ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

หน้าที่ ๕๔๓-๕๔๕.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]

                                                                 ๓. สรณานิวรรค ๘. ปฐมภยเวรูปสันตสูตร

อันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์นั้นว่ามีอยู่ในตน ย่อมไม่สะดุ้ง ไม่หวาดหวั่น ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงภายหน้า ๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ สมาธิ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นศีลที่พระอริยะชอบใจนั้นว่ามีอยู่ในตน ย่อมไม่สะดุ้ง ไม่หวาดหวั่น ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงภายหน้า คหบดี พระอริยสาวกผู้ได้สดับ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมไม่สะดุ้ง ไม่หวาดหวั่น ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงภายหน้า ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีกล่าวว่า “ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ ผมไม่กลัว ผมจักกล่าวอะไร เพราะผม ๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ ๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ ๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า ‘พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดี ฯลฯ เป็นนาบุญ อันยอดเยี่ยมของโลก’ ๔. สิกขาบทเหล่าใดซึ่งสมควรแก่คฤหัสถ์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ผมยังไม่เห็นสิกขาบทเหล่านั้นในตนสักข้อว่าขาดไป” “คหบดี เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว โสดาปัตติผลท่านทำให้แจ้งแล้ว”
ทุติยอนาถปิณฑิกสูตรที่ ๗ จบ
๘. ปฐมภยเวรูปสันตสูตร
ว่าด้วยอริยสาวกระงับภัยเวร สูตรที่ ๑
[๑๐๒๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกคหบดีผู้นั่ง ณ ที่สมควรว่า “คหบดี เมื่อใด อริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการได้แล้ว ประกอบด้วยองค์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๕๔๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]

                                                                 ๓. สรณานิวรรค ๘. ปฐมภยเวรูปสันตสูตร

เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการ และเห็นแจ้งแทงตลอดอริยญายธรรม๑- ด้วยปัญญาแล้ว เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นเมื่อหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนเองได้ว่า ‘เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีภูมิแห่งเปรตสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ และวินิบาต สิ้นแล้ว เป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า อริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. บุคคลผู้ฆ่าสัตว์ เพราะการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย จึงประสบภัยเวรที่ เป็นไปในปัจจุบันบ้าง ในสัมปรายภพบ้าง เสวยทุกข์โทมนัส ทางใจบ้าง บุคคลผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์แล้ว ย่อมระงับภัย เวรนั้นได้อย่างนี้ ๒. บุคคลผู้ลักทรัพย์ ฯลฯ ๓. บุคคลผู้ประพฤติผิดในกาม ฯลฯ ๔. บุคคลผู้พูดเท็จ ฯลฯ ๕. บุคคลผู้เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความ ประมาท เพราะการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุ แห่งความประมาทเป็นปัจจัย จึงประสบภัยเวรที่เป็นไปใน ปัจจุบันบ้าง ในสัมปรายภพบ้าง เสวยทุกข์โทมนัสทางใจบ้าง บุคคลผู้เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็น เหตุแห่งความประมาทแล้ว ย่อมระงับภัยเวรนั้นได้อย่างนี้ อริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการนี้ อริยสาวกประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ @เชิงอรรถ : @ อริยญายธรรม หมายถึงมรรคพร้อมทั้งวิปัสสนา (องฺ.ทสก.อ. ๓/๙๑-๙๒/๓๖๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๕๔๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]

                                                                 ๓. สรณานิวรรค ๘. ปฐมภยเวรูปสันตสูตร

๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ ๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ ๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ อริยสาวกประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการนี้ อริยสาวกนั้นเห็นแจ้งแทงตลอดอริยญายธรรมด้วยปัญญา เป็นอย่างไร คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้มนสิการโดยแยบคายด้วยดี ซึ่งปฏิจจสมุปบาท คือ เมื่อเหตุ (มีอวิชชาเป็นต้น) นี้มี ผล (มีสังขารเป็นต้น)นี้จึงมี เพราะสหชาตปัจจัย นี้เกิด ผลนี้จึงเกิด เมื่อเหตุนี้ไม่มี ผลนี้จึงไม่มี เพราะเหตุนี้ดับ ผลนี้จึงดับ คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้มีได้ด้วยประการฉะนี้ เพราะอวิชชาดับไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้มีได้ด้วยประการฉะนี้ อริยสาวกนั้นเห็นแจ้งแทงตลอดอริยญายธรรมด้วยปัญญา เป็นอย่างนี้แล เมื่อใด อริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการนี้ ประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุ โสดา ๔ ประการนี้ และเห็นแจ้งแทงตลอดอริยญายธรรมด้วยปัญญาแล้ว เมื่อนั้น อริยสาวกนั้น เมื่อหวังอยู่ พึงพยายากรณ์ตนเองได้ว่า ‘เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีภูมิแห่งเปรตสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ และวินิบาต สิ้นแล้ว เป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวัน ข้างหน้า”๑-
ปฐมภยเวรูปสันตสูตรที่ ๘ จบ
@เชิงอรรถ : @ ดู องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๙๒/๒๑๒-๒๑๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๕๔๕}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๕๔๓-๕๔๕. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=19&page=543&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=19&A=14942 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=19&A=14942#p543 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 19 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_19 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu19 https://84000.org/tipitaka/english/?index_19



จบการแสดงผล หน้าที่ ๕๔๓-๕๔๕.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]