ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

หน้าที่ ๗๘-๙๐.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]

                                                                 ๑๒. พลกรณียวรรค ๑. พลสูตร

๑๒. พลกรณียวรรค
หมวดว่าด้วยการงานที่พึงทำด้วยกำลัง
๑. พลสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยกำลัง
[๑๔๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย การงานที่พึงทำด้วยกำลังทั้งหมด บุคคลต้องอาศัยแผ่นดิน ดำรงอยู่บนแผ่นดินจึงทำได้ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น เหมือนกัน อาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีล๑- แล้ว เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค มีองค์ ๘ ให้มาก ภิกษุอาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีลแล้ว เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค มีองค์ ๘ ให้มาก อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป ในโวสสัคคะ ฯลฯ ๘. เจริญสัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป ในโวสสัคคะ ภิกษุอาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีลแล้ว เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค มีองค์ ๘ ให้มาก อย่างนี้แล (พึงทราบความพิสดารสูตรที่บริบูรณ์ตามพรรณนาในคังคาเปยยาลข้างต้น) @เชิงอรรถ : @ ศีล ในที่นี้หมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ (สํ.ม.อ. ๓/๑๔๙/๑๙๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๗๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]

                                                                 ๑๒. พลกรณียวรรค ๑. พลสูตร

ภิกษุทั้งหลาย การงานที่พึงทำด้วยกำลังทั้งหมด บุคคลต้องอาศัยแผ่นดิน ดำรงอยู่บนแผ่นดินจึงทำได้ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน อาศัยศีล ดำรงอยู่ ในศีลแล้ว เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก ภิกษุอาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีลแล้ว เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค มีองค์ ๘ ให้มาก อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันเป็นธรรมมีการกำจัดราคะ โทสะ และโมหะเป็นที่สุด ฯลฯ ๘. เจริญสัมมาสมาธิอันเป็นธรรมมีการกำจัดราคะ โทสะ และโมหะเป็นที่สุด ภิกษุอาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีลแล้ว เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมี องค์ ๘ ให้มาก อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย การงานที่พึงทำด้วยกำลังทั้งหมด บุคคลต้องอาศัยแผ่นดิน ดำรงอยู่บนแผ่นดินจึงทำได้ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน อาศัยศีล ดำรงอยู่ ในศีลแล้ว เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก ภิกษุอาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีลแล้ว เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค มีองค์ ๘ ให้มาก อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด ฯลฯ ๘. เจริญสัมมาสมาธิอันหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด ภิกษุอาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีลแล้ว เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค มีองค์ ๘ ให้มาก อย่างนี้แล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๗๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]

                                                                 ๑๒. พลกรณียวรรค ๒. พีชสูตร

ภิกษุทั้งหลาย การงานที่พึงทำด้วยกำลังทั้งหมด บุคคลต้องอาศัยแผ่นดิน ดำรงอยู่บนแผ่นดินจึงทำได้ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน อาศัยศีล ดำรงอยู่ ในศีลแล้ว เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก ภิกษุอาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีลแล้ว เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค มีองค์ ๘ ให้มาก อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันน้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่ นิพพาน ฯลฯ ๘. เจริญสัมมาสมาธิอันน้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่ นิพพาน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีลแล้ว เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก อย่างนี้แล”
พลสูตรที่ ๑ จบ
๒. พีชสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยพืช
[๑๕๐] “ภิกษุทั้งหลาย พืชคาม๑- และภูตคาม๒- ทั้งหมด ล้วนอาศัยแผ่นดิน ดำรงอยู่บนแผ่นดิน จึงเจริญงอกงามเติบโตได้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่ออาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีล เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก ย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย ภิกษุเมื่ออาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีล เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค มีองค์ ๘ ให้มาก ย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย อย่างไร @เชิงอรรถ : @ พืชคาม คือพืชพันธุ์จำพวกที่ถูกพรากจากที่แล้วยังสามารถงอกขึ้นได้อีก (ที.สี.อ. ๑๑/๗๘) ในที่นี้หมาย @ถึงพืช ๕ ชนิด ได้แก่ (๑) พืชเกิดจากเหง้า เช่น ขิง ขมิ้น (๒) พืชเกิดจากลำต้น เช่น ต้นโพธิ์ ต้นไทร @(๓) พืชเกิดจากตา เช่น อ้อย ไม้ไผ่ (๔) พืชเกิดจากยอด เช่น ผักชี (๕) พืชเกิดจากเมล็ด เช่น ถั่ว ข้าว @(สํ.ข.อ. ๒/๔๕/๒๙๙, สํ.ม.อ. ๓/๑๕๐/๑๙๙) @ ภูตคาม คือของเขียวหรือพืชพันธุ์อันเกิดอยู่กับที่ (ที.สี.อ. ๑๑/๗๘, สํ.ม.อ. ๓/๑๕๐/๑๙๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๘๐}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]

