ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย นิทานวรรค

หน้าที่ ๒๑๙-๒๒๒.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๔. อนมตัคคสังยุต]

                                                                 ๑. ปฐมวรรค ๕. ปัพพตสูตร

“ถูกละ ถูกละ เธอทั้งหลายรู้ธรรมตามที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ ถูกต้องแล้ว น้ำนมของมารดาที่เธอทั้งหลายผู้วนเวียนท่องเที่ยวไปโดยกาลนานนี้ดื่มแล้ว นี้แหละ มากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ฯลฯ ควรเพื่อหลุดพ้น” ...
ขีรสูตรที่ ๔ จบ
๕. ปัพพตสูตร
ว่าด้วยภูเขา
[๑๒๘] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี... ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ นั่ง ณ ที่ สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กัปหนึ่งนานเพียงไรหนอ” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า “ภิกษุ กัปหนึ่งนานนักหนา มิใช่เรื่องง่ายที่จะนับ กัปนั้นว่า เท่านี้ปี เท่านี้ ๑๐๐ ปี เท่านี้ ๑,๐๐๐ ปี หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี” “พระองค์อาจอุปมาได้ไหม พระพุทธเจ้าข้า” “อาจอุปมาได้ ภิกษุ เปรียบเหมือนภูเขาศิลาแท่งทึบลูกใหญ่ มีความยาว ๑ โยชน์ กว้าง ๑ โยชน์ สูง ๑ โยชน์ ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง บุรุษพึงเอาผ้า แคว้นกาสี๑- ลูบภูเขานั้น ๑๐๐ ปีต่อครั้ง ภูเขาศิลาลูกใหญ่นั้นพึงหมดสิ้นไป เพราะ @เชิงอรรถ : @ ผ้าแคว้นกาสี เป็นผ้าที่ทำจากฝ้ายเนื้อละเอียดมาก (สํ.นิ.อ. ๒/๑๒๘/๑๗๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๒๑๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๔. อนมตัคคสังยุต]

                                                                 ๑. ปฐมวรรค ๖. สาสปสูตร

ความพยายามนี้ ยังเร็วกว่า ส่วนกัปหนึ่งยังไม่หมดสิ้นไป กัปนานนักหนาอย่างนี้ บรรดากัปที่นานนักหนาอย่างนี้ เธอได้ท่องเที่ยวไป มิใช่ ๑ กัป มิใช่ ๑๐๐ กัป มิใช่ ๑,๐๐๐ กัป มิใช่ ๑๐๐,๐๐๐ กัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ฯลฯ ภิกษุ เพราะเหตุนี้แหละจึงควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรเพื่อหลุดพ้น จากสังขารทั้งปวง”
ปัพพตสูตรที่ ๕ จบ
๖. สาสปสูตร
ว่าด้วยเมล็ดผักกาด
[๑๒๙] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี ... ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ นั่ง ณ ที่ สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กัปหนึ่งนานเพียงไรหนอ” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า “ภิกษุ กัปหนึ่งนานนักหนา มิใช่เรื่องง่ายที่จะ นับกัปนั้นว่า เท่านี้ปี ฯลฯ หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี”” “พระองค์อาจอุปมาได้ไหม พระพุทธเจ้าข้า” “อาจอุปมาได้ ภิกษุ เปรียบเหมือนนครที่สร้างด้วยเหล็ก๑- มีความยาว ๑ โยชน์ กว้าง ๑ โยชน์ สูง ๑ โยชน์ เต็มด้วยเมล็ดผักกาด รวมกันเป็นกลุ่มก้อน บุรุษ พึงหยิบเมล็ดผักกาดออกจากนครนั้น ๑๐๐ ปีต่อ ๑ เมล็ด เมล็ดผักกาดกองใหญ่นั้น พึงหมดสิ้นไป เพราะความพยายามนี้ยังเร็วกว่า ส่วนกัปหนึ่ง ยังไม่หมดสิ้นไป @เชิงอรรถ : @ นครที่สร้างด้วยเหล็ก ในที่นี้หมายถึงกำแพงของนครนี้ทำด้วยเหล็ก (สํ.นิ.อ. ๒/๑๒๙/๑๗๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๒๒๐}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๔. อนมตัคคสังยุต]

