ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส
             ธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือโภชเนมัตตัญญุตาเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณา
โดยอุบายอันแยบคายแล้ว ฉันอาหาร ไม่ฉันเพื่อเล่น ไม่ฉันเพื่อมัวเมา ไม่ฉันเพื่อประดับ
ไม่ฉันเพื่อตกแต่ง ฉันเพื่อความตั้งอยู่แห่งกายนี้ เพื่อจะให้กายนี้เป็นไป เพื่อเว้นความลำบาก
แห่งกายนี้ เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยมนสิการว่า เราจะบำบัดเวทนาเก่า จักไม่ให้เวทนา
ใหม่เกิดขึ้น และความดำเนินของเรา ความที่เราไม่มีโทษ ความอยู่สบายของเราจักมี ดังนี้
อย่างเดียวเท่านั้น พิจารณาอาหารเปรียบด้วยน้ำมันสำหรับหยอดเพลาเกวียน ผ้าสำหรับปิดแผล
และเนื้อบุตร (ของคนที่เดินทางกันดาร) ชื่อว่าประพฤติในธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือโภชเนมัต-
*ตัญญุตา ย่อมไม่ทำลายโภชเนมัตตัญญุตาอันเป็นเขตแดนในภายใน นี้ชื่อว่า ธรรมเป็นส่วนสุด
รอบ คือโภชเนมัตตัญญุตา.
	ธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือชาคริยานุโยคเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมชำระจิตให้
บริสุทธิ์จากธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องกั้นกาง ด้วยการเดิน การนั่งตลอดวัน ย่อมชำระจิตให้
บริสุทธิ์จากธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องกั้นกาง ด้วยการเดินการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี ย่อม
สำเร็จสีหไสยา (นอนอย่างราชสีห์) โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ
ใส่ใจถึงสัญญาในความลุกขึ้น ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี กลับลุกขึ้นแล้ว ชำระจิตให้บริสุทธิ์
จากธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องกั้นกาง ด้วยการเดิน การนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี พิจารณา
ถึงความอยู่แห่งบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญ ชื่อว่าประพฤติในธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือชาคริยานุโยค
ในภายใน ย่อมไม่ทำลายชาคริยานุโยคอันเป็นเขตแดน นี้ชื่อว่า ธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือ
ชาคริยานุโยค เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุ ... มีสติ ประพฤติในธรรมเป็นส่วนสุดรอบ.
ลักษณะตัวเหลือบเป็นต้น
[๙๓๒] แมลงมีตาเหลือง เรียกว่าเหลือบ ในคำว่า ตัวเหลือบ สัตว์ไต่ตอม สัตว์ เลื้อยคลาน. แมลงวันแม้ทั้งปวง เรียกว่าสัตว์ไต่ตอม. เหตุไรแมลงวันแม้ทั้งปวง จึงเรียกว่า สัตว์ไต่ตอม. สัตว์เหล่านั้น ย่อมบิน ตอม กัดกิน เหตุนั้น จึงเรียกว่า สัตว์ไต่ตอม. งูทั้งหลาย เรียกว่า สัตว์เลื้อยคลาน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ตัวเหลือบ สัตว์ไต่ตอม สัตว์เลื้อยคลาน. [๙๓๓] คำว่า สัมผัสแต่มนุษย์ และภัยแต่สัตว์ ๔ เท้า ความว่า พวกโจร คนที่ทำ กรรมชั่ว หรือคนที่เตรียมทำกรรมชั่ว เรียกว่า สัมผัสแต่มนุษย์. มนุษย์เหล่านั้น พึงถามปัญหาบ้าง พึงยกวาทะกะภิกษุบ้าง พึงด่า ค่อนว่า แช่ง เสียดสี เบียดเบียน ยำยี กดขี่ ข่มเหง ฆ่า เข้าไปฆ่า หรือทำความพยายาม ฆ่า ความกระทบกระทั่งแต่มนุษย์อย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่า สัมผัส แต่มนุษย์. คำว่า ภัยแต่สัตว์ ๔ เท้า ความว่า ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หมาป่า โค กระบือ ช้าง. สัตว์ ๔ เท้าเหล่านั้น พึงย่ำยี กัดกิน เบียดเบียน รังแก กดขี่ ข่มเหง ฆ่า เข้าไปฆ่า ทำความพยายามฆ่าภิกษุ ความกระทบกระทั่งแต่สัตว์ ๔ เท้าอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ภัยแต่สัตว์ ๔ เท้า เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สัมผัสแต่มนุษย์และภัยแต่สัตว์ ๔ เท้า. เพราะ เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ภิกษุผู้เป็นธีรชน มีสติ ประพฤติในธรรมเป็นส่วนสุดรอบ ไม่พึงกลัวภัย ๕ ประการ คือ ตัวเหลือบ สัตว์ไต่ตอม สัตว์เลื้อยคลาน สัมผัสแต่ มนุษย์ และภัยแต่สัตว์ ๔ เท้า. [๙๓๔] ภิกษุไม่พึงหวาดเสียวแม้ต่อคนที่ตั้งอยู่ในธรรมอื่น แม้เห็นอารมณ์อัน ให้เกิดความขลาดมากของคนที่ตั้งอยู่ในธรรมอื่นนั้น ก็ไม่พึงหวาดเสียว อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้แสวงหากุศล พึงย่ำยีอันตรายอื่นๆ.
ว่าด้วยสหธรรมิก
[๙๓๕] คำว่า ภิกษุไม่พึงหวาดเสียวแม้ต่อคนที่ทั้งอยู่ในธรรมอื่น แม้เห็นอารมณ์อันให้ เกิดความขลาดมาก ของคนที่ตั้งอยู่ในธรรมอื่นนั้น ก็ไม่พึงหวาดเสียว ความว่า เว้นสหธรรมิกชน ๗ จำพวก (คือภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา) คนเหล่าใด เหล่าหนึ่งผู้ไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ไม่เลื่อมใสในพระธรรม ไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์ เรียกว่า คนที่ตั้งอยู่ในธรรมอื่น. คนพวกนั้นถามปัญหาบ้าง พึงยกวาทะกะภิกษุบ้าง พึงด่า ค่อนว่า แช่ง เสียดสี เบียดเบียน ย่ำยี กดขี่ ข่มเหง ฆ่า เข้าไปฆ่า ทำความพยายามฆ่า ภิกษุเห็นหรือได้ ยินอารมณ์อันให้เกิดความขลาดเป็นอันมากของคนเหล่านั้นแล้ว ไม่พึงหวั่นไหวสะทกสะท้าน ไม่พึงสะดุ้งดิ้นรนหวาดเสียวครั่นคร้าม ไม่พึงกลัว ไม่พึงถึงความสยดสยอง คือ เป็นผู้ไม่ขลาด ไม่ครั่นคร้าม ไม่หวาดเสียว ไม่หนีไป เป็นผู้ละความกลัว ความขลาดเสียแล้ว ปราศจาก ความเป็นผู้มีขนลุกอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุไม่พึงหวาดเสียวแม้ต่อคนที่ตั้งอยู่ในธรรมอื่น แม้เห็นอารมณ์อันให้เกิดความขลาดมากของคนที่ตั้งอยู่ในธรรมอื่นนั้น ก็ไม่พึงหวาดเสียว.
อันตราย ๒ อย่าง
[๙๓๖] คำว่า อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้ตามแสวงหากุศล พึงย่ำยีอันตรายอื่น ความว่า อนึ่ง อันตรายแม้เหล่าอื่น อันภิกษุทั้งหลายผู้ตามแสวงหากุศล พึงย่ำยี ครอบงำ ข่มขี่ กำจัด ขับไล่ มีอยู่. ชื่อว่าอันตราย ได้แก่อันตราย ๒ อย่าง คือ อันตรายที่ปรากฏ ๑ อันตรายที่ปกปิด ๑ ฯลฯ เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลายแม้อย่างนี้ ชื่อว่าอันตราย. คำว่า ภิกษุ ทั้งหลายผู้ตามแสวงหากุศล ความว่า อันตรายทั้งหลายอันผู้แสวงหา เสาะหา ค้นหา ซึ่งความ ปฏิบัติชอบ ความปฏิบัติสมควร ความปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก ความปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์ ฯลฯ อริยมรรคมีองค์ ๘ นิพพาน และปฏิปทาเครื่องให้ถึงนิพพาน พึงย่ำยี ครอบงำ ข่มขี่ กำจัด ขับไล่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้ตามแสวงหากุศล พึงย่ำยีอันตรายอื่น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ภิกษุไม่พึงหวาดเสียวแม้ต่อคนที่ตั้งอยู่ในธรรมอื่น แม้เห็นอารมณ์อันให้ เกิดความขลาดมากของคนที่ตั้งอยู่ในธรรมอื่นนั้น ก็ไม่พึงหวาดเสียว อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้ตามแสวงหากุศล พึงย่ำยีอันตรายอื่น. [๙๓๗] ภิกษุถูกผัสสะคือโรคและความหิวกระทบแล้ว พึงอดทนความหนาว และความร้อน ภิกษุนั้นอันผัสสะเหล่านั้นกระทบแล้วโดยอาการมาก อย่าง เป็นผู้ไม่เปิดโอกาส พึงทำความบากบั่น คือความเพียรให้มั่นไว้. [๙๓๘] คำว่า ภิกษุถูกผัสสะคือโรคและความหิวกระทบแล้ว ความว่า ความกระทบ คือโรค เรียกว่า ผัสสะคือโรค. ภิกษุเป็นผู้อันผัสสะคือโรคกระทบ ถูกต้อง ตั้งลง ครอบงำ คือ เป็นผู้อันโรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย ฯลฯ สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลานกระทบเข้า ถูกต้อง ตั้งลง ครอบงำแล้ว. ความอยากกิน เรียกว่าความหิว. ภิกษุเป็นผู้อันความหิวกระทบเข้า ถูกต้อง ตั้งลง ครอบงำแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุ ถูกผัสสะคือโรคและความหิวกระทบแล้ว.
