ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๓ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค
             [๘๖] ปัญญาในการฟังธรรมแล้วสำรวมไว้ ชื่อว่าสีลมยญาณอย่างไร ฯ
             ศีล ๕ ประเภท คือ ปริยันตปาริสุทธิศีล ศีลคือความบริสุทธิ์มีส่วนสุด ๑
อปริยันตปาริสุทธิศีล ศีลคือความบริสุทธิ์ไม่มีส่วนสุด ๑ ปริปุณณปาริสุทธิศีล
ศีลคือความบริสุทธิ์เต็มรอบ ๑ อปรามัฏฐปาริสุทธิศีล ศีลคือความบริสุทธิ์อัน
ทิฐิไม่จับต้อง ๑ ปฏิปัสสัทธิปาริสุทธิศีล ศีลคือความบริสุทธิ์โดยระงับ ๑
             ในศีล ๕ ประเภทนี้ ปริยันตปาริสุทธิศีลเป็นไฉน ปริยันตปาริสุทธินี้
ของอนุปสัมบันผู้มีสิกขาบทมีที่สุด ฯ
             อปริยันตปาริสุทธิศีลเป็นไฉน อปริยันตปาริสุทธิศีลนี้ ของอุปสัมบัน
ผู้มีสิกขาบทไม่มีที่สุด ฯ
             ปริปุณณปาริสุทธิศีลเป็นไฉน ปริปุณณปาริสุทธิศีลนี้ ของกัลยาณ
ปุถุชนผู้ประกอบในกุศลธรรม ผู้กระทำให้บริบูรณ์ในธรรมอันเป็นที่สุดของพระ
อเสขะ ผู้ไม่อาลัยในร่างกายและชีวิต ผู้สละชีวิตแล้ว ฯ
             อปรามัฏฐปาริสุทธิศีลเป็นไฉน อปรามัฏฐปาริสุทธิศีลนี้ ของพระเสขะ
๗ จำพวก ฯ
             ปฏิปัสสัทธิปริสุทธิศีลเป็นไฉน ปฏิปัสสัทธิปาริสุทธิศีลนี้ของพระ-
*ขีณาสพสาวกพระตถาคตเจ้า ของพระปัจเจกพุทธเจ้า และของพระตถาคต
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ฯ
             [๘๗] ศีลมีที่สุดก็มี ศีลไม่มีที่สุดก็มี ในศีล ๒ อย่างนั้นศีลมีที่สุดนั้น
เป็นไฉน ศีลมีที่สุดเพราะลาภก็มี ศีลมีที่สุดเพราะยศก็มี ศีลมีที่สุดเพราะญาติ
ก็มี ศีลมีที่สุดเพราะอวัยวะก็มี ศีลมีที่สุดเพราะชีวิตก็มี ฯ
             ศีลมีที่สุดเพราะลาภนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมล่วงสิกขาบท
ตามที่ตนสมาทานไว้เพราะเหตุแห่งลาภ เพราะปัจจัยแห่งลาภ เพราะการณ์
แห่งลาภ ศีลนี้เป็นลาภปริยันตศีล ฯ
             ศีลมีที่สุดเพราะยศนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ... เพราะเหตุ
แห่งยศ ... ศีลนี้เป็นยสปริยันตศีล ฯ
             ศีลมีที่สุดเพราะญาตินั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ... เพราะ
เหตุแห่งญาติ ... ศีลนี้เป็นญาติปริยันตศีล ฯ
             ศีลมีที่สุดเพราะอวัยวะนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ... เพราะ
เหตุแห่งอวัยวะ ... ศีลนี้เป็นอังคปริยันตศีล ฯ
             ศีลมีที่สุดเพราะชีวิตนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมล่วง
สิกขาบทตามที่ตนสมาทานไว้เพราะเหตุแห่งชีวิต เพราะปัจจัยแห่งชีวิต เพราะ
การณ์แห่งชีวิต ศีลนี้เป็นชีวิตปริยันตศีล ศีลเห็นปานนี้เป็นศีลขาด เป็นศีล
ทะลุ ด่าง พร้อย ไม่เป็นไทย วิญญูชนไม่สรรเสริญ อันตัณหาและทิฐิจับต้อง
แล้ว ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ เป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อน ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความ
ปราโมทย์ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งปีติ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความระงับ ไม่เป็นที่ตั้งแห่ง
ความสุข ไม่เป็นที่ตั้งแห่งสมาธิ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งยถาภูตญาณทัสนะ ไม่เป็น
ไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ
ระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว ศีลนี้เป็น
ปริยันตศีล ฯ
             [๘๘] ศีลไม่มีที่สุดนั้นเป็นไฉน ศีลไม่มีที่สุดเพราะลาภก็มี ศีลไม่มี
ที่สุดเพราะยศก็มี ศีลไม่มีที่สุดเพราะญาติก็มี ศีลไม่มีที่สุดเพราะอวัยวะก็มี
ศีลไม่มีที่สุดเพราะชีวิตก็มี ฯ
             ศีลไม่มีที่สุดเพราะลาภเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้ความคิด
ก็ไม่ให้เกิดขึ้นเพื่อจะล่วงสิกขาบทตามที่ตนสมาทานไว้ เพราะเหตุแห่งลาภ
เพราะปัจจัยแห่งลาภ เพราะการณ์แห่งลาภ อย่างไรเขาจักล่วงสิกขาบทเล่า
ศีลนี้เป็นศีลไม่มีที่สุดเพราะลาภ ฯ
             ศีลไม่มีที่สุดเพราะยศนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ... เพราะ
เหตุแห่งยศ ... ศีลนี้เป็นศีลไม่มีที่สุดเพราะยศ ฯ
             ศีลไม่มีที่สุดเพราะญาตินั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ... เพราะ
เหตุแห่งญาติ ... ศีลนี้เป็นศีลไม่มีที่สุดเพราะญาติ ฯ
             ศีลไม่มีที่สุดเพราะอวัยวะนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ...
เพราะเหตุแห่งอวัยวะ ... ศีลนี้เป็นศีลไม่มีที่สุดเพราะอวัยวะ ฯ
             ศีลไม่มีที่สุดเพราะชีวิตนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้ความ
คิดก็ไม่ให้เกิดขึ้นเพื่อล่วงสิกขาบท ตามที่ตนสมาทานไว้ เพราะเหตุแห่งชีวิต
เพราะปัจจัยแห่งชีวิต เพราะการณ์แห่งชีวิต อย่างไรเขาจักล่วงสิกขาบทเล่า
ศีลนี้เป็นศีลไม่มีที่สุดเพราะชีวิต ศีลเห็นปานนี้เป็นศีลไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง
ไม่พร้อย เป็นไทย วิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฐิไม่จับต้อง เป็นไป
เพื่อสมาธิ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อน เป็นที่ตั้งแห่งความปราโมทย์ เป็น
ที่ตั้งแห่งปีติ เป็นที่ตั้งแห่งความระงับ เป็นที่ตั้งแห่งความสุข เป็นที่ตั้งแห่ง
สมาธิ เป็นที่ตั้งแห่งยถาภูตญาณทัสนะ ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อ
ความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อ
ความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว ศีลนี้เป็นอปริยันตศีล ฯ
             [๘๙] อะไรเป็นศีล ศีลมีเท่าไร ศีลมีอะไรเป็นสมุฏฐาน ศีลเป็น
ที่ประชุมแห่งธรรมอะไร ฯ
             อะไรเป็นศีล คือ เจตนาเป็นศีล เจตสิกเป็นศีล ความสำรวมเป็น
ศีล ความไม่ล่วงเป็นศีล ฯ
             ศีลมีเท่าไร คือ ศีล ๓ คือ กุศลศีล อกุศลศีล อัพยากตศีล ฯ
             ศีลมีอะไรเป็นสมุฏฐาน คือ กุศลศีลมีกุศลจิตเป็นสมุฏฐาน อกุศลศีล
มีอกุศลจิตเป็นสมุฏฐาน อัพยากตศีลมีอัพยากตจิตเป็นสมุฏฐาน ฯ
             ศีลเป็นที่ประชุมแห่งธรรมอะไร คือ ศีลเป็นที่ประชุมแห่งสังวร เป็น
ที่ประชุมแห่งการไม่ก้าวล่วง เป็นที่ประชุมแห่งเจตนา อันเกิดในความเป็น
อย่างนั้น ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงปาณาติบาต อทินนาทาน
กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา
พยาบาท มิจฉาทิฐิ ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงกามฉันทะ
ด้วยเนกขัมมะ ... ความพยาบาทด้วยความไม่พยาบาท ... ถีนมิทธิด้วยอาโลก
สัญญา ... อุทธัจจะด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน ... วิจิกิจฉาด้วยการกำหนดธรรม ...
