ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

หน้าที่ ๓๐๒-๓๐๘.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

                                                                 ๙. พาลปัณฑิตสูตร

ถูกต้อง พึงกล่าวถึงสวรรค์นั่นแหละว่า ‘เป็นสถานที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ โดยส่วนเดียว’ ภิกษุทั้งหลาย แม้การเปรียบเทียบว่าสวรรค์เป็นสุขก็ไม่ใช่ทำได้ง่าย” [๒๕๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงอุปมาได้อีกหรือไม่” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ได้ ภิกษุ” แล้วตรัสว่า “เปรียบเหมือนพระเจ้า จักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ และฤทธิ์(ความสำเร็จ) ๔ ประการ เพราะความสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ และฤทธิ์ ๔ ประการนั้นเป็นเหตุ พระเจ้าจักรพรรดินั้นจึงเสวยสุขโสมนัส พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ เป็นอย่างไร คือ จักรแก้วอันเป็นทิพย์มีกำ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และส่วนประกอบ ครบทุกอย่าง ย่อมปรากฏแก่กษัตราธิราชในโลกนี้ผู้ทรงได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ทรง สนานพระเศียร ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ รักษาอุโบสถ ประทับอยู่ชั้นบน ปราสาทหลังงาม กษัตราธิราชผู้ทรงได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ครั้นทอดพระเนตรแล้ว ได้มีพระราชดำริว่า ‘เราได้ฟังเรื่องนี้มาว่า ‘จักรแก้วอันเป็นทิพย์มีกำ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และส่วนประกอบครบทุกอย่าง ย่อมปรากฏแก่กษัตราธิราชพระองค์ใดผู้ทรง ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ทรงสนานพระเศียร ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ รักษาอุโบสถ ประทับอยู่ชั้นบนปราสาทหลังงาม กษัตราธิราชพระองค์นั้นย่อมเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ’ เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิกระมัง’ ลำดับนั้น กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วทรงลุกจากที่ประทับ พระหัตถ์ เบื้องซ้ายทรงจับพระภิงคาร(พระน้ำเต้า) พระหัตถ์เบื้องขวาทรงชูจักรแก้ว ขึ้นตรัสว่า ‘จักรแก้วอันประเสริฐจงหมุนไป จงได้ชัยชนะอันยิ่งใหญ่’ ทันใดนั้นจักรแก้วนั้นก็ หมุนไปทางทิศตะวันออก พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา ก็เสด็จตามไป เสด็จเข้าพักแรมพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาในประเทศที่จักรแก้วหยุดอยู่ พระราชา ทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออกพากันเสด็จมาเฝ้า แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๐๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

                                                                 ๙. พาลปัณฑิตสูตร

‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า พระองค์โปรดเสด็จมาเถิด ขอรับเสด็จพระองค์ ราชสมบัติ ของหม่อมฉันเป็นของพระองค์ โปรดประทานพระราโชวาทเถิด พระเจ้าข้า’ พระเจ้าจักรพรรดิรับสั่งอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลายไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึง ลักทรัพย์ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา และท่าน ทั้งหลายจงครองราชสมบัติไปตามเดิมเถิด’ พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศ ตะวันออกเหล่านั้น ได้กลายเป็นผู้สนับสนุนพระเจ้าจักรพรรดิแล้ว [๒๕๗] ภิกษุทั้งหลาย จากนั้น จักรแก้วก็หมุนไปจรดมหาสมุทรด้านทิศ ตะวันออก แล้วหมุนกลับไปด้านทิศใต้ ฯลฯ หมุนไปจรดมหาสมุทรด้านทิศใต้ แล้วหมุนกลับไปด้านทิศตะวันตก ฯลฯ หมุนไปจรดมหาสมุทรด้านทิศตะวันตก แล้วหมุนกลับไปด้านทิศเหนือ เสด็จเข้าพักแรมพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา ในประเทศ ที่จักรแก้วหยุดอยู่ พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือพากันเสด็จมาเฝ้า แล้วกราบทูล อย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า พระองค์โปรดเสด็จมาเถิด ขอรับเสด็จ ราชสมบัติ ของหม่อมฉันเป็นของพระองค์ โปรดประทานพระราโชวาทเถิด พระเจ้าข้า’ พระเจ้าจักรพรรดิรับสั่งอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลายไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงลักทรัพย์ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา และท่านทั้งหลายจงปก ครองบ้านเมืองไปตามเดิมเถิด’ พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือเหล่านั้น ได้กลายเป็นผู้สนับสนุนพระเจ้าจักรพรรดิแล้ว ๑. ครั้งนั้น จักรแก้วนั้นได้ปราบปรามแผ่นดิน มีมหาสมุทรเป็นขอบ เขตอย่างราบคาบ เสร็จแล้วหมุนกลับราชธานีนั้น ประดิษฐานอยู่ เสมือนลิ่มสลักที่พระทวารภายในพระราชวังของพระเจ้าจักรพรรดิ ทำพระทวารภายในพระราชวังของพระเจ้าจักรพรรดิให้สว่างไสว ภิกษุทั้งหลาย จักรแก้วเห็นปานนี้ ปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๐๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

