ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
ติสสเมตเตยยมาณวกปัญหานิทเทส
ว่าด้วยปัญหาของท่านติสสเมตเตยยะ
[๑๐๐] (ท่านติสสเมตเตยยะทูลถามว่า) ใครสันโดษแล้วในโลกนี้? ความหวั่นไหวของใครย่อมไม่มี? ใครรู้ส่วนสุดทั้งสองแล้ว ย่อมไม่ติดในท่ามกลางด้วยปัญญา? พระองค์ตรัสเรียกใครว่า เป็นมหาบุรุษ? ใครล่วงแล้วซึ่งตัณหา อันเป็นเครื่องเย็บไว้ในโลกนี้? [๑๐๑] คำว่า ใครสันโดษแล้วในโลกนี้ ความว่า ใครพอใจ คือ ชอบใจ มีความ ดำริบริบูรณ์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ใครสันโดษแล้วในโลกนี้? บทว่า อิติ ในอุเทศว่า "อิจฺจา- *ยสฺมา ติสฺสเมตฺเตยโย" ดังนี้ เป็นบทสนธิ คือ เป็นบทเกี่ยวเนื่อง เป็นบทยังเนื้อความให้ บริบูรณ์ เป็นความประชุมแห่งอักขระ เป็นความสละสลวยแห่งพยัญชนะ บทว่า อิติ นี้ เป็น ไปตามลำดับบท. คำว่า อายสฺมา เป็นเครื่องกล่าวด้วยความรัก เป็นเครื่องกล่าวโดยเคารพ คำว่า อายสฺมา นี้ เป็นเครื่องกล่าวถึงเป็นไปกับด้วยความเคารพและความยำเกรง. คำว่า ติสสเมตฺเตยฺโย เป็นชื่อ เป็นเครื่องนับ เป็นเครื่องหมายรู้ เป็นบัญญัติ เป็นเครื่องเรียกร้อง เป็นนาม เป็นการตั้งชื่อ เป็นเครื่องทรงชื่อ เป็นภาษาที่เรียกร้องกัน เป็นเครื่องแสดงให้ปรากฏ เป็นเครื่องกล่าวเฉพาะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า "อิจฺจายสฺมา ติสฺสเมตฺเตยฺโย". [๑๐๒] คำว่า ความหวั่นไหวของใครย่อมไม่มี ความว่า ความหวั่นไหวเพราะตัณหา ความหวั่นไหวเพราะทิฏฐิ ความหวั่นไหวเพราะมานะ ความหวั่นไหวเพราะกิเลส ความหวั่นไหว เพราะกรรม ความหวั่นไหวเหล่านี้ของใครย่อมไม่มี คือ ไม่ปรากฏ ไม่ประจักษ์ คือ ความ หวั่นไหว อันใครละได้แล้ว ตัดขาดแล้ว สงบแล้ว ระงับแล้ว มีความไม่ควรเกิดขึ้น เผา เสียแล้วด้วยไฟ คือญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ความหวั่นไหวของใครย่อมไม่มี? [๑๐๓] คำว่า ใครรู้ส่วนสุดทั้งสองแล้ว ความว่า ใครรู้จัก คือ ทราบ เทียบเคียง พิจารณา เจริญ ทำให้แจ่มแจ้ง ซึ่งส่วนสุดทั้งสอง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ใครรู้จักส่วนสุด ทั้งสองแล้ว? [๑๐๔] คำว่า ไม่ติดในท่ามกลางด้วยปัญญา ความว่า ไม่ติด คือ ไม่เข้าไปติด ออกไป สลัดออกไป หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้อง มีใจปราศจากเขตแดนอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่ติด ในท่ามกลางด้วยปัญญา. [๑๐๕] คำว่า พระองค์ตรัสเรียกใครว่าเป็นมหาบุรุษ ความว่า พระองค์ตรัสเรียกใคร คือ ตรัสใคร ทรงสำคัญใคร ทรงชมเชยใคร ทรงเห็นใคร ทรงบัญญัติใครว่าเป็นมหาบุรุษ คือ เป็นอัคคบุรุษ บุรุษสูงสุด บุรุษวิเศษ บุรุษประธาน อุดมบุรุษ บุรุษประเสริฐ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระองค์ตรัสเรียกใครว่าเป็นมหาบุรุษ? [๑๐๖] คำว่า ใครล่วงแล้วซึ่งตัณหาอันเป็นเครื่องเย็บไว้ในโลกนี้ ความว่า ใครล่วง แล้ว คือ เข้าไปล่วงแล้ว ก้าวล่วงแล้ว พ้นแล้ว เป็นไปล่วงแล้ว ซึ่งตัณหาอันเป็นเครื่อง เย็บไว้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ใครล่วงแล้วซึ่งตัณหาอันเป็นเครื่องเย็บไว้ในโลกนี้. เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า ใครสันโดษแล้วในโลกนี้? ความหวั่นไหวของใครย่อมไม่มี? ใครรู้ส่วนสุดทั้งสองแล้ว