                                                                 ๑๒. พลกรณียวรรค ๓. นาคสูตร

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป ในโวสสัคคะ ฯลฯ ๘. เจริญสัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป ในโวสสัคคะ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่ออาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีล เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก ย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย อย่างนี้แล”
พีชสูตรที่ ๒ จบ
๓. นาคสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยนาค
[๑๕๑] “ภิกษุทั้งหลาย พวกนาคอาศัยขุนเขาหิมพานต์ย่อมเติบโตมีกำลัง เติบโตมีกำลังแล้วลงสู่หนอง ลงสู่หนองแล้วลงสู่บึง ลงสู่บึงแล้วลงสู่แม่น้ำน้อย ลงสู่แม่น้ำน้อยแล้วลงสู่แม่น้ำใหญ่ ลงสู่แม่น้ำใหญ่แล้วลงสู่มหาสมุทรสาคร นาค เหล่านั้นย่อมถึงความเจริญเติบโตทางกายในมหาสมุทรสาครนั้น แม้ฉันใด ภิกษุก็ ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่ออาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีล เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก ย่อมถึงความเป็นใหญ่ไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย ภิกษุเมื่ออาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีล เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค มีองค์ ๘ ให้มาก ย่อมถึงความเป็นใหญ่ไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป ในโวสสัคคะ ฯลฯ ๘. เจริญสัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป ในโวสสัคคะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๘๑}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]

                                                                 ๑๒. พลกรณียวรรค ๔. รุกขสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่ออาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีล เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก ย่อมถึงความเป็นใหญ่ไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย อย่างนี้แล”
นาคสูตรที่ ๓ จบ
๔. รุกขสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยต้นไม้
[๑๕๒] “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนต้นไม้ที่น้อมไปสู่ทิศปราจีน โน้มไป สู่ทิศปราจีน โอนไปสู่ทิศปราจีน ต้นไม้นั้นถูกตัดโคนแล้วพึงล้มไปทางไหน” “ล้มไปทางที่น้อมไป โน้มไป โอนไป พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุเมื่อเจริญ อริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก ย่อมน้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่ นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก ย่อมน้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป ในโวสสัคคะ ฯลฯ ๘. เจริญสัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป ในโวสสัคคะ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก ย่อมน้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน อย่างนี้แล”
รุกขสูตรที่ ๔ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๘๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]

                                                                 ๑๒. พลกรณียวรรค ๖. สูกสูตร

๕. กุมภสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยหม้อ
[๑๕๓] “ภิกษุทั้งหลาย หม้อที่คว่ำ น้ำย่อมไหลออกอย่างเดียว ไม่ไหลเข้า แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค มีองค์ ๘ ให้มาก ย่อมคายบาปอกุศลธรรมออกอย่างเดียว ไม่ให้กลับมา ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก ย่อมคาย บาปอกุศลธรรมออกอย่างเดียว ไม่ให้กลับมา อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป ในโวสสัคคะ ฯลฯ ๘. เจริญสัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป ในโวสสัคคะ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก ย่อมคายบาปอกุศลธรรมออกอย่างเดียว ไม่ให้กลับมา อย่างนี้แล”
กุมภสูตรที่ ๕ จบ
๖. สูกสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยเดือย
[๑๕๔] “ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปได้ที่เดือยข้าวสาลีหรือเดือยข้าวเหนียวที่บุคคล ตั้งไว้ตรงจักตำมือหรือเท้าที่ไปกระทบเข้าหรือทำให้เลือดออก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตั้งเดือยข้าวไว้ตรง แม้ฉันใด เป็นไปได้ที่ภิกษุรูปนั้นมีทิฏฐิที่ตั้งไว้ถูก มีมรรคภาวนาที่ตั้งไว้ถูก จักทำลายอวิชชา ให้วิชชาเกิดขึ้น ทำนิพพานให้แจ้ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตั้งทิฏฐิไว้ถูก ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุมีทิฏฐิที่ตั้งไว้ถูก มีมรรคภาวนาที่ตั้งไว้ถูก ย่อมทำลายอวิชชา ให้วิชชาเกิดขึ้น ทำนิพพานให้แจ้ง อย่างไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๘๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]