                                                                 ๙. พาลปัณฑิตสูตร

[๒๕๘] ๒. อีกประการหนึ่ง ช้างแก้ว ซึ่งเป็นช้างเผือก เป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ มีฤทธิ์ เหาะไปในอากาสได้ เป็นพญาช้างตระกูลอุโบสถ ย่อม ปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ พระเจ้าจักรพรรดิครั้นทอดพระเนตร เห็นช้างนั้น จึงมีพระทัยโปรดปรานว่า “ท่านผู้เจริญ พาหนะคือ ช้างนี้ถ้าได้นำไปฝึก ก็จะเป็นสัตว์ที่เป็นมงคลแน่แท้” จากนั้น ช้างแก้วนั้นจึงได้รับการฝึกหัดเหมือนช้างอาชาไนยตัวเจริญซึ่งได้รับ การฝึกหัดดีแล้วตลอดกาลนาน ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาว่า พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรง ทดสอบช้างแก้วนั้น จึงเสด็จขึ้นทรงในเวลาเช้า แล้วเสด็จเลียบไป ตลอดแผ่นดินอันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต แล้วเสด็จกลับมา ราชธานีนั้นดังเดิม ทันเสวยพระกระยาหารเช้า ช้างแก้วเห็นปาน นี้ปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ ๓. อีกประการหนึ่ง ม้าแก้ว ซึ่งเป็นม้าขาว ศีรษะดำ มีขนปกดุจ หญ้าปล้อง มีฤทธิ์ เหาะไปในอากาศได้ ชื่อพญาม้าวลาหก ย่อมปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ พระเจ้าจักรพรรดิครั้นทอด พระเนตรเห็นม้าแก้วนั้น จึงมีพระทัยโปรดปรานว่า ‘ท่านผู้เจริญ พาหนะคือม้านี้ถ้าได้นำไปฝึกก็จะเป็นสัตว์ที่เป็นมงคลแน่แท้’ จาก นั้น ม้าแก้วนั้นจึงได้รับการฝึกหัดเหมือนม้าอาชาไนยตัวเจริญซึ่งได้ รับการฝึกหัดดีแล้วตลอดกาลนาน ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาว่า พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรง ทดสอบม้าแก้วนั้น จึงเสด็จขึ้นทรงในเวลาเช้า แล้วเสด็จเลียบไป ตลอดแผ่นดินอันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต แล้วเสด็จกลับมา ราชธานีนั้นดังเดิม ทันเสวยพระกระยาหารเช้า ม้าแก้วเห็นปานนี้ ปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๐๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

