ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๘ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๘ ปริวาร
อัตตาทานวรรคที่ ๕
หน้าที่ของโจทก์
[๑๑๘๓] อุ. ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงกำหนดธรรมเท่าไรไว้ในตน แล้ว โจทผู้อื่น พระพุทธเจ้าข้า? พ. ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงกำหนดธรรม ๕ อย่างไว้ในตน แล้วโจทผู้อื่น. ธรรม ๕ อย่าง อะไรบ้าง? คือ:- ๑. ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงกำหนดอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้มีความ ประพฤติทางกายบริสุทธิ์หรือหนอ เราเป็นผู้ประกอบด้วยความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ไม่มีช่อง ไม่มีข้อสอบสวนหรือ ธรรมนั้นของเรามีอยู่หรือไม่มี? ดูกรอุบาลี ถ้าภิกษุไม่ใช่เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ไม่ใช่เป็นผู้ประกอบ ด้วยความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ไม่มีช่อง ไม่มีข้อสอบสวน จะมีผู้ว่ากล่าวต่อเธอว่า เชิญท่าน ศึกษาความประพฤติทางกายก่อน จะมีคนว่ากล่าวต่อเธอดังนี้. ๒. ดูกรอุบาลี อนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงกำหนดอย่างนี้ว่า เราเป็น ผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์หรือหนอ เราเป็นผู้ประกอบด้วยความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ไม่มีช่อง ไม่มีข้อสอบสวนหรือ ธรรมนั้นของเรามีอยู่หรือไม่? ดูกรอุบาลี ถ้าภิกษุไม่ใช่เป็นผู้ประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ไม่ใช่เป็นผู้ประกอบด้วย ความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ไม่มีช่อง ไม่มีข้อสอบสวน จะมีผู้ว่ากล่าวต่อเธอว่า เชิญทาน ศึกษาความประพฤติทางวาจาก่อน จะมีคนว่ากล่าวต่อเธอดังนี้. ๓. ดูกรอุบาลี อนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงกำหนดอย่างนี้ว่า เมตตาจิต ไม่มีอาฆาต เราเข้าไปตั้งไว้แล้วในหมู่เพื่อนสพรหมจารีหรือ ธรรมนั้นของเรามีอยู่หรือไม่มี? ดูกรอุบาลี ถ้าภิกษุไม่ได้เข้าไปตั้งเมตตาจิตไม่มีอาฆาตในหมู่เพื่อนสพรหมจารี จะมีผู้ กล่าวต่อเธอว่า เชิญท่านเข้าไปตั้งเมตตาจิตในหมู่เพื่อนสพรหมจารีก่อน จะมีคนว่ากล่าวต่อเธอดังนี้ ๔. ดูกรอุบาลี อนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงกำหนดอย่างนี้ว่า เราเป็น ผู้มีสุตะมาก ทรงจำสุตะ สั่งสมสุตะหรือหนอ ธรรมเหล่านั้นใด งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ สิ้นเชิง ธรรม เห็นปานนั้นเราได้ฟังมาก ทรงจำไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา ธรรมนั้น ของเรามีอยู่หรือไม่มี? ดูกรอุบาลี ถ้าภิกษุไม่ใช่เป็นผู้มีสุตะมาก ทรงจำสุตะ สั่งสมสุตะ ธรรมเหล่านั้นใด งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้ง พยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ สิ้นเชิง ธรรมเห็นปานนั้น เธอหาได้ฟังมาก ทรงจำไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญาไม่ จะมีผู้กล่าวต่อเธอว่า เชิญท่านเรียนคัมภีร์ก่อน จะมีคน ว่ากล่าวต่อเธอดังนี้. ๕. ดูกรอุบาลี อนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงกำหนดอย่างนี้ว่า เราจำ ปาติโมกข์ทั้งสองได้ดี โดยพิสดาร สวดไพเราะคล่องแคล่วดี วินิจฉัยเรียบร้อย โดยสุตตะ โดยอนุพยัญชนะหรือ ธรรมนั้นของเรามีอยู่หรือไม่มี? ดูกรอุบาลี ถ้าภิกษุไม่ใช่เป็นผู้จำปาติโมกข์ทั้งสอง โดยพิสดาร สวดไพเราะคล่อง แคล่วดี วินิจฉัยเรียบร้อย โดยสุตตะ โดยอนุพยัญชนะไม่ได้ มีผู้ถามว่า ท่าน สิกขาบทนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ที่ไหน เธอถูกถามดังนี้ ย่อมตอบไม่ถูกต้อง จะมีผู้ว่ากล่าวต่อเธอว่า เชิญ ท่านเรียนวินัยก่อน จะมีคนว่ากล่าวต่อเธอดังนี้. ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์โจทผู้อื่น พึงกำหนดธรรม ๕ อย่างนี้ไว้ในตน แล้ว โจทผู้อื่นเถิด.
