ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

หน้าที่ ๓๐๕.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

                                                                 ๖. ปาสราสิสูตร

ทรงมีความขวนขวายน้อย
[๒๘๑] ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘ธรรม๑- ที่เราได้บรรลุแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรกะ ละเอียด บัณฑิต(เท่านั้น)จึงจะรู้ได้ ส่วนหมู่ประชาผู้รื่นรมย์ด้วยอาลัย๒- ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย ฐานะที่หมู่สัตว์ผู้รื่นรมย์ด้วยอาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลิน ในอาลัยนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือหลักอิทัปปัจจยตา หลักปฏิจจสมุปบาท ถึงแม้ฐานะอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากนัก กล่าวคือความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดทิ้งอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ นิโรธ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึง แสดงธรรม และผู้อื่นจะไม่เข้าใจซึ้งต่อเรา ข้อนั้นก็จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่า แก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา’ อนึ่งเล่า คาถาอันน่าอัศจรรย์เหล่านี้ที่ไม่เคยสดับมาก่อน ได้ปรากฏแก่เราว่า ‘บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรมที่เราบรรลุด้วยความลำบาก เพราะธรรมนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกราคะและโทสะครอบงำจะรู้ได้ง่าย แต่เป็นสิ่งพาทวนกระแส๓- ละเอียด ลึกซึ้ง รู้เห็นได้ยาก ประณีต ผู้กำหนัดด้วยราคะ ถูกกองโมหะหุ้มห่อไว้ จักรู้เห็นไม่ได้’ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๗/๑๑, ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๓๗/๔๐๗ @ อาลัย คือกามคุณ ๕ ที่สัตว์พัวพัน ยินดี เพลิดเพลิน (วิ.อ. ๓/๗/๑๓) เป็นชื่อเรียกกิเลส ๒ อย่าง คือ @กามคุณ ๕ และตัณหาวิจริต ๑๐๘ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๑/๘๒, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๗/๑๘๔) ดู อภิ.วิ. (แปล) @๓๕/๙๗๓-๙๗๖/๖๒๒-๖๓๓ @ พาทวนกระแส ในที่นี้หมายถึง อนิจฺจํ(ไม่เที่ยง) ทุกฺขํ(เป็นทุกข์) อนตฺตา(เป็นอนัตตา) อสุภํ(ไม่งาม) @อันทวนกระแสแห่งธรรมมีความเที่ยง เป็นต้น ในพระวินัยปิฎกหมายถึงพาเข้าถึงนิพพาน @(ม.มู.อ. ๒/๒๘๑/๘๔, วิ.อ. ๓/๗/๑๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๐๕}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๓๐๕. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=12&page=305&pages=1&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=12&A=8721 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=12&A=8721#p305 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 12 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_12 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu12 https://84000.org/tipitaka/english/?index_12



จบการแสดงผล หน้าที่ ๓๐๕.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]