ย่อมไม่ติดในท่ามกลางด้วยปัญญา? พระองค์ย่อมตรัสเรียกใครว่าเป็นมหาบุรุษ? ใครล่วงแล้วซึ่ง ตัณหาอันเป็นเครื่องเย็บไว้ในโลกนี้? [๑๐๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรเมตเตยยะ) ภิกษุมีพรหมจรรย์ในเพราะกาม ทั้งหลาย ปราศจากตัณหา มีสติทุกเมื่อ ทราบแล้ว ดับแล้ว ไม่มีความหวั่นไหว ภิกษุนั้นรู้ ยิ่งซึ่งส่วนสุดทั้งสอง และท่ามกลางด้วยปัญญาแล้ว ไม่ติดอยู่ เราเรียกภิกษุนั้นว่า เป็น มหาบุรุษ. ภิกษุนั้น ล่วงเสียแล้วซึ่งตัณหา อันเป็นเครื่องเย็บไว้ในโลกนี้. [๑๐๘] โดยอุทานว่า กามา ในอุเทศว่า "กาเมสุพฺรหฺมจริยวา" ดังนี้ กามมี ๒ อย่าง คือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑ ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่าวัตถุกาม เหล่านี้เรียกว่ากิเลสกาม, คำว่า มีพรหมจรรย์ ความว่า ความงด ความเว้น ความเว้นขาด ความขับไล่เวร กิริยาที่ไม่กระทำ ความไม่ทำ ความไม่ต้อง ความไม่ล่วงแดน ซึ่งความถึงพร้อมด้วยอสัทธรรมเรียกว่า พรหมจรรย์. อีกอย่างหนึ่ง โดยตรงท่านเรียก อริยมรรคมีองค์ ๘ คือสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ ว่าพรหมจรรย์. ภิกษุใดเข้าไป เข้าไปพร้อม เข้ามา เข้ามาพร้อม เข้าถึง เข้าถึงพร้อม ประกอบ ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ ภิกษุนั้น ท่านเรียกว่า มีพรหมจรรย์ เขาเรียกบุคคลว่า มีทรัพย์ เพราะทรัพย์ เรียกกันว่า มีโภคะ เพราะโภคะ เรียกกันว่ามียศ เพราะยศ เรียกกันว่า มีศิลป เพราะศิลป เรียกกันว่ามีศีล เพราะศีล เรียกกันว่า มีความเพียร เพราะความเพียร เรียกกันว่า มีปัญญา เพราะปัญญา เรียกกันว่ามีวิชชา เพราะวิชชา ฉันใด ภิกษุใดเข้าไป เข้าไปพร้อม เข้ามา เข้ามาพร้อม เข้าถึง เข้าถึงพร้อม ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ ภิกษุนั้นท่านก็ เรียกว่า มีพรหมจรรย์ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีพรหมจรรย์ในเพราะกาม ทั้งหลาย. พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยโคตรว่า ดูกรเมตเตยยะ. คำว่า ภควา เป็น เครื่องกล่าวโดยเคารพ ฯลฯ คำว่า ภควา นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรเมตเตยยะ. [๑๐๙] รูปตัณหา ... ธรรมตัณหา ชื่อว่า ตัณหา ในอุเทศว่า "ปราศจากตัณหา มีสติ ทุกเมื่อ". ภิกษุใดละตัณหานี้ขาดแล้ว คือ ตัดขาดแล้ว สงบแล้ว ระงับแล้ว มีความไม่ควร เกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ ภิกษุนั้นท่านเรียกว่า ปราศจากตัณหา คือ สละตัณหาแล้ว คายตัณหาแล้ว ปล่อยตัณหาแล้ว ละตัณหาแล้ว สละคืนตัณหาแล้ว มีราคะไปปราศจากแล้ว สละราคะแล้ว คายราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว ละราคะแล้ว สละคืนราคะแล้ว เป็นผู้ไม่มี ความหิว เป็นผู้ดับแล้ว เย็นแล้ว เสวยสุข มีตนเป็นเพียงดังพรหมอยู่. คำว่า สทา ความว่า ทุกเมื่อ คือ ทุกสมัย ตลอดกาลทั้งปวง กาลเป็นนิตย์ กาล ยั่งยืน ติดต่อ เนืองๆ เนื่องกัน ต่อลำดับไม่สับสนกัน ไม่ว่าง ประกอบด้วยความพร้อมเพรียง ถูกต้องกัน กาลเป็นปุเรภัต กาลเป็นปัจฉาภัต ตลอดยามต้น ตลอดยามกลาง ตลอดยามหลัง ในข้างแรม ในข้างขึ้น ในฤดูฝน ในฤดูหนาว ในฤดูร้อน ในตอนวัยต้น ในตอนวัยกลาง ในตอนวัยหลัง. คำว่า มีสติ ความว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ ชื่อว่า มีสติ เพราะเป็นผู้เจริญ สติปัฏฐาน