ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค

หน้าที่ ๗๙-๘๐.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

                                                                 การเสด็จอุบัติแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าเมตไตรย

พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเมตไตรยพระองค์นั้น จักทรงแสดงธรรมอัน มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ประกาศ พรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน เหมือนตถาคต ในบัดนี้ แสดงธรรมอันมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลางและมีความ งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน พระองค์จักทรงบริหารภิกษุสงฆ์หลายพันรูป เหมือนตถาคตบริหารภิกษุสงฆ์หลาย ร้อยรูปในบัดนี้ ฉะนั้น [๑๐๘] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พระเจ้าสังขะ จักรับสั่งให้ยกปราสาทที่ พระเจ้ามหาปนาทะโปรดให้สร้างไว้ แล้วประทับอยู่ ทรงสละบำเพ็ญทานแก่สมณ- พราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพกและยาจกทั้งหลาย จักทรงปลงพระเกศา และพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิตใน สำนักของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าเมตไตรย ท้าวเธอ ผนวชแล้วไม่นานอย่างนี้ ทรงหลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาทมีความเพียร อุทิศ กายและใจอยู่ ไม่นานนัก ก็ทำให้แจ้งประโยชน์อันยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยพระปัญญา อันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่แท้ [๑๐๙] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่ง อื่นเป็นที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๗๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

                                                                 เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะเป็นต้นของภิกษุ

๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัม- ปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก ๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด อภิชฌาและโทมนัสในโลก ๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรม เป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ เป็นอย่างนี้แล
เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะ เป็นต้น ของภิกษุ
[๑๑๐] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงประพฤติธรรมอันเป็นโคจร ซึ่งเป็น วิสัยอันสืบเนื่องมาจากบิดาของตน เมื่อเธอทั้งหลายประพฤติธรรมอันเป็นโคจร ซึ่ง เป็นวิสัยอันสืบเนื่องมาจากบิดาของตน จักเจริญด้วยอายุบ้าง จักเจริญด้วยวรรณะ บ้าง จักเจริญด้วยสุขะบ้าง จักเจริญด้วยโภคะบ้าง จักเจริญด้วยพละบ้าง ในเรื่องอายุของภิกษุ มีคำอธิบาย อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่ เกิดจากฉันทะและความเพียรสร้างสรรค์) ๒. เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิริยสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่ เกิดจากวิริยะและความเพียรสร้างสรรค์) ๓. เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยจิตตสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่ เกิดจากจิตตะและความเพียรสร้างสรรค์) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๘๐}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๑ หน้าที่ ๗๙-๘๐. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=11&page=79&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=11&A=2264 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=11&A=2264#p79 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 11 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_11 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu11 https://84000.org/tipitaka/english/?index_11



จบการแสดงผล หน้าที่ ๗๙-๘๐.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]