อวิชชาด้วยญาณ ... อรติด้วยความปราโมทย์ ... นิวรณ์ด้วยปฐมฌาน ... วิตก
วิจารด้วยทุติยฌาน ... ปีติด้วยตติยฌาน ... สุขและทุกข์ด้วยจตุตถฌาน ... รูป
สัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา ด้วยอากาสานัญจายตนสมาบัติ ...
อากาสานัญจายตนสัญญาด้วยวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ... วิญญาณัญจายตนสัญญา
ด้วยอากิญจัญญายตนสมาบัติ ... อากิญจัญญายตนสัญญาด้วยเนวสัญญานา
สัญญายตนสมาบัติ ... นิจจสัญญาด้วยอนิจจานุปัสนา ... สุขสัญญาด้วย
ทุกขานุปัสนา ... อัตตสัญญาด้วยอนัตตานุปัสนา ... นันทิด้วยนิพพิทานุปัสนา ...
ราคะด้วยวิราคานุปัสนา ... สมุทัยด้วยนิโรธานุปัสนา ... อาทานะด้วยปฏินิส
สัคคานุปัสนา ... ฆนสัญญาด้วยวยานุปัสนา ... ธุวสัญญาด้วย วิปริณามานุปัสนา
นิมิตด้วยอนิมิตตานุปัสนา ... ปณิธิด้วยอัปปณิหิตานุปัสนา ... อภินิเวสด้วย
สุญญตานุปัสนา ... สาราทานาภินิเวสด้วยอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา ... สัมโมหา-
*ภินิเวสด้วยยถาภูตญาณทัสนะ ... อาลยาภินิเวสด้วยอาทีนวานุปัสนา ... อัปปฏิ-
*สังขาด้วยปฏิสังขานุปัสนา ... สังโยคาภินิเวสด้วยวิวัฏฏนานุปัสนา ... กิเลสที่
ตั้งอยู่ร่วมกันกับทิฐิด้วยโสดาปัตติมรรค ... กิเลสหยาบๆ ด้วยสกทาคามิมรรค
กิเลสละเอียดด้วยอนาคามิมรรค ชื่อว่าศีลเพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วง
กิเลสทั้งปวงด้วยอรหัตมรรค ฯ
             [๙๐] ศีล ๕ คือ การละปาณาติบาตเป็นศีล เวรมณี การงดเว้นเป็นศีล
เจตนาเป็นศีล สังวรเป็นศีล การไม่ล่วงเป็นศีล ศีลเห็นปานนี้ ย่อมเป็นไป
เพื่อความไม่เดือดร้อนแห่งจิต เพื่อความปราโมทย์ เพื่อปีติ เพื่อปัสสัทธิ
เพื่อโสมนัส เพื่อการเสพโดยเอื้อเฟื้อ เพื่อความเจริญ เพื่อทำให้มาก เพื่อ
เป็นเครื่องประดับ เพื่อเป็นบริขาร เพื่อเป็นบริวาร เพื่อความบริบูรณ์ ย่อมเป็น
ไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ
ระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว ฯ
             บรรดาศีลเห็นปานนี้ สังวรปาริสุทธิ ความบริสุทธิ์ด้วยความสำรวม
เป็นอธิศีล จิตตั้งอยู่ในความบริสุทธิ์ด้วยความสำรวม ย่อมไม่ถึงความฟุ้งซ่าน
อวิกเขปปาริสุทธิ ความบริสุทธิ์คือความที่จิตไม่ฟุ้งซ่าน เป็นอธิจิต พระโยคาวจร
ย่อมเห็นสังวรปาริสุทธิโดยชอบ ย่อมเห็นอวิกเขปปาริสุทธิโดยชอบ ทัสนปาริสุทธิ
ความบริสุทธิ์แห่งทัสนะ เป็นอธิปัญญา
             ในความสำรวม ความไม่ฟุ้งซ่านและทัสนะนั้น ความสำรวม เป็นอธิ
ศีลสิกขา ความไม่ฟุ้งซ่าน เป็นอธิจิตสิกขา ความเห็นแจ้ง เป็นอธิปัญญา
สิกขา พระโยคาวจรเมื่อนึกถึงสิกขา ๓ นี้ ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อรู้ เมื่อเห็น
เมื่อพิจารณา เมื่ออธิษฐานจิต เมื่อน้อมใจไปด้วยศรัทธา เมื่อประคองความเพียร
ไว้ เมื่อตั้งสติมั่น เมื่อตั้งจิตไว้ เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง
เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อละธรรมที่ควรละ เมื่อเจริญธรรมที่ควร
เจริญ เมื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าย่อมศึกษาทุกอย่าง ฯ