                                                                 ๑๒. พลกรณียวรรค ๘. ปฐมเมฆสูตร

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป ในโวสสัคคะ ฯลฯ ๘. เจริญสัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป ในโวสสัคคะ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีทิฏฐิที่ตั้งไว้ถูก มีมรรคภาวนาที่ตั้งไว้ถูก ย่อมทำลาย อวิชชา ให้วิชชาเกิดขึ้น ทำนิพพานให้แจ้ง อย่างนี้แล”
สูกสูตรที่ ๖ จบ
๗. อากาสสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยอากาศ
[๑๕๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี “ภิกษุทั้งหลาย ลมหลายชนิดพัดไปในอากาศ คือ ลมทางทิศตะวันออกพัดไป บ้าง ลมทางทิศตะวันตกพัดไปบ้าง ลมทางทิศเหนือพัดไปบ้าง ลมทางทิศใต้พัดไป บ้าง ลมมีฝุ่นพัดไปบ้าง ลมไม่มีฝุ่นพัดไปบ้าง ลมหนาวพัดไปบ้าง ลมร้อนพัดไปบ้าง ลมอ่อนพัดไปบ้าง ลมแรงพัดไปบ้าง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเจริญ อริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก สติปัฏฐาน ๔ ประการถึงความเจริญ เต็มที่บ้าง สัมมัปปธาน ๔ ประการถึงความเจริญเต็มที่บ้าง อิทธิบาท ๔ ประการถึง ความเจริญเต็มที่บ้าง อินทรีย์ ๕ ประการถึงความเจริญเต็มที่บ้าง พละ ๕ ประการ ถึงความเจริญเต็มที่บ้าง โพชฌงค์ ๗ ประการถึงความเจริญเต็มที่บ้าง เมื่อภิกษุเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก สติปัฏฐาน ๔ ประการถึงความเจริญเต็มที่บ้าง สัมมัปปธาน ๔ ประการถึงความเจริญเต็มที่ บ้าง อิทธิบาท ๔ ประการถึงความเจริญเต็มที่บ้าง อินทรีย์ ๕ ประการถึง ความเจริญเต็มที่บ้าง พละ ๕ ประการถึงความเจริญเต็มที่บ้าง โพชฌงค์ ๗ ประการถึงความเจริญเต็มที่บ้าง อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๘๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]

                                                                 ๑๒. พลกรณียวรรค ๘. ปฐมเมฆสูตร

๑. เจริญสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. เจริญสัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป ในโวสสัคคะ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก สติปัฏฐาน ๔ ประการถึงความเจริญเต็มที่บ้าง สัมมัปปธาน ๔ ประการถึง ความเจริญเต็มที่บ้าง อิทธิบาท ๔ ประการถึงความเจริญเต็มที่บ้าง อินทรีย์ ๕ ประการถึงความเจริญเต็มที่บ้าง พละ ๕ ประการถึงความเจริญเต็มที่บ้าง โพชฌงค์ ๗ ประการถึงความเจริญเต็มที่บ้าง อย่างนี้แล”
อากาสสูตรที่ ๗ จบ
๘. ปฐมเมฆสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยเมฆฝน สูตรที่ ๑
[๑๕๖] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี “ภิกษุทั้งหลาย เมฆฝนก้อนใหญ่ที่เกิดนอกฤดูกาล พัดเอาฝุ่นละอองธุลี ที่ตั้งขึ้นในเดือนท้ายฤดูร้อน๑- ให้อันตรธานหายไปโดยฉับพลัน แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น เหมือนกัน เมื่อเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มากย่อมทำ บาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปโดยฉับพลัน ภิกษุเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มากย่อมทำบาป อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบโดยฉับพลัน อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เจริญสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. เจริญสัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป ในโวสสัคคะ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก ย่อมทำบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปโดยฉับพลัน อย่างนี้แล”
ปฐมเมฆสูตรที่ ๘ จบ
@เชิงอรรถ : @ เดือนท้ายฤดูร้อน ในที่นี้หมายถึงเดือนอาสาฬหะ หรือเดือน ๘ (สํ.ม.อ. ๓/๑๕๖-๗/๒๐๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๘๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]