ความหนาวมีด้วยเหตุ ๒ อย่าง
[๙๓๙] คำว่า ความหนาว ในคำว่า พึงอดทนความหนาวและความร้อน ความว่า ความหนาวย่อมมีด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ ความหนาวย่อมมีด้วยสามารถแห่งอาโปธาตุภายในกำเริบ ๑ ความหนาวย่อมมีด้วยสามารถแห่งฤดูภายนอก ๑. คำว่า ความร้อน ความว่า ความร้อนย่อมมี ด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ ความร้อนย่อมมีด้วยสามารถแห่งเตโชธาตุภายในกำเริบ ๑ ความร้อนย่อม มีด้วยสามารถแห่งฤดูภายนอก ๑. คำว่า พึงอดทนความหนาวและความร้อน ความว่า ภิกษุพึง เป็นผู้อดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย ต่อสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลาน พึงเป็นผู้มีปกติอดกลั้นต่อทางถ้อยคำที่เขากล่าวชั่ว มาร้าย และ ทุกขเวทนาอันเกิดขึ้นในสรีระที่กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สบาย ไม่ชอบใจ สามารถนำชีวิตไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงอดทนความหนาวและความร้อน. [๙๔๐] คำว่า ภิกษุนั้นอันผัสสะเหล่านั้น ในคำว่า ภิกษุนั้นอันผัสสะเหล่านั้นกระทบ แล้วโดยอาการมากอย่าง เป็นผู้ไม่เปิดโอกาส ความว่า ภิกษุนั้น เป็นผู้อันผัสสะคือโรค ความหิว ความหนาว และความร้อนกระทบเข้า ถูกต้อง ตั้งลง ครอบงำแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุนั้น อันผัสสะเหล่านั้นกระทบเข้าแล้ว. คำว่า โดยอาการมากอย่าง ความว่า กระทบเข้า ถูกต้อง ตั้งลง ครอบงำ โดยอาการมีชนิดเป็นอเนก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุนั้น อันผัสสะ เหล่านั้นกระทบเข้าแล้วโดยอาการมากอย่าง. คำว่า เป็นผู้ไม่เปิดโอกาส ความว่า ย่อมไม่ทำโอกาส แก่วิญญาณอันสหรคตด้วยอภิสังขาร แม้เพราะเหตุดังนี้ จึงชื่อว่า ไม่เปิดโอกาส. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุย่อมไม่ทำโอกาสแก่กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต แม้เพราะเหตุดังนี้ จึงชื่อว่า ไม่เปิด โอกาส เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุนั้น อันผัสสะเหล่านั้นกระทบแล้วโดยอาการมากอย่าง เป็นผู้ไม่เปิดโอกาส.
ว่าด้วยการทำความบากบั่น
[๙๔๑] คำว่า พึงทำความบากบั่นคือความเพียรให้มั่นไว้ ความว่า ความปรารภความ เพียร ความก้าวหน้าไป ความบากบั่น ความดำเนินไป ความพยายาม ความอุตสาหะ ความหมั่น ความไม่ถอยหลัง ความออกแรง ความตั้งไว้ ความบากบั่นคือไม่ย่อหย่อน ความไม่ปลงฉันทะ ความไม่ทอดธุระ ความประคองธุระ วิริยะ วิริยินทรีย์ วิริยพละ สัมมาวายามะ ที่เป็นไปทาง จิต เรียกว่า ความบากบั่นคือความเพียร. ภิกษุพึงทำความบากบั่นคือความเพียรให้มั่นไว้ คือ พึง เป็นผู้สมาทานมั่น มีสมาทานตั้งลงมั่น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงทำความบากบั่นคือความเพียร ให้มั่นไว้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ภิกษุถูกผัสสะคือโรคและความหิวกระทบแล้ว พึงอดทนความหนาว และความร้อน ภิกษุนั้น อันผัสสะเหล่านั้นกระทบแล้วโดยอาการ มากอย่าง เป็นผู้ไม่เปิดโอกาส พึงทำความบากบั่นคือความเพียรให้ มั่นไว้. [๙๔๒] ภิกษุไม่พึงทำความเป็นขโมย ไม่พึงพูดเท็จ พึงแผ่เมตตาไปยังสัตว์ทั้งที่ สะดุ้งและผู้มั่นคง เมื่อใด ภิกษุพึงรู้ความขุ่นใจ เมื่อนั้น พึงบรรเทา เสียด้วยมนสิการว่า นี่เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้มีกรรมดำ. [๙๔๓] คำว่า ภิกษุไม่พึงทำความเป็นขโมย ในคำว่า ภิกษุไม่พึงทำความเป็นขโมย ไม่พึงพูดเท็จ ความว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละอทินนาทาน เป็นผู้เว้นขาดจากอทินนาทาน ถือเอาแต่ของที่เขาให้ หวังได้แต่ของที่เขาให้ พึงเป็นผู้มีจิตไม่เป็นขโมยเป็นจิตสะอาดอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุไม่พึงทำความเป็นขโมย. คำว่า ไม่พึงพูดเท็จ ความว่า ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท คือ พูดจริง ดำรงคำสัตว์ มีถ้อยคำมั่นคงเชื่อถือได้ ไม่พูดให้เคลื่อนคลาดแก่โลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุไม่พึงทำความเป็นขโมย ไม่พึงพูดเท็จ.
การแผ่เมตตา
[๙๔๔] ชื่อว่าเมตตา ในคำว่า พึงแผ่เมตตาไปยังสัตว์ทั้งที่สะดุ้งและผู้มั่นคง คือ ความ ไมตรี กิริยาที่รัก ความเป็นผู้มีความรัก ความเอ็นดู กิริยาที่เอ็นดู ความเป็นผู้เอ็นดู ความ แสวงหาประโยชน์ ความอนุเคราะห์ ความไม่พยาบาท ความไม่ปองร้าย ความไม่โกรธ กุศลมูล. สัตว์เหล่าใดยังละตัณหาอันทำให้สะดุ้งไม่ได้ และยังละความกลัวและความขลาดไม่ได้ สัตว์ เหล่านั้นชื่อว่าผู้สะดุ้ง. เพราะเหตุอะไร สัตว์เหล่านั้น จึงเรียกว่าผู้สะดุ้ง สัตว์เหล่านั้น ย่อม สะดุ้งหวาดเสียว ครั่นคร้าม กลัวถึงความสยดสยอง เพราะเหตุนั้น สัตว์เหล่านั้นจึงเรียกว่า ผู้สะดุ้ง. สัตว์เหล่าใดละตัณหาอันทำให้สะดุ้งได้แล้ว และละความกลัวและความขลาดได้แล้ว สัตว์เหล่านั้นชื่อว่าผู้มั่นคง. เพราะเหตุไร สัตว์เหล่านั้นจึงเรียกว่าผู้มั่นคง. สัตว์เหล่านั้นย่อมไม่ สะดุ้ง ไม่หวาดเสียว ไม่ครั่นคร้ามไม่กลัว ไม่ถึงความสยดสยอง เพราะเหตุนั้น สัตว์เหล่านั้น จึงเรียกว่าผู้มั่นคง. คำว่า พึงแผ่เมตตาไปยังสัตว์ทั้งที่สะดุ้งและผู้มั่นคง ความว่า พึงถูกต้อง พึงแผ่เมตตา คือ พึงเป็นผู้มิจิตสหรคตด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่พยายาม แผ่ไปยังสัตว์ทั้งผู้สะดุ้งและผู้มั่นคง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงแผ่เมตตา ไปยังสัตว์ทั้งที่สะดุ้งและผู้มั่นคง.
คำว่าใจมีชื่อต่างๆ
[๙๔๕] คำว่า เมื่อใด ในคำว่า เมื่อใด ภิกษุพึงรู้ความขุ่นใจ ความว่า ในกาลใด. คำว่า ใจ คือ จิต ใจ มานัส หทัย บัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุอันเกิดแต่ผัสสะเป็นต้นนั้น. จิตเป็นธรรมชาติขุ่นมัว เศร้าหมอง ยุ่ง วุ่น หวั่นไหว หมุนไป ไม่สงบ เพราะกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด ความหัวดื้อ ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความเมา ความประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อน ทั้งปวง อกุสลาภิสังขารทั้งปวง. คำว่า เมื่อใด ภิกษุพึงรู้ความขุ่นใด ความว่า ภิกษุพึงรู้ รู้ทั่ว รู้วิเศษ รู้วิเศษเฉพาะ แทงตลอดความที่จิตขุ่น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อใด ภิกษุพึงรู้ความ ขุ่นใจ.
บรรเทาความขุ่นใจด้วยมนสิการ
[๙๔๖] ผู้ให้สัตว์ตาย ผู้มีกรรมดำ เป็นผู้ใหญ่ ผู้ให้สัตว์ถึงความตาย ผู้ไม่ให้สัตว์ พ้นไป ผู้เป็นเผ่าพันธ์แห่งผู้ประมาท ชื่อว่าผู้มีกรรมดำ ในคำว่า เมื่อนั้น พึงบรรเทาเสียด้วย มนสิการว่า นี่เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้มีกรรมดำ. คำว่า เมื่อนั้น พึงบรรเทาเสียด้วยมนสิการว่า นี่เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้มีกรรมดำ. คำว่า พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีด้วยมนสิ- *การว่า นี่เป็นฝักฝ่ายผู้มีกรรมดำ เป็นฝักฝ่ายมาร เป็นบ่วงมาร เป็นเบ็ดมาร เป็นเหยื่อมาร เป็น วิสัยมาร เป็นเครื่องให้เดือดร้อนของมาร เป็นอาหารมาร เป็นเครื่องผูกของมาร แม้ด้วยเหตุ อย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า เมื่อนั้น พึงบรรเทาเสียด้วยมนสิการว่า นี่เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้มีกรรมดำ. อีกอย่างหนึ่ง พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ความไม่มี ด้วยมนสิการว่า นี่เป็นฝักฝ่ายผู้มี กรรมดำ เป็นฝักฝ่ายมาร เป็นฝักฝ่ายอกุศล เป็นเครื่องให้เกิดทุกข์ เป็นสภาพมีวิบากเป็นทุกข์ เป็นเหตุให้เป็นไปในนรก เป็นเหตุให้เป็นไปในกำเนิดดิรัจฉาน เป็นเหตุให้เป็นไปในเปรตวิสัย แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า เมื่อนั้น พึงบรรเทาเสียด้วยมนสิกาว่า นี่เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้ มีกรรมดำ. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ภิกษุไม่พึงทำความเป็นขโมย ไม่พึงพูดเท็จ พึงแผ่เมตตาไปยังสัตว์ทั้งที่ สะดุ้งและผู้มั่นคง เมื่อใด ภิกษุพึงรู้ความขุ่นใจ เมื่อนั้น พึงบรรเทา เสียด้วยมนสิการว่า นี่เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้มีกรรมดำ. [๙๔๗] ภิกษุไม่พึงลุอำนาจแห่งความโกรธและความดูหมิ่น พึงขุดรากความโกรธ และความดูหมิ่นนั้นดำรงอยู่ อนึ่ง ภิกษุเมื่อปราบก็พึงปราบที่รักและที่ เกลียดชังเสียโดยแท้.
ความโกรธและความดูหมิ่น
[๙๔๘] ชื่อว่า ความโกรธ ในคำว่า ภิกษุไม่พึงลุอำนาจความโกรธและความดูหมิ่น คือ ความอาฆาต ความมุ่งร้าย ฯลฯ ความเป็นผู้ดุร้าย ความเพาะวาจาชั่ว ความไม่แช่มชื่นแห่ง จิต. ชื่อว่า ความดูหมิ่น คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมดูหมิ่นผู้อื่น โดยชาติบ้าง โดยโคตร บ้าง ฯลฯ โดยวัตถุอื่นๆ บ้าง. คำว่า ภิกษุไม่พึงลุอำนาจความโกรธและความดูหมิ่น ความว่า ไม่พึงลุอำนาจความโกรธและความดูหมิ่น คือ พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่ง ความโกรธและความดูหมิ่น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุไม่พึงลุอำนาจความโกรธและความดูหมิ่น.