             [๙๑] ศีล ๕ คือ การละปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร
มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฐิ
การละกามฉันทะด้วยเนกขัมมะ การละความพยาบาทด้วยความไม่พยาบาท การ
ละถีนมิทธะด้วยอาโลกสัญญา การละอุทธัจจะด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน การละ
วิจิกิจฉาด้วยการกำหนดธรรม การละอวิชชาด้วยญาณ การละอรติด้วยความ
ปราโมทย์ การละนิวรณ์ด้วยปฐมฌาน การละวิตกวิจารด้วยทุติยฌาน การละ
ปีติด้วยตติยฌาน การละสุขและทุกข์ด้วยจตุตถฌาน การละรูปสัญญา
ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา ด้วยอากาสานัญจายตนสมาบัติ การละ
อากาสานัญจายตนสัญญาด้วยวิญญาณัญจายตนสมาบัติ การละวิญญาณัญจายตน-
*สัญญาด้วยอากิญจัญญายตนสมาบัติ การละอากิญญายตนสัญญาด้วยเนวสัญญา
นาสัญญายตนสมาบัติ การละนิจจสัญญาด้วยอนิจจานุปัสนา การละสุข
สัญญาด้วยทุกขานุปัสนา การละอัตตสัญญาด้วยอนัตตานุปัสนา การละนันทิ
ด้วยนิพพิทานุปัสนา การละราคะด้วยวิราคานุปัสนา การละสมุทัยด้วย
นิโรธานุปัสนา การละอาทานะด้วยปฏินิสสัคคานุปัสนา การละฆนสัญญาด้วย
ขยานุปัสนา การละอายุหนะด้วยวยานุปัสนา การละธุวสัญญาด้วยวิปริณามานุปัสนา
การละนิมิตด้วยอนิมิตตานุปัสนา การละปณิธิด้วยอัปปณิหิตานุปัสนา การละ
อภินิเวสด้วยสุญญตานุปัสนา การละสาราทานาภินิเวสด้วยอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา
การละสัมโมหาภินิเวสด้วยยถาภูตญาณทัสนะ การละอาลยาภินิเวสด้วยอาทีน-
*วานุปัสนา การละอัปปฏิสังขาด้วยปฏิสังขานุปัสนา การละสังโยคาภินิเวสด้วย
วิวัฏฏนานุปัสนา การละกิเลสที่ตั้งอยู่ร่วมกันกับทิฐิด้วยโสดาปัตติมรรค การละ
กิเลสที่หยาบๆ ด้วยสกทาคามิมรรค การละกิเลสที่ละเอียดด้วยอนาคามิมรรค
การละกิเลสทั้งปวงด้วยอหัตมรรค การละนั้นๆ เป็นศีล เวรมณีเป็นศีล ...
เมื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าย่อมศึกษา ฯ
             ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้นๆ ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่า
รู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการฟังธรรมแล้วสำรวมไว้
เป็นสีลมยญาณ ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ บรรทัดที่ ๙๕๑-๑๐๘๗ หน้าที่ ๓๙-๔๕. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=31&A=951&Z=1087&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=31&A=951&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=31&siri=15              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=31&i=86              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=31&A=1200              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=4865              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=31&A=1200              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=4865              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_31

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]