อิธโลกสูตรที่ ๑
[๑๓๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของมิคารมารดา
ในบุพพาราม ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล นางวิสาขามิคารมารดาเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มี-
*พระภาคได้ตรัสกะนางวิสาขามิคารมารดาว่า ดูกรวิสาขา มาตุคามผู้ประกอบ
ด้วยธรรม ๔ ประการ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อชัยชนะในโลกนี้ ชื่อว่าปรารภโลกนี้
แล้ว ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรวิสาขา มาตุคามในโลกนี้ เป็นผู้จัดการ
งานดี ๑ สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามีดี ๑ ประพฤติเป็นที่พอใจของสามี ๑ รักษา
ทรัพย์ที่สามีหามาได้ ๑ ดูกรวิสาขา มาตุคามเป็นผู้จัดการงานดีอย่างไร ดูกร
วิสาขา มาตุคามในโลกนี้ เป็นคนขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานภายในบ้านของ
สามี คือ การทำผ้าขนสัตว์หรือการทำผ้าฝ้าย ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาอัน
เป็นอุบายในการงานนั้น อาจทำ อาจจัดได้ ดูกรวิสาขา มาตุคามเป็นผู้จัดการ
งานดีอย่างนี้แล ฯ
ดูกรวิสาขา มาตุคามเป็นผู้สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามีดีอย่างไร ดูกร
วิสาขา มาตุคามในโลกนี้ ย่อมรู้การงานที่อันโตชนภายในบ้านของสามี คือ ทาส
คนใช้หรือกรรมกร ทำแล้วว่าทำแล้ว ที่ยังไม่ได้ทำว่ายังไม่ได้ทำ รู้คนที่ป่วยไข้ว่า
ดีขึ้นหรือทรุดลง และแบ่งของเคี้ยวของบริโภคให้ตามเหตุที่ควร ดูกรวิสาขา
มาตุคามเป็นผู้สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามีดีอย่างนี้แล ฯ
ดูกรวิสาขา มาตุคามเป็นผู้ประพฤติเป็นที่พอใจสามีอย่างไร ดูกรวิสาขา
มาตุคามในโลกนี้ ไม่ละเมิดสิ่งอันไม่เป็นที่พอใจของสามีแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต
ดูกรวิสาขา มาตุคามประพฤติเป็นที่พอใจของสามีอย่างนี้แล ฯ
ดูกรวิสาขา มาตุคามรักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้อย่างไร ดูกรวิสาขา
มาตุคามในโลกนี้ จัดการทรัพย์ ข้าวเปลือก เงินหรือทอง ที่สามีหามาได้ให้คง
อยู่ ด้วยการรักษา คุ้มครอง และไม่เป็นนักเลงการพนัน ไม่เป็นขโมย ไม่เป็น
นักดื่ม ไม่ผลาญทรัพย์ให้พินาศ ดูกรวิสาขา มาตุคามรักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้
อย่างนี้แล ดูกรวิสาขา มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ชื่อว่าปฏิบัติ
เพื่อชัยชนะในโลกนี้ ชื่อว่าปรารภโลกนี้แล้ว ฯ
ดูกรวิสาขา มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อ
ชัยชนะในโลกหน้า ชื่อว่าปรารภโลกหน้าแล้ว ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน ดูกร
วิสาขา มาตุคามในโลกนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ๑ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ๑
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ ๑ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ๑ ฯ
ดูกรวิสาขา มาตุคามเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธาอย่างไร ดูกรวิสาขา
มาตุคามในโลกนี้ เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาเครื่องตรัสรู้ของพระตถาคตว่า
แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดย
ชอบ ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็น
สารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดูกรวิสาขา มาตุคามเป็นผู้ถึงพร้อมด้วย
ศรัทธาอย่างนี้แล ฯ
ดูกรวิสาขา มาตุคามเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลอย่างไร ดูกรวิสาขา มาตุคาม
ในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร
จากมุสาวาท และจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความ
ประมาท ดูกรวิสาขา มาตุคามเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลอย่างนี้แล ฯ
ดูกรวิสาขา มาตุคามเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะอย่างไร ดูกรวิสาขา
มาตุคามในโลกนี้ มีจิตปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มี
จาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการ
จำแนกทาน ดูกรวิสาขา มาตุคามเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะอย่างนี้แล ฯ
ดูกรวิสาขา มาตุคามเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาอย่างไร ดูกรวิสาขา
มาตุคามในโลกนี้ เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาความ
เกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ดูกร
วิสาขา มาตุคามเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาอย่างนี้แล ดูกรวิสาขา มาตุคาม
ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อชัยชนะในโลกหน้า ชื่อว่า
ปรารภโลกหน้าแล้ว ฯ
มาตุคามผู้จัดการงานดี สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามีดี
ประพฤติเป็นที่พอใจของสามี รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้
มาตุคามนั้นเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธาและศีล ปราศจาก
ความตระหนี่ รู้ความประสงค์ ชำระทางสัมปรายิกัตถ-
*ประโยชน์อยู่เป็นนิตย์ นารีใดมีธรรม ๘ ประการนี้ ดังกล่าว
มานี้ ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวสรรเสริญนารีแม้นั้นว่า เป็นผู้มี
ศีล ตั้งอยู่ในธรรม พูดคำสัตย์ อุบาสิกาผู้มีศีลเช่นนั้น
ถึงพร้อมด้วยอาการ ๑๖ อย่าง ประกอบด้วยองคคุณ ๘
ประการ ย่อมเข้าถึงเทวโลกประเภทมนาปกายิกา ฯ
จบสูตรที่ ๙
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ บรรทัดที่ ๕๖๓๔-๕๖๙๕ หน้าที่ ๒๔๓-๒๔๖.
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=5634&Z=5695&pagebreak=0
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=23&A=5634&pagebreak=0
ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]
อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :-
http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=23&siri=122
ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=139
พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :-
http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=23&A=5883
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :-
http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=5846
The Pali Tipitaka in Roman :-
http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=23&A=5883
The Pali Atthakatha in Roman :-
http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=5846
สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓
http://84000.org/tipitaka/read/?index_23
อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :-
http://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i131-e.php#sutta9
https://suttacentral.net/an8.49/en/sujato
https://suttacentral.net/an8.49/en/bodhi
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖.
บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙.
บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐.
การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง.
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ DhammaPerfect@yahoo.com