รากของความโกรธและความดูหมิ่น
[๙๔๙] รากแห่งความโกรธ ในคำว่า พึงขุดรากความโกรธและความดูหมิ่นนั้นดำรง อยู่เป็นไฉน? อวิชชา อโยนิโสมนสิการ อัสมิมานะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ (แต่ละอย่าง) เป็นรากแห่งความโกรธ. รากแห่งความดูหมิ่นเป็นไฉน? อวิชชา อโยนิโสมน- *สิการ อัสมิมานะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ (แต่ละอย่าง) เป็นรากแห่งความดูหมิ่น. คำว่า พึงขุดรากความโกรธ และความดูหมิ่นนั้นดำรงอยู่ ความว่า พึงขุด รื้อ ถอน ฉุด กระชาก ละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งรากความโกรธและความดูหมิ่นเสีย ดำรงอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงขุดรากความโกรธและความดูหมิ่นนั้นดำรงอยู่.
ว่าด้วยที่รัก ๒ อย่าง
[๙๕๐] บทว่า อถ ในคำว่า อนึ่ง ภิกษุเมื่อปราบก็พึงปราบที่รักและที่เกลียดชังเสีย โดยแท้ เป็นบทสนธิ เป็นบทอุปสรรค เป็นบทปทปูรณะ เป็นศัพท์ประชุมอักขระ เป็นศัพท์ สละสลวยด้วยพยัญชนะ เป็นลำดับบท. ชื่อว่าที่รัก ได้แก่ ที่รัก ๒ อย่าง คือ สัตว์ ๑ สังขาร ๑. สัตว์เป็นที่รักเป็นไฉน? สัตว์ในโลกนี้เป็นผู้ปรารถนาความเจริญ ปรารถนาประโยชน์ เกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความปลอดโปร่งจากโยคกิเลส แก่บุคคลนั้น คือ เป็นมารดา บิดา พี่ชายน้องชาย พี่หญิงน้องหญิง บุตร ธิดา มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต (ผู้สืบสาย) สัตว์เหล่านี้ ชื่อว่าเป็นที่รัก. สังขารเป็นที่รักเป็นไฉน? รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ชอบใจ สังขารเหล่านี้ชื่อว่าเป็นที่รัก. ชื่อว่าที่เกลียดชัง ได้แก่ ที่เกลียด ชัง ๒ อย่าง คือ สัตว์ ๑ สังขาร ๑ สัตว์เป็นที่เกลียดชังเป็นไฉน? สัตว์ในโลกนี้ เป็นผู้ ไม่ปรารถนาความเจริญ ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ปรารถนาความไม่ผาสุก ปรารถนาความไม่ปลอดโปร่งจากโยคกิเลส ปรารถนาจะปลงเสียจากชีวิต แก่บุคคลนั้น สัตว์ เหล่านี้ชื่อว่า เป็นที่เกลียดชัง. สังขารเป็นที่เกลียดชังเป็นไฉน? รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันไม่เป็นที่ชอบใจ สังขารเหล่านี้ชื่อว่า เป็นที่เกลียดชัง. คำว่า โดยแท้ เป็น คำกล่าวโดยส่วนเดียว เป็นคำกล่าวโดยไม่มีความสงสัย เป็นคำกล่าวโดยไม่มีความเคลือบแคลง เป็นคำกล่าวไม่เป็นสองส่วน เป็นคำกล่าวไม่เป็นสองอย่าง เป็นคำกล่าวมิได้รวมกัน เป็นคำ กล่าวไม่ผิด. คำว่า โดยแท้นี้ เป็นคำกล่าวกำหนดแน่. คำว่า อนึ่ง ภิกษุเมื่อปราบก็พึงปราบ ที่รักและที่เกลียดชังเสียโดยแท้ ความว่า ภิกษุเมื่อปราบก็พึงปราบ เมื่อย่ำยีก็พึงย่ำยีซึ่งที่รัก และที่เกลียดชัง ที่ยินดีและยินร้าย สุขและทุกข์ โสมนัสและโทมนัส อิฏฐารมณ์และ อนิฏฐารมณ์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อนึ่ง ภิกษุเมื่อปราบก็พึงปราบที่รักและที่เกลียดชังเสีย โดยแท้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ภิกษุไม่พึงลุอำนาจแห่งความโกรธและความดูหมิ่น พึงขุดรากความ โกรธและความดูหมิ่นนั้นดำรงอยู่ อนึ่ง ภิกษุเมื่อปราบก็พึงปราบที่รักและ ที่เกลียดชังเสียโดยแท้. [๙๕๑] ภิกษุทำปัญญาไว้เบื้องหน้า มีปีติงาม พึงข่มอันตรายเหล่านั้น พึง ปราบความไม่ยินดีในที่นอนอันสงัด พึงปราบธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่ง ความรำพัน ๔ อย่าง.
ว่าด้วยการทำปัญญาไว้เบื้องหน้าและมีปีติงาม
[๙๕๒] ชื่อว่า ปัญญา ในคำว่า ภิกษุทำปัญญาไว้เบื้องหน้า มีปีติงาม ได้แก่ ความรู้ ทั่ว ความรู้ชัด ความเลือกเฟ้น ความเลือกเฟ้นทั่ว ความเลือกเฟ้นธรรม ฯลฯ อโมหะ ธรรมวิจยะ สัมมาทิฏฐิ. คำว่า ทำปัญญาไว้เบื้องหน้า ความว่า ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ทำปัญญาไว้เบื้องหน้าประพฤติ เป็นผู้มีปัญญาเป็นธงชัย มีปัญญาเป็นยอดธง มีปัญญาเป็นใหญ่ มีความเลือกเฟ้นมาก มีความเลือกเฟ้นทั่วมาก มีปัญญาเครื่องเห็นมาก มีความเสาะหามาก อยู่ด้วยความเป็นผู้ทำให้แจ่มแจ้ง ประพฤติด้วยปัญญา มีปัญญามาก ตระหนักอยู่ด้วยปัญญา เอนไปในปัญญา โอนไปในปัญญา โน้มไปในปัญญา น้อมไปในปัญญา มีปัญญานั้นเป็นใหญ่ แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า ทำปัญญาไว้เบื้องหน้า. อนึ่ง ภิกษุเมื่อเดินก็รู้ว่า เดิน เมื่อ ยืนก็รู้ว่า ยืน เมื่อนั่งก็รู้ว่า นั่ง หรือเมื่อนอนก็รู้ว่า นอน หรือว่ากายของเธอตั้งอยู่อย่าง ใดๆ ภิกษุนั้นก็รู้กายนั้นอย่างนั้นๆ แม้เพราะเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า ทำปัญญาไว้เบื้อง หน้า. อนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป ในการถอยกลับ ทำความรู้สึกตัวในการ แล ในการเหลียว ทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ทำความรู้สึกตัวในการครอง สังฆาฏิ บาตรและจีวร ทำความรู้สึกตัวในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ทำความรู้สึก ตัวในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า ทำปัญญาไว้เบื้องหน้า. คำว่า มีปีติงาม ความว่า ปีติ ปราโมทย์ ที่เกิดขึ้นด้วยความสามารถแห่งพุทธานุสสติ ชื่อว่าปีติงาม ปีติ ปราโมทย์ ที่เกิดขึ้นด้วยสามารถธรรมานุสสติ ... สังฆานุสสติ ... สีลานุสสติ ... จาคานุสสติ ... เทวตานุสสติ ... อานาปาณสติ ... มรณานุสสติ ... กายคตาสติ ... อุปสมานุสสติ ชื่อว่าปีติ งาม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุทำปัญญาไว้เบื้องหน้า มีปีติงาม.
ว่าด้วยอันตราย ๒ อย่าง
[๙๕๓] ชื่อว่า อันตราย ในคำว่า พึงข่มอันตรายเหล่านั้น ได้แก่ อันตราย ๒ อย่าง คือ อันตรายปรากฏ ๑ อันตรายปกปิด ๑ ฯลฯ อันตรายเหล่านี้ชื่อว่าอันตรายปรากฏ ฯลฯ อันตรายเหล่านี้ชื่อว่าอันตรายที่ปกปิด ฯลฯ เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย แม้อย่างนี้ จึงชื่อว่า อันตราย. คำว่า พึงข่มอันตรายเหล่านั้น ความว่า พึงข่ม ปราบปราม ครอบงำ กำจัด ย่ำยี ซึ่งอันตรายเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงข่มอันตรายเหล่านั้น เสีย. [๙๕๔] ชื่อว่า ความไม่ยินดี ในคำว่า พึงปราบความไม่ยินดีในที่นอนอันสงัด คือ ความไม่ยินดี ความไม่ชอบใจ ความไม่ยินดียิ่ง ความไม่ยินดีเฉพาะ ความเบื่อ ความระอา. คำว่า ในที่นอนอันสงัด ความว่า พึงปราบ ข่ม ครอบงำ กำจัด ย่ำยี ซึ่งความไม่ยินดีใน เสนาสนะอันสงัด หรือในธรรมทั้งหลาย อันเป็นอธิกุศลอื่นๆ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึง ปราบความไม่ยินดีในที่นอนอันสงัด. [๙๕๕] คำว่า พึงปราบธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความรำพัน ๔ อย่าง ความว่า พึงปราบ ข่ม ครอบงำ กำจัด ย่ำยี ซึ่งธรรมอันเป็นเหตุแห่งความรำพัน ๔ อย่าง เพราะฉะนั้น จึงชื่อ ว่า พึงปราบธรรมอันเป็นเหตุแห่งความรำพัน ๔ อย่าง. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง ตรัสว่า ภิกษุทำปัญญาไว้เบื้องหน้า มีปีติงาม พึงข่มอันตรายเหล่านั้น พึงปราบ ความไม่ยินดีในที่นอนอันสงัด พึงปราบธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความ รำพัน ๔ อย่าง. [๙๕๖] เราจักฉันอะไร? เราจักฉันที่ไหน? วันนี้เรานอนลำบากหนอ พรุ่งนี้ เราจักนอนที่ไหน? ภิกษุผู้เสขะ พึงบำบัดเสียซึ่งวิตกเหล่านี้อันเป็นที่ ตั้งแห่งความรำพัน พึงเป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไป.
ว่าด้วยความวิตกอันเป็นที่ตั้งความรำพัน
[๙๕๗] คำว่า เราจักฉันอะไร? ในคำว่า เราจักฉันอะไร? เราจักฉันที่ไหน? ความว่า เราจักฉันอะไร คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา หรือเนื้อ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เราจักฉันอะไร คำว่า เราจักฉันที่ไหน ความว่า เราจักฉันที่ไหน คือ ในสกุล กษัตริย์ สกุลพราหมณ์ สกุลแพศย์ หรือสกุลศูทร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เราจักฉันอะไร เราจักฉันที่ไหน. [๙๕๘] คำว่า วันนี้เรานอนลำบากหนอ พรุ่งนี้เราจักนอนที่ไหน? ความว่า คืนนี้ เรานอนลำบากบนแผ่นกระดาน บนเสื่อ บนท่อนหนัง บนเครื่องลาดด้วยหญ้า บนเครื่อง ลาดด้วยใบไม้ หรือบนเครื่องลาดด้วยฟาง คืนพรุ่งนี้ เราจักนอนสบายที่ไหน คือ ที่เตียง ที่ตั่ง ที่ฟูก ที่หมอน ที่วิหาร ที่เรือนมีหลังคาแถบเดียว ที่ปราสาท ที่เรือนมีหลังคาโล้น หรือ ที่ถ้ำ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วันนี้เรานอนลำบากหนอ พรุ่งนี้เราจักนอนที่ไหน [๙๕๙] คำว่า ซึ่งวิตกเหล่านี้อันเป็นที่ตั้งแห่งความรำพัน ความว่า ซึ่งวิตกอันปฏิสังยุต ด้วยบิณฑบาต ๒ อย่าง ซึ่งวิตกอันปฏิสังยุตด้วยเสนาสนะ ๒ อย่าง อันเป็นที่ตั้งแห่งความ รำพัน คือ เป็นฐานแห่งความปรับทุกข์ เป็นมูลฐานแห่งความรำพัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ซึ่งวิตกเหล่านี้อันเป็นที่ตั้งแห่งความรำพัน.
อธิบายคำว่าเสขะและคำว่าศึกษา
[๙๖๐] ชื่อว่า เสขะ ในคำว่า ภิกษุผู้เสขะพึงบำบัดเสีย พึงเป็นผู้ไม่มีกังวล ท่องเที่ยวไป ความว่า เพราะเหตุไรจึงเรียกว่า เสขะ เพราะศึกษา จึงชื่อว่า เสขะ. ศึกษา อะไร? ศึกษาอธิศีลบ้าง ศึกษาอธิจิตบ้าง ศึกษาอธิปัญญาบ้าง. อธิศีลสิกขาเป็นไฉน ฯลฯ นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา. ภิกษุคำนึงถึงสิกขา สมมตินี้ ก็ชื่อว่าศึกษา รู้ก็ชื่อว่าศึกษา เห็นก็ชือ ว่าศึกษา พิจารณาก็ชื่อว่าศึกษา ตั้งจิตก็ชื่อว่าศึกษา น้อมใจไปด้วยศรัทธาก็ชื่อว่าศึกษา ประคอง ความเพียรก็ชื่อว่าศึกษา เข้าไปตั้งสติก็ชื่อว่าศึกษา ตั้งจิตไว้ก็ชื่อว่าศึกษา รู้ชัดด้วยปัญญาก็ชื่อ ว่าศึกษา รู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่งก็ชื่อว่าศึกษา กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ก็ชื่อว่าศึกษา ละธรรม ที่ควรละก็ชื่อว่าศึกษา ทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งก็ชื่อว่าศึกษา เจริญธรรมที่ควรเจริญก็ชื่อ ว่าศึกษา คือ ย่อมประพฤติเอื้อเฟื้อ ย่อมประพฤติเอื้อเฟื้อด้วยดี ย่อมสมาทานศึกษา เพราะ เหตุนั้น จึงเรียกว่า เสขะ. ภิกษุผู้เสขะศึกษาแม้อธิศีล แม้อธิจิต แม้อธิปัญญา เพื่อบำบัด กำจัด ละเว้น สงบ สละคืน ระงับเสีย ภิกษุผู้เสขะเมื่อนึกถึงสิกขา ๓ นี้ก็พึงศึกษา เมื่อรู้ ก็พึงศึกษา ฯลฯ เมื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งก็พึงศึกษา คือ พึงประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อด้วยดี สมาทานประพฤติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุผู้เสขะพึงบำบัดเสีย.
ว่าด้วยการเที่ยวไปอย่างไม่มีกังวล
[๙๖๑] คำว่า พึงเป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไป ความว่า ภิกษุเป็นผู้มีกังวลท่องเที่ยว ไปอย่างไร? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ประกอบด้วยความกังวลสกุล ด้วยความกังวลคณะ ด้วยความกังวลอาวาส ด้วยความกังวลจีวร ด้วยความกังวลบิณฑบาต ด้วยความกังวลเสนาสนะ ด้วยความกังวลคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ภิกษุเป็นผู้มีกังวลท่องเที่ยวไปอย่างนี้. ภิกษุเป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไปอย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เป็นผู้ประกอบด้วย ความกังวลสกุล ไม่เป็นผู้ประกอบด้วยความกังวลคณะ อาวาส จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ภิกษุเป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไปอย่างนี้. สมจริงดังภาษิตว่า ภิกษุทั้งหลายไปมคธรัฐ ไปโกศลรัฐ มีอยู่ ภิกษุที่ไปมคธรัฐบางพวก เที่ยวไปต่างหมู่ แต่วัชชีภูมิ เป็นผู้ไม่มีกังวลอยู่ ความเที่ยวไปให้ ประโยชน์สำเร็จ ความเที่ยวไปดีให้ประโยชน์สำเร็จ ความเป็นผู้ไม่มี กังวลอยู่ ให้ประโยชน์สำเร็จทุกเมื่อ การถามถึงประโยชน์เป็นกรรม ของผู้ขยัน นั่นเป็นความเสมอกันแห่งความไม่กังวล ดังนี้. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุผู้เสขะพึงบำบัดเสีย พึงเป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไป. เพราะ เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เราจักฉันอะไร? เราจักฉันที่ไหน? วันนี้เรานอนลำบากหนอ พรุ่งนี้เราจักนอนที่ไหน? ภิกษุผู้เสขะพึงบำบัดเสียซึ่งวิตกเหล่านี้ อัน เป็นที่ตั้งแห่งความรำพัน พึงเป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไป. [๙๖๒] ภิกษุนั้นในธรรมวินัยนี้ ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาล พึงรู้จัก ประมาณเพื่อสันโดษ ภิกษุนั้นสำรวมในปัจจัยเหล่านั้น เป็นผู้สำรวม เที่ยวไปในบ้าน แม้ถูกเขาด่า ก็ไม่ควรกล่าววาจาหยาบ.
ว่าด้วยได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มโดยธรรม
[๙๖๓] ชื่อว่า อาหาร ในคำว่า ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาล คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ. ชื่อว่า เครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ จีวร ๖ ชนิด คือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าด้ายเจือไหม. คำว่า ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาล ความว่า ภิกษุนั้นได้จีวรและบิณฑบาต มิใช่ได้ด้วยการหลอกลวง มิใช่ได้ด้วยการพูดเลียบ เคียง มิใช่ได้ด้วยการบอกใบ้ มิใช่ได้ด้วยความกำจัดคุณเขา มิใช่ได้ด้วยการแสวงหาลาภด้วย ลาภ มิใช่ได้ด้วยการให้ฟืน มิใช่ได้ด้วยการให้ไม้ไผ่ มิใช่ได้ด้วยการให้ใบไม้ มิใช่ได้ด้วยการ ให้ดอกไม้ มิใช่ได้ด้วยการให้ผลไม้ มิใช่ได้ด้วยการให้เครื่องอาบน้ำ มิใช่ได้ด้วยการให้จุรณ มิใช่ได้ด้วยการให้ดินเหนียว มิใช่ได้ด้วยการให้ไม้สีฟัน มิใช่ได้ด้วยการให้น้ำบ้วนปาก มิใช่ ได้ด้วยคำพูดมุ่งให้เขารักตน มิใช่ได้ด้วยถ้อยคำเหลวไหลดังแกงถั่ว มิใช่ได้ด้วยกิริยาประจบเขา มิใช่ได้ด้วยความเป็นผู้นั่งบนตั่ง (ด้วยความตีสนิทเขา) มิใช่ได้ด้วยวิชาดูพื้นที่ มิใช่ได้ด้วย ดิรัจฉานวิชา มิใช่ได้ด้วยอังควิชา (รู้จักลักษณะดีร้ายของหญิงชาย) มิใช่ได้ด้วยนักขัตวิชา (รู้ฤกษ์ยาม) มิใช่ได้ด้วยการเดินเป็นทูต มิใช่ได้ด้วยความเป็นผู้รับใช้ มิใช่ได้ด้วยความเป็นผู้ เดินสาส์น มิใช่ได้ด้วยเวชกรรม มิใช่ได้ด้วยนวกรรม มิใช่ได้ด้วยการให้ก้อนข้าวและก้อน ข้าวตอบแทน มิใช่ได้ด้วยการให้และการเพิ่มให้ ได้รับได้เฉพาะ โดยธรรมสม่ำเสมอ เพราะ ฉะนั้น จึงชื่อว่า ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาล.
ความรู้จักประมาณ ๒ อย่าง
[๙๖๔] คำว่า ภิกษุนั้นพึงรู้จักประมาณ ในคำว่า ภิกษุนั้นในธรรมวินัยนี้ ... พึงรู้จัก ประมาณเพื่อสันโดษ ความว่า รู้จักประมาณโดยเหตุ ๒ อย่าง คือ รู้จักประมาณโดยการรับ ๑ รู้จักประมาณโดยการบริโภค ๑. ภิกษุรู้จักประมาณโดยการรับอย่างไร? เมื่อทายกถวายสิ่งของแม้น้อย ภิกษุก็รับเพื่อความ เอ็นดูแก่สกุล เพื่อความรักษาสกุล เพื่ออนุเคราะห์แก่สกุล เมื่อทายกถวายสิ่งของแม้มาก ภิกษุ รับจีวรพอบริหารกาย รับบิณฑบาตพอบริหารท้อง ภิกษุรู้จักประมาณโดยการรับอย่างนี้. ภิกษุรู้จักประมาณโดยการบริโภคอย่างไร? ภิกษุพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้วจึง ใช้จีวร เพื่อบำบัดความหนาว เพื่อบำบัดความร้อน เพื่อบำบัดสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดดและสัตว์เสือกคลาน เพื่อจะปกปิดอวัยวะที่ให้ความละอายกำเริบ เป็นกำหนดเท่านั้น. ภิกษุพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้วจึงฉันบิณฑบาต ไม่ฉันเพื่อเล่น ไม่ฉันเพื่อเมา ไม่ฉัน เพื่อประดับ ไม่ฉันเพื่อตกแต่ง ฉันเพื่อความดำรงกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไป เพื่อเว้นความ ลำบากแห่งกายนี้ เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยมนสิการว่า เราจะบำบัดเวทนาเก่า จักไม่ ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความเป็นไปสะดวก ความไม่มีโทษ ความผาสุกจักมีแก่เรา ดังนี้ เป็น กำหนดเท่านั้น. ภิกษุพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้วจึงเสพเสนาสนะ เพื่อบำบัดความหนาว เพื่อบำบัดความร้อน เพื่อบำบัดสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดดและสัตว์เสือกคลาน เพื่อ ความบรรเทาอันตรายอันเกิดแต่ฤดู เพื่อความยินดีในความหลีกเร้น เป็นกำหนดเท่านั้น. ภิกษุ พิจารณาโดยอุบายอันแคบคายแล้วจึงใช้คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพื่อบำบัดทุกขเวทนาอันเกิด เพราะธาตุกำเริบ ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว เพื่อความไม่ลำบากเป็นอย่างยิ่ง เป็นกำหนดเท่านั้น ภิกษุรู้จัก ประมาณโดยการบริโภคอย่างนี้. คำว่า ภิกษุนั้นพึงรู้จักประมาณ คือ รู้ รู้ทั่ว รู้แจ้ง รู้แจ้งเฉพาะ แทงตลอดซึ่งประมาณ โดยเหตุ ๒ อย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุนั้นพึงรู้จักประมาณ. [๙๖๕] คำว่า ในธรรมวินัยนี้ ... เพื่อสันโดษ ความว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ สันโดษด้วยจีวร และกล่าวคุณแห่งความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ ทั้งไม่ถึงความแสวงหา ผิดอันไม่สมควรเพราะเหตุแห่งจีวร ไม่ได้จีวรก็ไม่สะดุ้ง และได้จีวรแล้วก็ไม่ติดใจ ไม่หลง ไม่พัวพัน เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดทุกข์ บริโภคอยู่ ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยความ สันโดษ ด้วยจีวรตามมีตามได้นั้น ก็ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน มีความรู้สึกตัว มีสติ ในจีวรสันโดษนั้น ภิกษุนี้เรียกว่า เป็นผู้ดำรงอยู่ในวงศ์ของพระอริยะที่ทราบกันว่าเป็นวงศ์เลิศ อันมีมาแต่โบราณ. อีกประการหนึ่ง ภิกษุสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ และกล่าวคุณแห่ง ความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ทั้งไม่ถึงความแสวงหาผิดอันไม่สมควรเพราะเหตุแห่ง บิณฑบาต ไม่ได้บิณฑบาตก็ไม่สะดุ้ง และได้บิณฑบาตแล้วก็ไม่ติดใจ ไม่หลง ไม่พัวพัน เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดทุกข์ บริโภคอยู่ ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยความสันโดษ ด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้นั้น ก็ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน มีความรู้สึกตัว มีสติ ในบิณฑบาตสันโดษนั้น ภิกษุนี้เรียกว่า เป็นผู้ดำรงอยู่ในวงศ์ของพระอริยะที่ทราบกันว่าเป็นวงศ์ เลิศ อันมีมาแต่โบราณ. อีกประการหนึ่ง ภิกษุสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ และกล่าวคุณ แห่งความสันโดษด้วยเสนาสนะ ทั้งไม่ถึงความแสวงหาผิดอันไม่สมควรเพราะเหตุแห่งเสนาสนะ ไม่ได้เสนาสนะก็ไม่สะดุ้ง และได้เสนาสนะแล้วก็ไม่ติดใจ ไม่หลง ไม่พัวพัน เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดทุกข์ บริโภคอยู่ ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยความสันโดษ ด้วยเสนาสนะ ตามมีตามได้นั้น ก็ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน มีความรู้สึกตัว มีสติ ในเสนาสนะสันโดษ นั้น ภิกษุนี้เรียกว่า เป็นผู้ดำรงอยู่ในวงศ์แห่งพระอริยะที่ทราบกันว่าเป็นวงศ์เลิศ อันมีมาแต่ โบราณ. อีกประการหนึ่ง ภิกษุสันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ และกล่าวคุณ แห่งความสันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ ทั้งไม่ถึงความแสวงหาผิดอันไม่ สมควรเพราะเหตุแห่งคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ไม่ได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารก็ไม่สะดุ้ง ได้คิลาน- *ปัจจัยเภสัชบริขารแล้วก็ไม่ติดใจ ไม่หลง ไม่พัวพัน เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดทุกข์ บริโภคอยู่ ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยความสันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้นั้น ก็ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน มีความรู้สึกตัว มีสติ ในคิลานปัจจัยเภสัชบริขารสันโดษนั้น ภิกษุนี้เรียกว่า เป็นผู้ดำรงอยู่ในวงศ์แห่งพระอริยะ ที่ทราบกันว่าเป็นวงศ์เลิศ อันมีมาแต่ โบราณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุนั้นในธรรมวินัยนี้ ... พึงรู้จักประมาณเพื่อสันโดษ.
