ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๑

หน้าที่ ๒๗-๒๙.


                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]

                                                                 ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร

[๓๙] ครั้นภิกษุผู้เป็นเพื่อนเหล่านั้นตำหนิพระสุทินโดยประการต่างๆ แล้ว นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามท่านพระสุทินว่า “สุทิน ทราบว่า เธอเสพเมถุนธรรมกับอดีตภรรยา จริงหรือ” พระสุทินทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ การกระทำของเธอไม่สมควร ไม่ คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย เธอบวชในธรรม วินัยที่เรากล่าวดีแล้ว ไฉนจึงไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ ตลอดชีวิตเล่า เราแสดงธรรมโดยประการต่างๆ เพื่อคลายความกำหนัด มิใช่เพื่อ ความกำหนัด เพื่อความพราก มิใช่เพื่อความประกอบไว้ เพื่อความไม่ถือมั่น มิใช่ เพื่อความถือมั่น มิใช่หรือ เมื่อเราแสดงธรรมเพื่อคลายความกำหนัด เธอก็ยังจะคิด เพื่อความกำหนัด เราแสดงธรรมเพื่อความพราก เธอก็ยังจะคิดเพื่อความประกอบไว้ เราแสดงธรรมเพื่อความไม่ถือมั่น เธอก็ยังจะคิดเพื่อมีความถือมั่น เราแสดงธรรม โดยประการต่างๆ เพื่อสำรอกราคะ เพื่อสร่างความเมา เพื่อดับความกระหาย เพื่อถอนความอาลัย เพื่อตัดวัฏฏะ เพื่อความสิ้นตัณหา เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อดับทุกข์ เพื่อนิพพาน มิใช่หรือ เราบอกการละกาม การกำหนดรู้ความสำคัญ ในกาม การกำจัดความกระหายในกาม การเพิกถอนความตรึกในกาม การระงับ ความกลัดกลุ้มเพราะกามไว้โดยประการต่างๆ มิใช่หรือ โมฆบุรุษ เธอสอดองคชาตเข้าปากอสรพิษร้ายเสียยังดีกว่าสอดองคชาตเข้า องค์กำเนิดสตรี สอดองคชาตเข้าปากงูเห่าเสียยังดีกว่าสอดองคชาตเข้าองค์กำเนิด สตรี สอดองคชาตเข้าหลุมถ่านไฟเสียยังดีกว่าสอดองคชาตเข้าองค์กำเนิดสตรี เพราะอะไรเล่า เพราะผู้สอดองคชาตเข้าปากอสรพิษร้ายเป็นต้น พึงถึงความตาย หรือทุกข์ปางตายเพราะการกระทำนั้นเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วก็ไม่ต้องไปบังเกิด ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนผู้สอดองคชาตเข้าองค์กำเนิดสตรี หลังจากตาย แล้วต้องไปบังเกิดในอบายทุคติ วินิบาต นรก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๒๗}

                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]

                                                                 ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร

โมฆบุรุษ ในการที่เธอเสพอสัทธรรม ซึ่งเป็นประเวณีของชาวบ้าน มารยาท ของคนชั้นต่ำ กิริยาชั่วหยาบ มีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจที่จะต้องทำในที่ลับ ต้องทำกัน สอง ต่อสองนี้มีโทษมาก เธอเป็นคนแรกที่ก่ออกุศลธรรมก่อนใครๆ การทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้น ได้เลย ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว บางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป” ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงตำหนิพระสุทินโดยประการต่างๆ แล้ว ได้ตรัสโทษ แห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก บำรุงยาก มักมาก ไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความ เกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย บำรุงง่าย มักน้อย สันโดษ ความ ขัดเกลา ความกำจัดกิเลส อาการน่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยประการต่างๆ ทรงแสดงธรรมีกถาให้เหมาะสมให้คล้อยตามกับเรื่องนั้น แล้ว รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เราจะบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย โดย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ ๑. เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๒. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์ ๓. เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๔. เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม ๕. เพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๖. เพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในอนาคต ๗. เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส ๘. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของคนที่เลื่อมใสแล้ว ๙. เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๒๘}

                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]

                                                                 ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ พระบัญญัติ

๑๐. เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย๑-” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก๒- หาสังวาสมิได้ สิกขาบทนี้ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
สุทินภาณวาร จบ
เรื่องลิงตัวเมีย
[๔๐] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งให้อาหารเลี้ยงลิงตัวเมียในป่ามหาวัน กรุงเวสาลี แล้วเสพเมถุนธรรมกับนางลิงนั้น ครั้นเวลาเช้า เธอครองอันตรวาสก ถือบาตรและ จีวรไปบิณฑบาตในกรุงเวสาลี ต่อมาภิกษุหลายรูปจาริกไปตามเสนาสนะ เดินผ่าน ไปทางที่อยู่ของภิกษุนั้น นางลิงเห็นภิกษุเหล่านั้นกำลังเดินมาแต่ไกลจึงตรงเข้าไปหา แล้วส่ายสะเอว แกว่งหาง โก่งตะโพกขึ้น ทำท่าทางต่างๆ ต่อหน้าภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้น จึงพากันสันนิษฐานว่า ภิกษุเจ้าถิ่นคงจะเสพเมถุนธรรมกับนางลิงตัว นี้แน่ แล้วแอบอยู่ ณ ที่กำบังแห่งหนึ่งจนกระทั่งภิกษุเจ้าถิ่นเที่ยวบิณฑบาตในกรุง เวสาลี แล้วถืออาหารบิณฑบาตกลับมา @เชิงอรรถ : @ ข้อ ๑,๒ ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมคือสงฆ์ @ข้อ ๓,๔ ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่บุคคล @ข้อ ๕,๖ ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ความบริสุทธิ์หรือแก่ชีวิต @ข้อ ๗,๘ ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน @ข้อ ๙,๑๐ ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่พระศาสนา @ข้อ ๑๐ คำว่า “เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย” หมายถึง เพื่อเชิดชู ค้ำจุน ประคับประคองพระวินัย ๔ อย่าง คือ @สังวรวินัย ปหานวินัย สมถวินัย บัญญัติวินัย (วิ.อ. ๑/๓๙/๒๓๖-๒๓๗) @ เป็นผู้พ่ายแพ้ ถึงความพ่ายแพ้ คือ เป็นผู้เคลื่อน พลัดตก เหินห่างจากพระสัทธรรม (สารตฺถ.ฏีกา. ๒/ @๕๕/๑๐๓-๑๐๔), ปาราชิกศัพท์นั้น หมายถึงตัวสิกขาบท หมายถึงตัวอาบัติ หมายถึงบุคคล ในที่นี้หมายถึง @บุคคล (วิ.อ. ๑/๕๕/๒๗๗). {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๒๙}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๒๗-๒๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=1&page=27&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=1&A=725 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=1&A=725#p27 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 1 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_1 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu1 https://84000.org/tipitaka/english/?index_1



จบการแสดงผล หน้าที่ ๒๗-๒๙.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]