ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

หน้าที่ ๓๐๗-๓๐๙.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

                                                                 ๘. สมณมุณฑิกสูตร

๘. สมณมุณฑิกสูตร
ว่าด้วยปริพาชกชื่ออุคคาหมานะ สมณมุณฑิกาบุตร
[๒๖๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก- เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล ปริพาชกชื่ออุคคาหมานะ สมณมุณฑิกาบุตร กับปริพาชกประมาณ ๕๐๐ คน พร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ อาศัยอยู่ใน อารามของพระนางมัลลิกาเทวีชื่อเอกศาลา ซึ่งแวดล้อมด้วยต้นมะพลับ อันเป็นที่ ประชุมแสดงลัทธิ ครั้งนั้น ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ ออกจากกรุงสาวัตถีเพื่อเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคแต่ยังวัน ได้คิดว่า “บัดนี้ไม่ใช่เวลาที่จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นอยู่ บัดนี้ ไม่ใช่เวลาที่จะเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายผู้บำเพ็ญเพียรทางใจ ภิกษุทั้งหลายผู้บำเพ็ญเพียร ทางใจยังหลีกเร้นอยู่ ทางที่ดี เราควรเข้าไปหาอุคคาหมานปริพาชก สมณมุณฑิกาบุตร ที่อารามของพระนางมัลลิกาเทวีชื่อเอกศาลา ซึ่งแวดล้อมด้วยต้นมะพลับ อันเป็น ที่ประชุมแสดงลัทธิ” ลำดับนั้น ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะจึงเข้าไปหาอุคคาหมานปริพาชก สมณมุณฑิกาบุตร ถึงอารามของพระนางมัลลิกาเทวีชื่อเอกศาลา ซึ่งแวดล้อมด้วยต้นมะพลับ อันเป็น ที่ประชุมแสดงลัทธิ
ดิรัจฉานกถา
สมัยนั้น อุคคาหมานปริพาชก สมณมุณฑิกาบุตรกำลังนั่งสนทนาอยู่กับ ปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ผู้กำลังสนทนาถึงดิรัจฉานกถา๑- ต่างๆ ด้วยเสียงดังอื้ออึง คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่อง การรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องพวงดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องเมืองหลวง เรื่องชนบท เรื่องสตรี @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๒๒๓ (สันทกสูตร) หน้า ๒๖๐ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๐๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

                                                                 ๘. สมณมุณฑิกสูตร

(เรื่องบุรุษ) เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่อง เบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญ และความเสื่อม อย่างนั้นๆ อุคคาหมานปริพาชก สมณมุณฑิกาบุตร ได้เห็นช่างไม้ชื่อปัญจกังคะกำลังเดิน มาแต่ไกล จึงห้ามบริษัทของตนว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย โปรดเงียบหน่อย อย่าส่งเสียงอื้ออึง นี้คือช่างไม้ชื่อ ปัญจกังคะผู้เป็นสาวกของพระสมณโคดมกำลังเดินมา ท่านเป็นสาวกคนหนึ่งบรรดา สาวกของพระสมณโคดมผู้เป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว ผู้อาศัยอยู่ ณ กรุงสาวัตถี ท่านเหล่านั้นชอบเสียงเบา แนะนำให้พูดกันเบาๆ สรรเสริญคุณของคนที่พูดเสียง เบา บางทีช่างไม้ชื่อปัญจกังคะทราบว่าบริษัทเสียงเบา ท่านอาจจะเข้ามาหาก็ได้” ลำดับนั้น ปริพาชกเหล่านั้นจึงได้พากันนิ่ง
วาทะของปริพาชก
[๒๖๑] ลำดับนั้น ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะได้เข้าไปหาอุคคาหมานปริพาชก สมณมุณฑิกาบุตรถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึง กันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร อุคคาหมานปริพาชก สมณมุณฑิกาบุตรได้กล่าวกับช่างไม้ ชื่อปัญจกังคะว่า “ช่างไม้ เราบัญญัติบุรุษบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการว่า เป็นผู้มี กุศลเพียบพร้อม มีกุศลยอดเยี่ยม เป็นสมณะผู้บรรลุธรรมชั้นสูงที่ควรบรรลุ ไม่มี ใครสู้วาทะได้ ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ บุคคลในโลกนี้ ๑. ไม่ทำกรรมชั่วทางกาย ๒. ไม่กล่าววาจาชั่ว ๓. ไม่ดำริความดำริชั่ว ๔. ไม่ประกอบอาชีพชั่ว ช่างไม้ เราบัญญัติบุรุษบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลว่า เป็นผู้มี กุศลเพียบพร้อม มีกุศลยอดเยี่ยม เป็นสมณะผู้บรรลุธรรมชั้นสูงที่ควรบรรลุ ไม่มี ใครสู้วาทะได้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๐๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

