ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

หน้าที่ ๑๐๗-๑๐๙.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๑. เทวทหวรรค]

                                                                 ๑๐. จูฬปุณณมสูตร

ภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยอสัทธรรมอย่างนี้ มีความ ภักดีต่ออสัตบุรุษอย่างนี้ มีความคิดอย่างอสัตบุรุษอย่างนี้ มีความรู้อย่าง อสัตบุรุษอย่างนี้ มีถ้อยคำอย่างอสัตบุรุษอย่างนี้ มีการกระทำอย่างอสัตบุรุษ อย่างนี้ มีความเห็นอย่างอสัตบุรุษอย่างนี้ ให้ทานอย่างอสัตบุรุษอย่างนี้แล้ว หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในคติของอสัตบุรุษ คติของอสัตบุรุษ คืออะไร คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน [๙๒] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษพึงรู้จักสัตบุรุษ หรือว่า ‘ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ’ ภิกษุเหล่านั้นทูลตอบว่า “รู้ พระพุทธเจ้าข้า” “ดีละ ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปได้ที่สัตบุรุษพึงรู้จักสัตบุรุษว่า ‘ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ’ ส่วนสัตบุรุษพึงรู้จักอสัตบุรุษหรือว่า ‘ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ” “รู้ พระพุทธเจ้าข้า” “ดีละ ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปได้ที่สัตบุรุษพึงรู้จักอสัตบุรุษว่า ‘ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ’ เพราะว่า สัตบุรุษเป็นผู้ประกอบด้วยสัทธรรม มีความภักดีต่อสัตบุรุษ มี ความคิดอย่างสัตบุรุษ มีความรู้อย่างสัตบุรุษ มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษ มีการ กระทำอย่างสัตบุรุษ มีทิฏฐิอย่างสัตบุรุษ ให้ทานอย่างสัตบุรุษ สัตบุรุษผู้ประกอบด้วยสัทธรรม เป็นอย่างไร คือ สัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีสุตะมาก ปรารภความเพียร มีสติตั้งมั่น มีปัญญา สัตบุรุษผู้ประกอบด้วยสัทธรรม เป็นอย่างนี้ (๑) สัตบุรุษผู้ภักดีต่อสัตบุรุษ เป็นอย่างไร คือ สัตบุรุษในโลกนี้ มีสมณพราหมณ์ผู้มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีสุตะมาก ปรารภความเพียร มีสติตั้งมั่น มีปัญญา เป็นมิตร เป็นสหาย สัตบุรุษผู้ภักดีต่อสัตบุรุษ เป็นอย่างนี้ (๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๐๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๑. เทวทหวรรค]

                                                                 ๑๐. จูฬปุณณมสูตร

สัตบุรุษผู้มีความคิดอย่างสัตบุรุษ เป็นอย่างไร คือ สัตบุรุษในโลกนี้ ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง ย่อมไม่คิดเพื่อ เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง สัตบุรุษผู้มีความคิดอย่างสัตบุรุษ เป็นอย่างนี้ (๓) สัตบุรุษผู้มีความรู้อย่างสัตบุรุษ เป็นอย่างไร คือ สัตบุรุษในโลกนี้ ย่อมรู้เพื่อไม่เบียดเบียนตนบ้าง ย่อมรู้เพื่อไม่ เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ย่อมรู้เพื่อไม่เบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง สัตบุรุษผู้มีความรู้อย่างสัตบุรุษ เป็นอย่างนี้ (๔) สัตบุรุษผู้มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษ เป็นอย่างไร คือ สัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อ เสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ สัตบุรุษผู้มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษ เป็นอย่างนี้ (๕) สัตบุรุษผู้มีการกระทำอย่างสัตบุรุษ เป็นอย่างไร คือ สัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลัก ทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม สัตบุรุษผู้มีการกระทำอย่างสัตบุรุษ เป็นอย่างนี้ (๖) สัตบุรุษผู้มีทิฏฐิอย่างสัตบุรุษ เป็นอย่างไร คือ สัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชา แล้วมีผล การเซ่นสรวงที่เซ่นสรวงแล้วมีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วมี โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามีคุณ บิดามีคุณ สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมีอยู่ สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้โลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ก็มีอยู่ในโลก สัตบุรุษผู้มีทิฏฐิอย่างสัตบุรุษ เป็นอย่างนี้ (๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๐๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๑. เทวทหวรรค]

                                                                 รวมพระสูตรที่มีในวรรค

สัตบุรุษให้ทานอย่างสัตบุรุษ เป็นอย่างไร คือ สัตบุรุษในโลกนี้ให้ทานโดยเคารพ ให้ทานด้วยมือของตน ให้ทานด้วย ความอ่อนน้อม ให้ทานอย่างบริสุทธิ์ เป็นผู้มีทิฏฐิว่า ‘ทานที่ให้แล้วมีผล’ ดังนี้ แล้วจึงให้ทาน สัตบุรุษให้ทานอย่างสัตบุรุษ เป็นอย่างนี้ (๘) สัตบุรุษนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยสัทธรรมอย่างนี้ มีความภักดีต่อสัตบุรุษอย่างนี้ มีความคิดอย่างสัตบุรุษอย่างนี้ มีความรู้อย่างสัตบุรุษอย่างนี้ มีถ้อยคำอย่าง สัตบุรุษอย่างนี้ มีการกระทำอย่างสัตบุรุษอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างสัตบุรุษอย่างนี้ ให้ ทานอย่างสัตบุรุษอย่างนี้แล้ว หลังจากตายแล้ว ย่อมบังเกิดในคติของสัตบุรุษ คติของสัตบุรุษ คืออะไร คือ ความเป็นใหญ่ในเทวดา หรือความเป็นใหญ่ในมนุษย์” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
จูฬปุณณมสูตรที่ ๑๐ จบ
เทวทหวรรคที่ ๑ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. เทวทหสูตร ๒. ปัญจัตตยสูตร ๓. กินติสูตร ๔. สามคามสูตร ๕. สุนักขัตตสูตร ๖. อาเนญชสัปปายสูตร ๗. คณกโมคคัลลานสูตร ๘. โคปกโมคคัลลานสูตร ๙. มหาปุณณมสูตร ๑๐. จูฬปุณณมสูตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๐๙}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๑๐๗-๑๐๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=14&page=107&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=14&A=3161 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=14&A=3161#p107 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 14 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_14 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14 https://84000.org/tipitaka/english/?index_14



จบการแสดงผล หน้าที่ ๑๐๗-๑๐๙.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]