ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

หน้าที่ ๑๑๐-๑๑๒.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

                                                                 ๒. ปัตตกัมมวรรค ๗. อหิราชสูตร

๖. สราคสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มีราคะ
[๖๖] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๔ จำพวก๑- ไหนบ้าง คือ ๑. บุคคลผู้มีราคะ ๒. บุคคลผู้มีโทสะ ๓. บุคคลผู้มีโมหะ ๔. บุคคลผู้มีมานะ ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก ชนทั้งหลายผู้กำหนัดมาก ในธรรมที่เป็นเหตุแห่งความกำหนัด เพลิดเพลินอย่างยิ่งในรูปที่น่ารัก เป็นสัตว์ต่ำทราม ถูกโมหะ (ความหลง) หุ้มห่อไว้ ย่อมทำให้เครื่องผูกพันเจริญขึ้น เป็นคนไม่ฉลาด ทำอกุศลกรรมที่เกิดจากราคะบ้าง เกิดจากโทสะบ้าง เกิดจากโมหะบ้าง ที่มีแต่ความคับแค้น เพิ่มทุกข์อยู่ร่ำไป สัตว์ที่ถูกอวิชชา (ความไม่รู้) หุ้มห่อไว้ เป็นผู้มืดบอด ปราศจากจักษุคือปัญญา มีสภาวะเหมือนธรรมทั้งหลายที่มีอยู่ ย่อมไม่สำคัญว่าเราทั้งหลายก็มีสภาวะเหมือนอย่างนั้น
สราคสูตรที่ ๖ จบ
๗. อหิราชสูตร
ว่าด้วยตระกูลพญางู
[๖๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งในเขตกรุงสาวัตถีถูกงูกัด @เชิงอรรถ : @ ดู อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๘๖/๒๑๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๑๑๐}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

                                                                 ๒. ปัตตกัมมวรรค ๗. อหิราชสูตร

ถึงแก่มรณภาพ ลำดับนั้น ภิกษุหลายรูปพากันไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปหนึ่งในเขตกรุงสาวัตถีถูกงูกัดถึงแก่มรณภาพ” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นคงจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตให้ ตระกูลพญางู ๔ ตระกูล เพราะถ้าเธอแผ่เมตตาจิตให้ตระกูลพญางู ๔ ตระกูล เธอก็จะไม่ถูกงูกัดถึงแก่มรณภาพ ตระกูลพญางู ๔ ตระกูล อะไรบ้าง คือ ๑. ตระกูลพญางูชื่อวิรูปักษ์ ๒. ตระกูลพญางูชื่อเอราปถะ ๓. ตระกูลพญางูชื่อฉัพยาบุตร ๔. ตระกูลพญางูชื่อกัณหาโคตมกะ ภิกษุนั้นคงจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตให้ตระกูลพญางู ๔ ตระกูลนี้ เพราะถ้าเธอแผ่ เมตตาจิตให้ตระกูลพญางู เธอก็จะไม่ถูกงูกัดถึงแก่มรณภาพ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุแผ่เมตตาจิตให้ตระกูลพญางู ๔ ตระกูลนี้ เพื่อคุ้มครองตน เพื่อรักษาตน เพื่อป้องกันตน” เราขอมีเมตตาต่อตระกูลพญางูวิรูปักษ์ เราขอมีเมตตาต่อตระกูลพญางูเอราปถะ เราขอมีเมตตาต่อตระกูลพญางูฉัพยาบุตร เราขอมีเมตตาต่อตระกูลพญางูกัณหาโคตมกะ เราขอมีเมตตาต่อสัตว์ไม่มีเท้า เราขอมีเมตตาต่อสัตว์สองเท้า เราขอมีเมตตาต่อสัตว์สี่เท้า เราขอมีเมตตาต่อสัตว์หลายเท้า สัตว์ไม่มีเท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา สัตว์สองเท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา สัตว์สี่เท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา สัตว์หลายเท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๑๑๑}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

                                                                 ๒. ปัตตกัมมวรรค ๘. เทวทัตตสูตร

ขอสรรพสัตว์ที่มีลมหายใจ ขอสรรพสัตว์ที่ยังมีชีวิตทั้งมวล จงประสพกับความเจริญ ความเลวร้ายอย่าได้มาแผ้วพานสัตว์ใดๆ เลย พระพุทธเจ้ามีพระคุณหาประมาณมิได้ พระธรรมมีพระคุณหาประมาณมิได้ พระสงฆ์มีพระคุณหาประมาณมิได้ สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย คือ งู แมงป่อง ตะขาบ แมงมุม ตุ๊กแก หนูมีคุณพอประมาณ เราทำการรักษา ทำการป้องกันไว้แล้ว ขอหมู่สัตว์ผู้มีชีวิตทั้งหลายจงหลีก ไป เรานั้นขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาค ขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์๑-
อหิราชสูตรที่ ๗ จบ
๘. เทวทัตตสูตร
ว่าด้วยพระเทวทัต
[๖๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุง ราชคฤห์ ณ ที่นั้น เมื่อพระเทวทัตหลีกไปไม่นานนัก พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียก ภิกษุทั้งหลายมาตรัสปรารภพระเทวทัตว่า “ภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและชื่อเสียง เกิดขึ้นแก่พระเทวทัตเพื่อฆ่าตน เพื่อความเสื่อม ลาภสักการะและชื่อเสียงเกิดขึ้นแก่พระเทวทัตเพื่อฆ่าตน เพื่อความเสื่อม เหมือนต้นกล้วยเผล็ดผลเพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ ลาภสักการะและชื่อเสียงเกิดขึ้นแก่พระเทวทัตเพื่อฆ่าตน เพื่อความเสื่อม เหมือนต้นไผ่ตกขุยเพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ ลาภสักการะและชื่อเสียงเกิดขึ้นแก่พระเทวทัตเพื่อฆ่าตน เพื่อความเสื่อม เหมือนไม้อ้อออกดอกเพื่อฆ่าตนเอง เพื่อความพินาศ @เชิงอรรถ : @ ขุ.ชา. ๒๗/๑๐๕-๑๐๖/๕๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๑๑๒}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๑ หน้าที่ ๑๑๐-๑๑๒. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=21&page=110&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=21&A=3262 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=21&A=3262#p110 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 21 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_21 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu21 https://84000.org/tipitaka/english/?index_21



จบการแสดงผล หน้าที่ ๑๑๐-๑๑๒.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]