หน้าที่ของโจทก์อีกนัยหนึ่ง
[๑๑๘๔] อุ. ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงตั้งธรรมเท่าไรไว้ในตน แล้วโจท ผู้อื่น พระพุทธเจ้าข้า? พ. ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงตั้งธรรม ๕ อย่างไว้ในตนแล้ว โจทผู้อื่น. ธรรม ๕ อย่างอะไรบ้าง? คือ:- ๑. เราจักพูดโดยกาลอันควร จักไม่พูดโดยกาลไม่ควร ๒. เราจักพูดด้วยคำจริง จักไม่พูดด้วยคำเท็จ ๓. เราจักพูดด้วยคำสุภาพ จักไม่พูดด้วยคำหยาบ ๔. เราจักพูดด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่พูดด้วยคำไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๕. เราจักมีเมตตาจิตพูด จักไม่มุ่งร้ายพูด ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงตั้งธรรม ๕ อย่างนี้ไว้ในตนแล้วโจท ผู้อื่นเถิด.
โจทก์ควรใฝ่ใจถึงธรรม
[๑๑๘๕] อุ. ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงมนสิการธรรมเท่าไรไว้ในตน แล้ว โจทผู้อื่น พระพุทธเจ้า? พ. ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงมนสิการธรรม ๕ อย่างไว้ในตน แล้วโจทผู้อื่น. ธรรม ๕ อย่าง อะไรบ้าง? คือ:- ๑. ความการุญ ๒. ความหวังประโยชน์ ๓. ความเอ็นดู ๔. ความออกจากอาบัติ ๕. ความทำวินัยเป็นเบื้องต้น ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงมนสิการธรรม ๕ อย่างนี้ไว้ในตน แล้วโจทผู้อื่น.
องค์ของภิกษุผู้ไม่ควรให้ทำโอกาส
[๑๑๘๖] อุ. ภิกษุประกอบด้วยองค์เท่าไรหนอแล ขอให้ทำโอกาส สงฆ์ไม่ควรทำ โอกาส พระพุทธเจ้าข้า? พ. ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ ขอให้ทำโอกาส สงฆ์ไม่ควรทำโอกาส. องค์ ๕ อะไรบ้าง? คือ:- ๑. เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ ๒. เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ ๓. เป็นผู้มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ ๔. เป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด ๕. ถูกซักเข้า ไม่อาจให้คำตอบข้อที่ซัก ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ขอให้ทำโอกาส สงฆ์ไม่ควรทำโอกาส.
องค์ของภิกษุผู้ควรให้ทำโอกาส
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ ขอให้ทำโอกาส สงฆ์ควรทำโอกาส. องค์ ๕ อะไรบ้าง? คือ:- ๑. เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ๒. เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ๓. เป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ ๔. เป็นบัณฑิต ผู้ฉลาด ๕. ถูกซักเข้า อาจให้คำตอบข้อที่ซัก ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ขอให้ทำโอกาส. สงฆ์ควรทำโอกาส.
