ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๖ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๖ จุลวรรค ภาค ๑
ข้อที่สงฆ์จำนง ๖ หมวด
หมวดที่ ๑
[๒๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๓ เมื่อสงฆ์จำนงพึงลง อุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ คือ เป็นผู้ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ ๑ เป็นพาล ไม่ฉลาด มีอาบัติมาก มีมรรยาทไม่สมควร ๑ อยู่คลุกคลีกับคฤหัสถ์ ด้วยการคลุกคลีอันไม่สมควร ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เมื่อสงฆ์จำนงพึงลง อุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ ฯ
หมวดที่ ๒
[๒๐๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่นอีก เมื่อ สงฆ์จำนงพึงลงอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ คือ เป็นผู้มีศีลวิบัติ ในอธิศีล ๑ เป็นผู้มีอาจารวิบัติ ในอัธยาจาร ๑ เป็นผู้มีทิฐิวิบัติ ในอติทิฐิ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เมื่อสงฆ์จำนงพึงลง อุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ ฯ
หมวดที่ ๓
[๒๐๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่นอีก เมื่อ สงฆ์จำนงพึงลงอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ คือ กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า ๑ กล่าวติเตียนพระธรรม ๑ กล่าวติเตียนพระสงฆ์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เมื่อสงฆ์จำนงพึงลง อุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ ฯ
หมวดที่ ๔
[๒๐๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อสงฆ์จำนงพึงลงอุกเขปนียกรรม ฐานไม่ เห็นอาบัติแก่ภิกษุ ๓ รูป คือ รูปหนึ่งเป็นผู้ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการ วิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ ๑ รูปหนึ่งเป็นพาล ไม่ฉลาด มีอาบัติมาก มีมรรยาทไม่สมควร ๑ รูปหนึ่งอยู่คลุกคลีกับคฤหัสถ์ ด้วยการคลุกคลีอันไม่ สมควร ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อสงฆ์จำนงพึงลงอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ แก่ภิกษุ ๓ รูปนี้แล ฯ
หมวดที่ ๕
[๒๐๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อสงฆ์จำนงค์พึงลงอุกเขปนียกรรม ฐาน ไม่เห็นอาบัติ แก่ภิกษุ ๓ รูปแม้อื่นอีก คือ รูปหนึ่งเป็นผู้มีศีลวิบัติ ในอธิศีล ๑ รูปหนึ่งเป็นผู้มีอาจารวิบัติ ในอัธยาจาร ๑ รูปหนึ่งเป็นผู้มีทิฐิวิบัติ ในอติทิฐิ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อสงฆ์จำนงพึงลงอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ แก่ภิกษุ ๓ รูปนี้แล ฯ
หมวดที่ ๖
[๒๐๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อสงฆ์จำนงพึงลงอุกเขปนียกรรม ฐานไม่ เห็นอาบัติแก่ภิกษุ ๓ รูปแม้อื่นอีก คือ รูปหนึ่งกล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า ๑ รูป หนึ่งกล่าวติเตียนพระธรรม ๑ รูปหนึ่งกล่าวติเตียนพระสงฆ์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อสงฆ์จำนงพึงลงอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ แก่ภิกษุ ๓ รูปนี้แล
ข้อที่สงฆ์จำนง ๖ หมวด
ในอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ จบ
-----------------------------------------------------
วัตร ๔๓ ข้อ ในอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ
[๒๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม ฐานไม่ เห็นอาบัติแล้ว ต้องประพฤติชอบ วิธีประพฤติชอบในอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัตินั้น ดังต่อไปนี้ ๑. ไม่พึงให้อุปสมบท ๒. ไม่พึงให้นิสัย ๓. ไม่พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก ๔. ไม่พึงรับสมมติเป็นผู้สั่งสอนภิกษุณี ๕. แม้ได้รับสมมติแล้ว ก็ไม่พึงสั่งสอนภิกษุณี ๖. สงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมฐานไม่เห็นอาบัติ เพราะอาบัติใด ไม่พึง ต้องอาบัตินั้น ๗. ไม่พึงต้องอาบัติอื่นอันเช่นกัน ๘. ไม่พึงต้องอาบัติอันเลวทรามกว่านั้น ๙. ไม่พึงติกรรม ๑๐. ไม่พึงติภิกษุทั้งหลายผู้ทำกรรม ๑๑. ไม่พึงยินดีการกราบไหว้ของปกตัตตะภิกษุ ๑๒. ไม่พึงยินดีการยืนรับของปกตัตตะภิกษุ ๑๓. ไม่พึงยินดีอัญชลีกรรมของปกตัตตะภิกษุ ๑๔. ไม่พึงยินดีสามีจิกรรมของปกตัตตะภิกษุ ๑๕. ไม่พึงยินดีการนำอาสนะมาให้ของปกตัตตะภิกษุ ๑๖. ไม่พึงยินดีการนำที่นอนมาให้ของปกตัตตะภิกษุ ๑๗. ไม่พึงยินดีการนำน้ำล้างเท้ามาให้ ไม่พึงยินดีการตั้งตั่งรองเท้าให้ของ ปกตัตตะภิกษุ ๑๘. ไม่พึงยินดีการตั้งกระเบื้องเช็ดเท้าให้ของปกตัตตะภิกษุ ๑๙. ไม่พึงยินดีการรับบาตรจีวรของปกตัตตะภิกษุ ๒๐. ไม่พึงยินดีการถูหลังให้เมื่ออาบน้ำของปกตัตตะภิกษุ ๒๑. ไม่พึงกำจัดปกตัตตะภิกษุ ด้วยศีลวิบัติ ๒๒. ไม่พึงกำจัดปกตัตตะภิกษุ ด้วยอาจารวิบัติ ๒๓. ไม่พึงกำจัดปกตัตตะภิกษุ ด้วยทิฐิวิบัติ ๒๔. ไม่พึงกำจัดปกตัตตะภิกษุ ด้วยอาชีววิบัติ ๒๕. ไม่พึงยุภิกษุกับภิกษุให้แตกกัน ๒๖. ไม่พึงใช้เครื่องนุ่งห่มอย่างคฤหัสถ์ ๒๗. ไม่พึงใช้เครื่องนุ่งห่มอย่างเดียรถีย์ ๒๘. ไม่พึงคบพวกเดียรถีย์ ๒๙. พึงคบพวกภิกษุ ๓๐. พึงศึกษาสิกขาของภิกษุ ๓๑. ไม่พึงอยู่ในอาวาสมีเครื่องมุงเดียวกันกับปกตัตตะภิกษุ ๓๒. ไม่พึงอยู่ในอนาวาสมีเครื่องมุงเดียวกันกับปกตัตตะภิกษุ ๓๓. ไม่พึงอยู่ในอาวาสหรือในอนาวาสมีเครื่องมุงเดียวกันกับปกตัตตะภิกษุ ๓๔. เห็นปกตัตตะภิกษุแล้วพึงลุกจากอาสนะ ๓๕. ไม่พึงรุกรานปกตัตตะภิกษุข้างใน หรือข้างนอกวิหาร ๓๖. ไม่พึงห้ามอุโบสถแก่ปกตัตตะภิกษุ ๓๗. ไม่พึงห้ามปวารณาแก่ปกตัตตะภิกษุ ๓๘. ไม่พึงทำการไต่สวน ๓๙. ไม่พึงเริ่มอนุวาทาธิกรณ์ ๔๐. ไม่พึงยังภิกษุอื่นให้ทำโอกาส ๔๑. ไม่พึงโจทภิกษุอื่น ๔๒. ไม่พึงให้ภิกษุอื่นให้การ ๔๓. ไม่พึงช่วยภิกษุกับภิกษุให้สู้อธิกรณ์กัน
วัตร ๔๓ ข้อ ในอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ จบ
สงฆ์ลงโทษและระงับกรรม
[๒๐๗] ครั้งนั้น สงฆ์ได้ลงอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติแก่ พระฉันนะ คือห้ามสมโภคกับสงฆ์ เธอถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ แล้วได้ไปจากอาวาสนั้น สู่อาวาสอื่น ภิกษุทั้งหลายในอาวาสอื่นนั้นไม่กราบไหว้ ไม่ ยืนรับ ไม่ทำอัญชลีกรรม ไม่ทำสามีจิกรรม ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา เธออันภิกษุทั้งหลายไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชาอยู่ เป็นผู้ไม่มีใคร ทำสักการะ จึงได้ไปจากอาวาสแม้นั้น สู่อาวาสอื่น ภิกษุทั้งหลายในอาวาสอื่น แม้นั้น ก็ไม่กราบไหว้ ไม่ยืนรับ ไม่ทำอัญชลีกรรม ไม่ทำสามีจิกรรม ไม่ สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา เธออันภิกษุทั้งหลายไม่สักการะ ไม่ เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชาอยู่ เป็นผู้ไม่มีใครทำสักการะ จึงได้ไปจากอาวาสแม้นั้น สู่อาวาสอื่น ภิกษุทั้งหลายในอาวาสอื่นแม้นั้นก็ไม่กราบไหว้ ไม่ยืนรับ ไม่ทำ อัญชลีกรรม ไม่ทำสามีจิกรรม ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา เธออัน ภิกษุทั้งหลายไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชาอยู่ เป็นผู้ไม่มีใครทำสักการะ จึงกลับมาสู่พระนครโกสัมพีอีกตามเดิม ได้ประพฤติโดยชอบ หายเย่อหยิ่ง ประ- *พฤติแก้ตัวได้ เข้าไปหาภิกษุทั้งหลาย แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ผม ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมฐานไม่เห็นอาบัติ แล้วประพฤติโดยชอบ หายเย่อหยิ่ง ประพฤติแก้ตัวได้ ผมจะพึงปฏิบัติอย่างไรต่อไป ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงระงับอุกเขปนียกรรมฐานไม่เห็น อาบัติ แก่ภิกษุฉันนะ ฯ
วัตรที่ไม่ควรระงับ ๔๓ ข้อ ๘ หมวด
หมวดที่ ๑
[๒๐๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์ไม่พึงระงับอุกเขปนียกรรมฐานไม่เห็น อาบัติ แก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ:- ๑. ให้อุปสมบท ๒. ให้นิสัย ๓. ให้สามเณรอุปัฏฐาก ๔. รับสมมติเป็นผู้สั่งสอนภิกษุณี ๕. แม้ได้รับสมมติแล้ว ก็ยังสั่งสอนภิกษุณี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล สงฆ์ไม่พึงระงับ อุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ ฯ
หมวดที่ ๒
[๒๐๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์ไม่พึงระงับอุกเขปนียกรรมฐานไม่เห็น อาบัติ แก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก คือ:- ๑. สงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติเพราะอาบัติใด ต้องอาบัตินั้น ๒. ต้องอาบัติอื่นอันเช่นกัน ๓. ต้องอาบัติอันเลวทรามกว่านั้น ๔. ติกรรม ๕. ติภิกษุทั้งหลายผู้ทำกรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล สงฆ์ไม่พึงระงับ อุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ ฯ
