที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการ ดูกรคฤหบดี ธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่ เคยมีมา ๘ ประการเป็นไฉน ฯ อุคคคฤหบดีกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมไม่ทราบเลยว่า พระผู้มี พระภาคทรงพยากรณ์กระผมว่า เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคย มีมา ๘ ประการเป็นไฉน แต่ขอท่านได้โปรดฟังธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการนี้ที่มีอยู่ จงใส่ใจให้ดี กระผมจักเรียนถวาย ภิกษุนั้นรับคำอุคคคฤหบดี ชาวบ้านหัตถีคามแล้ว ฯ อุคคคฤหบดีชาวบ้านหัตถีคามได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ในคราวที่ กระผมเที่ยวอยู่ในสวนนาควัน ได้เห็นพระผู้มีพระภาคแต่ไกลเป็นครั้งแรก พร้อม กับการเห็นนั้นเอง จิตของกระผมก็เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค เมาสุราอยู่ก็หาย เมา นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาข้อที่ ๑ ของกระผมที่มีอยู่ ฯ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมมีจิตเลื่อมใสแล้ว ได้เข้าไปนั่งใกล้พระผู้มี พระภาค พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถาโปรดกระผม คือ ทรงประกาศ ทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษของกามอันต่ำทรามเศร้าหมอง และอานิสงส์ ในเนกขัมมะ ในคราวที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงทราบว่า กระผมมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ บันเทิง ผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศสามุกังสิกาธรรมเทศนา แห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เปรียบเหมือนผ้า ที่บริสุทธิ์ ไม่หมองดำ จะพึงรับน้ำย้อมได้ดี แม้ฉันใด ธรรมจักษุอันปราศจาก ธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแล้วแก่กระผม ณ ที่นั่งนั้นแลว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมี ความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ก็ฉันนั้น เหมือนกัน ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรม แจ้งแล้ว หยั่งซึ้งถึงธรรมแล้ว ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ปราศจากความ เคลือบแคลงแล้ว ถึงความแกล้วกล้าแล้ว ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น ในสัตถุศาสน์ ได้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่า เป็นสรณะ สมาทานสิกขาบท อันมีพรหมจรรย์เป็นที่ ๕ แล้ว ณ ที่นั่งนั้นนั่นแล นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมาข้อที่ ๒ ของกระผมที่มีอยู่ ฯ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมได้มีปชาบดีรุ่นสาวอยู่ ๔ คน ได้เข้าไปหา ปชาบดีเหล่านั้น แล้วได้กล่าวกะเธอเหล่านั้นว่า ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย ฉัน สมาทานสิกขาบทอันมีพรหมจรรย์เป็นที่ ๕ ผู้ใดปรารถนา ผู้นั้นจงใช้โภคะเหล่านี้ และทำบุญได้ หรือจะไปสู่ตระกูลญาติของตัวก็ได้ หรือประสงค์ชายอื่น ฉันก็จะ มอบให้แก่เขา เมื่อกระผมกล่าวอย่างนี้แล้ว ปชาบดีคนแรกได้พูดกะกระผมว่า ขอท่านได้กรุณามอบดิฉันให้แก่ชายชื่อนี้เจ้าค่ะ กระผมให้เชิญชายผู้นั้นมา เอามือซ้ายจับปชาบดี มือขวาจับเต้าน้ำ หลั่งน้ำมอบให้ชายคนนั้น ก็เมื่อบริจาค ปชาบดีสาวเป็นทาน กระผมไม่รู้สึกว่าจิตแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเลย นี้แลเป็น ธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาข้อที่ ๔ ของกระผมที่มีอยู่ ฯ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ในตระกูลของกระผมมีโภคทรัพย์อยู่มาก และ โภคทรัพย์เหล่านั้นกระผมได้แจกจ่ายทั่วไปกับท่านผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม นี้แล เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาข้อที่ ๔ ของกระผมที่มีอยู่ ฯ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมเข้าไปหาภิกษุรูปใด กระผมก็เข้าไปด้วยความ เคารพทีเดียว ไม่ใช่เข้าไปหาด้วยความไม่เคารพ หากท่านผู้มีอายุนั้นแสดงธรรม แก่กระผม กระผมก็ฟังโดยเคารพแท้ๆ ไม่ใช่ฟังโดยไม่เคารพ หากท่านผู้มีอายุ นั้นไม่แสดงธรรมแก่กระผม กระผมก็แสดงธรรมแก่ท่านผู้มีอายุนั้น นี้แลเป็น ธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาข้อที่ ๕ ของกระผมที่มีอยู่ ฯ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ไม่น่าอัศจรรย์ที่เมื่อกระผมนิมนต์สงฆ์แล้วเทวดา ทั้งหลายเข้ามาบอกว่า ดูกรคฤหบดี ภิกษุรูปโน้นเป็นอุภโตภาควิมุต รูปโน้น เป็นปัญญาวิมุต รูปโน้นเป็นกายสักขี รูปโน้นเป็นทิฏฐิปัตตะ รูปโน้นเป็นสัทธา วิมุต รูปโน้นเป็นธัมมานุสารี รูปโน้นเป็นสัทธานุสารี รูปโน้นเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม รูปโน้นเป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมอังคาส สงฆ์อยู่ก็ไม่รู้สึกว่า ยังจิตให้เกิดขึ้นอย่างนี้ว่า จะถวายแก่ท่านรูปนี้น้อย หรือ จะถวายแก่ท่านรูปนี้มาก แท้ที่จริง กระผมมีจิตเสมอกัน นี้แลเป็นธรรมที่น่า อัศจรรย์อันไม่เคยมีมาข้อที่ ๖ ของกระผมที่มีอยู่ ฯ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ไม่น่าอัศจรรย์ที่เทวดาทั้งหลายเข้ามาหากระผมแล้ว บอกว่า ดูกรคฤหบดี ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว เมื่อเทวดาทั้งหลาย กล่าวอย่างนี้แล้ว กระผมจึงพูดกะเทวดาเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ท่านจะพึงบอกอย่างนี้ หรือไม่พึงบอกอย่างนี้ก็ตาม แท้ที่จริง ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว แต่กระ ผมก็ไม่รู้สึกเลยว่า ความฟูใจจะมีมาแต่เหตุนั้น เทวดาทั้งหลายเข้ามาหากระผม หรือกระผมได้ปราศรัยกับเทวดาทั้งหลาย นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมี มาข้อที่ ๗ ของกระผมที่มีอยู่ ฯ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็หากว่ากระผมจะพึงทำกาละก่อนพระผู้มีพระภาค ก็ไม่น่าอัศจรรย์ที่พระผู้มีพระภาคจะพึงทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า สังโยชน์อันเป็น เครื่องประกอบให้อุคคคฤหบดีชาวบ้านหัตถีคามพึงกลับมาสู่โลกนี้อีกไม่มี นี้แล เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาข้อที่ ๘ ของกระผมที่มีอยู่ ฯ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการนี้แล ของกระผมที่มีอยู่ แต่กระผมก็ไม่รู้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์กระผมว่า เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการเป็นไฉน ฯ ลำดับนั้น ภิกษุนั้นรับบิณฑบาตในนิเวศน์ของอุคคคฤหบดีชาวบ้าน หัตถีคามแล้ว ลุกจากที่นั่งแล้วหลีกไป ภายหลังภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น แล้ว ได้กราบทูลคำสนทนาปราศรัยกับอุคคคฤหบดีชาวบ้านหัตถีคามนั้นทั้งหมด แด่พระผู้มีพระภาค ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ถูกแล้วๆ อุคคคฤหบดีชาวบ้าน หัตถีคาม เมื่อจะพยากรณ์ พึงพยากรณ์ตามนั้นโดยชอบ ดูกรภิกษุ เราพยากรณ์ อุคคคฤหบดีชาวบ้านหัตถีคามว่า เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคย มีมา ๘ ประการนี้แล และเธอทั้งหลายจงทรงจำอุคคคฤหบดีชาวบ้านหัตถีคามว่า เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๒

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ บรรทัดที่ ๔๓๔๐-๔๔๒๖ หน้าที่ ๑๘๘-๑๙๑. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=4340&Z=4426&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=23&A=4340&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=23&siri=95              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=112              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=23&A=4606              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=5514              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=23&A=4606              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=5514              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i111-e.php#sutta2 https://suttacentral.net/an8.22/en/sujato https://suttacentral.net/an8.22/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]