                                                                 ๙. พาลปัณฑิตสูตร

๔. อีกประการหนึ่ง มณีแก้วปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ คือมณีแก้ว นั้นเป็นแก้วไพฑูรย์ งามบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ สุกใสเป็นประกาย ได้สัดส่วน มีแปดเหลี่ยม เจียระไนไว้ดีแล้ว รัศมีแห่งมณีแก้วนั้น แผ่ซ่านออกไปรอบๆ ประมาณ ๑ โยชน์ ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาว่า พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรง ทดสอบมณีแก้วนั้น ทรงให้หมู่จตุรงคินีเสนาผูกสอดเกราะแล้วทรง ยกมณีแก้วนั้นเป็นยอดธง เสด็จไปประทับยืนในที่มืดยามราตรี เพราะแสงสว่างนั้น ชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบสำคัญว่าเป็นเวลา กลางวัน จึงพากันประกอบการงาน มณีแก้วเห็นปานนี้ปรากฏแก่ พระเจ้าจักรพรรดิ ๕. อีกประการหนึ่ง นางแก้วปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ คือนางแก้วนั้น เป็นสตรีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก ไม่ สูงเกินไป ไม่เตี้ยเกินไป ไม่ผอมเกินไป ไม่อ้วนเกินไป ไม่ดำเกินไป ไม่ขาวเกินไป งดงามเกินผิวพรรณของหญิงมนุษย์ แต่ไม่ถึง ผิวพรรณทิพย์ กายของนางแก้วนั้นมีสัมผัสอ่อนนุ่มดุจปุยนุ่นหรือ ปุยฝ้าย มีร่างกายอบอุ่นในฤดูหนาว เย็นในฤดูร้อน มีกลิ่น จันทน์หอมฟุ้งออกจากกาย กลิ่นดอกอุบลฟุ้งออกจากปากของนาง นางแก้วนั้นมีปกติตื่นก่อนนอนทีหลัง คอยฟังว่าจะรับสั่งให้ทำอะไร ประพฤติต้องพระทัย ทูลแต่คำไพเราะต่อพระเจ้าจักรพรรดิ และ นางแก้วนั้นจะไม่ประพฤตินอกพระทัยพระเจ้าจักรพรรดิ ไฉนเล่า จะประพฤติล่วงเกินทางกายได้ นางแก้วเห็นปานนี้ปรากฏแก่พระ เจ้าจักรพรรดิ ๖. อีกประการหนึ่ง คหบดีแก้วปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ คือ คหบดีแก้วนั้นเป็นผู้มีตาทิพย์ อันเกิดแต่ผลกรรม ซึ่งสามารถเห็น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๐๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

                                                                 ๙. พาลปัณฑิตสูตร

ขุมทรัพย์ทั้งที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ เขาเข้าเฝ้าพระเจ้า จักรพรรดิแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ ขอพระองค์โปรดทรง เป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด ข้าพระองค์จักทำหน้าที่การคลังให้ พระองค์’ ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาว่า พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรง ทดสอบคหบดีแก้วนั้น จึงเสด็จลงเรือลัดกระแสน้ำไปกลางแม่น้ำ คงคา แล้วได้รับสั่งกับคหบดีแก้วว่า ‘คหบดี ฉันต้องการเงิน และทอง’ คหบดีแก้วจึงกราบทูลว่า ‘ข้าแต่มหาราช ถ้าเช่นนั้น โปรดให้เทียบเรือเข้าฝั่งข้างหนึ่งเถิด’ พระเจ้าจักรพรรดิ ตรัสว่า ‘คหบดี ฉันต้องการเงินและทองตรงนี้แหละ’ ทันใดนั้น คหบดี แก้วนั้นจึงเอามือทั้งสองหย่อนลงในน้ำ ยกหม้อที่เต็มด้วยเงินและ ทองขึ้นมา แล้วกราบทูลพระเจ้าจักรพรรดิว่า ‘เท่านี้พอหรือยัง มหาราช เท่านี้ใช้ได้หรือยัง มหาราช เท่านี้พอบูชาแล้วหรือยัง มหาราช’ พระเจ้าจักรพรรดิจึงตรัสอย่างนี้ว่า ‘คหบดี เท่านี้พอแล้ว เท่านี้ใช้ได้แล้ว เท่านี้ชื่อว่าบูชาแล้ว’ คหบดีแก้วเห็นปานนี้ปรากฏ แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ๗. อีกประการหนึ่ง ปริณายกแก้วปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ คือ ปริณายกแก้วนั้นเป็นบัณฑิต มีปรีชาสามารถถวายข้อแนะนำให้ พระเจ้าจักรพรรดิทรงบำรุงผู้ที่ควรบำรุง ถอดถอนผู้ที่ควรถอดถอน ทรงแต่งตั้งผู้ที่ควรแต่งตั้ง เข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิแล้วกราบทูล อย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ ขอพระองค์โปรดทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด ข้าพระองค์จักถวายคำปรึกษา’ ปริณายกแก้วเห็นปานนี้ปรากฏแก่ พระเจ้าจักรพรรดิ ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการนี้ [๒๕๙] พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ ๔ ประการ เป็นอย่างไร คือ พระเจ้าจักรพรรดิในโลกนี้ มีพระรูปงดงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีพระฉวี ผุดผ่องยิ่งนักเกินกว่ามนุษย์เหล่าอื่น พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ นี้เป็นประการที่ ๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๐๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