หมวดที่ ๓
[๒๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์ไม่พึงระงับอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็น อาบัติ แก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก คือ:- ๑. ยินดีการกราบไหว้ของปกตัตตะภิกษุ ๒. ยินดีการยืนรับของปกตัตตะภิกษุ ๓. ยินดีอัญชลีกรรมของปกตัตตะภิกษุ ๔. ยินดีสามีจิกรรม ของปกตัตตะภิกษุ ๕. ยินดีการนำอาสนะมาให้ ของปกตัตตะภิกษุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล สงฆ์ไม่พึงระงับ อุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ ฯ
หมวดที่ ๔
[๒๑๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์ไม่พึงระงับอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็น อาบัติ แก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก คือ:- ๑. ยินดีการนำที่นอนมาให้ ของปกตัตตะภิกษุ ๒. ยินดีการนำน้ำล้างเท้ามาให้ การตั้งตั่งรองเท้าให้ ของปกตัตตะภิกษุ ๓. ยินดีการตั้งกระเบื้องเช็ดเท้า ของปกตัตตะภิกษุ ๔. ยินดีการรับบาตรจีวร ของปกตัตตะภิกษุ ๕. ยินดีการถูหลังให้เมื่ออาบน้ำ ของปกตัตตะภิกษุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล สงฆ์ไม่พึงระงับ อุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ ฯ
หมวดที่ ๕
[๒๑๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์ไม่พึงระงับอุกเขปนียกรรม ฐานไม่ เห็นอาบัติ แก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก คือ:- ๑. กำจัดปกตัตตะภิกษุ ด้วยศีลวิบัติ ๒. กำจัดปกตัตตะภิกษุ ด้วยอาจารวิบัติ ๓. กำจัดปกตัตตะภิกษุ ด้วยทิฐิวิบัติ ๔. กำจัดปกตัตตะภิกษุ ด้วยอาชีววิบัติ ๕. ยุภิกษุกับภิกษุให้แตกกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล สงฆ์ไม่พึงระงับ อุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ ฯ
หมวดที่ ๖
[๒๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์ไม่พึงระงับอุกเขปนียกรรม ฐานไม่ เห็นอาบัติ แก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก คือ:- ๑. ใช้เครื่องนุ่งห่มอย่างคฤหัสถ์ ๒. ใช้เครื่องนุ่งห่มอย่างเดียรถีย์ ๓. คบพวกเดียรถีย์ ๔. ไม่คบพวกภิกษุ ๕. ไม่ศึกษาสิกขาของภิกษุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล สงฆ์ไม่พึงระงับ อุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ ฯ
หมวดที่ ๗
[๒๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์ไม่พึงระงับอุกเขปนียกรรม ฐานไม่ เห็นอาบัติ แก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก คือ:- ๑. อยู่ในอาวาสมีเครื่องมุงเดียวกันกับปกตัตตะภิกษุ ๒. อยู่ในอนาวาสมีเครื่องมุงเดียวกันกับปกตัตตะภิกษุ ๓. อยู่ในอาวาส หรือในอนาวาส มีเครื่องมุงเดียวกันกับปกตัตตะภิกษุ ๔. เห็นปกตัตตะภิกษุแล้ว ไม่ลุกจากอาสนะ ๕. รุกรานปกตัตตะภิกษุ ข้างในหรือข้างนอกวิหาร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล สงฆ์ไม่พึงระงับ อุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ ฯ
หมวดที่ ๘
[๒๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์ไม่พึงระงับอุกเขปนียกรรม ฐานไม่ เห็นอาบัติ แก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ:- ๑. ห้ามอุโบสถแก่ปกตัตตะภิกษุ ๒. ห้ามปวารณาแก่ปกตัตตะภิกษุ ๓. ทำการไต่สวน ๔. เริ่มอนุวาทาธิกรณ์ ๕. ยังภิกษุอื่นให้ทำโอกาส ๖. โจทภิกษุอื่น ๗. ให้ภิกษุอื่นให้การ ๘. ช่วยภิกษุกับภิกษุให้สู้อธิกรณ์กัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล สงฆ์ไม่พึงระงับ อุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ ฯ
วัตรที่ไม่ควรระงับ ๔๓ ข้อ ๘ หมวด
ในอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ จบ
-----------------------------------------------------
วัตรที่ควรระงับ ๔๓ ข้อ ๘ หมวด
หมวดที่ ๑