                                                                 ๑๒. พลกรณียวรรค ๑๐. นาวาสูตร

๙. ทุติยเมฆสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยเมฆฝน สูตรที่ ๒
[๑๕๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี “ภิกษุทั้งหลาย ลมมรสุมพัดเอาเมฆฝนก้อนใหญ่ที่เกิดขึ้นให้อันตรธานหายไป ในระหว่าง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำ อริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มากย่อมทำบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธาน สงบไปในระหว่าง ภิกษุเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มากย่อมทำบาป อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปในระหว่าง อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เจริญสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. เจริญสัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป ในโวสสัคคะ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก ย่อมทำบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปในระหว่าง อย่างนี้แล”
ทุติยเมฆสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. นาวาสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยเรือ
[๑๕๘] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรือเดินสมุทรที่ผูกไว้ด้วยเครื่องผูกคือหวาย จอดอยู่ในน้ำ ๖ เดือน พอถึงฤดูหนาว เขาก็ยกขึ้นบก เครื่องผูกเหล่านั้นต้องลมและแดด ถูก ฝนตกรดย่อมเปื่อยผุไปโดยง่ายดาย แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเจริญ อริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก สังโยชน์ทั้งหลายย่อมสงบราบคาบ ไปโดยง่ายดาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๘๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]

                                                                 ๑๒. พลกรณียวรรค ๑๑. อาคันตุกสูตร

เมื่อภิกษุเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก สังโยชน์ ทั้งหลายย่อมสงบราบคาบไปโดยง่ายดาย อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เจริญสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. เจริญสัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป ในโวสสัคคะ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก สังโยชน์ทั้งหลายย่อมสงบราบคาบไปโดยง่ายดาย อย่างนี้แล”
นาวาสูตรที่ ๑๐ จบ
๑๑. อาคันตุกสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยอาคันตุกะ
[๑๕๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี “ภิกษุทั้งหลาย มีเรือนพักคนเดินทาง๑- อยู่หลังหนึ่ง คนทั้งหลายมาจากทิศ ตะวันออกบ้าง มาจากทิศตะวันตกบ้าง มาจากทิศเหนือบ้าง มาจากทิศใต้บ้าง เข้าพักในเรือนนั้น คือ กษัตริย์มาพักบ้าง พราหมณ์มาพักบ้าง แพศย์มาพักบ้าง ศูทรมาพักบ้าง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก กำหนดรู้ธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรกำหนดรู้ ฯลฯ ละธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรละ ทำให้แจ้งธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรทำให้แจ้ง เจริญธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรเจริญ ธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรกำหนดรู้ เป็นอย่างไร คือ ควรกล่าวได้ว่า ธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรกำหนดรู้นั้น ได้แก่ อุปาทาน- ขันธ์ (กองอันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น) ๕ ประการ @เชิงอรรถ : @ เรือนพักคนเดินทาง ในที่นี้หมายถึงเรือนพักสำหรับอาคันตุกะ ที่เหล่าชนผู้ต้องการบุญพากันสร้างไว้ @กลางเมือง ซึ่งพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาก็สามารถเข้าไปพักได้ (สํ.ม.อ. ๓/๑๕๘-๑๖๐/๒๐๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๘๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]

                                                                 ๑๒. พลกรณียวรรค ๑๑. อาคันตุกสูตร

อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป) ฯลฯ ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ) นี้คือ ธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรกำหนดรู้ ธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรละ เป็นอย่างไร คือ อวิชชาและภวตัณหา นี้คือ ธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรละ ธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรทำให้แจ้ง เป็นอย่างไร คือ วิชชาและวิมุตติ นี้คือ ธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรทำให้แจ้ง ธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรเจริญ เป็นอย่างไร คือ สมถะและวิปัสสนา๑- นี้คือ ธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรเจริญ ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก กำหนดรู้ ธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรกำหนดรู้ ฯลฯ เจริญธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรเจริญอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เจริญสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. เจริญสัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป ในโวสสัคคะ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก กำหนดรู้ธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรกำหนดรู้ ละธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรละ ทำให้ แจ้งธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรทำให้แจ้ง เจริญธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรเจริญ อย่างนี้แล”
อาคันตุกสูตรที่ ๑๑ จบ
@เชิงอรรถ : @ หมายถึงเอกัคคตาจิต (จิตที่มีอารมณ์เดียว) และสังขารปริคคหวิปัสสนาญาณ (ปัญญาเห็นแจ้งการกำหนด @สังขารว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๕๔/๔๔๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๘๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]