คือการพิจารณาเห็นกายในกาย ๑ ... การพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ๑ ... พิจารณาเห็นจิตในจิต ๑ ... พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย ๑ ฯลฯ ภิกษุนั้นท่านเรียกว่า ผู้มีสติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ปราศจากตัณหา มีสติทุกเมื่อ. [๑๑๐] คำว่า ญาณ ปัญญา กิริยาที่รู้ ความเลือกเฟ้น ฯลฯ ความไม่หลง ความ เลือกเฟ้นธรรม ปัญญาอันเห็นชอบ ชื่อว่า สังขา ในอุทเทศว่า สงฺขาย นิพฺพุโต ภิกขุ. คำว่า ทราบแล้ว ความว่า ทราบ คือ รู้ เทียบเคียง พิจารณา เจริญ ทำให้แจ่มแจ้ง แล้ว คือ ทราบ ... ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ... สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ... ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ... เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความ เกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา. อีกอย่างหนึ่ง ทราบ ... ทำให้แจ่มแจ้งแล้วโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง ... เป็นทุกข์ ... เป็นโรค ... เป็นดังหัวผี ... เป็นลูกศร ฯลฯ โดยไม่มีอุบายเครื่องออกไป. คำว่า ดับแล้ว ความว่า ชื่อว่าดับแล้ว เพราะเป็นผู้ดับราคะ โทสะ โมหะ ... มทะ ปมาทะ กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความ เดือดร้อนทั้งปวง อกุสลาภิสังขารทั้งปวง. คำว่า ภิกฺขุ ความว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ทำลายธรรม ๗ ประการ ฯลฯ ภิกษุนั้น ... อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีภพใหม่สิ้นแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุ ... ทราบแล้ว ดับแล้ว. [๑๑๑] คำว่า ตสฺส ในอุเทศว่า "ตสฺส โน สนฺติ อิญฺชิตา" ความว่า พระอรหันต- *ขีณาสพไม่มีความหวั่นไหว คือ ความหวั่นไหวเพราะตัณหา ความหวั่นไหวเพราะทิฏฐิ ความ หวั่นไหวเพราะมานะ ความหวั่นไหวเพราะกิเลส ความหวั่นไหวเพราะกรรม. ความหวั่นไหว เหล่านี้ย่อมไม่มี ได้แก่ ไม่ปรากฏ ไม่ประจักษ์ แก่ภิกษุนั้น คือความหวั่นไหวเหล่านี้ภิกษุนั้น ละได้แล้ว ตัดขาดแล้ว สงบแล้ว ไม่อาจเกิดขึ้นอีก เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุนั้นไม่มีความหวั่นไหวทั้งหลาย. [๑๑๒] คำว่า ที่สุด ในอุเทศว่า "โส อุภนฺตมภิญฺญาย มชฺเฌ มนฺตา น ลิมฺปติ" ดังนี้ ความว่า ผัสสะเป็นส่วนสุดข้างหนึ่ง เหตุให้เกิดผัสสะเป็นส่วนสุดที่สอง ความดับผัสสะ เป็นท่ามกลาง อดีตเป็นส่วนสุดข้างหนึ่ง อนาคตเป็นส่วนสุดที่สอง ปัจจุบัน เป็นท่ามกลาง สุขเวทนาเป็นส่วนสุดข้างหนึ่ง ทุกขเวทนาเป็นส่วนสุดที่สอง อทุกขมสุขเวทนาเป็นท่ามกลาง นามเป็นส่วนสุดข้างหนึ่ง รูปเป็นส่วนสุดที่สอง วิญญาณเป็นท่ามกลาง อายตนะภายใน ๖ เป็น ส่วนสุดข้างหนึ่ง อายตนะภายนอก ๖ เป็นส่วนสุดที่สอง วิญญาณเป็นท่ามกลาง สักกายะเป็น ส่วนสุดข้างหนึ่ง เหตุให้เกิดสักกายะเป็นส่วนสุดที่สอง ความดับสักกายะเป็นท่ามกลาง. ปัญญา ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ ฯลฯ ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม ปัญญาอันเห็น ชอบ เรียกว่า มันตา. ความติด ๒ อย่าง คือ ความติดเพราะตัณหา ๑ ความติดเพราะทิฏฐิ ๑ ชื่อว่า เลปา. ความติดเพราะตัณหาเป็นไฉน? การทำเขต การทำแดน การทำส่วน