[๒๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงระงับอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็น อาบัติ แก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ:- ๑. ไม่ให้อุปสมบท ๒. ไม่ให้นิสัย ๓. ไม่ให้สามเณรอุปัฏฐาก ๔. ไม่รับสมมติเป็นผู้สั่งสอนภิกษุณี ๕. แม้ได้รับสมมติแล้ว ก็ไม่สั่งสอนภิกษุณี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล สงฆ์พึงระงับ อุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ ฯ
หมวดที่ ๒
[๒๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงระงับอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็น อาบัติ แก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก คือ:- ๑. สงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ เพราะอาบัติใด ไม่ต้อง อาบัตินั้น ๒. ไม่ต้องอาบัติอื่นอันเช่นกัน ๓. ไม่ต้องอาบัติอันเลวทรามกว่านั้น ๔. ไม่ติกรรม ๕. ไม่ติภิกษุทั้งหลายผู้ทำกรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล สงฆ์พึงระงับอุกเขป- *นียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ ฯ
หมวดที่ ๓
[๒๑๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงระงับอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็น อาบัติ แก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก คือ:- ๑. ไม่ยินดีการกราบไหว้ ของปกตัตตะภิกษุ ๒. ไม่ยินดีการยืนรับ ของปกตัตตะภิกษุ ๓. ไม่ยินดีอัญชลีกรรม ของปกตัตตะภิกษุ ๔. ไม่ยินดีสามีจิกรรม ของปกตัตตะภิกษุ ๕. ไม่ยินดีการนำอาสนะมาให้ ของปกตัตตะภิกษุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล สงฆ์พึงระงับอุกเขป- *นียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ ฯ
หมวดที่ ๔
[๒๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงระงับอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็น อาบัติ แก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก คือ:- ๑. ไม่ยินดีการนำที่นอนมาให้ ของปกตัตตะภิกษุ ๒. ไม่ยินดีการนำน้ำล้างเท้ามาให้ การตั้งตั่งรองเท้าให้ ของปกตัตตะภิกษุ ๓. ไม่ยินดีการตั้งกระเบื้องเช็ดเท้าให้ ของปกตัตตะภิกษุ ๔. ไม่ยินดีการรับบาตรจีวร ของปกตัตตะภิกษุ ๕. ไม่ยินดีการถูหลังให้เมื่ออาบน้ำ ของปกตัตตะภิกษุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล สงฆ์พึงระงับ อุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ ฯ
หมวดที่ ๕
[๒๒๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงระงับอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็น อาบัติ แก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก คือ:- ๑. ไม่กำจัดปกตัตตะภิกษุ ด้วยศีลวิบัติ ๒. ไม่กำจัดปกตัตตะภิกษุ ด้วยอาจารวิบัติ ๓. ไม่กำจัดปกตัตตะภิกษุ ด้วยทิฐิบัติ ๔. ไม่กำจัดปกตัตตะภิกษุ ด้วยอาชีววิบัติ ๕. ไม่ยุภิกษุกับภิกษุให้แตกกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล สงฆ์พึงระงับ อุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ ฯ
หมวดที่ ๖
[๒๒๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงระงับอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็น อาบัติ แก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก คือ:- ๑. ไม่ใช้เครื่องนุ่งห่มอย่างคฤหัสถ์ ๒. ไม่ใช้เครื่องนุ่งห่มอย่างเดียรถีย์ ๓. ไม่คบพวกเดียรถีย์ ๔. คบพวกภิกษุ ๕. ศึกษาสิกขาของภิกษุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล สงฆ์พึงระงับ อุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ ฯ
หมวดที่ ๗
[๒๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงระงับอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็น อาบัติ แก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก คือ:- ๑. ไม่อยู่ในอาวาสมีเครื่องมุงเดียวกันกับปกตัตตะภิกษุ ๒. ไม่อยู่ในอนาวาสมีเครื่องมุงเดียวกันกับปกตัตตะภิกษุ ๓. ไม่อยู่ในอาวาส หรือในอนาวาส มีเครื่องมุงเดียวกันกับปกตัตตะภิกษุ ๔. เห็นปกตัตตะภิกษุแล้วลุกจากอาสนะ ๕. ไม่รุกรานปกตัตตะภิกษุ ข้างในหรือข้างนอกวิหาร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล สงฆ์พึงระงับ อุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ ฯ
หมวดที่ ๘
