ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย มหาวรรค

หน้าที่ ๘๑-๘๗.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

                                                                 ภิกขุอปริหานิยธรรม

[๑๓๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับวัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์ แคว้นมคธว่า “พราหมณ์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่สารันทเจดีย์ เขตกรุงเวสาลี ได้แสดง อปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ แก่พวกเจ้าวัชชี พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญ อย่างเดียวไม่มีความเสื่อมเลยตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่และใส่ใจอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แคว้นมคธ ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พวกเจ้าวัชชีมีอปริหานิยธรรมแม้เพียง ข้อเดียวก็พึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียวไม่มีความเสื่อมเลย ไม่จำต้องกล่าวว่า มีครบทั้ง ๗ ประการ ข้าแต่ท่านพระโคดม พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่า อชาตศัตรู เวเทหิบุตร ไม่ควรทำสงครามกับพวกเจ้าวัชชี นอกจากจะใช้วิธี ปรองดองทางการทูต หรือไม่ก็ทำให้แตกสามัคคีกัน ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าอย่างนั้น บัดนี้ ข้าพระองค์ขอทูลลากลับ เพราะมีกิจมาก มีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ขอท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด” จากนั้น วัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์แคว้นมคธมีใจยินดีชื่นชมพระดำรัส ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่งจากไป
ภิกขุอปริหานิยธรรม๑-
[๑๓๖] เมื่อวัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แคว้นมคธจากไปไม่นาน พระผู้มี พระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอจงไปนิมนต์ภิกษุที่เข้า มาพักอยู่ในกรุงราชคฤห์ทุกรูปให้มาประชุมกันที่หอฉัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว นิมนต์ภิกษุที่เข้ามาพักอยู่ในกรุง ราชคฤห์ทุกรูปให้มาประชุมกันที่หอฉันแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ องฺ.สตฺตก. (แปล) ๒๓/๒๓-๒๗/๓๗-๔๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๘๑}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

                                                                 ภิกขุอปริหานิยธรรม

พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์ประชุมกันแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงลุกจากพุทธอาสน์ เสด็จเข้าไปยังหอฉัน ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ ทั้งหลาย เราจะแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มี พระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญ๑- อย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุมกันมากครั้ง ๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิก ประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์จะพึงทำ ๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังไม่บัญญัติสิ่งที่เรามิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่ง ที่เราได้บัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นตามสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้แล้ว ๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู๒- บวชมานาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก และ สำคัญถ้อยคำของท่านเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งควรรับฟัง @เชิงอรรถ : @ ความเจริญ ในที่นี้หมายถึงความเจริญด้วยคุณธรรมมีศีลเป็นต้น (ที.ม.อ. ๑๓๖/๑๒๖) @ เป็นเถระ ในที่นี้หมายถึงเป็นผู้มีความมั่นคง (ถิรภาวะ) ในพระศาสนา ไม่หวนคืนไปสู่เพศคฤหัสถ์อีก ประกอบ @ด้วยคุณธรรมที่ให้เป็นพระเถระคือศีลเป็นต้น รัตตัญญู เป็นตำแหน่งเอตทัคคะที่พระอัญญาโกณฑัญญะ @ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้ามีความหมายว่ารู้ราตรีนาน คือบวชรู้แจ้งธรรม และเป็นพระขีณาสพก่อน @พระสาวกทั้งหลาย (ที.ม.อ. ๑๓๖/๑๒๖, ที.ม.ฏีกา ๑๓๖/๑๕๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๘๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

                                                                 ภิกขุอปริหานิยธรรม

๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งตัณหาก่อให้เกิดภพใหม่ ที่เกิดขึ้นแล้ว ๖. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นผู้มุ่งหวังเสนาสนะป่า ๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังตั้งสติไว้ในภายในว่า ‘ทำอย่างไร เพื่อน พรหมจารีทั้งหลายผู้มีศีลงามที่ยังไม่มา พึงมา ท่านที่มาแล้ว พึงอยู่อย่างผาสุก’ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ [๑๓๗] ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการอีกหมวดหนึ่ง แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ สนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่ชอบการงาน๑- ไม่ยินดีการงาน ไม่หมั่น ประกอบความเป็นผู้ชอบการงาน ๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่ชอบการพูดคุย๒- ไม่ยินดีการพูดคุย ไม่หมั่นประกอบความเป็นผู้ชอบการพูดคุย @เชิงอรรถ : @ ไม่ชอบการงาน ในที่นี้หมายถึงไม่เพลิดเพลินอยู่ด้วยการทำงาน เช่น การทำจีวร การทำผ้ากรองน้ำ @จนไม่มีเวลาบำเพ็ญสมณธรรม เช่น ถ้าท่านรู้จักแบ่งเวลา ถึงเวลาเรียนก็เข้าเรียน ถึงเวลาสวดมนต์ก็สวด @ถึงเวลาเจริญภาวนาก็เจริญ ไม่ถือว่า ชอบการงาน (ที.ม.อ. ๑๓๗/๑๒๘) @ ไม่ชอบการพูดคุย หมายถึงไม่ชอบพูดคุยเรื่องนอกธรรมนอกวินัยตลอดทั้งวัน เช่น เรื่องผู้หญิง @ถ้าสนทนาธรรมเพื่อแก้ปัญหา ไม่ถือว่า ชอบการพูดคุย (ที.ม.อ. ๑๓๗/๑๒๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๘๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

