ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

หน้าที่ ๒๒๒-๒๒๕.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

                                                                 ๑. อินทริยวรรค ๑๐. สุคตวินยสูตร

น้องหญิง ข้อที่เรากล่าวว่า ‘กายนี้เกิดขึ้นเพราะมานะ บุคคลอาศัยมานะ แล้วพึงละมานะเสีย‘ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้ น้องหญิง กายนี้เกิดขึ้นเพราะเมถุนและการฆ่าปัจจัยแห่งเมถุนด้วยอริยมรรค พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว” ลำดับนั้นแล ภิกษุณีนั้นลุกจากเตียง ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลง แทบเท้าของท่านพระอานนท์ด้วยเศียรเกล้า ได้เรียนท่านพระอานนท์ว่า “ข้าแต่ท่าน ผู้เจริญ ดิฉันเป็นคนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด ได้ล่วงเกินไปแล้ว ขอพระคุณเจ้า อานนท์โปรดยกโทษให้ดิฉันผู้ทำอย่างนี้ เพื่อให้สำรวมระวังต่อไป” ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “ช่างเถอะ น้องหญิง เธอเป็นคนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด จึงได้ล่วงเกินไปแล้ว เมื่อเธอผู้ทำอย่างนี้ เห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนตามธรรม เรายกโทษให้เธอ น้องหญิง การที่บุคคลเห็นโทษแล้วทำคืนตาม ธรรม สำรวมระวังต่อไปนี้เป็นความเจริญในอริยวินัย”
ภิกขุนีสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. สุคตวินยสูตร
ว่าด้วยพระสุคตและวินัยของพระสุคต
[๑๖๐] ภิกษุทั้งหลาย พระสุคต๑- หรือวินัยของพระสุคต เมื่อดำรงอยู่ในโลก พึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก๒- เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระสุคต คือใคร คือ ตถาคตเกิดขึ้นในโลกนี้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่าง @เชิงอรรถ : @ พระสุคต หมายถึงพระนามของพระพุทธเจ้า มีความหมายหลายนัย ดังนี้ คือ (๑) เสด็จไปงาม คือ @บริสุทธิ์ ได้แก่ ดำเนินไปด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ (๒) เสด็จไปยังสถานที่ดี คือ อมตนิพพาน (๓) เสด็จ @ไปโดยชอบ คือ ไม่กลับมาหากิเลสที่ทรงละได้แล้ว (๔) ตรัสไว้โดยชอบ คือ ตรัสพระวาจาที่ควรในฐานะ @ที่ควรเท่านั้น (วิ.อ. ๑/๑/๑๐๘) @ เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก หมายถึงพระสุคตเมื่อดำรงอยู่ในโลก ทำให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายได้สมบัติ ๓ @อย่าง คือ (๑) มนุษยสมบัติ สมบัติในมนุษย์ (๒) เทวสมบัติ สมบัติในสวรรค์ (๓) นิพพานสมบัติ @สมบัติคือพระนิพพาน (องฺ.ทุก.อ. ๒/๕๓/๕๘, องฺ.ทุก.ฏีกา ๒/๕๓/๕๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๒๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

                                                                 ๑. อินทริยวรรค ๑๐. สุคตวินยสูตร

ยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระ ผู้มีพระภาค๑- ภิกษุทั้งหลาย นี้คือพระสุคต วินัยของพระสุคต เป็นอย่างไร คือ พระสุคตนั้นย่อมทรงแสดงธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามใน ท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและ พยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน ภิกษุทั้งหลาย นี้คือวินัยของพระสุคต ภิกษุทั้งหลาย พระสุคตหรือวินัยของพระสุคต เมื่อดำรงอยู่ในโลกอย่างนี้ พึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลคนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ๑. เล่าเรียนสูตรที่เล่าเรียนกันมาผิดลำดับโดยบทพยัญชนะที่ สืบทอด กันมาไม่ดี๒- แม้อรรถแห่งบทพยัญชนะที่สืบทอดกันมาไม่ดี ก็เป็น การสืบทอดขยายความไม่ดี นี้เป็นธรรมประการที่ ๑ ย่อมเป็นไป เพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม ๒. เป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรมเครื่องทำความเป็นผู้ว่ายาก ไม่อดทน ไม่รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ นี้เป็นธรรมประการที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม ๓. เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์๓- ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ไม่ถ่ายทอดสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพ เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป สูตร ก็ขาดรากฐาน ไม่มีที่พึ่งอาศัย นี้เป็นธรรมประการที่ ๓ ย่อมเป็น ไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๓๓ (สีหสูตร) หน้า ๕๒ ในเล่มนี้ @ หมายถึงบทบาลีที่สืบทอดกันผิดระเบียบ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๒๐/๒๘) @ เรียนจบคัมภีร์ (อาคตาคมา) ในที่นี้หมายถึงเรียนจบพระพุทธพจน์ คือ พระไตรปิฎก ๕ นิกาย ได้แก่ @ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๐/๙๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๒๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

