ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย มหาวรรค

หน้าที่ ๑๑๒-๑๑๖.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

                                                                 ว่าด้วยนิมิตโอภาส

ว่าด้วยนิมิตโอภาส๑-
[๑๖๖] ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังกรุงเวสาลีเพื่อบิณฑบาต เมื่อเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเสวย พระกระยาหารเสร็จแล้ว รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอจง ถือผ้านิสีทนะ(ผ้ารองนั่ง) เราจะเข้าไปพักกลางวันที่ปาวาลเจดีย์” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ถือผ้านิสีทนะตามเสด็จพระผู้มี พระภาคไปทางเบื้องพระปฤษฎางค์ ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังปาวาลเจดีย์ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ท่าน พระอานนท์ปูลาดถวาย ท่านพระอานนท์ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ สมควร [๑๖๗] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์ กรุงเวสาลีน่ารื่นรมย์ อุเทนเจดีย์น่ารื่นรมย์ โคตมกเจดีย์น่ารื่นรมย์ สัตตัมพเจดีย์ น่ารื่นรมย์ พหุปุตตเจดีย์น่ารื่นรมย์ สารันททเจดีย์น่ารื่นรมย์ ปาวาลเจดีย์น่ารื่นรมย์ อิทธิบาท ๔ ผู้ใดผู้หนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็น ที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้นเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป๒- หรือเกินกว่า ๑ กัป อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็น ดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคต เมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป” เมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงทำนิมิตที่ชัดแจ้ง ทรงทำโอภาสที่ชัดเจนแม้อย่างนี้ ท่านพระอานนท์ก็ไม่อาจจะ รู้ทันจึงไม่กราบทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี พระภาคโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ ตลอดกัป เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” ทั้งนี้เป็นเพราะ ท่านพระอานนท์ถูกมารดลใจ แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๘๒๒/๓๘๕-๓๘๖, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๗๐/๓๗๒ @ กัป ในที่นี้หมายถึงอายุกัป คือช่วงอายุของคนแต่ละยุค ในยุคของพระพุทธเจ้าของเรา อายุกัปของคน = @๑๐๐ ปี (ที.ม.อ. ๑๖๗/๑๕๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๑๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

                                                                 มารกราบทูลให้ปรินิพพาน

แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์ กรุงเวสาลีน่ารื่นรมย์ อุเทนเจดีย์น่ารื่นรมย์ โคตมกเจดีย์น่ารื่นรมย์ สัตตัมพเจดีย์ น่ารื่นรมย์ พหุปุตตเจดีย์น่ารื่นรมย์ สารันททเจดีย์น่ารื่นรมย์ ปาวาลเจดีย์น่ารื่นรมย์ อิทธิบาท ๔ ผู้ใดผู้หนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็น ที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้นเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็น ดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคต เมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป” เมื่อพระผู้มีพระภาคทรง ทำนิมิตที่ชัดแจ้ง ทรงทำโอภาสที่ชัดเจนแม้อย่างนี้ ท่านพระอานนท์ก็ไม่อาจจะรู้ทัน จึงไม่กราบทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค โปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” เพราะท่านพระอานนท์ถูกมารดลใจ จากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ไปเถิดอานนท์ เธอจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ลุกจากอาสนะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณแล้วนั่งที่โคนไม้แห่งหนึ่ง ในที่ไม่ไกล
มารกราบทูลให้ปรินิพพาน
[๑๖๘] ครั้นเมื่อท่านพระอานนท์จากไปไม่นาน มารผู้มีบาปได้เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับยืน ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคต โปรดปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค พระผู้มี พระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพานตราบเท่าที่ ภิกษุทั้งหลายผู้สาวกของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๑๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