ว่าด้วยการสำรวม
[๙๖๖] คำว่า ภิกษุนั้นสำรวมในปัจจัยเหล่านั้น ในคำว่า ภิกษุนั้นสำรวมในปัจจัย เหล่านั้น เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในบ้าน ความว่า สำรวม คุ้มครอง รักษา ระวัง ในจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า ภิกษุนั้นสำรวมในปัจจัย เหล่านั้น. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุนั้นสำรวม คุ้มครอง รักษา ระวังในอายตนะทั้งหลาย แม้ด้วยเหตุ อย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า ภิกษุนั้นสำรวมในปัจจัยเหล่านั้น. คำว่า เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในบ้าน ความว่า เป็นผู้สำรวม ระวัง ระวังเฉพาะ คุ้มครอง ครอบครอง รักษา สังวร เที่ยวไปในบ้าน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุนั้นสำรวมในปัจจัยเหล่านั้น เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในบ้าน.
ว่าด้วยการไม่ด่าตอบคนที่ด่า
[๙๖๗] คำว่า แม้ถูกเขาด่าก็ไม่ควรกล่าววาจาหยาบ ความว่า ถูกเขาด่า แช่ง ดูหมิ่น เสียดสี ติเตียน ค่อนว่าเข้าแล้ว ไม่พึงกล่าวตอบผู้ที่กล่าว ไม่พึงด่าตอบผู้ที่ด่า ไม่พึงแช่งตอบ ผู้ที่แช่ง ไม่พึงหมายมั่นตอบผู้ที่หมายมั่น ด้วยถ้อยคำหยาบ กระด้าง ไม่ควรทำความทะเลาะ ไม่ควรทำความหมายมั่น ไม่ควรทำความแก่งแย่ง ไม่ควรทำความวิวาท ไม่ควรทำความทุ่มเถียง พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความทะเลาะ ความหมายมั่น ความแก่งแย่ง ความ วิวาท ความทุ่มเถียง พึงเป็นผู้งด เว้น เว้นขาด ออก สลัดออก ปล่อยเสีย ไม่เกี่ยวข้องซึ่ง ความทะเลาะ ความหมายมั่น ความแก่งแย่ง ความวิวาทและความทุ่มเถียง พึงเป็นผู้มีจิต ปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า แม้ถูกเขาด่าก็ไม่ควรกล่าววาจาหยาบ. เพราะ เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ภิกษุนั้นในธรรมวินัยนี้ ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาล พึงรู้จัก ประมาณเพื่อสันโดษ ภิกษุนั้นสำรวมในปัจจัยเหล่านั้น เป็นผู้สำรวม เที่ยวไปในบ้าน แม้ถูกเขาด่าก็ไม่ควรกล่าววาจาหยาบ. [๙๖๘] ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมจักษุ ไม่พึงเป็นผู้โลเลเพราะเท้า พึงเป็นผู้ขวนขวาย ในฌาน พึงเป็นผู้ตื่นอยู่มาก พึงเป็นผู้ปรารภอุเบกขามีจิตตั้งมั่น และ พึงเข้าไปตัดความตรึกธรรมที่อาศัยอยู่แห่งความตรึก และความรำคาญ.
ว่าด้วยการสำรวมจักษุ
[๙๖๙] พึงทราบอธิบายในคำว่า พึงเป็นผู้สำรวมจักษุ ไม่พึงเป็นผู้โลเลเพราะเท้า ดังต่อไปนี้ ภิกษุเป็นผู้ทอดจักษุไปอย่างไร? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้โลเลเพราะจักษุ ประกอบด้วยความเป็นผู้โลเลเพราะจักษุ คิดว่า เราพึงเห็นรูปที่ยังไม่ได้เห็น พึงผ่านเลยรูปที่ได้ เห็นแล้ว ดังนี้ จึงเป็นผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเที่ยวไปนาน ซึ่งความเที่ยวไปไม่แน่นอน เพื่อเห็นรูป จากอารามนี้ไปยังอารามโน้น จากสวนนี้ไปยังสวนโน้น จากบ้านนี้ไปยังบ้านโน้น จากนิคมนี้ไปยังนิคมโน้น จากนครนี้ไปยังนครโน้น จากแคว้นนี้ไปยังแคว้นโน้น จากชนบทนี้ไปยัง ชนบทโน้น ภิกษุเป็นผู้ทอดจักษุไปแม้อย่างนี้. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเข้าไปสู่ละแวกบ้าน เดินไปตาม ถนนไม่สำรวมเดินไป เดินแลดูกองพลช้าง แลดูกองพลม้า แลดูกองพลรถ แลดูกองพลเดินเท้า แลดูพวกสตรี แลดูพวกบุรุษ แลดูพวกกุมาร แลดูพวกกุมารี แลดูร้านตลาด แลดูหน้ามุขเรือน แลดูข้างบน แลดูข้างล่าง แลดูทิศน้อยทิศใหญ่ ภิกษุเป็นผู้ทอดจักษุไปแม้อย่างนี้. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ถือนิมิต ถืออนุพยัญชนะ ย่อมไม่ปฏิบัติ เพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อ ไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ย่อมไม่ รักษาจักขุนทรีย์ ไม่ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุเป็นผู้ทอดจักษุไปแม้อย่างนี้. อนึ่ง เหมือน อย่างว่า ท่านสมณพราหมณ์จำพวกหนึ่ง ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ขวนขวายดูการเล่น อันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ คือ การฟ้อน การขับ การประโคม มหรสพมีการรำเป็นต้น การเล่นนิยาย เพลงปรบมือ ฆ้อง ระนาด หนัง เพลง ขอทาน ไต่ราว การเล่นหน้าศพ ชนช้าง แข่งม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ ชนนกกระทา รำกระบี่กระบอง ชกมวย มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ ภิกษุเป็นผู้ทอดจักษุไปแม้อย่างนี้. ภิกษุเป็นผู้ไม่ทอดจักษุอย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เป็นผู้โลเลเพราะจักษุ ไม่ ประกอบด้วยความเป็นผู้โลเลเพราะจักษุ ไม่คิดว่า เราพึงเห็นรูปที่ยังไม่ได้เห็น พึงผ่านเลยรูปที่ ได้เห็นแล้วดังนี้ เป็นผู้ไม่ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเที่ยวไปนาน ซึ่งความเที่ยวไปไม่แน่นอน เพื่อเห็นรูป จากอารามนี้ไปยังอารามโน้น ... จากชนบทนี้ไปยังชนบทโน้น ภิกษุไม่เป็นผู้ทอดจักษุ ไปแม้อย่างนี้. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเข้าไปสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามทาง ย่อมสำรวมเดินไป ไม่เดินแลดูกองพลช้าง ฯลฯ ไม่แลดูทิศน้อยทิศใหญ่ ภิกษุเป็นผู้ไม่ทอดจักษุไปแม้อย่างนี้. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ ฯลฯ ย่อมถึงความ สำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุไม่เป็นผู้ทอดจักษุไปแม้อย่างนี้. อนึ่ง เหมือนอย่างว่า ท่านสมณ- *พราหมณ์จำพวกหนึ่ง ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ฯลฯ กองทัพ ภิกษุเว้นขาดจากการ ดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ ภิกษุไม่เป็นผู้ทอดจักษุไปแม้อย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมจักษุ.
