ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑
เรื่องลงทัณฑกรรมแก่สามเณร
[๑๒๑] ก็โดยสมัยนั้นแล พวกสามเณรไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง มีความ ประพฤติไม่เหมาะสม ในภิกษุทั้งหลายอยู่. ภิกษุทั้งหลายจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพวกสามเณรจึงได้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง มีความประพฤติไม่เหมาะสมในภิกษุ ทั้งหลายอยู่เล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรม แก่สามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ ๑. พยายามเพื่อความเสื่อมลาภแห่งภิกษุทั้งหลาย ๒. พยายามเพื่อความพินาศแห่งภิกษุทั้งหลาย ๓. พยายามเพื่อความอยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย ๔. ด่า บริภาษ ภิกษุทั้งหลาย ๕. ยุยงภิกษุต่อภิกษุให้แตกกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรมแก่สามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล. ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความดำริว่า จะพึงลงทัณฑกรรมอย่างไรหนอแล แล้ว กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรม คือ ห้ามปราม. ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายลงทัณฑกรรมคือห้ามสังฆารามทุกแห่งแก่พวกสามเณร. สามเณรเข้าอารามไม่ได้ จึงหลีกไปเสียบ้าง สึกเสียบ้าง ไปเข้ารีตเดียรถีย์บ้าง. ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงลงทัณฑกรรม คือห้ามสังฆารามทุกแห่ง รูปใดลงต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรม คือ ห้ามเฉพาะสถานที่ที่สามเณรจะอยู่หรือจะเข้าไปได้. ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายลงทัณฑกรรมคือห้ามอาหารซึ่งจะกลืนเข้าไปทางช่องปาก แก่พวกสามเณร. คนทั้งหลายทำปานะคือยาคูบ้าง สังฆภัตรบ้าง จึงกล่าวนิมนต์พวกสามเณร อย่างนี้ว่า นิมนต์ท่านทั้งหลายมาดื่มยาคู นิมนต์ท่านทั้งหลายมาฉันภัตตาหาร. พวกสามเณรจึง กล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกอาตมาทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะภิกษุทั้งหลายลงทัณฑกรรม คือห้ามไว้. ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย จึงได้ ห้ามอาหาร ซึ่งจะกลืนเข้าไปทางช่องปากแก่พวกสามเณรเล่า. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงลง ทัณฑกรรมคือห้ามอาหารที่จะกลืนเข้าไปทางช่องปาก รูปใดลง ต้องอาบัติทุกกฏ.
เรื่องลงทัณฑกรรมแก่สามเณร จบ.
เรื่องกักกันสามเณรต้องขออนุญาตก่อน
[๑๒๒] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ไม่อาปุจฉาพระอุปัชฌาย์ก่อน แล้วทำการ กักกันสามเณรทั้งหลายไว้. พระอุปัชฌาย์ทั้งหลายเที่ยวตามหาด้วยนึกสงสัยว่า ทำไมหนอ สามเณรของพวกเราจึงหายไป. ภิกษุทั้งหลายได้แจ้งให้ทราบอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พระฉัพพัคคีย์ได้กักกันไว้. พระอุปัชฌาย์ทั้งหลาย จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงไม่ อาปุจฉาพวกเราก่อน แล้วทำการกักกันสามเณรของพวกเราเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่อาปุจฉาอุปัชฌาย์ ก่อนแล้ว ไม่พึงทำการกักกันสามเณรไว้ รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ.
เรื่องทรงห้ามเกลี้ยกล่อมสามเณร
[๑๒๓] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์พากันเกลี้ยกล่อมพวกสามเณรของพระเถระ ทั้งหลาย. พระเถระทั้งหลายต้องหยิบไม้ชำระฟันบ้าง ตักน้ำล้างหน้าบ้าง ด้วยตนเอง ย่อมลำบาก จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย บริษัทของภิกษุอื่น ภิกษุไม่พึงเกลี้ยกล่อม รูปใดเกลี้ยกล่อม ต้องอาบัติทุกกฏ.
องค์แห่งนาสนะ ๑๐ ของสามเณร
[๑๒๔] ก็โดยสมัยนั้นแล สามเณรของท่านพระอุปนันทศากยบุตรชื่อ กัณฏกะ ได้ ประทุษร้ายภิกษุณีกัณฏกี. ภิกษุทั้งหลายจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนสามเณรจึงได้ ประพฤติอนาจารเห็นปานนี้เล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นาสนะ สามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐ คือ ๑. ทำสัตว์ที่มีชีวิตให้ตกล่วงไป ๒. ถือเอาพัสดุอันเจ้าของมิได้ให้ ๓. ประพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ๔. กล่าววาจาเท็จ ๕. ดื่มน้ำเมา ๖. กล่าวติพระพุทธเจ้า ๗. กล่าวติพระธรรม ๘. กล่าวติพระสงฆ์ ๙. มีความเห็นผิด ๑๐. ประทุษร้ายภิกษุณี ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นาสนะสามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐ นี้.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ บรรทัดที่ ๓๔๑๘-๓๔๘๐ หน้าที่ ๑๓๙-๑๔๑. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=4&A=3418&Z=3480&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=4&A=3418&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=4&siri=41              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=121              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=4&A=3511              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=1735              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=4&A=3511              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=1735              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_4              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/04i001-e.php#topic57 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/brahmali#pli-tv-kd1:57.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/horner-brahmali#Kd.1.57

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]