                                                                 ภิกขุอปริหานิยธรรม

๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่ชอบการนอนหลับ ไม่ยินดีการนอนหลับ ไม่หมั่นประกอบความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ ๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ยินดีการ คลุกคลีด้วยหมู่ ไม่หมั่นประกอบความเป็นผู้ชอบการคลุกคลี ด้วยหมู่ ๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่มีความปรารถนาชั่ว ไม่ตกไปสู่อำนาจ ของความปรารถนาชั่ว ๖. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังไม่มีมิตรชั่ว ไม่มีสหายชั่ว ไม่มีเพื่อนชั่ว ๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังไม่ถึงความหยุดชะงักในระหว่างเพียงเพราะบรรลุ คุณวิเศษชั้นต่ำ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ [๑๓๘] ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการอีกหมวดหนึ่ง แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ สนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีศรัทธา๑- @เชิงอรรถ : @ ศรัทธา แปลว่าความเชื่อ มี ๔ อย่างคือ (๑) อาคมนียะ (ศรัทธาของพระโพธิสัตว์ ผู้บำเพ็ญเพื่อ @พระสัพพัญญุตญาณ) (๒) อธิคมะ (ศรัทธาของพระอริยบุคคล) (๓) ปสาทะ (ศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม @และพระสงฆ์) (๔) โอกัปปนะ (ศรัทธาอย่างมั่นคง) แต่ในที่นี้หมายถึงปสาทะและโอกัปปนะเท่านั้น @(ที.ม.อ. ๑๓๘/๑๒๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๘๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

                                                                 ภิกขุอปริหานิยธรรม

๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีหิริ ๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีโอตตัปปะ ๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นพหูสูต๑- ๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังปรารภความเพียร๒- ๖. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีสติตั้งมั่น ๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีปัญญา ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ [๑๓๙] ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการอีกหมวดหนึ่ง แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ สนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญสติสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่ง การตรัสรู้คือความระลึกได้) ๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์ แห่งการตรัสรู้คือการเฟ้นธรรม) @เชิงอรรถ : @ พหูสูต แปลว่า ผู้ฟังมามาก มี ๒ อย่าง คือ (๑) ปริยัตติพหูสูต (แตกฉานในพระไตรปิฎก) (๒) ปฏิเวธ- @พหูสูต (บรรลุสัจจะทั้งหลาย) พหูสูตในที่นี้หมายถึงปริยัตติพหูสูต (ที.ม.อ. ๑๓๘/๑๓๐) @ ปรารภความเพียร หมายถึงบำเพ็ญเพียรทั้งทางกายทั้งทางจิต ความเพียรทางกาย คือ เว้นการคลุกคลี @ด้วยหมู่คณะ เป็นอยู่โดดเดี่ยว ความเพียรทางจิต คือ บรรเทาความฟุ้งซ่านแห่งจิต (ที.ม.อ. ๑๓๘/๑๓๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๘๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

                                                                 ภิกขุอปริหานิยธรรม

๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่ง การตรัสรู้คือความเพียร) ๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญปีติสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่ง การตรัสรู้คือความอิ่มใจ) ๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์ แห่งการตรัสรู้คือความสงบกายสงบใจ) ๖. ภิกษุพึงหวังได้ แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่ง การตรัสรู้คือความตั้งจิตมั่น) ๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์ แห่งการตรัสรู้คือความวางใจเป็นกลาง) ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ [๑๔๐] ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการอีกหมวดหนึ่ง แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ สนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญอนิจจสัญญา (กำหนดหมายความไม่ เที่ยงแห่งสังขาร) ๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญอนัตตสัญญา (กำหนดหมายความเป็น อนัตตาแห่งธรรมทั้งปวง) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๘๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

                                                                 ภิกขุอปริหานิยธรรม

๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญอสุภสัญญา (กำหนดหมายความไม่งาม แห่งกาย) ๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญอาทีนวสัญญา (กำหนดหมายทุกข์โทษ ของกายอันมีความเจ็บไข้ต่างๆ) ๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญปหานสัญญา (กำหนดหมายเพื่อละ อกุศลวิตกและบาปธรรมทั้งหลาย) ๖. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญวิราคสัญญา(กำหนดหมายวิราคะว่าเป็น ธรรมละเอียดประณีต) ๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญนิโรธสัญญา (กำหนดหมายนิโรธว่าเป็น ธรรมละเอียดประณีต) ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ [๑๔๑] ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงอปริหานิยธรรมอีกหมวดหนึ่งแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่ภิกษุยังตั้งมั่นเมตตากายกรรมในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ๑- @เชิงอรรถ : @ ในที่แจ้งและในที่ลับ ในที่นี้หมายถึงทั้งต่อหน้าและลับหลัง (ที.ม.อ. ๑๔๑/๑๓๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๘๗}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๐ หน้าที่ ๘๑-๘๗. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=10&page=81&pages=7&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=10&A=2344 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=10&A=2344#p81 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 10 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_10 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu10 https://84000.org/tipitaka/english/?index_10



จบการแสดงผล หน้าที่ ๘๑-๘๗.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]