ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

หน้าที่ ๔๗๔-๔๗๘.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

                                                                 ๑. พรหมายุสูตร

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้มีพระดำริว่า “ลักษณะ ๓๒ ประการของเรา อุตตรมาณพนี้เห็นโดยมากเว้นอยู่ ๒ ประการ คือ (๑) คุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก (๒) ชิวหาใหญ่ จึงยังมีความเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ และไม่เลื่อมใส ลักษณะมหาบุรุษทั้ง ๒ ประการนี้” จากนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร๑- ให้อุตตรมาณพได้เห็น พระคุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก และทรงแลบพระชิวหาสอดเข้าไปในช่องพระกรรณ ทั้ง ๒ ข้างกลับไปกลับมา ทรงสอดเข้าไปในช่องพระนาสิกทั้ง ๒ ข้างกลับไปกลับมา ทรงแผ่พระชิวหาปิดทั่วมณฑลพระนลาฏ เวลานั้น อุตตรมาณพได้มีความคิดว่า “พระสมณโคดมทรงประกอบด้วยลักษณะ มหาบุรุษ ๓๒ ประการ ทางที่ดี เราพึงติดตามพระสมณโคดมดูพระอิริยาบถของ พระองค์ต่อไป” จากนั้นอุตตรมาณพได้ติดตามพระผู้มีพระภาคตลอด ๗ เดือน ดุจพระฉายา(เงา)ติดตามพระองค์ไปฉะนั้น
ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ
[๓๘๖] ครั้งนั้น เมื่อล่วงไป ๗ เดือน อุตตรมาณพได้หลีกจาริกไปทางกรุง มิถิลา ในแคว้นวิเทหะ เมื่อเที่ยวจาริกไปตามลำดับ ได้เข้าไปหาพรหมายุพราหมณ์ ถึงที่อยู่ในกรุงมิถิลากราบแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร พรหมายุพราหมณ์ถามอุตตรมาณพ ว่า “พ่ออุตตระ กิตติศัพท์ของท่านพระโคดมที่ขจรไป เป็นเช่นนั้นจริง ไม่เป็นอย่าง อื่นเลยหรือ ท่านพระโคดมทรงเป็นเช่นนั้นจริง ไม่เป็นอย่างอื่นเลยหรือ” อุตตรมาณพตอบว่า “ท่านขอรับ กิตติศัพท์ของท่านพระโคดมที่ขจรไปเป็นเช่น นั้นจริง ไม่เป็นอย่างอื่นเลย ท่านพระโคดมทรงเป็นเช่นนั้นจริง ไม่เป็นอย่างอื่นเลย ทั้งยังทรงประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ๒- @เชิงอรรถ : @ อิทธาภิสังขาร หมายถึงการแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง เช่น คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดง @เป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพง และภูเขาเหมือนไปในที่ว่าง ... ใช้อำนาจ @ทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้ ดู ที.สี. (แปล) ๙/๒๓๘/๗๙ @ ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๓๓-๓๕/๑๕-๒๐, ที.ปา. ๑๑/๑๙๙-๒๐๐/๑๒๓-๒๒๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๗๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

                                                                 ๑. พรหมายุสูตร

คือ ท่านพระโคดม ๑. มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน ข้อที่ท่านพระโคดมมีฝ่าพระบาทราบเสมอ กันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๒. พื้นฝ่าพระบาททั้งสองของท่านพระโคดมนี้ มีจักรซึ่งมีกำข้างละ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง ข้อที่พื้น ฝ่าพระบาททั้งสองของท่านพระโคดมนี้ มีจักรซึ่งมีกำข้างละ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่างนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษ ของมหาบุรุษนั้น ๓. มีส้นพระบาทยื่นยาวออกไป ข้อที่ท่านพระโคดมมีส้นพระบาทยื่นยาว ออกไปนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๔. มีพระองคุลียาว ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระองคุลียาวนี้ เป็นลักษณะ มหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๕. มีพระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระหัตถ์และ พระบาทอ่อนนุ่มนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๖. ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีเส้นข้อที่พระองคุลีจดกันเป็นรูปตาข่าย ข้อที่ท่านพระโคดมมีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีเส้นที่ข้อพระองคุลี จดกันเป็นรูปตาข่ายนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๗. มีข้อพระบาทสูง ข้อที่ท่านพระโคดมมีข้อพระบาทสูงนี้ เป็นลักษณะ มหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๘. มีพระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระชงฆ์เรียว ดุจแข้งเนื้อทรายนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๙. เมื่อประทับยืน ไม่ต้องน้อมพระองค์ลงก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุด้วย ฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองได้ ข้อที่ท่านพระโคดมเมื่อประทับยืนไม่ต้องน้อม พระองค์ลงก็ทรงลูบถึงพระชานุด้วยฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองได้นี้ เป็นลักษณะ มหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๗๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