รับอธิกรณ์
[๑๑๘๗] อุ. ภิกษุผู้ประสงค์จะรับอธิกรณ์ พึงรับอธิกรณ์ ประกอบด้วยองค์เท่าไร พระพุทธเจ้าข้า? พ. ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้ประสงค์จะรับอธิกรณ์ พึงรับอธิกรณ์ ประกอบด้วยองค์ ๕. องค์ ๕ อะไรบ้าง? คือ:- ๑. ภิกษุผู้ประสงค์จะรับอธิกรณ์ พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า เราประสงค์จะรับอธิกรณ์นี้ เป็นกาลสมควรหรือไม่ที่จะรับอธิกรณ์นี้ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่าเป็นกาลไม่สมควรที่จะรับ อธิกรณ์นี้ หาใช่เป็นกาลสมควรไม่ อธิกรณ์นั้น ภิกษุไม่พึงรับไว้ ๒. ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เป็นกาลสมควรที่จะรับอธิกรณ์นี้ หาใช่เป็นการ ไม่สมควรไม่ ภิกษุนั้นพึงพิจารณาต่อไปว่า เราประสงค์จะรับอธิกรณ์นี้ อธิกรณ์นี้เป็นเรื่องจริง หรือไม่ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า อธิกรณ์นี้เป็นเรื่องไม่จริง หาใช่เป็นเรื่องจริงไม่ อธิกรณ์ นั้น ภิกษุไม่พึงรับไว้. ๓. ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า อธิกรณ์นี้เป็นเรื่องจริง หาใช่เป็นเรื่องไม่จริงไม่ ภิกษุนั้นพึงพิจารณาต่อไปว่า เราประสงค์จะรับอธิกรณ์นี้ อธิกรณ์นี้ประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า อธิกรณ์นี้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ หาใช่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ อธิกรณ์นั้น ภิกษุไม่พึงรับไว้. ๔. ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า อธิกรณ์นี้ ประกอบด้วยประโยชน์ หาใช่ประกอบ ด้วยประโยชน์ไม่ ภิกษุนั้นพึงพิจารณาต่อไปว่า เมื่อเรารับอธิกรณ์นี้ไว้ จักได้ภิกษุผู้เคยเห็นเคย คบกัน เป็นฝ่ายโดยธรรมวินัยหรือไม่ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่าเมื่อเรารับอธิกรณ์นี้ไว้ จัก ไม่ได้ภิกษุผู้เคยเห็นเคยคบกันเป็นฝ่ายโดยธรรมโดยวินัย อธิกรณ์นั้น ภิกษุไม่พึงรับไว้. ๕. ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เมื่อเรารับอธิกรณ์นี้ไว้จักได้ภิกษุผู้เคยเห็นเคย คบกัน เป็นฝ่ายโดยธรรมโดยวินัย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาต่อไปว่า เมื่อเรารับอธิกรณ์นี้ไว้ ความ บาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความถือต่างแห่งสงฆ์ ความกระทำต่างแห่งสงฆ์ ซึ่งมีการนั้นเป็นเหตุ จักมีแก่สงฆ์หรือไม่ ถ้า ภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เมื่อเรารับอธิกรณ์นี้ไว้ ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความถือต่างแห่งสงฆ์ ความกระทำต่าง แห่งสงฆ์ ซึ่งมีการนั้นเป็นเหตุ จักมีแก่สงฆ์ อธิกรณ์นั้นภิกษุไม่พึงรับไว้. ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เมื่อเรารับอธิกรณ์นี้ไว้ ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความถือต่างแห่งสงฆ์ ความ กระทำต่างแห่งสงฆ์ ซึ่งมีการนั้นเป็นเหตุ จักไม่มีแก่สงฆ์ อธิกรณ์นั้นภิกษุพึงรับไว้. ดูกรอุบาลี อธิกรณ์ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างนี้แล ภิกษุรับไว้จักไม่ก่อความ เดือดร้อนให้แม้ในภายหลังแล.