ว่าด้วยไม่โลเลเพราะเท้า
[๙๗๐] พึงทราบอธิบายในคำว่า ไม่พึงเป็นผู้โลเลเพราะเท้า ดังต่อไปนี้ ภิกษุเป็นผู้ โลเลเพราะเท้าอย่างไร? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้โลเลเพราะเท้า ประกอบด้วยความ เป็นผู้โลเลเพราะเท้า คือ เป็นผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเที่ยวไปนาน ซึ่งความเที่ยวไปไม่ แน่นอน จากอารามนี้ไปยังอารามโน้น ฯลฯ ภิกษุเป็นผู้โลเลเพราะเท้าแม้อย่างนี้. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้โลเลเพราะเท้า ประกอบด้วยความเป็นผู้โลเลเพราะเท้า ในภายในแห่งสังฆาราม ไม่ใช่ เดินไปเพราะเหตุแห่งประโยชน์ ไม่ใช่เดินไปเพราะเหตุแห่งการให้ทำ เป็นผู้ฟุ้งซ่าน มีจิตไม่ สงบ จากบริเวณนี้ไปยังบริเวณโน้น ฯลฯ พูดเรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ ภิกษุเป็นผู้โลเลเพราะเท้าแม้อย่างนี้. คำว่า ไม่เป็นผู้โลเลเพราะเท้า ความว่า ภิกษุพึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความเป็นผู้โลเลเพราะเท้า คือ พึงเป็นผู้งดเว้น เว้น เว้นขาด ออก สละ พ้นไป ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งความเป็นผู้โลเลเพราะเท้า พึงเป็นผู้มีจิตปราศจากแดนกิเลส อยู่ พึงเป็นผู้ชอบในความสงัด ยินดีในความสงัด ขวนขวายในความสงบจิต ณ ภายใน ไม่ เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนการอยู่ในเรือนว่างเปล่า เป็นผู้มีฌาน ยินดี ในฌาน ขวนขวายในความเป็นผู้มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง เป็นผู้หนักอยู่ในประโยชน์ของตน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมจักษุ ไม่พึงเป็นผู้โลเลเพราะเท้า.
ว่าด้วยผู้ขวนขวายในฌาน
[๙๗๑] คำว่า พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน ในคำว่า พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน เป็น ผู้ตื่นอยู่มาก ความว่า เป็นผู้ขวนขวายในฌานด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ เป็นผู้ประกอบ ประกอบ ทั่ว ประกอบโดยเอื้อเฟื้อ มาประกอบด้วยดี เพื่อความเกิดขึ้นแห่งปฐมฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น เพื่อ ความเกิดขึ้นแห่งทุติยฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น เพื่อความเกิดขึ้นแห่งตติยฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือเพื่อ ความเกิดขึ้นแห่งจตุตถฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า เป็นผู้ขวนขวาย ในฌาน. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุซ่องเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งปฐมฌานที่เกิดขึ้นแล้ว ทุติยฌานที่ เกิดขึ้นแล้ว ตติยฌานที่เกิดขึ้นแล้ว หรือจตุตถฌานที่เกิดขึ้นแล้ว แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึง ชื่อว่า เป็นผู้ขวนขวายในฌาน. คำว่า เป็นผู้ตื่นอยู่มาก ความว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ชำระ จิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเป็นเครื่องกั้น ด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดวัน ชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากธรรมเป็นเครื่องกั้น ด้วยการเดินจงกรมและการนั่ง ตลอดปฐมยามแห่งราตรี ย่อมสำเร็จสีห- *ไสยา (นอนอย่างราชสีห์) โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ใส่ใจถึง สัญญาในการลุกขึ้น ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี กลับลุกขึ้นแล้ว ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรม เป็นเครื่องกั้น ด้วยการเดินจงกรมและการนั่ง ตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน เป็นผู้ตื่นอยู่มาก.
ว่าด้วยอุเบกขา
[๙๗๒] ความเพิกเฉย กิริยาที่เพิกเฉย กิริยาที่เพิกเฉยยิ่ง ความที่จิตสงบ ความที่ จิตระงับ ความที่จิตเป็นกลาง ในจตุตถฌาน ชื่อว่า อุเบกขา ในคำว่า พึงเป็นผู้ปรารภอุเบกขา มีจิตตั้งมั่น. ความหยุด ความนิ่ง ความแน่วแน่ ความไม่กวัดแกว่ง ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ความที่ใจไม่กวัดแกว่ง ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ ชื่อว่า ความเป็นผู้ มีจิตตั้งมั่น. คำว่า พึงเป็นผู้ปรารภอุเบกขามีจิตตั้งมั่น ความว่า ปรารภอุเบกขาในจตุตถฌาน เป็นผู้มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีใจอันอะไรๆ ไม่ให้กวัดแกว่งได้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงเป็นผู้ปรารภอุเบกขามีจิตตั้งมั่น.
ว่าด้วยความตรึก ๙ อย่าง
[๙๗๓] ชื่อว่า ความตรึก ในคำว่า พึงเข้าไปตัดความตรึก ธรรมเป็นที่อาศัยอยู่แห่ง ความตรึก และความรำคาญ ได้แก่ ความตรึก ๙ อย่าง คือ ความตรึกในกาม ความตรึกใน ความพยาบาท ความตรึกในความเบียดเบียน ความตรึกถึงญาติ ความตรึกถึงชนบท ความตรึก ถึงเทพเจ้า ความตรึกอันปฏิสังยุตด้วยความเป็นผู้เอ็นดูผู้อื่น ความตรึกอันปฏิสังยุตด้วยลาภ สักการะและความสรรเสริญ ความตรึกอันปฏิสังยุตด้วยความไม่ถูกดูหมิ่น เหล่านี้เรียกว่า ความตรึก ๙ อย่าง. กามสัญญาเป็นที่อาศัยอยู่แห่งกามวิตก พยาบาทสัญญาเป็นที่อาศัยอยู่แห่ง พยาบาทวิตก วิหิงสาสัญญาเป็นที่อาศัยอยู่แห่งวิหิงสาวิตก. อีกอย่างหนึ่ง อวิชชา อโยนิโส มนสิการ อัสมิมานะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะเป็นที่อาศัยอยู่แห่งความตรึก คือ ความดำริทั้งหลาย. ชื่อว่า ความรำคาญ คือ ความรำคาญมือบ้าง ความรำคาญเท้าบ้าง ความรำคาญมือและเท้าบ้าง ความ สำคัญในสิ่งไม่ควรว่าควร ความสำคัญในสิ่งควรว่าไม่ควร ความสำคัญในสิ่งไม่มีโทษว่ามีโทษ ความ สำคัญในสิ่งมีโทษว่าไม่มีโทษ ความรำคาญ กิริยาที่รำคาญ ความเป็นผู้รำคาญ ความเดือดร้อนจิต ความกลุ้มใจเห็นปานนี้ เรียกว่า ความรำคาญ. อีกอย่างหนึ่ง ความรำคาญ ความเดือดร้อนจิต ความกลุ้มใจ ย่อมเกิดขึ้นเพราะเหตุ ๒ ประการ คือ เพราะกระทำและไม่กระทำ. ความรำคาญ ความเดือดร้อนจิต ความกลุ้มใจ ย่อมเกิดขึ้นเพราะกระทำและเพราะไม่ กระทำอย่างไร? ความรำคาญ ความเดือดร้อนจิต ความกลุ้มใจ ย่อมเกิดขึ้นว่า เราทำกาย ทุจริต เราไม่ได้ทำกายสุจริต เราทำวจีทุจริต เราไม่ได้ทำวจีสุจริต เราทำมโนทุจริต เราไม่ได้ ทำมโนสุจริต เราทำปาณาติบาต เราไม่ได้ทำเจตนาเครื่องงดเว้นจากปาณาติบาต เราทำอทินนา- *ทาน เราไม่ได้ทำเจตนาเครื่องงดเว้นจากอทินนาทาน เราทำกาเมสุมิจฉาจาร เราไม่ได้ทำเจตนา เครื่องงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร เราทำมุสาวาท เราไม่ได้ทำเจตนาเครื่องงดเว้นจากมุสาวาท เรา ทำปิสุณาวาจา เราไม่ได้ทำเจตนาเครื่องงดเว้นจากปิสุณาวาจา เราทำผรุสวาจา เราไม่ได้ทำเจตนา เครื่องงดเว้นจากผรุสวาจา เราทำสัมผัปปลาปะ เราไม่ได้ทำเจตนาเครื่องงดเว้นจากสัมผัปปลาปะ เราทำอภิชฌา เราไม่ได้ทำอนภิชฌา เราทำพยาบาท เราไม่ได้ทำอัพยาบาท เราทำมิจฉาทิฏฐิ เราไม่ได้ทำสัมมาทิฏฐิ ความรำคาญ ความเดือดร้อนจิต ความกลุ้มใจ ย่อมเกิดขึ้นเพราะกระทำ และเพราะไม่กระทำอย่างนี้. อีกอย่างหนึ่ง ความรำคาญ ความเดือดร้อนจิต ความกลุ้มใจ ย่อม เกิดขึ้นว่า เราเป็นผู้ไม่ทำความบริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย เราเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เราเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ เราเป็นผู้ไม่หมั่นประกอบในความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ เรา เป็นผู้ไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เราไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ เราไม่ได้เจริญสัมมัปปธาน ๔ เราไม่ได้เจริญอิทธิบาท ๔ เราไม่ได้เจริญอินทรีย์ ๕ เราไม่ได้เจริญพละ ๕ เราไม่ได้เจริญโพชฌงค์ ๗ เราไม่ได้เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ เราไม่ได้กำหนดรู้ทุกข์ เราไม่ได้ละสมุทัย เราไม่ได้เจริญมรรค เราไม่ได้ทำให้แจ้งซึ่งนิโรธ. คำว่า พึงเข้าไปตัดความตรึก ธรรมเป็นที่อาศัยอยู่แห่งความตรึก และ ความรำคาญ ความว่า ภิกษุพึงเข้าไปตัด ตัดขาด ละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความตรึก ธรรมเป็นที่อาศัยอยู่แห่งความตรึกและความรำคาญ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงเข้า ไปตัดความตรึก ธรรมเป็นที่อาศัยอยู่แห่งความตรึก และความรำคาญ. เพราะเหตุนั้น พระผู้มี พระภาคจึงตรัสว่า ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมจักษุ ไม่พึงเป็นผู้โลเลเพราะเท้า พึงเป็นผู้ขวนขวาย ในฌาน พึงเป็นผู้ตื่นอยู่มาก พึงเป็นผู้ปรารภอุเบกขา มีจิตตั้งมั่น และพึงเข้าไปตัดความตรึก ธรรมเป็นที่อาศัยอยู่แห่งความตรึก และความ รำคาญ. [๙๗๔] ภิกษุถูกตักเตือนด้วยวาจา พึงเป็นผู้มีสติชอบใจ พึงทำลายความเป็นผู้ กระด้างในสพรหมจารีทั้งหลาย พึงเปล่งวาจาอันเป็นกุศล ไม่พึงเปล่ง วาจาเกินขอบเขต ไม่พึงคิดเพื่อธรรมคือการว่ากล่าวซึ่งชน.