                                                                 มารกราบทูลให้ปรินิพพาน

ตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว แต่ก็ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท๑- ที่เกิดขึ้น ให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เวลานี้ ภิกษุทั้งหลาย ผู้สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับ อาจารย์ของตนแล้วก็บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้ ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรด ปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน ตราบเท่าที่ภิกษุณีทั้งหลายผู้สาวิกาของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติ ชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตน แต่ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท ที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เวลานี้ ภิกษุณี ทั้งหลายผู้สาวิกาของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วก็บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรด ปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน ตราบเท่าที่อุบาสกทั้งหลายผู้สาวกของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติ @เชิงอรรถ : @ ปรัปวาท ในที่นี้หมายถึงวาทะ หรือลัทธิต่างๆ ของเจ้าลัทธิอื่นนอกพระพุทธศาสนา @(ที.ม.ฏีกา ๓๗๔/๓๗๕, ขุ.ม.อ. ๓๑/๒๓๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๑๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

                                                                 มารกราบทูลให้ปรินิพพาน

ชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท ที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เวลานี้ อุบาสก ทั้งหลายผู้สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วก็บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ได้แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้ ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรด ปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน ตราบเท่าที่อุบาสิกาทั้งหลายผู้สาวิกาของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติ ชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท ที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เวลานี้ อุบาสิกา ทั้งหลายผู้สาวิกาของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วก็บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรด ปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน ตราบเท่าที่พรหมจรรย์๑- ของเรายังไม่บริบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลาย รู้จักกันโดยมาก @เชิงอรรถ : @ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงศาสนพรหมจรรย์ คือ คำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้นที่รวมลงในไตรสิกขา @(ที.ม.อ. ๑๖๘/๑๕๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๑๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

                                                                 ทรงปลงพระชนมายุสังขาร

มั่นคงดี กระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เวลานี้ พรหมจรรย์ของพระผู้มีพระภาคบริบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลาย รู้จักกัน โดยมาก มั่นคงดี กระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรดปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค’ เมื่อมารทูลอาราธนาอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตอบมารผู้มีบาปดังนี้ว่า “มารผู้มีบาป ท่านจงอย่ากังวล๑- เลย อีกไม่นาน การปรินิพพานของตถาคตจะมี จากนี้ไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจะปรินิพพาน”
ทรงปลงพระชนมายุสังขาร
[๑๖๙] เวลานั้น พระผู้มีพระภาคทรงมีสติสัมปชัญญะ ทรงปลงพระ ชนมายุสังขาร๒- แล้ว ณ ปาวาลเจดีย์ เมื่อพระองค์ทรงปลงพระชนมายุสังขารแล้ว ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุงแรงน่าสะพรึงกลัว ขนพองสยองเกล้า ทั้งกลองทิพย์ก็ ดังกึกก้อง ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงทราบความนั้น จึงทรงเปล่งพระอุทานในเวลานั้น ดังนี้ว่า “พระมุนีละกรรมทั้งที่ชั่งได้และที่ชั่งไม่ได้ อันเป็นเหตุก่อกำเนิด เป็นเครื่องปรุงแต่งภพได้แล้ว ยินดีในภายใน มีใจมั่นคง ทำลายกิเลสที่เกิดในตนได้ เหมือนนักรบทำลายเกราะได้ฉะนั้น”๓- @เชิงอรรถ : @ คำนี้แปลจากคำว่า “อปฺโปสฺสุกฺโก” ซึ่งตามรูปศัพท์แปลกันว่า ขวนขวายน้อย (ที.ม.อ. ๑๖๘/๑๕๙) @ ปลงพระชนมายุสังขาร หมายถึงสลัดปัจจัยเครื่องปรุงแต่งอายุ คือ ตกลงพระทัยว่าจะปรินิพพาน @(ที.ม.อ. ๑๖๙/๑๕๙) @ ดูเทียบ องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๗๐/๓๗๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๑๖}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๐ หน้าที่ ๑๑๒-๑๑๖. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=10&page=112&pages=5&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=10&A=3263 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=10&A=3263#p112 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 10 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_10 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu10 https://84000.org/tipitaka/english/?index_10



จบการแสดงผล หน้าที่ ๑๑๒-๑๑๖.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]