องค์แห่งภิกษุผู้มีอุปการะมาก
[๑๑๘๘] อุ. ภิกษุประกอบด้วยองค์เท่าไรหนอแล เป็นผู้มีอุปการะมากแก่ภิกษุพวก ก่ออธิกรณ์ พระพุทธเจ้าข้า? พ. ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นผู้มีอุปการะมากแก่ภิกษุพวกก่ออธิกรณ์. องค์ ๕ อะไรบ้าง? คือ:- ๑. เป็นผู้มีศีล สำรวมในปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจรอยู่ เป็นผู้ มีปกติเห็นภัยในโทษมีประมาณน้อยสมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย. ๒. เป็นผู้มีสุตะมาก ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ ธรรมเหล่านั้นใด งามในเบื้องต้น งามใน ท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง ธรรมเห็นปานนั้น เธอเป็นผู้ได้สดับมากทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีแล้ว ด้วยปัญญา. ๓. เธอจำปาติโมกข์ทั้งสองได้ดีโดยพิสดาร สวดไพเราะ คล่องแคล่ว วินิจฉัยถูกต้อง โดยสุตตะ โดยอนุพยัญชนะ. ๔. เป็นผู้ตั้งอยู่ในวินัย ไม่ง่อนแง่น. ๕. เป็นผู้สามารถให้คู่ความทั้งสองเบาใจ ให้เข้าใจ ให้เพ่งพินิจพิจารณา เลื่อมใส. ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล เป็นผู้มีอุปการะมากแก่ภิกษุพวกก่อธิกรณ์. ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แม้อื่นอีก ๕ เป็นผู้มีอุปการะมากแก่ภิกษุพวกก่อ อธิกรณ์. องค์ ๕ อะไรบ้าง? คือ:- ๑. เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ๒. เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ๓. เป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ ๔. เป็นบัณฑิต ผู้ฉลาด ๕. ถูกซักเข้า อาจให้คำตอบข้อที่ซัก ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล เป็นผู้มีอุปการะมากแก่ภิกษุพวกก่อ อธิกรณ์ ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์แม้อื่นอีก ๕ เป็นผู้มีอุปการะมากแก่ภิกษุพวกก่อ อธิกรณ์. องค์ ๕ อะไรบ้าง? คือ:- ๑. รู้วัตถุ ๒. รู้นิทาน ๓. รู้บัญญัติ ๔. รู้บทที่ตกหล่นภายหลัง ๕. รู้ถ้อยคำอันเข้าสนธิกันได้ ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล เป็นผู้มีอุปการะมากแก่ภิกษุพวกก่ออธิกรณ์.
องค์ของภิกษุผู้ไม่ควรซักถาม
[๑๑๘๙] อุ. ภิกษุประกอบด้วยองค์เท่าไรหนอแล ไม่พึงซักถาม พระพุทธเจ้าข้า? พ. ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่พึงซักถาม. องค์ ๕ อะไรบ้าง? คือ:- ๑. ไม่รู้สุตตะ ๒. ไม่รู้สุตตานุโลม ๓. ไม่รู้วินัย ๔. ไม่รู้วินยานุโลม ๕. ไม่ฉลาดในฐานะและอฐานะ ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่พึงซักถาม.
องค์ของภิกษุผู้ควรซักถาม
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ พึงซักถาม. องค์ ๕ อะไรบ้าง? คือ:- ๑. รู้สุตตะ ๒. รู้สุตตานุโลม ๓. รู้วินัย ๔. รู้วินยานุโลม ๕. ฉลาดในฐานะและอฐานะ ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล พึงซักถาม.
องค์ของภิกษุผู้ไม่ควรซักถามอีกนัยหนึ่ง
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์แม้อื่นอีก ๕ ไม่พึงซักถาม. องค์ ๕ อะไรบ้าง? คือ:- ๑. ไม่รู้ธรรม ๒. ไม่รู้ธรรมานุโลม ๓. ไม่รู้วินัย ๔. ไม่รู้วินยานุโลม ๕. ไม่ฉลาดในคำต้นและคำหลัง ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่พึงซักถาม.
องค์ของภิกษุผู้ควรซักถาม
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ พึงซักถาม. องค์ ๕ อะไรบ้าง คือ:- ๑. รู้ธรรม ๒. รู้ธรรมานุโลม ๓. รู้วินัย ๔. รู้วินยานุโลม ๕. ฉลาดในคำต้นและคำหลัง ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล พึงซักถาม.
