ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

หน้าที่ ๑๘๖-๑๘๘.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

                                                                 ๔. เทวทูตวรรค ๔. นิทานสูตร

เราหมายเอาเช่นนี้จึงกล่าวไว้ในอุทยปัญหาในปารายนวรรค ดังนี้ว่า เรากล่าวอัญญาวิโมกข์๑- ซึ่งเป็นธรรม สำหรับละธรรมทั้งสองคือกามสัญญา๒- และโทมนัส เป็นธรรมบรรเทาถีนะ(ความง่วง) เป็นธรรมปิดกั้นกุกกุจจะ(ความร้อนใจ) ซึ่งบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาและสติ มีการตรึกตรองธรรม๓- เป็นธรรมเกิดก่อน และเป็นธรรมเครื่องทำลายอวิชชา(ความไม่รู้แจ้ง)
สารีปุตตสูตรที่ ๓ จบ
๔. นิทานสูตร
ว่าด้วยเหตุเกิดแห่งกรรม
[๓๔] ภิกษุทั้งหลาย เหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการนี้ เหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. โลภะ (ความอยากได้) เป็นเหตุให้เกิดกรรม ๒. โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) เป็นเหตุให้เกิดกรรม ๓. โมหะ (ความหลง) เป็นเหตุให้เกิดกรรม กรรมที่ถูกโลภะครอบงำ เกิดจากโลภะ มีโลภะเป็นเหตุ มีโลภะเป็นแดนเกิด๔- ย่อมให้ผลในที่ซึ่งอัตภาพของเขาเกิด บุคคลต้องเสวยผลกรรมนั้นในขันธ์ที่กรรมนั้น ให้ผลในปัจจุบัน ในลำดับที่เกิด หรือในระยะต่อไป @เชิงอรรถ : @ อัญญาวิโมกข์ หมายถึงอรหัตตผล (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๓/๑๑๕-๑๑๖) @ กามสัญญา หมายถึงสัญญาที่เกิดขึ้นปรารภกาม หรือสัญญาที่สหรคตด้วยโลภจิต ๘ ดวง @(องฺ.ติก.อ. ๒/๓๓/๑๑๕) @ การตรึกตรองธรรม (ธัมมตักกะ) ในที่นี้หมายถึงสัมมาสังกัปปะในอริยมรรคมีองค์ ๘ @(องฺ.ติก.อ. ๒/๓๓/๑๑๖) @ มีโลภะเป็นแดนเกิด หมายถึงมีโลภะเป็นปัจจัย กล่าวคือมีโลภะเป็นเหตุให้เกิด (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๔/๑๑๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๑๘๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

                                                                 ๔. เทวทูตวรรค ๔. นิทานสูตร

กรรมที่ถูกโทสะครอบงำ เกิดจากโทสะ มีโทสะเป็นเหตุ มีโทสะเป็นแดนเกิด ย่อมให้ผลในที่ซึ่งอัตภาพของเขาเกิด บุคคลต้องเสวยผลกรรมนั้นในขันธ์ที่กรรมนั้น ให้ผลในปัจจุบัน ในลำดับที่เกิด หรือในระยะต่อไป กรรมที่ถูกโมหะครอบงำ เกิดจากโมหะ มีโมหะเป็นเหตุ มีโมหะเป็นแดนเกิด ย่อมให้ผลในที่ซึ่งอัตภาพของเขาเกิด บุคคลต้องเสวยผลกรรมนั้นในขันธ์ที่กรรมนั้น ให้ผลในปัจจุบัน ในลำดับที่เกิด หรือในระยะต่อไป เปรียบเหมือน เมล็ดพืชที่ไม่แตกหัก ไม่เสียหาย ไม่ถูกลมและแดดกระทบ มีแก่นใน ถูกเก็บไว้อย่างดี ถูกหว่านลงบนพื้นดินที่เตรียมไว้ดี ในนาดี และฝนก็ตกดี เมล็ดพืชที่ฝนตกรดอย่างนั้น ย่อมถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ แม้ฉันใด กรรมที่ถูกโลภะครอบงำ เกิดจากโลภะ มีโลภะเป็นเหตุ มีโลภะเป็นแดนเกิด ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมให้ผลในที่ซึ่งอัตภาพของเขาเกิด บุคคลต้องเสวยผลกรรม นั้นในขันธ์ที่กรรมนั้นให้ผลในปัจจุบัน ในลำดับที่เกิด หรือในระยะต่อไป กรรมที่ถูกโทสะครอบงำ ฯลฯ กรรมที่ถูกโมหะครอบงำ เกิดจากโมหะ มีโมหะ เป็นเหตุ มีโมหะเป็นแดนเกิด ย่อมให้ผลในที่ซึ่งอัตภาพของเขาเกิด บุคคลต้องเสวย ผลกรรมนั้น ในขันธ์ที่กรรมนั้นให้ผลในปัจจุบัน ในลำดับที่เกิด หรือในระยะต่อไป ภิกษุทั้งหลาย เหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการนี้แล เหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการนี้ เหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. อโลภะ (ความไม่โลภ) เป็นเหตุให้เกิดกรรม ๒. อโทสะ (ความไม่คิดประทุษร้าย) เป็นเหตุให้เกิดกรรม ๓. อโมหะ (ความไม่หลง) เป็นเหตุให้เกิดกรรม กรรมที่ถูกอโลภะครอบงำ เกิดจากอโลภะ มีอโลภะเป็นเหตุ มีอโลภะเป็นแดน เกิด เมื่อสิ้นโลภะแล้ว เป็นอันบุคคลละกรรมนั้นได้ ตัดรากถอนโคนได้เหมือนต้นตาล ที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ กรรมที่ถูกอโทสะครอบงำ เกิดจากอโทสะ มีอโทสะเป็นเหตุ มีอโทสะเป็นแดน เกิด เมื่อสิ้นโทสะแล้ว เป็นอันบุคคลละกรรมนั้นได้ ตัดรากถอนโคนได้เหมือนต้น ตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๑๘๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

