ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

หน้าที่ ๘๙-๙๑.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

                                                                 ๑. นีวรณวรรค ๑. อาวรณสูตร

๒. ทุติยปัณณาสก์
๑. นีวรณวรรค
หมวดว่าด้วยนิวรณ์
๑. อาวรณสูตร
ว่าด้วยนิวรณ์เครื่องกางกั้น
[๕๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก- เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมา ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึง ได้ตรัสเรื่องนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ ครอบงำจิตแล้ว ทอนกำลัง ปัญญา๑- นิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. กามฉันทะ (ความพอใจในกาม) ๒. พยาบาท (ความคิดร้าย) ๓. ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) ๕. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้แล ครอบงำจิตแล้ว ทอนกำลัง ปัญญา @เชิงอรรถ : @ ปัญญา ในที่นี้หมายถึงวิปัสสนาปัญญา และมัคคปัญญา (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๕๑/๒๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๘๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

                                                                 ๑. นีวรณวรรค ๑. อาวรณสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุนั้นยังละนิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการ นี้ที่ครอบงำจิต ทอนกำลังปัญญาไม่ได้แล้วจักรู้ประโยชน์ตน รู้ประโยชน์ผู้อื่น รู้ ประโยชน์ทั้งสอง หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ๑- อันวิเศษ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์๒- ด้วยปัญญาที่ไม่มีกำลังที่อ่อนกำลังได้ เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขาไปสู่ที่ไกล มีกระแสเชี่ยว พัดสิ่งที่จะพัด ไปได้ บุรุษพึงเปิดปากเหมืองทั้ง ๒ ข้างแห่งแม่น้ำนั้น เมื่อเปิดปากเหมืองแล้ว อย่างนี้ กระแสน้ำในท่ามกลางแม่น้ำนั้นก็ซัดส่ายไหลผิดทาง ไหลไปสู่ที่ไกลไม่ได้ ไม่มีกระแสเชี่ยว และไม่พัดสิ่งที่พอจะพัดไปได้ ฉันใด เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุนั้นยังละนิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ที่ครอบงำจิต ทอนกำลังปัญญาไม่ได้แล้วจักรู้ประโยชน์ตน รู้ประโยชน์ผู้อื่น รู้ประโยชน์ทั้งสอง หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วยปัญญาที่ไม่มีกำลังที่อ่อนกำลังได้ ฉันนั้น ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปได้ที่ภิกษุนั้นละนิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ที่ ครอบงำจิต ทอนกำลังปัญญาได้แล้วจักรู้ประโยชน์ตน รู้ประโยชน์ผู้อื่น รู้ประโยชน์ ทั้งสอง หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่าธรรม ของมนุษย์ด้วยปัญญาที่มีกำลังได้ เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขาไปสู่ที่ไกล มีกระแสเชี่ยว พัดสิ่งที่พอ จะพัดไปได้ บุรุษพึงปิดปากเหมืองทั้ง ๒ ข้างแห่งแม่น้ำนั้น เมื่อปิดปากเหมืองแล้ว อย่างนี้ กระแสน้ำในท่ามกลางแม่น้ำนั้นก็ไม่ซัดส่ายไม่ไหลผิดทาง ไหลไปสู่ที่ไกลได้ มีกระแสเชี่ยว และพัดสิ่งที่พอจะพัดไปได้ ฉันใด @เชิงอรรถ : @ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ หมายถึงมหัคคตโลกุตตรปัญญาอันประเสริฐบริสุทธิ์สูงสุด สามารถ @กำจัดกิเลสได้ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๔๘/๓๕๐) @ ธรรมของมนุษย์ ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๕๑/๒๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๙๐}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

                                                                 ๑. นีวรณวรรค ๒. อกุสลราสิสูตร

เป็นไปได้ที่ภิกษุนั้นละนิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ที่ครอบงำจิต ทอนกำลัง ปัญญาได้แล้วจักรู้ประโยชน์ตน รู้ประโยชน์ผู้อื่น รู้ประโยชน์ทั้งสอง หรือจักทำ ให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วย ปัญญาที่มีกำลังได้ ฉันนั้น
อาวรณสูตรที่ ๑ จบ
๒. อกุสลราสิสูตร
ว่าด้วยกองอกุศล
[๕๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวถึงกองอกุศล เมื่อจะกล่าวให้ถูก พึงกล่าวถึงนิวรณ์(ธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี) ๕ ประการ เพราะกองอกุศล ทั้งสิ้น คือ นิวรณ์ ๕ ประการ นิวรณ์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. กามฉันทะ ๒. พยาบาท ๓. ถีนมิทธะ ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ๕. วิจิกิจฉา ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวถึงกองอกุศล เมื่อจะกล่าวให้ถูก พึงกล่าวถึง นิวรณ์ ๕ ประการนี้ เพราะกองอกุศลทั้งสิ้น คือ นิวรณ์ ๕ ประการ
อกุสลราสิสูตรที่ ๒ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๙๑}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๘๙-๙๑. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=22&page=89&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=22&A=2542 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=22&A=2542#p89 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_22 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu22 https://84000.org/tipitaka/english/?index_22



จบการแสดงผล หน้าที่ ๘๙-๙๑.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]