ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค

หน้าที่ ๖๖-๖๘.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

                                                                 ๒. ทุติยปัณณาสก์ ๓. คิลานวรรค ๑. ปฐมคิลานสูตร

๓. คิลานวรรค
หมวดว่าด้วยภิกษุผู้อาพาธ
๑. ปฐมคิลานสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้อาพาธ สูตรที่ ๑
[๗๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในวิหารโน้น มีภิกษุใหม่รูปหนึ่ง ไม่มีใครรู้จัก อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์โปรด เสด็จไปเยี่ยมภิกษุนั้นถึงที่อยู่ด้วยเถิด” ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสดับว่าภิกษุใหม่เป็นไข้ ทรงทราบว่า “เป็นภิกษุ ที่ไม่มีใครรู้จัก” จึงเสด็จเข้าไปเยี่ยมภิกษุนั้นถึงที่อยู่ ภิกษุนั้นได้เห็นพระผู้มีพระภาค กำลังเสด็จมาแต่ไกลจึงลุกขึ้นจากเตียง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุ นั้นดังนี้ว่า “อย่าเลยภิกษุ เธออย่าลุกจากเตียงเลย เราจักนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ นั้น” พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนพุทธอาสน์๑- ที่ปูลาดไว้แล้ว ได้ตรัสถามภิกษุนั้น ว่า “ภิกษุ เธอยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ทุกขเวทนาทุเลาลง ไม่กำเริบ ขึ้นหรืออาการทุเลาปรากฏ อาการกำเริบไม่ปรากฏหรือ” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของ ข้าพระองค์กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ ปรากฏ พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอไม่รำคาญ ทุรนทุรายบ้างหรือ” @เชิงอรรถ : @ พุทธอาสน์ หมายถึงอาสนะที่ปูลาดไว้อันดับแรก เพราะสมัยพุทธกาลแม้ในที่อยู่ของภิกษุรูปเดียวก็จะปู @อาสนะไว้ แม้จะเป็นแผ่นกระดานหรือเครื่องลาดใบไม้ก็ตาม เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้าเวลาพระองค์ @เสด็จมา (ม.มู.อ. ๒/๒๗๓/๗๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๖๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

                                                                 ๒. ทุติยปัณณาสก์ ๓. คิลานวรรค ๑. ปฐมคิลานสูตร

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความจริง ข้าพระองค์รำคาญ ทุรนทุรายมาก พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอติเตียนตนเองโดยศีลได้หรือไม่” “ข้าพระองค์ติเตียนตนเองโดยศีลไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ ถ้าเธอติเตียนตนเองโดยศีลไม่ได้แล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะรำคาญ ทุรนทุรายไปทำไม” “ข้าพระองค์ยังไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่พระองค์ทรงแสดงเพื่อความหมดจดแห่งศีลเลย พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ ถ้าเธอยังไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงเพื่อความหมดจดแห่งศีลแล้ว เมื่อ เป็นเช่นนั้น เธอจะรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วประพฤติเพื่ออะไร” “ข้าพระองค์จะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว เพื่อคลายความ กำหนัด พระพุทธเจ้าข้า” “ดีละ ดีละ ภิกษุ ดีแล้ว ภิกษุ ที่เธอรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วเพื่อคลาย ความกำหนัด เพราะว่าธรรมที่เราแสดงแล้วล้วนมีความมุ่งหมายเพื่อคลายความ กำหนัด ภิกษุ เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร จักขุเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ “โสตะ ฯลฯ ฆานะ ... ชิวหา ... กาย ... มโนเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะพิจารณา เห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๖๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

                                                                 ๒. ทุติยปัณณาสก์ ๓. คิลานวรรค ๒. ทุติยคิลานสูตร

“ภิกษุ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุ ฯลฯ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโน เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว ฯลฯ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นก็มีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของ พระผู้มีพระภาค เมื่อพระองค์ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้อยู่ ธรรมจักษุ๑- อันปราศจากธุลี๒- ปราศจากมลทินได้เกิดแก่ภิกษุนั้นว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น ทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา”
ปฐมคิลานสูตรที่ ๑ จบ
๒. ทุติยคิลานสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้อาพาธ สูตรที่ ๒
[๗๕] ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง ฯลฯ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ในวิหารโน้นมีภิกษุใหม่รูปหนึ่ง ไม่มีใครรู้จัก อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์โปรด เสด็จไปเยี่ยมภิกษุนั้นถึงที่อยู่ด้วยเถิด” ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสดับว่าภิกษุใหม่เป็นไข้ ทรงทราบว่า “เป็นภิกษุ ที่ไม่มีใครรู้จัก” จึงเสด็จไปเยี่ยมภิกษุนั้นถึงที่อยู่ ภิกษุนั้นได้เห็นพระผู้มีพระภาค กำลังเสด็จมาแต่ไกลจึงลุกขึ้นจากเตียง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุนั้น ดังนี้ว่า “อย่าเลยภิกษุ เธออย่าลุกจากเตียงเลย เราจักนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้นั้น” พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว ได้ตรัสถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ เธอยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ทุกขเวทนาทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ อาการทุเลาปรากฏ อาการกำเริบไม่ปรากฏหรือ” @เชิงอรรถ : @ ธรรมจักษุ หมายถึงการเห็นอริยสัจ ๔ และการบรรลุมรรค ๓ เบื้องต้น แต่โดยทั่วไปหมายถึงการ @บรรลุโสดาปัตติมรรค (ที.สี.อ. ๑/๒๔๘/๒๐๓) @ ปราศจากธุลี หมายถึงปราศจากธุลีคือราคะ โทสะ และโมหะ (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๘/๑๖๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๖๘}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๖๖-๖๘. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=18&page=66&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=18&A=1796 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=18&A=1796#p66 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 18 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_18 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu18 https://84000.org/tipitaka/english/?index_18



จบการแสดงผล หน้าที่ ๖๖-๖๘.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]