ว่าด้วยการยินดีในการตักเตือน
[๙๗๕] คำว่า ถูกตักเตือน ในคำว่า ภิกษุถูกตักเตือนด้วยวาจา พึงเป็นผู้มีสติชอบใจ ความว่า พระอุปัชฌายะ พระอาจารย์ พระเถระปูนอุปัชฌายะ พระเถระปูนอาจารย์ มิตรผู้เคย เห็นกัน ผู้ที่เคยคบกันมา หรือสหาย ตักเตือนว่า ท่านผู้มีอายุ กรรมนี้ไม่ควรแก่ท่าน กรรมนี้ยัง ไม่ถึงแก่ท่าน กรรมนี้ไม่เหมาะแก่ท่าน กรรมนี้ไม่งดงามแก่ท่าน ภิกษุผู้ถูกตักเตือนนั้น พึงเข้า ไปตั้งสติยินดี ชอบใจ เบิกบานใจ อนุโมทนา อยากได้ ประสงค์ ปรารถนา รักใคร่ ติดใจ ซึ่งความตักเตือนนั้น. เหมือนสตรีหรือบุรุษที่เป็นสาวเป็นหนุ่ม กำลังเจริญ ชอบแต่งตัว อาบน้ำ ดำเกล้าแล้ว ได้พวงมาลัยดอกบัวก็ดี พวงมาลัยดอกมะลิก็ดี พวงมาลัยดอกลำดวนก็ดี รับด้วยมือ ทั้ง ๒ แล้ว เอาวางไว้บนศีรษะ ซึ่งเป็นอวัยวะสูงสุด พึงยินดี ชอบใจ เบิกบานใจ อนุโมทนา อยากได้ ประสงค์ ปรารถนา รักใคร่ ติดใจ ฉันใด ภิกษุผู้ถูกตักเตือนนั้น พึงเข้าไปตั้งสติ ยินดี ชอบใจ เบิกบานใจ อนุโมทนา อยากได้ ประสงค์ ปรารถนา รักใคร่ ติดใจ ซึ่งความ ตักเตือนนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า บุคคลพึงเห็นผู้ใด ผู้แสดงโทษ กล่าวข่มขี่ มีปัญญาว่า เป็นเหมือน บุคคลผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ให้ พึงคบหาบุคคลเช่นนั้น ผู้เป็นบัณฑิต เมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น มีแต่คุณอันประเสริฐ ไม่มีโทษลามกเลย บุคคล พึงกล่าวสอน พึงพร่ำสอน และพึงห้ามจากธรรมของอสัตบุรุษ บุคคล นั้นเป็นที่รักของพวกสัตบุรุษเท่านั้น เป็นที่ชังของพวกอสัตบุรุษ ดังนี้. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุถูกตักเตือนด้วยวาจา พึงเป็นผู้มีสติชอบใจ. [๙๗๖] ชื่อว่า สพรหมจารี ในคำว่า พึงทำลายความเป็นผู้กระด้างในสพรหมจารี ทั้งหลาย คือ บุคคลที่มีกรรมเป็นอันเดียวกัน มีอุเทศเป็นอันเดียวกัน มีสิกขาเสมอกัน. คำว่า พึงทำลายความเป็นผู้กระด้างในสพรหมจารีทั้งหลาย ความว่า พึงทำลายความเป็นผู้มีจิตอันความ โกรธกระทบเข้าแล้ว ความเป็นผู้มีจิตกระด้างในสพรหมจารีทั้งหลาย คือ พึงทำลายความกระด้าง แห่งจิตทั้ง ๕ พึงทำลายความกระด้างแห่งจิตทั้ง ๓ พึงทุบ ทำลาย กำจัด ซึ่งความกระด้างเพราะ ราคะ ความกระด้างเพราะโทสะ ความกระด้างเพราะโมหะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงทำลาย ความเป็นผู้กระด้างในสพรหมจารีทั้งหลาย.
ว่าด้วยขอบเขตการเปล่งวาจา ๒ อย่าง
[๙๗๗] คำว่า พึงเปล่งวาจาอันเป็นกุศล ไม่พึงเปล่งวาจาเกินขอบเขต ความว่า พึงเปล่ง วาจาอันเกิดขึ้นแต่ญาณ คือ พึงเปล่ง เปล่งออก เปล่งออกดี ซึ่งวาจาอันประกอบด้วยอรรถ อันประกอบด้วยธรรม ซึ่งเป็นวาจาประกอบด้วยประโยชน์ มีที่อ้างอิง มีที่สุด ตามกาลควร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงเปล่งวาจาอันเป็นกุศล. ชื่อว่าขอบเขต ใจคำว่า ไม่พึงเปล่งวาจา เกินขอบเขต ได้แก่ ขอบเขต ๒ อย่าง คือ ขอบเขตกาล ๑ ขอบเขตศีล ๑. ขอบเขตกาลเป็นไฉน? ภิกษุไม่พึงกล่าววาจาล่วงเกินกาล ไม่พึงกล่าววาจาล่วงเกินเวลา ไม่พึงกล่าววาจาล่วงเกินกาลและเวลา ไม่พึงกล่าววาจาที่ยังไม่ถึงกาล ไม่พึงกล่าววาจาที่ยังไม่ถึง เวลา ไม่พึงกล่าววาจาที่ยังไม่ถึงกาลและเวลา. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ก็ผู้ใด เมื่อยังไม่ถึงกาลอันควร ย่อมกล่าววาจาเกินเวลา ผู้นั้นย่อมถูกฆ่า นอนอยู่ เหมือนลูกของนางนกดุเหว่าที่นางกาเลี้ยงไว้ ฉะนั้น ดังนี้. นี้ชื่อว่า ขอบเขตกาล. ขอบเขตศีลเป็นไฉน? บุคคลผู้กำหนัดไม่ควรกล่าววาจา ผู้โกรธเคืองไม่ควรกล่าววาจา ผู้หลงไม่ควรกล่าววาจา แลไม่ควรกล่าว บอก พูด แสดง แถลง ซึ่งมุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ นี้ชื่อว่า ขอบเขตศีล เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงเปล่งวาจาเป็นกุศล ไม่พึงเปล่งวาจาเกินขอบเขต.
ไม่ควรคิดที่จะว่าเขาด้วยศีลวิบัติ
[๙๗๘] ชื่อว่า ชน ในคำว่า ไม่พึงคิดเพื่อธรรมคือการว่ากล่าวซึ่งชน คือ บุคคลที่ เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร เป็นคฤหัสถ์ เป็นบรรพชิต เป็นเทวดา เป็น มนุษย์. ภิกษุไม่พึงคิด คือ ไม่พึงยังความคิดให้เกิดขึ้น ไม่พึงยังความดำริแห่งจิตให้เกิดขึ้น ไม่พึงยังมนสิการให้เกิดขึ้น เพื่อการกล่าว การค่อนว่า การนินทา การติเตียน การไม่สรรเสริญ การไม่พรรณนาคุณแห่งชน ด้วยศีลวิบัติ ด้วยอาจารวิบัติ ด้วยทิฏฐิวิบัติ หรือด้วยอาชีววิบัติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่พึงคิดเพื่อธรรมคือการว่ากล่าวซึ่งชน เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง ตรัสว่า ภิกษุถูกตักเตือนด้วยวาจา พึงเป็นผู้มีสติชอบใจ พึงทำลายความเป็นผู้ กระด้างในสพรหมจารีทั้งหลาย พึงเปล่งวาจาอันเป็นกุศล ไม่พึงเปล่ง วาจาเกินขอบเขต ไม่พึงคิดเพื่อธรรมคือการกล่าวว่าซึ่งชน. [๙๗๙] ลำดับต่อไป ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติศึกษา เพื่อกำจัดราคะเหล่าใด ราคะ เหล่านั้น เป็นธุลี ๕ ประการในโลก พึงปราบปราม ราคะในรูป เสียง กลิ่น รส และผัสสะ.
ว่าด้วยธุลี ๕ ประการ
[๙๘๐] บทว่า อถ ในคำว่า ลำดับต่อไป ... ราคะเหล่านั้น เป็นธุลี ๕ ประการในโลก เป็นบทสนธิ เป็นบทอุปสรรค เป็นบทปทปูรณะ เป็นศัพท์ประชุมอักขระ เป็นศัพท์สละสลวย ด้วยพยัญชนะ เป็นลำดับบท. คำว่า ธุลี ๕ ประการ คือ ราคะในรูป ราคะในเสียง ราคะในกลิ่น ราคะในรส ราคะในโผฏฐัพพะ. อนึ่ง ได้แก่ ราคะดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ราคะเรากล่าวว่าเป็นธุลี มิได้กล่าวละอองว่าเป็นธุลี คำว่า ธุลี เป็นชื่อ ของราคะ บัณฑิตทั้งหลายนั้นละธุลีนี้แล้ว ย่อมอยู่ในศาสนาแห่งพระ- พุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี โทสะเรากล่าวว่าเป็นธุลี มิได้กล่าวละอองว่าเป็น ธุลี คำว่า ธุลีเป็นชื่อของโทสะ บัณฑิตทั้งหลายนั้นละธุลีนี้แล้ว ย่อม อยู่ในศาสนาแห่งพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี โมหะเรากล่าวว่าเป็นธุลี มิได้กล่าวละอองว่าเป็นธุลี คำว่า ธุลี เป็นชื่อของโมหะ บัณฑิตทั้ง หลายนั้นละธุลีนี้แล้ว ย่อมอยู่ในศาสนาแห่งพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี. คำว่า ในโลก คือ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ลำดับต่อไป ... ราคะเหล่านั้นเป็นธุลี ๕ ประการในโลก. [๙๘๑] คำว่า ราคะเหล่าใด ในคำว่า ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติ ศึกษาเพื่อกำจัดราคะเหล่าใด ความว่า ราคะในรูป ราคะในเสียง ราคะในกลิ่น ราคะในรส ราคะในโผฏฐัพพะ. คำว่า เป็นผู้ มีสติ ความว่า ความระลึก ความระลึกถึง ความระลึกเฉพาะ สติความระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่หลงลืม สตินทรีย์ สติพละ สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ เอกายนมรรค นี้เรียกว่า สติ. ภิกษุเป็นผู้ถึง เข้าไปถึง เข้าไปถึงพร้อม ไปใกล้ ไปใกล้พร้อม ประกอบด้วยสตินี้ ภิกษุนั้นเรียกว่า มีสติ. สิกขา ในคำว่า พึงศึกษามี ๓ อย่าง คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา อธิศีลสิกขาเป็นไฉน ฯลฯ นี้ชื่อว่า อธิปัญญาสิกขา. คำว่า พึงเป็นผู้มีสติศึกษา เพื่อกำจัดราคะเหล่าใด ความว่า บุคคลผู้มีสติ พึงศึกษาแม้อธิศีล ศึกษาแม้อธิจิต ศึกษาแม้ อธิปัญญา เพื่อกำจัด เพื่อกำจัดเฉพาะ เพื่อละ เพื่อสงบ เพื่อสละคืน เพื่อระงับ ซึ่งราคะ เหล่าใด คือ ราคะในรูป ราคะในเสียง ราคะในกลิ่น ราคะในรส ราคะในโผฏฐัพพะ นึกถึงอยู่ ชื่อว่าพึงศึกษาสิกขา ๓ นี้ รู้ก็ชื่อว่าพึงศึกษา ฯลฯ ทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ก็ชื่อว่า พึงศึกษา พึงประพฤติเอื้อเฟื้อ พึงประพฤติเอื้อเฟื้อด้วยดี สมาทาน ประพฤติไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงเป็นผู้มีสติศึกษาเพื่อกำจัดราคะเหล่าใด. [๙๘๒] คำว่า พึงปราบปรามราคะเหล่านั้น คือ ราคะในรูป เสียง กลิ่น รส และ ผัสสะ ความว่า พึงปราบ ปราบปราม ครอบงำ ครอบงำเฉพาะ กำจัด ย่ำยี ซึ่งราคะในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงปราบปรามราคะเหล่านั้น คือ ราคะในรูป เสียง กลิ่น รส และผัสสะ. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ลำดับต่อไป ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติศึกษาเพื่อกำจัดราคะเหล่าใด ราคะ เหล่านั้นเป็นธุลี ๕ ประการในโลก ภิกษุพึงปราบปรามราคะเหล่านั้น คือ ราคะในรูป เสียง กลิ่น รส และ ผัสสะ. [๙๘๓] ภิกษุเป็นผู้มีสติ มีจิตพ้นวิเศษดีแล้ว พึงกำจัดฉันทะในธรรมเหล่านั้น ภิกษุนั้น เมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบตามกาล เป็นผู้มีจิตเป็น ธรรมเอกผุดขึ้น พึงกำจัดความมืดเสีย พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดังนี้. [๙๘๔] คำว่า เหล่านั้น ในคำว่า พึงกำจัดฉันทะในธรรมเหล่านั้น ความว่า ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ. ชื่อว่าฉันทะ คือ ความพอใจ ในกาม ความกำหนัดในกาม ความ เพลินในกาม ความปรารถนาในกาม ความเสน่หาในกาม ความเร่าร้อนในกาม ความหลง ในกาม ความติดใจในกาม กามโอฆะ กามโยคะ กามุปาทาน กามฉันทนิวรณ์ในกามทั้งหลาย คำว่า พึงกำจัดฉันทะในธรรมเหล่านั้น ความว่า พึงกำจัด กำจัดเฉพาะ ละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งฉันทะในธรรมเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงกำจัดฉันทะในธรรม เหล่านั้น. [๙๘๕] ชื่อว่า ภิกษุ ในคำว่า ภิกษุเป็นผู้มีสติ มีจิตพ้นวิเศษดีแล้ว คือ ภิกษุผู้เป็น กัลยาณปุถุชน หรือภิกษุผู้เสขะ. คำว่า มีสติ ความว่า ความระลึก ความระลึกถึง ฯลฯ สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ เอกายมรรค นี้เรียกว่า สติ. ภิกษุเป็นผู้เข้าถึง ฯลฯ ประกอบด้วย สตินี้ ภิกษุนั้นเรียกว่ามีสติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุเป็นผู้มีสติ. คำว่า เป็นผู้มีจิตพ้นวิเศษ ดีแล้ว ความว่า จิตของภิกษุผู้เข้าปฐมฌาน พ้น พ้นวิเศษ พ้นวิเศษดีแล้วจากนิวรณ์ทั้งหลาย จิตของภิกษุผู้เข้าทุติยฌาน พ้น พ้นวิเศษ พ้นวิเศษดีแล้วจากวิตกและวิจาร จิตของภิกษุผู้เข้าตติย- *ฌาน พ้น พ้นวิเศษ พ้นวิเศษดีแล้วจากปีติ จิตของภิกษุผู้เข้าจตุตถฌาน พ้น พ้นวิเศษ พ้นวิเศษดี แล้วจากสุขและทุกข์ จิตของภิกษุผู้เข้าอากาสานัญจายตนฌาน พ้น พ้นวิเศษ พ้นวิเศษดีแล้วจาก รูปสัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา จิตของภิกษุผู้เข้าวิญญาณัญจายตนฌาน พ้น พ้นวิเศษ พ้นวิเศษดีแล้วจากอากาสานัญจายตนสัญญา จิตของภิกษุผู้เข้าอากิญจัญญายตนฌาน พ้น พ้นวิเศษ พ้นวิเศษดีแล้วจากวิญญาณัญจายตนสัญญา จิตของภิกษุผู้เข้าเนวสัญญานาสัญญายตฌาน พ้น พ้นวิเศษ พ้นวิเศษดีแล้วจากอากิญจัญญายตนสัญญา จิตของพระโสดาบัน พ้น พ้นวิเศษ พ้น วิเศษดีแล้วจากสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพัตตปรามาส ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย และจาก เหล่ากิเลสที่ตั้งอยู่ในฝ่ายเดียวกันกับวิจิกิจฉาเป็นต้นนั้น จิตของพระสกทาคามี พ้น พ้นวิเศษ พ้นวิเศษดีแล้วจากกามราคานุสัย ปฏิฆานุสัยอย่างหยาบ และจากเหล่ากิเลสที่ตั้งอยู่ในฝ่ายเดียว กันกับกามราคานุสัยเป็นต้นนั้น จิตของพระอนาคามี พ้น พ้นวิเศษ พ้นวิเศษดีแล้วจากกาม- *ราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ จากกามราคานุสัย ปฏิฆานุสัยส่วนละเอียด และจากเหล่ากิเลส ที่ตั้งอยู่ในฝ่ายเดียวกันกับกามราคสังโยชน์เป็นต้นนั้น จิตของพระอรหันต์ พ้น พ้นวิเศษ พ้น วิเศษดีแล้วจากรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชา- *นุสัย เหล่ากิเลสที่ตั้งอยู่ในฝ่ายเดียวกันกับรูปราคะเป็นต้นนั้น และจากสรรพนิมิตภายนอก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุเป็นผู้มีสติ มีจิตพ้นวิเศษดีแล้ว.
ว่าด้วยจิตที่เป็นกาลของสมถะและวิปัสสนา
[๙๘๖] คำว่า ตามกาล ในคำว่า ภิกษุนั้น เมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบตาม กาล ความว่า เมื่อจิตฟุ้งซ่านเป็นกาลของสมถะ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นกาลของวิปัสสนา. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า โยคีผู้ใด ย่อมประคองจิตในกาล ย่อมข่มจิตในกาลอื่น ย่อมให้จิต รื่นเริงโดยกาล ย่อมตั้งจิตไว้ในกาล ย่อมวางเฉยในกาล โยคีผู้นั้น ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดในกาล ความประคองจิตควรมีในกาลไหน? ความข่ม จิตควรมีในกาลไหน? กาลเป็นที่ให้จิตรื่นเริงควรมีในกาลไหน? และ กาลของสมถะเป็นกาลเช่นไร? บัณฑิตย่อมแสดงกาลเป็นที่วางเฉย แห่งจิตของโยคีบุคคลอย่างไร? เมื่อจิตของโยคีบุคคลย่อหย่อน เป็นกาล ที่ควรประคองไว้ เมื่อจิตของโยคีบุคคลฟุ้งซ่านเป็นกาลที่ควรข่มไว้ โยคี บุคคลพึงยังจิตที่ถึงความไม่แช่มชื่นให้รื่นเริงในกาลนั้น จิตเป็น ธรรมชาติรื่นเริงไม่ย่อหย่อน ไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมมีในกาลใด กาลนั้นเป็น กาลของสมถะ ใจพึงยินดีในภายใน โดยอุบายนั้นนั่นแหละ จิตเป็น ธรรมชาติตั้งมั่น ย่อมมีในกาลใด ในกาลนั้น โยคีบุคคลพึงวางเฉย ไว้ซึ่งจิตที่ตั้งมั่นแล้วด้วยปัญญา ธีรชนผู้รู้แจ้งกาล ทราบกาล ฉลาด ในกาลพึงกำหนดอารมณ์อันเป็นนิมิตของจิต ตลอดกาล ตามกาล อย่างนี้. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุนั้น ... ตามกาล. คำว่า เมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบ ความว่า เมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับไปเป็น ธรรมดา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบ. [๙๘๗] คำว่า มีจิตเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ในคำว่า เป็นผู้มีจิตเป็นธรรมเอกผุดขึ้น พึง กำจัดความมืด พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดังนี้ ความว่า เป็นผู้มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีใจไม่กวัดแกว่ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้มีจิตเป็นธรรมเอกผุดขึ้น. คำว่า ภิกษุนั้นพึงกำจัด ความมืด ความว่า พึงขจัด กำจัด ละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความมืดคือ ราคะ ความมืดคือโทสะ ความมืดคือโมหะ ความมืดคือมานะ ความมืดคือทิฏฐิ ความมืดคือกิเลส ความมืดคือทุจริต อันทำให้บอด ทำให้ไม่มีจักษุ ทำให้ไม่มีญาณ ดับปัญญา เป็นฝักฝ่ายความลำบาก ไม่ให้เป็นไปเพื่อนิพพาน. คำว่า ภควา เป็นเครื่องกล่าวด้วยความเคารพ. อีกอย่างหนึ่ง. ชื่อว่า ภควา เพราะอรรถว่า ผู้ทำลายราคะ ทำลายโทสะ ทำลายโมหะ ทำลายมานะ ทำลายทิฏฐิ ทำลาย เสี้ยนหนาม ทำลายกิเลส. เพราะอรรถว่า ทรงจำแนก ทรงแจกแจง ทรงจำแนกเฉพาะซึ่ง ธรรมรัตนะ. เพราะอรรถว่า ทรงทำที่สุดแห่งภพทั้งหลาย. เพราะอรรถว่า มีพระกายอันทรง อบรมแล้ว มีศีลอันอบรมแล้ว มีจิตอันอบรมแล้ว มีปัญญาอันอบรมแล้ว. อนึ่ง พระผู้มี พระภาคทรงซ่องเสพเสนาสนะอันเป็นป่าละเมาะและป่าทึบอันสงัด มีเสียงน้อย ปราศจากเสียง กึกก้อง ปราศจากชนผู้สัญจรไปมา เป็นที่ควรทำกรรมลับของมนุษย์ สมควรแก่การหลีกออก เร้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มี พระภาคทรงมีส่วนแห่งอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา อันมีอรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส เพราะ ฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งฌาน ๔ อัปปมัญญา ๔ อรูป สมาบัติ ๔ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งวิโมกข์ ๘ อภิภายตนะ ๘ อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาค ทรงมีส่วนแห่งสัญญาภาวนา ๑๐ กสิณสมาบัติ ๑๐ อานาปาณสติสมาธิ อสุภสมาบัติ เพราะ ฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งตถาคตพลญาณ ๑๐ เวสารัชญาณ ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ พุทธธรรม ๖ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. พระนามว่า ภควา นี้ พระมารดา พระบิดา พระภาดา พระภคินี มิตร อำมาตย์ พระญาติสาโลหิต สมณพราหมณ์ เทวดา มิได้ เฉลิมให้ พระนามว่า ภควา นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม (พระนามมีในอรหัตผลในลำดับแห่ง อรหัตมรรค) เป็นสัจฉิกาบัญญัติ พร้อมด้วยการทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ณ ควงโพธิพฤกษ์ ของพระผู้มีพระภาคทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้มีจิตเป็นธรรมเอกผุดขึ้น พึงกำจัดความมืด พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดังนี้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ภิกษุเป็นผู้มีสติ มีจิตพ้นวิเศษแล้ว พึงกำจัดฉันทะในธรรมเหล่านั้น ภิกษุนั้น เมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบตามกาล เป็นผู้มีจิตเป็น ธรรมเอกผุดขึ้น พึงกำจัดความมืด พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดังนี้ ฉะนี้แล.
จบ สารีปุตตนิทเทสที่ ๑๖.
จบ สุตตนิทเทส ๑๖ นิทเทสในอัฏฐกวรรค.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ บรรทัดที่ ๑๑๑๐๙-๑๑๗๗๗ หน้าที่ ๔๖๖-๔๙๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=29&A=11109&Z=11777&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=29&A=11109&w=๏ฟฝ๏ฟฝอด๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10], [11], [12]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=29&siri=16              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=881              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=29&A=11023#931top              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=10208              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=29&A=11023#931top              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=10208              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_29

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]