                                                                 ๑. อินทริยวรรค ๑๐. สุคตวินยสูตร

๔. เป็นเถระ เป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน เป็นผู้นำในโอกกมน- ธรรม๑- ทอดธุระ๒- ในปวิเวก๓- ไม่ปรารภความเพียร๔- เพื่อถึงธรรม ที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยัง ไม่ได้ทำให้แจ้ง หมู่คนรุ่นหลังพากันตามอย่างภิกษุผู้เป็นเถระ เหล่านั้น แม้หมู่คนรุ่นหลังนั้นก็เป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน เป็นผู้นำในโอกกมนธรรม ทอดธุระในปวิเวก ไม่ปรารภความ เพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อ ทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ ย่อม เป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไป แห่งสัทธรรม ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ๑. เล่าเรียนสูตรที่เล่าเรียนกันมาดีโดยบทพยัญชนะที่สืบทอดกันมาดี แม้อรรถแห่งบทพยัญชนะที่สืบทอดกันมาดีก็เป็นการสืบทอดขยาย ความดี นี้เป็นธรรมประการที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม @เชิงอรรถ : @ โอกกมนธรรม ในที่นี้หมายถึงนิวรณ์ ๕ คือ (๑) กามฉันทะ ความพอใจในกาม (๒) พยาบาท ความ @คิดร้าย (๓) ถีนมิทธะ ความหดหู่และเซื่องซึม (๔) อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ (๕) วิจิกิจฉา @ความลังเลสงสัย (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓) @ ทอดธุระ หมายถึงทอดทิ้งหน้าที่ในวิเวก ๓ ประการ คือ กายวิเวก จิตตวิเวก และอุปธิวิเวก @(องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓) @ ปวิเวก หมายถึงอุปธิวิเวกคือสภาวะอันเป็นที่ตั้ง ที่ทรงไว้แห่งทุกข์ คือ กาม กิเลส เบญจขันธ์ และ @อภิสังขาร กล่าวคือนิพพาน (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓) @ ไม่ปรารภความเพียร หมายถึงไม่ทำความเพียร ๒ อย่าง คือ ความเพียรทางกายและความเพียรทางจิต @(องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓, องฺ.ทุก.ฏีกา ๒/๔๕/๕๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๒๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]

                                                                 ๑. อินทริยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๒. เป็นคนว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมเครื่องทำความเป็นผู้ว่าง่าย อดทน รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ นี้เป็นธรรมประการที่ ๒ ย่อม เป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม ๓. เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ถ่ายทอดสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพ เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป สูตรก็ไม่ขาดรากฐาน มีที่พึ่งอาศัย นี้เป็นธรรมประการที่ ๓ ย่อม เป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม ๔. เป็นเถระ เป็นผู้ไม่มักมาก เป็นผู้ไม่ย่อหย่อน หมดธุระใน โอกกมนธรรม เป็นผู้นำในปวิเวก ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรม ที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยัง ไม่ได้ทำให้แจ้ง หมู่คนรุ่นหลังพากันตามอย่างภิกษุผู้เป็นเถระ เหล่านั้น แม้หมู่คนรุ่นหลังนั้นก็เป็นผู้ไม่มักมาก เป็นผู้ไม่ย่อหย่อน หมดธุระในโอกกมนธรรม เป็นผู้นำในปวิเวก ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้ แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ ย่อมเป็น ไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม
สุคตวินยสูตรที่ ๑๐ จบ
อินทริยวรรคที่ ๑ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อินทริยสูตร ๒. สัทธาพลสูตร ๓. ปัญญาพลสูตร ๔. สติพลสูตร ๕. ปฏิสังขานพลสูตร ๖. กัปปสูตร ๗. โรคสูตร ๘. ปริหานิสูตร ๙. ภิกขุนีสูตร ๑๐. สุคตวินยสูตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๒๕}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๑ หน้าที่ ๒๒๒-๒๒๕. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=21&page=222&pages=4&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=21&A=6583 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=21&A=6583#p222 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 21 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_21 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu21 https://84000.org/tipitaka/english/?index_21



จบการแสดงผล หน้าที่ ๒๒๒-๒๒๕.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]