                                                                 ๑๒. พลกรณียวรรค ๑๒. นทีสูตร

๑๒. นทีสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยแม่น้ำ
[๑๖๐] “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคาไหลไปสู่ทิศปราจีน บ่าไป สู่ทิศปราจีน หลากไปสู่ทิศปราจีน ถ้าหมู่มหาชนพากันถือเอาจอบและตะกร้ามา ด้วยตั้งใจว่า ‘พวกเราจักช่วยกันทดแม่น้ำคงคานี้ให้ไหลไปข้างหลัง บ่าไปข้างหลัง หลากไปข้างหลัง’ เธอทั้งหลายจักเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร หมู่มหาชนนั้นจะพึง ทดแม่น้ำคงคาให้ไหลไปข้างหลัง บ่าไปข้างหลัง หลากไปข้างหลังได้หรือ” “ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “เพราะแม่น้ำคงคาไหลไปสู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน หลากไปสู่ทิศ ปราจีน พระพุทธเจ้าข้า ใครๆ จะทดแม่น้ำคงคานั้นให้ไหลไปข้างหลัง บ่าไปข้างหลัง หลากไปข้างหลังมิใช่ทำได้ง่าย แต่หมู่มหาชนนั้นพึงมีส่วนแห่งความลำบาก เหน็ดเหนื่อยแน่นอน” “อุปมานี้แม้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระราชา มหาอำมาตย์ของ พระราชา มิตร๑- อำมาตย์๒- ญาติ๓- สาโลหิต๔- ก็ตาม พึงปวารณาภิกษุผู้เจริญ อริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มากเพื่อให้ยินดียิ่งด้วยโภคทรัพย์ ทั้งหลายว่า ‘มาเถิดพระคุณเจ้าผู้เจริญ ผ้ากาสาวะเหล่านี้ทำให้ท่านเร่าร้อนมิใช่หรือ @เชิงอรรถ : @ มิตร หมายถึงคนรู้จักกัน เพราะการใช้ของในเรือนร่วมกัน เช่น ให้ของแก่กันและกัน หรือรับของจากกัน @(สํ.ม.อ. ๓/๑๐๑๒/๓๖๗, สํ.ฏีกา ๒/๑๐๑๒/๖๒๙) @ อำมาตย์ หมายถึงผู้ร่วมงานกัน ทำประโยชน์ร่วมกัน เช่นปรึกษาหารือกัน หรือไปมาด้วยกัน @(สํ.ม.อ. ๓/๑๐๑๒/๓๖๗, สํ.ฏีกา ๒/๑๐๑๒/๖๒๙) @ ญาติ หมายถึงผู้เกี่ยวข้องกันโดยการแต่งงานกัน ได้แก่ มารดาบิดาของสามีและเครือญาติฝ่ายมารดา @บิดาของสามี หรือมารดาบิดาของภรรยาและเครือญาติฝ่ายมารดาบิดาของภรรยา @(องฺ.ติก.อ. ๒/๗๖/๒๒๗, สํ.ม.อ. ๓/๑๐๑๒/๓๖๗, สํ.ฏีกา ๒/๑๐๑๒/๖๒๙) @ สาโลหิต หมายถึงผู้ร่วมสายเลือดเดียวกัน เช่น พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว ลุง ป้า @(องฺ.ติก.อ. ๒/๗๖/๒๒๗, สํ.ม.อ. ๓/๑๐๑๒/๓๖๗) หรือญาติฝ่ายมารดา (องฺ.ติก.ฏีกา ๒/๗๖/๒๒๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๘๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑. มัคคสังยุต]

                                                                 ๑๒. พลกรณียวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ท่านจะเป็นคนหัวโล้นเที่ยวถือกระเบื้องไปทำไม เชิญเถิด เชิญท่านกลับมาเป็น คฤหัสถ์ใช้สอยโภคทรัพย์และทำบุญเถิด’ เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุนั้นผู้เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก จักบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเป็นไปไม่ได้ เลยที่จิตนั้นอันน้อมไปในวิเวก โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวกตลอดกาลนานแล้ว จักเวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์ ภิกษุเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป ในโวสสัคคะ ฯลฯ ๘. เจริญสัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป ในโวสสัคคะ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก อย่างนี้แล” (พึงเพิ่มข้อความให้พิสดารเหมือนพลสูตรฉะนั้น)
นทีสูตรที่ ๑๒ จบ
พลกรณียวรรคที่ ๑๒ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. พลสูตร ๒. พีชสูตร ๓. นาคสูตร ๔. รุกขสูตร ๕. กุมภสูตร ๖. สูกสูตร ๗. อากาสสูตร ๘. ปฐมเมฆสูตร ๙. ทุติยเมฆสูตร ๑๐. นาวาสูตร ๑๑. อาคันตุกสูตร ๑๒. นทีสูตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๙๐}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๗๘-๙๐. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=19&page=78&pages=13&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=19&A=2057 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=19&A=2057#p78 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 19 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_19 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu19 https://84000.org/tipitaka/english/?index_19



จบการแสดงผล หน้าที่ ๗๘-๙๐.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]