                                                                 ๑. ปฐมวรรค ๗. สาวกสูตร

กัปนานนักหนาอย่างนี้ บรรดากัปที่นานนักหนาอย่างนี้ เธอได้ท่องเที่ยวไป มิใช่ ๑ กัป มิใช่ ๑๐๐ กัป มิใช่ ๑,๐๐๐ กัป มิใช่ ๑๐๐,๐๐๐ กัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ฯลฯ ควรเพื่อหลุดพ้นจาก สังขารทั้งปวง”
สาสปสูตรที่ ๖ จบ
๗. สาวกสูตร
ว่าด้วยพระสาวก
[๑๓๐] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี ... ครั้งนั้น ภิกษุจำนวนมากได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ นั่ง ณ ที่ สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กัปทั้งหลายที่ผ่านพ้นไปแล้ว มากเท่าไรหนอ” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า “ภิกษุทั้งหลาย กัปทั้งหลายที่ผ่านพ้นไปแล้วมาก นักหนา มิใช่เรื่องง่ายที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป เท่านี้ ๑๐๐ กัป เท่านี้ ๑,๐๐๐ กัป หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ กัป” “พระองค์อาจอุปมาได้ไหม พระพุทธเจ้าข้า” “อาจอุปมาได้ ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนสาวก ๔ รูปในธรรมวินัยนี้ มีอายุ ๑๐๐ ปี มีชีวิตอยู่ ๑๐๐ ปี หากเธอเหล่านั้นพึงระลึกย้อนหลังไปได้ วันละ ๑๐๐,๐๐๐ กัป กัปที่เธอเหล่านั้นระลึกไปไม่ถึงยังมีอยู่ ต่อมาสาวก ๔ รูป มีอายุ ๑๐๐ ปี มีชีวิตอยู่ ๑๐๐ ปี พึงมรณภาพไปทุก ๑๐๐ ปี กัปที่ผ่านพ้นไปแล้วมาก นักหนาอย่างนี้ มิใช่เรื่องง่ายที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป เท่านี้ ๑๐๐ กัป เท่านี้ ๑,๐๐๐ กัป หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ กัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ฯลฯ ควรเพื่อหลุดพ้น” ...
สาวกสูตรที่ ๗ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๒๒๑}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๔. อนมตัคคสังยุต]

                                                                 ๑. ปฐมวรรค ๘. คังคาสูตร

๘. คังคาสูตร
ว่าด้วยแม่น้ำคงคา
[๑๓๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้ เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พราหมณ์คนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ กัปทั้งหลายที่ผ่านพ้นไปแล้วมากเท่าไรหนอ” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า “พราหมณ์ กัปทั้งหลายที่ผ่านพ้นไปแล้ว มากนักหนา มิใช่เรื่องง่ายที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป เท่านี้ ๑๐๐ กัป เท่านี้ ๑,๐๐๐ กัป หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ กัป” “พระองค์อาจอุปมาได้ไหม พระพุทธเจ้าข้า” “อาจอุปมาได้ พราหมณ์ เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคานี้เริ่มต้นจากที่ใด และถึง มหาสมุทร ณ ที่ใด เม็ดทรายในระหว่างนี้ง่ายที่จะนับได้ว่า เท่านี้เม็ด เท่านี้ ๑๐๐ เม็ด เท่านี้ ๑,๐๐๐ เม็ด หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ เม็ด กัปทั้งหลายที่ผ่านพ้น ไปแล้วมากกว่าเม็ดทรายเหล่านั้น มิใช่เรื่องง่ายที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป เท่านี้ ๑๐๐ กัป เท่านี้ ๑,๐๐๐ กัป หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ กัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ที่สุดเบื้องต้น ที่สุดเบื้องปลาย ไม่ปรากฏแก่เหล่าสัตว์ผู้ถูกอวิชชากีดขวาง ถูกตัณหาผูกไว้ วนเวียนท่องเที่ยวไป สัตว์เหล่านั้นก็เสวยความทุกข์ เสวยความลำบาก ได้รับความพินาศเต็มป่าช้าเป็น เวลายาวนาน พราหมณ์ เพราะเหตุนี้แหละจึงควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรเพื่อ หลุดพ้นจากสังขารทั้งปวง” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ผู้นั้นได้กราบทูลว่า “ท่าน พระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดม พระ ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดม จงทรงจำข้า พระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
คังคาสูตรที่ ๘ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๒๒๒}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๖ หน้าที่ ๒๑๙-๒๒๒. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=16&page=219&pages=4&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=16&A=5988 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=16&A=5988#p219 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 16 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_16 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu16 https://84000.org/tipitaka/english/?index_16



จบการแสดงผล หน้าที่ ๒๑๙-๒๒๒.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]