ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

หน้าที่ ๑๗๗-๑๗๘.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

                                                                 ๓. ปุคคลวรรค ๘. คูถภาณีสูตร

เปรียบเหมือนหลุมคูถถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้าย่อมส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงขึ้น แม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือกันแล เป็นคนมักโกรธ มากไปด้วย ความคับแค้นใจ ถูกว่ากล่าวแม้เพียงเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง และไม่พอใจ บุคคลเช่นนี้ควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะว่าบุคคลนั้นอาจด่าเราบ้าง บริภาษเราบ้าง ทำเราให้ฉิบหายบ้าง เพราะเหตุนั้น บุคคลเช่นนี้จึงควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควร เข้าไปนั่งใกล้ บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้มีศีล มีธรรมงาม บุคคลเช่นนี้ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าคนทั่วไปแม้จะไม่ได้ตามอย่างบุคคล เช่นนี้ แต่กิตติศัพท์อันงามของเขาก็ขจรไปว่า “คนคบมิตรดี คบสหายดี คบเพื่อนดี” เพราะเหตุนั้น บุคคลเช่นนี้จึงควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก บุคคลคบผู้ต่ำทรามย่อมพลอยต่ำทรามไปด้วย แต่คบผู้ที่เสมอกันย่อมไม่เสื่อมในกาลไหนๆ คบผู้ที่สูงกว่าย่อมเด่นขึ้นทันตาเห็น เพราะฉะนั้นจึงควรคบผู้ที่สูงกว่าตน
ชิคุจฉิตัพพสูตรที่ ๗ จบ
๘. คูถภาณีสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้พูดภาษาคูถ
[๒๘] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๓ จำพวก ไหนบ้าง คือ ๑. บุคคลผู้พูดภาษาคูถ ๒. บุคคลผู้พูดภาษาดอกไม้ ๓. บุคคลผู้พูดภาษาน้ำผึ้ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๑๗๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

                                                                 ๓. ปุคคลวรรค ๙. อันธสูตร

บุคคลผู้พูดภาษาคูถ เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลางหมู่ญาติ อยู่ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้างเป็นพยานซักถามว่า “ท่านรู้สิ่งใด จงกล่าวสิ่งนั้น” บุคคลนั้นไม่รู้ก็กล่าวว่า “รู้” หรือรู้ก็กล่าวว่า “ไม่รู้” ไม่เห็นก็กล่าวว่า “เห็น” หรือเห็นก็กล่าวว่า “ไม่เห็น” กล่าวเท็จทั้งที่รู้เพราะตน เป็นเหตุบ้าง เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง เพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง ด้วยประการฉะนี้ นี้เรียกว่า บุคคลผู้พูดภาษาคูถ บุคคลผู้พูดภาษาดอกไม้ เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลางหมู่ญาติ อยู่ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้างเป็นพยานซักถามว่า “ท่านรู้สิ่งใด จงกล่าวสิ่งนั้น” บุคคลนั้นไม่รู้ก็กล่าวว่า “ไม่รู้” หรือรู้ก็กล่าวว่า “รู้” ไม่เห็นก็กล่าวว่า “ไม่เห็น” หรือเห็นก็กล่าวว่า “เห็น” ไม่กล่าวเท็จทั้งที่รู้เพราะตน เป็นเหตุบ้าง เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง เพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง ด้วยประการฉะนี้ นี้เรียกว่า บุคคลผู้พูดภาษาดอกไม้ บุคคลผู้พูดภาษาน้ำผึ้ง เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือพูดแต่คำที่ไม่มี โทษ ไพเราะ น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ นี้เรียกว่า บุคคลผู้พูดภาษาน้ำผึ้ง ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
คูถภาณีสูตรที่ ๘ จบ
๙. อันธสูตร
ว่าด้วยบุคคลตาบอด
[๒๙] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๓ จำพวก ไหนบ้าง คือ ๑. บุคคลตาบอด ๒. บุคคลตาเดียว ๓. บุคคลสองตา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๑๗๘}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๐ หน้าที่ ๑๗๗-๑๗๘. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=20&page=177&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=20&A=4844 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=20&A=4844#p177 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 20 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_20 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu20 https://84000.org/tipitaka/english/?index_20



จบการแสดงผล หน้าที่ ๑๗๗-๑๗๘.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]