การทำความกำหนด ความหวงแหน ความยึดถือ โดยส่วนแห่งตัณหาว่า นี้ของเรา นั่นของเรา เท่านี้ของเรา ประมาณเท่านี้ของเรา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เครื่องลาด เครื่องนุ่งห่ม ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ไร่นา ที่ดิน เงิน ทอง บ้านนิคม ราชธานี แว่นแคว้น ชนบท ฉางข้าว คลังของเรา บุคคลย่อมยึดถือเอามหาปฐพีแม้ทั้งสิ้นว่าเป็นของ เราด้วยสามารถแห่งตัณหา และตัณหาวิปริต ๑๐๘ นี้ เป็นความติดเพราะตัณหา. ความติดเพราะ ทิฏฐิเป็นไฉน? สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ อันตคาหิกทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ ทิฏฐิ ความเห็น รกชัฏคือทิฏฐิ ทางกันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนามคือทิฏฐิ ความดิ้นรนคือทิฏฐิ ความ ประกอบไว้คือทิฏฐิ ความถือ ความถือเฉพาะ ความถือมั่น ความลูบคลำ ทางชั่ว ทางผิด ความเป็นผิด ลัทธิแห่งเดียรถีย์ ความถือด้วยความแสวงหาผิด ความถืออันวิปริต ความถือ อันวิปลาส ความถือผิด ความถือในวัตถุอันไม่จริงว่าวัตถุจริง ทิฏฐิ ๖๒ เท่าใด นี้เป็นความติด เพราะทิฏฐิ. คำว่า ภิกษุนั้นรู้ยิ่งซึ่งส่วนสุดทั้งสองและท่ามกลาง ด้วยปัญญาแล้วไม่ติดอยู่ ความว่า ภิกษุนั้นรู้ยิ่ง ทราบ เทียบเคียง พิจารณา เจริญ ทำให้แจ่มแจ้ง ซึ่งส่วนสุดทั้งสองและ ท่ามกลางด้วยปัญญาแล้ว ไม่ติดอยู่ คือ ไม่เข้าไปติด ไม่ทา ไม่เปื้อน ออกไป สละไป หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องแล้ว มีจิตปราศจากเขตแดนอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุนั้นรู้ยิ่งซึ่ง ส่วนสุดทั้งสอง และท่ามกลางด้วยปัญญาแล้ว ไม่ติดอยู่. [๑๑๓] คำว่า ตํ พฺรูมิ มหาปุริโส ความว่า เราย่อมเรียก กล่าว สำคัญ บอก เห็น บัญญัติ ภิกษุนั้นว่า เป็นมหาบุรุษ คือ เป็นอัคคบุรุษ บุรุษสูงสุด บุรุษวิเศษ บุรุษเป็น ประธาน อุดมบุรุษ บุรุษประเสริฐ. ท่านพระสารีบุตรทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า มหาบุรุษ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเท่าไรหนอแล บุคคลจึง เป็นมหาบุรุษ? พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรสารีบุตร เรากล่าวว่า เป็นมหาบุรุษ เพราะ เป็นผู้มีจิตหลุดพ้น เราไม่กล่าวว่า เป็นมหาบุรุษเพราะเป็นผู้น้อมจิตเชื่อ. ดูกรสารีบุตร ก็ภิกษุ เป็นผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างไร? ดูกรสารีบุตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้พิจารณาเห็นกายใน กายเป็นภายใน มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกอยู่ เมื่อภิกษุ นั้นพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ จิตย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ ถือมั่น ภิกษุเป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ... ในจิต ... เป็นผู้พิจารณาเห็นธรรม ในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกอยู่ เมื่อ ภิกษุนั้นพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ จิตย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะ ทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น. ดูกรสารีบุตร ภิกษุเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้แล ดูกรสารีบุตร เรากล่าวว่า