ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

หน้าที่ ๔๕๓-๔๕๕.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๐. อานาปานสังยุต]

                                                                 ๑. เอกธัมมวรรค ๑. เอกธัมมสูตร

๑๐. อานาปานสังยุต
๑. เอกธัมมวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมอันเป็นเอก
๑. เอกธัมมสูตร
ว่าด้วยธรรมอันเป็นเอก
[๙๗๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ฯลฯ๑- จึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเป็นเอกที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ธรรมอันเป็นเอก คืออะไร คือ อานาปานสติ อานาปานสติที่ภิกษุเจริญอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้ บัลลังก์๒- ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า๓- มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก๔- อานาปานสติ ๑๖ ขั้น๕- ๑. เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว @เชิงอรรถ : @ ดูเนื้อความเต็มในข้อ ๑ (อวิชชาสูตร) หน้า ๑ ในเล่มนี้ @ นั่งคู้บัลลังก์ หมายถึงนั่งพับขาเข้าหากันทั้ง ๒ ข้าง เรียกว่า นั่งขัดสมาธิ (วิ.อ. ๑/๑๖๕/๔๔๕) @ ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า หมายถึงตั้งสติกำหนดอารมณ์กัมมัฏฐาน (วิ.อ. ๑/๑๖๕/๔๔๕) @ ตามอรรถกถาพระสูตร อัสสาสะ หมายถึงหายใจเข้า ปัสสาสะ หมายถึงหายใจออก (อสฺสาโสติ @อนฺโตปวิสนนาสิกวาโต. ปสฺสาโสติ พหินิกฺขมนนาสิกวาโต. ม.มู.อ. ๒/๓๐๕/๑๓๖) ส่วนอรรถกถาพระ @วินัยกลับกันคือ อัสสาสะ หมายถึงหายใจออก ปัสสาสะ หมายถึงหายใจเข้า (อสฺสาโสติ พหินิกฺขมนวาโต. @ปสฺสาโสติ อนฺโตปวิสนวาโต. วิ.อ. ๑/๑๖๕/๔๔๖) @ ดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๑๖๕/๑๓๗-๑๓๘, ม.ม. ๑๓/๑๔๑/๙๕-๙๖, ม.อุ. ๑๔/๑๔๘/๑๓๐-๑๓๑, @องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๖๐/๑๓๑-๑๓๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๔๕๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๐. อานาปานสังยุต]

                                                                 ๑. เอกธัมมวรรค ๑. เอกธัมมสูตร

๒. เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น ๓. สำเหนียกว่า จะรู้ชัดกองลมทั้งปวง หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะรู้ชัดกองลมทั้งปวง หายใจออก ๔. สำเหนียกว่า จะระงับกายสังขาร หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะระงับกายสังขาร หายใจออก ๕. สำเหนียกว่า จะรู้ชัดปีติ หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะรู้ชัดปีติ หายใจออก ๖. สำเหนียกว่า จะรู้ชัดสุข หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะรู้ชัดสุข หายใจออก ๗. สำเหนียกว่า จะรู้ชัดจิตตสังขาร หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะรู้ชัดจิตตสังขาร หายใจออก ๘. สำเหนียกว่า จะระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะระงับจิตตสังขาร หายใจออก ๙. สำเหนียกว่า จะรู้ชัดจิต หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะรู้ชัดจิต หายใจออก ๑๐. สำเหนียกว่า จะยังจิตให้บันเทิง หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะยังจิตให้บันเทิง หายใจออก ๑๑. สำเหนียกว่า จะตั้งจิตมั่น หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะตั้งจิตมั่น หายใจออก ๑๒. สำเหนียกว่า จะเปลื้องจิต หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะเปลื้องจิต หายใจออก ๑๓. สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจออก ๑๔. สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจออก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๔๕๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๐. อานาปานสังยุต]

                                                                 ๑. เอกธัมมวรรค ๒. โพชฌังคสูตร

๑๕. สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความดับไป หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความดับไป หายใจออก ๑๖. สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความสละคืน หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความสละคืน หายใจออก ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติที่บุคคลเจริญอย่างนี้แล ทำให้มากแล้วอย่างนี้ จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก”
เอกธัมมสูตรที่ ๑ จบ
๒. โพชฌังคสูตร
ว่าด้วยการเจริญโพชฌงค์
[๙๗๘] “ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก อานาปานสติที่ภิกษุเจริญอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เจริญสติสัมโพชฌงค์ที่สหรคตด้วยอานาปานสติ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในโวสสัคคะ ๒. เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่สหรคตด้วยอานาปานสติ ฯลฯ ๗. เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่สหรคตด้วยอานาปานสติ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในโวสสัคคะ ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติที่ภิกษุเจริญอย่างนี้แล ทำให้มากแล้วอย่างนี้ จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก”
โพชฌังคสูตรที่ ๒ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๔๕๕}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๔๕๓-๔๕๕. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=19&page=453&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=19&A=12314 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=19&A=12314#p453 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 19 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_19 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu19 https://84000.org/tipitaka/english/?index_19



จบการแสดงผล หน้าที่ ๔๕๓-๔๕๕.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]