ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

หน้าที่ ๓๑๙-๓๒๓.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

                                                                 ๑. ภัทเทกรัตตสูตร

๔. วิภังควรรค
หมวดว่าด้วยการจำแนกธรรม
๑. ภัทเทกรัตตสูตร
ว่าด้วยผู้มีราตรีเดียวเจริญ
[๒๗๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียก ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอุทเทส๑- และวิภังค์๒- ของบุคคลผู้มีราตรีเดียว เจริญ๓- แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังอุทเทสและวิภังค์นั้น จงใส่ใจให้ดี เรา จักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์นี้ว่า “บุคคลไม่ควรคำนึงถึง๔- สิ่งที่ล่วงไปแล้ว๕- ไม่ควรหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งใดที่ยังไม่มาถึง สิ่งนั้นก็เป็นอันยังไม่มาถึง @เชิงอรรถ : @ อุทเทส ในที่นี้หมายถึงบทมาติกาหรือหัวข้อธรรม (ม.อุ.อ. ๓/๒๗๒/๑๗๔) @ วิภังค์ ในที่นี้หมายถึงการจำแนกเนื้อความให้พิสดาร (ม.อุ.อ. ๓/๒๗๒/๑๗๔) @ ผู้มีราตรีเดียวเจริญ หมายถึงผู้ใช้เวลากลางคืนให้หมดไปด้วยการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเท่านั้น @ไม่คำนึงถึงเรื่องอื่นๆ (ม.อุ.อ. ๓/๒๗๒/๑๗๔) @ ไม่ควรคำนึงถึง ในที่นี้หมายถึงไม่ปรารถนาขันธ์ ๕ ด้วยตัณหาและทิฏฐิ (ม.อุ.อ. ๓/๒๗๒/๑๗๔) @ สิ่งที่ล่วงมาแล้ว ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ (คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ในอดีต @(ม.อุ.อ. ๓/๒๗๒/๑๗๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๑๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

                                                                 ๑. ภัทเทกรัตตสูตร

ส่วนบุคคลใดเห็นแจ้งธรรมที่เป็นปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ บุคคลนั้นควรเจริญธรรมนั้นให้แจ่มแจ้ง บุคคลควรทำความเพียรตั้งแต่วันนี้ทีเดียว ใครเล่าจะรู้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้ เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนามากนั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบเรียกบุคคลผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งมีปกติอยู่อย่างนี้นั้นแลว่า ‘ผู้มีราตรีเดียวเจริญ”๑- [๒๗๓] บุคคลคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว เป็นอย่างไร คือ บุคคลดำเนินไปตามความเพลิดเพลิน๒- ที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอดีต เราได้มีรูปอย่างนี้” ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอดีต เราได้มีเวทนา อย่างนี้” ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอดีต เราได้มีสัญญา อย่างนี้” ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอดีต เราได้มีสังขาร อย่างนี้” ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอดีต เราได้มีวิญญาณ อย่างนี้”๓- ภิกษุทั้งหลาย บุคคลคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว เป็นอย่างนี้แล @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ขุ.อป. (แปล) ๓๓/๒๔๔-๒๔๗/๓๒๔ @ ดำเนินไปตามความเพลิดเพลิน ในที่นี้หมายถึงดำเนินให้เป็นไปตามตัณหาในขันธ์เหล่านั้น มีรูปขันธ์ @เป็นต้น (ม.อุ.อ. ๓/๒๗๓/๑๗๕) @ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๘๔/๒๔๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๒๐}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