[๒๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงระงับอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็น อาบัติ แก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ:- ๑. ไม่ห้ามอุโบสถแก่ปกตัตตะภิกษุ ๒. ไม่ห้ามปวารณาแก่ปกตัตตะภิกษุ ๓. ไม่ทำการไต่สวน ๔. ไม่เริ่มอนุวาทาธิกรณ์ ๕. ไม่ยังภิกษุอื่นให้ทำโอกาส ๖. ไม่โจทภิกษุอื่น ๗. ไม่ให้ภิกษุอื่นให้การ ๘. ไม่ช่วยภิกษุกับภิกษุให้สู้อธิกรณ์กัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล สงฆ์พึงระงับ อุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ ฯ
วัตรที่ควรระงับ ๔๓ ข้อ ๘ หมวด
ในอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ จบ
-----------------------------------------------------
วิธีระงับอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ
[๒๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล วิธีระงับอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็น อาบัติ พึงระงับอย่างนี้ ภิกษุฉันนะนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ไหว้เท้าภิกษุ ผู้แก่กว่า นั่งกระหย่งประคองอัญชลี แล้วกล่าวคำขอระงับกรรมนั้นอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
คำขอระงับอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ
ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติแล้ว ประพฤติโดยชอบ หายเย่อหยิ่ง ประพฤติแก้ตัวได้ ข้าพเจ้าขอระงับอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ พึงขอแม้ครั้งที่สอง พึงขอแม้ครั้งที่สาม ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรม วาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาระงับอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า พระฉันนะนี้ถูกสงฆ์ลง อุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติแล้ว ประพฤติโดยชอบ หายเย่อหยิ่ง ประพฤติแก้ตัวได้ บัดนี้ ขอระงับอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงระงับอุกเขปนียกรรม ฐาน ไม่เห็นอาบัติ แก่พระฉันนะ นี้เป็นญัตติ ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า พระฉันนะนี้ถูกสงฆ์ลง อุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติแล้ว ประพฤติโดยชอบ หายเย่อหยิ่ง ประพฤติแก้ตัวได้ บัดนี้ ขอระงับอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ สงฆ์ระงับอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ แก่พระฉันนะ การระงับ อุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ แก่พระฉันนะ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง ... ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จง ฟังข้าพเจ้า พระฉันนะนี้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ แล้ว ประพฤติโดยชอบ หายเย่อหยิ่ง ประพฤติแล้วแก้ตัวได้ บัดนี้ ขอระงับอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ สงฆ์ระงับอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติ แก่พระฉันนะ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็น ผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด อุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติอันสงฆ์ระงับแล้วแก่พระ ฉันนะ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้ ฯ
อุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัติที่ ๕ จบ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๖ บรรทัดที่ ๒๑๙๔-๒๕๑๗ หน้าที่ ๙๕-๑๐๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=6&A=2194&Z=2517&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=6&A=2194&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=6&siri=10              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=6&i=-200              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=6&A=1642              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=6&A=1642              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_6              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd11/en/brahmali#pli-tv-kd11:26.1.35.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd11/en/horner-brahmali#Kd.11.26.1

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]