                                                                 ๘. สมณมุณฑิกสูตร

ลำดับนั้น ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ ไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของอุคคาหมาน- ปริพาชก สมณมุณฑิกาบุตร ลุกจากอาสนะจากไปด้วยคิดว่า “เราจักรู้ทั่วถึง เนื้อความแห่งภาษิตนี้ ในสำนักของพระผู้มีพระภาค” จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลเรื่องที่สนทนาปราศรัย กับอุคคาหมานปริพาชก สมณมุณฑิกาบุตรให้พระผู้มีพระภาคฟังทั้งหมด [๒๖๒] เมื่อช่างไม้ชื่อปัญจกังคะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “ช่างไม้ เมื่อเป็นอย่างนี้ เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ ก็จักเป็นผู้มีกุศลเพียบพร้อม มีกุศลยอดเยี่ยม เป็นสมณะผู้บรรลุธรรมชั้นสูงที่ควรบรรลุ ไม่มีใครสู้วาทะได้ แท้จริง เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้แต่กายก็ยังไม่รู้จัก๑- จักทำกรรมชั่ว ทางกายได้ที่ไหนเล่า นอกจากจะมีเพียงอาการนอนดิ้นรน เด็กอ่อนที่ยังนอน หงายอยู่ แม้แต่วาจาก็ยังไม่รู้จัก๒- จักกล่าววาจาชั่วได้ที่ไหนเล่า นอกจากจะมีเพียงการ ร้องไห้ เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้แต่ความดำริก็ยังไม่รู้จัก๓- จักดำริชั่วได้แต่ ที่ไหนเล่า นอกจากจะมีการส่งเสียงร้อง เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้แต่การ เลี้ยงชีพก็ยังไม่รู้จัก๔- จักเลี้ยงชีพชั่วได้ที่ไหนเล่า นอกจากการดื่มน้ำนมของมารดา ช่างไม้ เมื่อเป็นอย่างนี้ เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ก็จักเป็นผู้มีกุศลเพียบพร้อม มีกุศลยอดเยี่ยม เป็นสมณะผู้บรรลุธรรมชั้นสูงที่ควรบรรลุ ไม่มีใครสู้วาทะได้ [๒๖๓] ช่างไม้ เราบัญญัติบุรุษบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการว่า มิใช่ผู้มีกุศลเพียบพร้อม มิใช่ผู้มีกุศลยอดเยี่ยม มิใช่สมณะผู้บรรลุธรรมชั้นสูงที่ควร บรรลุไม่มีใครสู้วาทะได้ แต่บุรุษบุคคลนี้ยังดีกว่าเด็กอ่อนที่นอนหงายอยู่บ้าง @เชิงอรรถ : @ กายก็ยังไม่รู้จัก หมายถึงไม่รู้จักความแตกต่างว่า กายของตน กายของผู้อื่น (ม.ม.อ. ๒/๒๖๒/๑๙๔) @ วาจาก็ยังไม่รู้จัก หมายถึงไม่รู้จักความแตกต่างว่า วาจาผิด วาจาชอบ (ม.ม.อ. ๒/๒๖๒/๑๙๔) @ ความดำริก็ยังไม่รู้จัก หมายถึงไม่รู้จักความแตกต่างว่า ความดำริผิด ความดำริชอบ (ม.ม.อ. ๒/๒๖๒/๑๙๕) @ การเลี้ยงชีพก็ยังไม่รู้จัก หมายถึงไม่รู้จักความแตกต่างว่า อาชีพผิด อาชีพชอบ (ม.ม.อ. ๒/๒๖๒/๑๙๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๐๙}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๓๐๗-๓๐๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=13&page=307&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=13&A=8647 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=13&A=8647#p307 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 13 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_13 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13 https://84000.org/tipitaka/english/?index_13



จบการแสดงผล หน้าที่ ๓๐๗-๓๐๙.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]