ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

หน้าที่ ๗๙-๘๐.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]

                                                                 ๘. ฆัตวาวรรค ๒. รถสูตร

๘. ฆัตวาวรรค
หมวดว่าด้วยการฆ่า
๑. ฆัตวาสูตร
ว่าด้วยการฆ่า
[๗๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า บุคคลฆ่าอะไรได้จึงอยู่เป็นสุข ฆ่าอะไรได้จึงไม่เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม พระองค์ทรงพอพระทัยการฆ่าธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุคคลฆ่าความโกรธได้จึงอยู่เป็นสุข ฆ่าความโกรธได้จึงไม่เศร้าโศก เทวดา พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญการฆ่าความโกรธ ซึ่งมีรากเป็นพิษ๑- มียอดหวาน เพราะบุคคลฆ่าความโกรธนั้นได้แล้ว จึงไม่เศร้าโศก
ฆัตวาสูตรที่ ๑ จบ
๒. รถสูตร
ว่าด้วยรถ
[๗๒] เทวดาทูลถามว่า อะไรเล่าเป็นเครื่องปรากฏของรถ อะไรเล่าเป็นเครื่องปรากฏของไฟ อะไรเล่าเป็นเครื่องปรากฏของรัฐ อะไรเล่าเป็นเครื่องปรากฏของหญิง @เชิงอรรถ : @ มีรากเป็นพิษ หมายถึงมีทุกข์เป็นวิบาก (สํ.ส.อ. ๑/๗๑/๙๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๗๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]

                                                                 ๘. ฆัตวาวรรค ๓. วิตตสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ธงเป็นเครื่องปรากฏของรถ ควันเป็นเครื่องปรากฏของไฟ พระราชาเป็นเครื่องปรากฏของรัฐ ภัสดาเป็นเครื่องปรากฏของหญิง๑-
รถสูตรที่ ๒ จบ
๓. วิตตสูตร
ว่าด้วยทรัพย์เครื่องปลื้มใจ
[๗๓] เทวดาทูลถามว่า อะไรเล่าเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐของบุรุษในโลกนี้ อะไรเล่าที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ อะไรเล่าเป็นรสที่ดีกว่ารสทั้งหลาย บุคคลมีความเป็นอยู่อย่างไร นักปราชญ์ทั้งหลาย จึงกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐของบุรุษในโลกนี้ ธรรม๒- ที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ สัจจะเท่านั้นเป็นรสที่ดีกว่ารสทั้งหลาย บุคคลมีความเป็นอยู่ด้วยปัญญา นักปราชญ์ทั้งหลาย จึงกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ
วิตตสูตรที่ ๓ จบ
@เชิงอรรถ : @ ดู ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๗/๓๖๗ @ ธรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ (สํ.ส.อ. ๑/๗๓/๙๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๘๐}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๗๙-๘๐. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=15&page=79&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=15&A=2034 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=15&A=2034#p79 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 15 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_15 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu15 https://84000.org/tipitaka/english/?index_15



จบการแสดงผล หน้าที่ ๗๙-๘๐.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]