ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

หน้าที่ ๑๖๒-๑๖๓.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

                                                                 ๑. วลาหกวรรค ๗. มูสิกสูตร

บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงสุกและผิวสุก เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้มีการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรที่น่าเลื่อมใส และเขา รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี- ปฏิปทา’ บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงสุกและผิวสุก เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบ บุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนมะม่วงสุกและผิวสุก ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วง ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
อัมพสูตรที่ ๕ จบ
๖. ( )๑-
๗. มูสิกสูตร
ว่าด้วยบุคคลเปรียบเหมือนหนู
[๑๐๗] ภิกษุทั้งหลาย หนู ๔ ชนิดนี้ หนู ๔ ชนิด๒- อะไรบ้าง คือ ๑. หนูขุดรูแต่ไม่อยู่ ๒. หนูอยู่แต่ไม่ขุดรู ๓. หนูไม่ขุดรูและไม่อยู่ ๔. หนูขุดรูและอยู่ ภิกษุทั้งหลาย หนู ๔ ชนิดนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ในทำนองเดียวกัน บุคคลเปรียบเหมือนหนู ๔ จำพวก มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๔ จำพวก๒ไหนบ้าง คือ ๑. บุคคลเปรียบเหมือนหนูขุดรูแต่ไม่อยู่ ๒. บุคคลเปรียบเหมือนหนูอยู่แต่ไม่ขุดรู ๓. บุคคลเปรียบเหมือนหนูไม่ขุดรูและไม่อยู่ ๔. บุคคลเปรียบเหมือนหนูขุดรูและอยู่ @เชิงอรรถ : @ สูตรที่ ๖ นี้ ไม่ปรากฏเนื้อความในบาลี แต่มีการกล่าวถึงสูตรนี้ไว้ในอรรถกถาว่า “ฉฏฺฐํ อุตฺตานเมว @(สูตรที่ ๖ ง่ายทั้งนั้น)” (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๐๕-๑๐๗/๓๖๙) @ ดู อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๕๘/๑๘๙-๑๙๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๑๖๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

                                                                 ๑. วลาหกวรรค ๗. มูสิกสูตร

บุคคลเปรียบเหมือนหนูขุดรูแต่ไม่อยู่ เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ แต่เขาไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ บุคคลเปรียบเหมือน หนูขุดรูแต่ไม่อยู่ เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนหนูขุดรู แต่ไม่อยู่ บุคคลเปรียบเหมือนหนูอยู่แต่ไม่ขุดรู เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ แต่เขารู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ บุคคลเปรียบเหมือน หนูอยู่แต่ไม่ขุดรู เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนหนูอยู่ แต่ไม่ขุดรู บุคคลเปรียบเหมือนหนูไม่ขุดรูและไม่อยู่ เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ และเขาไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ บุคคลเปรียบ เหมือนหนูไม่ขุดรูและไม่อยู่ เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือน หนูไม่ขุดรูและไม่อยู่ บุคคลเปรียบเหมือนหนูขุดรูและอยู่ เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ และเขารู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ บุคคลเปรียบเหมือน หนูขุดรูและอยู่ เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนหนูขุดรู และอยู่ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเปรียบเหมือนหนู ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
มูสิกสูตรที่ ๗ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๑๖๓}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๑ หน้าที่ ๑๖๒-๑๖๓. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=21&page=162&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=21&A=4798 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=21&A=4798#p162 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 21 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_21 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu21 https://84000.org/tipitaka/english/?index_21



จบการแสดงผล หน้าที่ ๑๖๒-๑๖๓.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]