                                                                 ๙. พาลปัณฑิตสูตร

อีกประการหนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิมีพระชนมายุยืน ทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติ นานเกินกว่ามนุษย์เหล่าอื่น พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ นี้เป็น ประการที่ ๒ อีกประการหนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิมีพระโรคาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นจัด ไม่ร้อนจัด เกินกว่า มนุษย์เหล่าอื่น พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ นี้เป็นประการที่ ๓ อีกประการหนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ ของ พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย เปรียบเหมือนบิดาเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของบุตร แม้ฉันใด พระจักรพรรดิก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของ พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย อนึ่ง พราหมณ์และคหบดีทั้งหลายเป็นที่โปรดปราน เป็นที่พอพระทัยแม้ ของพระเจ้าจักรพรรดิ เปรียบเหมือนบุตรเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของบิดา แม้ฉันใด พราหมณ์และคหบดีทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน ก็เป็นที่โปรดปราน เป็นที่พอพระ ทัยแม้ของพระเจ้าจักรพรรดิ ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาว่า พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา เสด็จประพาสพระราชอุทยาน ครั้งนั้น พราหมณ์และคหบดีพากันเข้าเฝ้าพระเจ้า จักรพรรดิ แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า ขอพระองค์อย่าด่วน เสด็จไป โปรดเสด็จโดยอาการที่ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ชมพระบารมีนานๆ เถิด’ แม้พระเจ้าจักรพรรดิได้รับสั่งเรียกนายสารถีมาตรัสว่า ‘แน่ะพ่อสารถี ท่านจง ค่อยๆ ขับไปโดยอาการที่ฉันจะพึงเยี่ยมพราหมณ์และคหบดีได้นานๆ เถิด’ พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ นี้เป็นประการที่ ๔ ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ ๔ ประการนี้ เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ และฤทธิ์ ๔ ประการนี้ พึงเสวยสุขโสมนัสอันมีความสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ และฤทธิ์ ๔ ประการนั้นเป็นเหตุบ้างไหม” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๐๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

                                                                 ๙. พาลปัณฑิตสูตร

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็น ผู้สมบูรณ์ด้วยแก้วแม้ประการเดียว ยังเสวยสุขโสมนัสที่เกิดเพราะแก้วแม้ประการ เดียวนั้นเป็นเหตุได้ ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงแก้ว ๗ ประการ และฤทธิ์ ๔ ประการเลย พระพุทธเจ้าข้า” [๒๖๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหยิบก้อนหินขนาดย่อมๆ เท่าฝ่า พระหัตถ์ขึ้นมาแล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจ ความข้อนั้นว่าอย่างไร คือก้อนหินขนาดย่อมๆ เท่าฝ่ามือที่เราถืออยู่นี้กับขุนเขา หิมพานต์ อย่างไหนใหญ่กว่ากัน” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก้อนหินขนาดย่อมๆ เท่าฝ่าพระหัตถ์ที่พระองค์ทรง ถืออยู่นี้ มีประมาณน้อยนัก เปรียบเทียบกับขุนเขาหิมพานต์แล้ว ไม่ถึงการนับ ไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ไม่ถึงแม้การเทียบกันได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สุขโสมนัสที่พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้ สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ และฤทธิ์ ๔ ประการ ทรงเสวยสุขโสมนัสอันมี ความสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการและฤทธิ์ ๔ ประการนั้นเป็นเหตุ เปรียบเทียบ กับสุขที่เป็นทิพย์แล้ว ไม่ถึงการนับ ไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ไม่ถึงแม้การเทียบ กันได้เลย บัณฑิตนั้น เพราะเวลาล่วงเลยมานาน ในบางครั้งบางคราวถ้ามาเกิดเป็น มนุษย์ ก็จะเกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยมหาศาล๑- ตระกูลพราหมณมหาศาล หรือตระกูลคหบดีมหาศาล เห็นปานนั้น อันเป็นตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มี โภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้ที่น่าปลื้มใจมาก มีทรัพย์และธัญชาติมาก และบัณฑิตนั้นเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก มีปกติ ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่อง ประทีป เขาจึงประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต หลังจากตายแล้ว จึงไป เกิดในสุคติโลกสวรรค์ @เชิงอรรถ : @ มหาศาล หมายถึงผู้มีทรัพย์มาก คือ ขัตติยมหาศาลมีพระราชทรัพย์ ๑๐๐-๑,๐๐๐ โกฏิ @พราหมณมหาศาลมีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ คหบดีมหาศาลมีทรัพย์ ๔๐ โกฏิ (ที.ม.อ. ๒/๒๑๐/๑๙๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๐๘}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๓๐๒-๓๐๘. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=14&page=302&pages=7&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=14&A=8871 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=14&A=8871#p302 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 14 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_14 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14 https://84000.org/tipitaka/english/?index_14



จบการแสดงผล หน้าที่ ๓๐๒-๓๐๘.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]