                                                                 ๑. พรหมายุสูตร

๑๐. มีพระคุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระคุยหฐาน อันเร้นอยู่ในฝักนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๑๑. มีพระฉวีสีทอง มีพระฉวีเปล่งปลั่งดุจทองคำ ข้อที่ท่านพระโคดมมี พระฉวีสีทอง มีพระฉวีเปล่งปลั่งดุจทองคำนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษ ของมหาบุรุษนั้น ๑๒. มีพระฉวีละเอียดจนละอองธุลีไม่อาจติดพระวรกายได้ ข้อที่ท่าน พระโคดมมีพระฉวีละเอียดจนละอองธุลีไม่อาจติดพระวรกายได้นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๑๓. มีพระโลมชาติเดี่ยว คือ ในแต่ละขุมมีเพียงเส้นเดียว ข้อที่ท่าน พระโคดมมีพระโลมชาติเดี่ยว คือ ในแต่ละขุมมีเพียงเส้นเดียวนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๑๔. มีพระโลมชาติปลายงอนขึ้น คือ พระโลมชาติขอดเป็นวงเวียนขวาดัง กุณฑลสีครามเข้มดังดอกอัญชัน ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระโลมชาติ ปลายงอนขึ้น คือ พระโลมชาติขอดเป็นวงเวียนขวาดังกุณฑล สีครามเข้มดังดอกอัญชันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๑๕. มีพระวรกายตั้งตรงดุจกายพรหม ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระวรกาย ตั้งตรงดุจกายพรหมนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๑๖. มีพระมังสะในที่ ๗ แห่ง๑- เต็มบริบูรณ์ ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระมังสะ ในที่ ๗ แห่งเต็มบริบูรณ์นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๑๗. มีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์ ข้อที่ท่าน พระโคดมมีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น @เชิงอรรถ : @ ที่ ๗ แห่ง ในที่นี้ คือ หลังพระหัตถ์ทั้ง ๒ ข้าง หลังพระบาททั้ง ๒ ข้าง และลำพระศอ @(ที.ม.อ. ๒/๓๕/๔๓, ม.ม.อ. ๒/๓๘๖/๒๗๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๗๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

                                                                 ๑. พรหมายุสูตร

๑๘. มีร่องพระปฤษฎางค์เต็มเสมอกัน ข้อที่ท่านพระโคดมมีร่องพระ ปฤษฎางค์เต็มเสมอกันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๑๙. มีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลของต้นไทร พระวรกายสูง เท่ากับ ๑ วาของพระองค์ ๑ วาของพระองค์เท่ากับส่วนสูงพระวรกาย ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลของต้นไทร พระวรกายสูงเท่ากับ ๑ วาของพระองค์ ๑ วาของพระองค์เท่ากับ ส่วนสูงพระวรกายนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๒๐. มีลำพระศอกลมเท่ากันตลอด ข้อที่ท่านพระโคดมมีลำพระศอกลม เท่ากันตลอดนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๒๑. มีเส้นประสาทรับรสพระกระยาหารได้ดี ข้อที่ท่านพระโคดมมีเส้น ประสาทรับรสพระกระยาหารได้ดีนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหา- บุรุษนั้น ๒๒. มีพระหนุดุจคางราชสีห์ ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระหนุดุจคางราชสีห์นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๒๓. มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระทนต์ ๔๐ ซี่นี้ เป็นลักษณะ มหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๒๔. มีพระทนต์เรียบเสมอกัน ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระทนต์เรียบเสมอ กันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๒๕. มีพระทนต์ไม่ห่างกัน ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระทนต์ไม่ห่างกันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๒๖. มีพระเขี้ยวแก้วขาวงาม ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระเขี้ยวแก้วขาวงามนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๒๗. มีพระชิวหาใหญ่ยาว ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระชิวหาใหญ่ยาวนี้ เป็น ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๗๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

                                                                 ๑. พรหมายุสูตร

๒๘. มีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม ตรัสดุจเสียงร้องของนกการเวก ข้อที่ ท่านพระโคดมมีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม ตรัสดุจเสียงร้องของนก การเวกนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๒๙. มีพระเนตรดำสนิท ข้อที่ท่านพระโคดมมีพระเนตรดำสนิทนี้ เป็น ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๓๐. มีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด ข้อที่ท่านพระโคดมมี ดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอดนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษ ของมหาบุรุษนั้น ๓๑. มีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาวอ่อนเหมือนปุยนุ่น ข้อที่ท่าน พระโคดมมีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาวอ่อนเหมือนปุยนุ่นนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น ๓๒. มีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ ข้อที่ท่านพระโคดมมี พระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษ ของมหาบุรุษนั้น ท่านผู้เจริญ ท่านพระโคดมพระองค์นั้นทรงประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการนี้แล [๓๘๗] ท่านพระโคดมพระองค์นั้น เมื่อจะทรงดำเนิน ทรงก้าวพระบาทเบื้องขวาก่อน ไม่ก้าวพระบาทยาวนัก ไม่ก้าวพระบาทสั้นนัก ไม่ทรงดำเนินเร็วนัก ไม่ทรงดำเนินช้านัก ขณะทรงดำเนิน พระชานุกับพระชานุไม่เสียดสีกัน ข้อพระบาทกับข้อพระบาทไม่กระทบกัน ไม่ทรงยก พระอุรุสูง ไม่ทรงทอดพระอุรุไปข้างหลัง ไม่ทรงกระแทกพระอุรุ ไม่ทรงส่ายพระอุรุ เมื่อทรงดำเนินพระวรกายส่วนบนไม่หวั่นไหว ทรงดำเนินไม่ใช้กำลังมาก เมื่อทอด พระเนตร ทรงเหลียวดูไปทั้งพระวรกาย ไม่ทรงแหงนดู ไม่ทรงก้มดู ขณะทรงดำเนิน ไม่ส่าย พระเนตร ทรงทอดพระเนตรประมาณชั่วแอก ยิ่งกว่านั้นพระองค์ทรงมีพระญาณทัสสนะ ไม่มีอะไรขวางกั้นได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๗๘}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๔๗๔-๔๗๘. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=13&page=474&pages=5&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=13&A=13395 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=13&A=13395#p474 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 13 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_13 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13 https://84000.org/tipitaka/english/?index_13



จบการแสดงผล หน้าที่ ๔๗๔-๔๗๘.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]