องค์ของภิกษุผู้ไม่ควรซักถามอีกนัยหนึ่ง
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์แม้อื่นอีก ๕ ไม่พึงซักถาม. องค์ ๕ อะไรบ้าง? คือ:- ๑. ไม่รู้วัตถุ ๒. ไม่รู้นิทาน ๓. ไม่รู้บัญญัติ ๔. ไม่รู้บทที่ตกหล่นภายหลัง ๕. ไม่รู้ทางถ้อยคำอันเข้าสนธิกันได้ ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่พึงซักถาม.
องค์ของภิกษุผู้ควรซักถาม
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ พึงซักถาม. องค์ ๕ อะไรบ้าง? คือ:- ๑. รู้วัตถุ ๒. รู้นิทาน ๓. รู้บัญญัติ ๔. รู้บทที่ตกหล่นภายหลัง ๕. รู้ทางถ้อยคำอันเข้าสนธิกันได้ ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล พึงซักถาม.
องค์ของภิกษุผู้ไม่ควรซักถามอีกนัยหนึ่ง
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์แม้อื่นอีก ๕ ไม่พึงซักถาม. องค์ ๕ อะไรบ้าง? คือ:- ๑. ไม่รู้อาบัติ ๒. ไม่รู้สมุฏฐานอาบัติ ๓. ไม่รู้ประโยคอาบัติ ๔. ไม่รู้ความระงับอาบัติ ๕. ไม่ฉลาดในการวินิจฉัยอาบัติ ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่พึงซักถาม.
องค์ของภิกษุผู้ควรซักถาม
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ พึงซักถาม องค์ ๕ อะไรบ้าง? คือ:- ๑. รู้อาบัติ ๒. รู้สมุฏฐานอาบัติ ๓. รู้ประโยคอาบัติ ๔. รู้ความระงับอาบัติ ๕. ฉลาดในการวินิจฉัยอาบัติ ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล พึงซักถาม.
องค์ของภิกษุผู้ไม่ควรซักถามอีกนัยหนึ่ง
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์แม้อื่นอีก ๕ ไม่พึงซักถาม. องค์ ๕ อะไรบ้าง? คือ:- ๑. ไม่รู้อธิกรณ์ ๒. ไม่รู้สมุฏฐานอธิกรณ์ ๓. ไม่รู้ประโยคอธิกรณ์ ๔. ไม่รู้ความระงับอธิกรณ์ ๕. ไม่ฉลาดในการวินิจฉัยอธิกรณ์ ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่พึงซักถาม.
องค์ของภิกษุผู้ควรซักถาม
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ พึงซักถาม. องค์ ๕ อะไรบ้าง? คือ:- ๑. รู้อธิกรณ์ ๒. รู้สมุฏฐานอธิกรณ์ ๓. รู้ประโยคอธิกรณ์ ๔. รู้ความระงับอธิกรณ์ ๕. ฉลาดในการวินิจฉัยอธิกรณ์ ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล พึงซักถาม.
อัตตาทานวรรค ที่ ๕ จบ
-----------------------------------------------------
หัวข้อประจำวรรค
[๑๑๙๐] บริสุทธิ์ ๑ กาล ๑ ความการุญ ๑ โอกาส ๑ รับอธิกรณ์ ๑ อธิกรณ์ ๑ และอธิกรณ์อีกนัยหนึ่ง ๑ วัตถุ ๑ สุตตะ ๑ ธรรม ๑ วัตถุอีกนัยหนึ่ง ๑ อาบัติ ๑ อธิกรณ์.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๘ บรรทัดที่ ๑๑๑๗๘-๑๑๔๑๗ หน้าที่ ๔๒๙-๔๓๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=8&A=11178&Z=11417&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=8&A=11178&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=8&siri=110              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=8&i=1183              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=8&A=9406              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=8&A=9406              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_8              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-pvr17/en/brahmali#pli-tv-pvr17:87.0 https://suttacentral.net/pli-tv-pvr17/en/horner-brahmali#Prv.17.5

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]