เป็นมหาบุรุษ เพราะเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว เราไม่กล่าวว่า เป็นมหาบุรุษ เพราะ เป็นผู้น้อมจิตเชื่อ เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า "เราย่อมเรียกภิกษุนั้นว่า มหาบุรุษ". [๑๑๔] คำว่า ภิกษุนั้นล่วงแล้วซึ่งตัณหาอันเป็นเครื่องเย็บไว้ในโลกนี้ ความว่า ตัณหา ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล ตรัสว่า ตัณหาอันเป็นเครื่องเย็บไว้. ตัณหา อันเป็นเครื่องเย็บไว้นั้น อันภิกษุใดละแล้ว ตัดขาดแล้ว สงบแล้ว ระงับแล้ว ไม่อาจเกิดขึ้น อีก เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ ภิกษุนั้นล่วงแล้ว คือ เข้าไปล่วงแล้ว ล่วงไปแล้ว ล่วงเลย ไปแล้ว ซึ่งตัณหาอันเป็นเครื่องเย็บไว้ เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงชื่อว่าล่วงแล้วซึ่งตัณหาอันเป็น เครื่องเย็บไว้ในโลกนี้; เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ภิกษุมีพรหมจรรย์ในเพราะกามทั้งหลาย ปราศจากตัณหา มี สติทุกเมื่อ ทราบแล้ว ดับแล้ว ไม่มีความหวั่นไหว. ภิกษุนั้น รู้ส่วนสุดทั้งสองและท่ามกลางด้วยปัญญาแล้ว ย่อมไม่ติด อยู่. เราเรียกภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ. ภิกษุนั้นล่วงเสียแล้ว ซึ่งตัณหาอันเป็นเครื่องเย็บไว้ในโลกนี้. [๑๑๕] พร้อมด้วยเวลาจบพระคาถา ธรรมจักษุ (โสดาปัตติมรรค) ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแล้วแก่เทวดาและมนุษย์หลายพัน ผู้มีฉันทะร่วมกัน มีประโยคร่วมกัน มีความประสงค์ร่วมกัน มีความอบรมวาสนาร่วมกันกับติสสเมตเตยยพราหมณ์นั้นว่า สิ่งใดสิ่ง หนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา. และจิตของ ติสสเมตเตยยพราหมณ์นั้นพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น. หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่นน้ำ ผมและหนวดของติสสเมตเตยยพราหมณ์หายไปแล้ว พร้อมด้วยการบรรลุ อรหัต. ติสสเมตเตยยพราหมณ์นั้นเป็นภิกษุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตรและ จีวร เพราะการปฏิบัติตามประโยชน์ นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาคประกาศว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์. ข้าพระองค์เป็นสาวก ดังนี้.
จบติสสเมตเตยยมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๒
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐ บรรทัดที่ ๖๔๔-๘๐๑ หน้าที่ ๒๗-๓๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=30&A=644&Z=801&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=30&A=644&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=30&siri=21              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=100              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=30&A=683              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=30&A=683              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_30              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://www.ancient-buddhist-texts.net/Texts-and-Translations/Parayanavagga/Parayanavaggo-02.htm

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]