                                                                 ๔. เทวทูตวรรค ๔. นิทานสูตร

กรรมที่ถูกอโมหะครอบงำ เกิดจากอโมหะ มีอโมหะเป็นเหตุ มีอโมหะเป็นแดน เกิด เมื่อสิ้นโมหะแล้ว เป็นอันบุคคลละกรรมนั้นได้ ตัดรากถอนโคนได้เหมือนต้น ตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ เมล็ดพืชไม่แตกหัก ไม่เสียหาย ไม่ถูกลมและแดดกระทบ มีแก่นใน ถูกเก็บ ไว้อย่างดี บุรุษพึงเอาไฟเผาเมล็ดพืชเหล่านั้น ครั้นเอาไฟเผาแล้ว ทำให้เป็นเขม่า ครั้นทำให้เป็นเขม่าแล้วพึงโปรยลงในลมที่พัดแรง หรือลอยเสียในแม่น้ำมีกระแสไหลเชี่ยว เมล็ดพืชอันนั้นชื่อว่าถูกตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือ แต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ แม้ฉันใด กรรมที่ถูกอโลภะครอบงำ เกิดจากอโลภะ มีอโลภะเป็นเหตุ มีอโลภะเป็นแดน เกิด ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อสิ้นโลภะแล้ว เป็นอันบุคคลละกรรมนั้นได้ ตัดรากถอน โคนได้เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้น ต่อไปไม่ได้ กรรมที่ถูกอโทสะครอบงำ ฯลฯ กรรมที่ถูกอโมหะครอบงำ เกิดจากอโมหะ มีอโมหะเป็นเหตุ มีอโมหะเป็นแดนเกิด เมื่อสิ้นโมหะแล้ว เป็นอันบุคคลละกรรมนั้นได้ ฯลฯ เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุทั้งหลาย เหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการนี้แล คนเขลาทำกรรมที่เกิดเพราะโลภะ โทสะ และโมหะ กรรมที่คนเขลานั้นทำแล้วจะมากหรือน้อยก็ตาม ย่อมให้ผลในอัตภาพนี้แล สิ่งอื่น(ที่จะรองรับผลกรรมนั้น)ไม่มี เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้รู้โลภะ โทสะ และโมหะ (จึงไม่ทำ)กรรมที่เกิด เพราะเมื่อทำวิชชา๑- ให้เกิดขึ้น ย่อมละทุคติทั้งปวงได้
นิทานสูตรที่ ๔ จบ
@เชิงอรรถ : @ วิชชา ในที่นี้หมายถึงอรหัตตมัคควิชชา(ความรู้แจ้งอรหัตตมรรค) (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๔/๑๓๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๑๘๘}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๐ หน้าที่ ๑๘๖-๑๘๘. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=20&page=186&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=20&A=5114 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=20&A=5114#p186 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 20 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_20 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu20 https://84000.org/tipitaka/english/?index_20



จบการแสดงผล หน้าที่ ๑๘๖-๑๘๘.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]