                                                                 ๑. ภัทเทกรัตตสูตร

บุคคลไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว เป็นอย่างไร คือ บุคคลไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอดีต เรา ได้มีรูปอย่างนี้” ไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอดีต เราได้มีเวทนา อย่างนี้” ไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอดีต เราได้มีสัญญา อย่างนี้” ไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอดีต เราได้มีสังขาร อย่างนี้” ไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอดีต เราได้มี วิญญาณอย่างนี้” ภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว เป็นอย่างนี้แล [๒๗๔] บุคคลหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง เป็นอย่างไร คือ บุคคลดำเนินไปตามความเพลิดเพลินในเบญจขันธ์ว่า “ในอนาคต เรา พึงมีรูปอย่างนี้” ในอนาคต เราพึงมีเวทนาอย่างนี้ ฯลฯ ในอนาคต เราพึงมีสัญญาอย่างนี้ ฯลฯ ในอนาคต เราพึงมีสังขารอย่างนี้ ฯลฯ ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินในเบญจขันธ์ว่า “ในอนาคต เราพึงมี วิญญาณอย่างนี้” ภิกษุทั้งหลาย บุคคลหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง เป็นอย่างนี้แล บุคคลไม่หวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง เป็นอย่างไร คือ บุคคลไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินในเบญจขันธ์ว่า “ในอนาคต เราพึงมีรูปอย่างนี้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๒๑}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

                                                                 ๑. ภัทเทกรัตตสูตร

ในอนาคต เราพึงมีเวทนาอย่างนี้ ฯลฯ ในอนาคต เราพึงมีสัญญาอย่างนี้ ฯลฯ ในอนาคต เราพึงมีสังขารอย่างนี้ ฯลฯ ไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินในเบญจขันธ์ว่า “ในอนาคต เราพึงมี วิญญาณอย่างนี้” ภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่หวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง เป็นอย่างนี้แล [๒๗๕] บุคคลง่อนแง่นในธรรมที่เป็นปัจจุบัน เป็นอย่างไร คือ ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของ พระอริยะ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาด ในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ พิจารณาเห็นรูปโดย ความเป็นอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตามีรูปบ้าง พิจารณาเห็นรูปในอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาในรูปบ้าง พิจารณาเห็นเวทนา ฯลฯ พิจารณาเห็นสัญญา ฯลฯ พิจารณาเห็นสังขาร ฯลฯ พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตามีวิญญาณ บ้าง พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง ภิกษุทั้งหลาย บุคคลง่อนแง่นในธรรมที่เป็นปัจจุบัน เป็นอย่างนี้แล บุคคลไม่ง่อนแง่นในธรรมที่เป็นปัจจุบัน เป็นอย่างไร คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ผู้ได้สดับ ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรมของ พระอริยะ ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรม ของสัตบุรุษ ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความ เป็นอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตามีรูปบ้าง ไม่พิจารณาเห็นรูปในอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาในรูปบ้าง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๒๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

                                                                 ๑. ภัทเทกรัตตสูตร

ไม่พิจารณาเห็นเวทนา ฯลฯ ไม่พิจารณาเห็นสัญญา ฯลฯ ไม่พิจารณาเห็นสังขาร ฯลฯ ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตามี วิญญาณบ้าง ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาใน วิญญาณบ้าง ภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ง่อนแง่นในธรรมที่เป็นปัจจุบัน เป็นอย่างนี้แล บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งใดที่ยังไม่มาถึง สิ่งนั้นก็เป็นอันยังไม่มาถึง ส่วนบุคคลใดเห็นแจ้งธรรมที่เป็นปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ บุคคลนั้นควรเจริญธรรมนั้นให้แจ่มแจ้ง บุคคลควรทำความเพียรตั้งแต่วันนี้ทีเดียว ใครเล่าจะรู้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้ เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนามากนั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบเรียกบุคคลผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งมีปกติอยู่อย่างนี้นั้นแลว่า ‘ผู้มีราตรีเดียวเจริญ” ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘เราจักแสดงอุทเทสและวิภังค์ ของบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญแก่เธอทั้งหลาย’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น ด้วยประการ ฉะนี้” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
ภัทเทกรัตตสูตรที่ ๑ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๒๓}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๓๑๙-๓๒๓. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=14&page=319&pages=5&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=14&A=9368 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=14&A=9368#p319 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 14 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_14 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14 https://84000.org/tipitaka/english/?index_14



จบการแสดงผล หน้าที่ ๓๑๙-๓๒๓.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]