ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

หน้าที่ ๓๔๓-๓๔๔.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

                                                                 ๑. โคตมีวรรค ๔. ทีฆชาณุสูตร

เป็นเช่นนี้ สระน้ำใหญ่นั้นก็เพิ่มปริมาณขึ้น ไม่เหือดแห้งไปเลย ฉันใด โภคทรัพย์ที่ เกิดขึ้นโดยชอบอย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีทางเจริญ ๔ ประการ คือ ๑. ไม่เป็นนักเลงหญิง ๒. ไม่เป็นนักเลงสุรา ๓. ไม่เป็นนักเลงการพนัน ๔. เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูลในภพนี้ เพื่อสุขใน ภพนี้แก่กุลบุตร พยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูลในภพหน้า เพื่อสุขใน ภพหน้าแก่กุลบุตร ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. สัทธาสัมปทา ๒. สีลสัมปทา ๓. จาคสัมปทา ๔. ปัญญาสัมปทา สัทธาสัมปทา เป็นอย่างไร คือ กุลบุตรในโลกนี้เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้ของตถาคตว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ๑- เป็นศาสดาของเทวดาและ มนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ นี้เรียกว่า สัทธาสัมปทา สีลสัมปทา เป็นอย่างไร คือ กุลบุตรในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ๒- เว้นขาดจากการเสพ ของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท นี้เรียกว่า สีลสัมปทา จาคสัมปทา เป็นอย่างไร คือ กุลบุตรในโลกนี้มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจาคะอันสละแล้ว มีฝ่ามือชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการแจกทานอยู่ครองเรือน นี้เรียกว่า จาคสัมปทา @เชิงอรรถ : @ ดูความเต็มในอัฏฐกนิบาต ข้อ ๔๙ (ปฐมอิธโลกิกสูตร) หน้า ๓๒๖ ในเล่มนี้ @ ดูความเต็มและความพิสดารในอัฏฐกนิบาต ข้อ ๔๑ (สังขิตตุโปสถสูตร) หน้า ๓๐๓-๓๐๔ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๓๔๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

                                                                 ๑. โคตมีวรรค ๕. อุชชยสูตร

ปัญญาสัมปทา เป็นอย่างไร คือ กุลบุตรในโลกนี้เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา เห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่า ปัญญาสัมปทา พยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูลในภพหน้า เพื่อสุข ในภพหน้าแก่กุลบุตร คนขยันหมั่นเพียรในการงาน ไม่ประมาท รู้วิธีการเลี้ยงชีพแต่พอเหมาะ รักษาทรัพย์ที่หามาได้ เป็นผู้มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่ ชำระทางแห่งประโยชน์ที่มีในภพหน้าอยู่เป็นนิตย์ ที่พระพุทธเจ้าผู้มีพระนามว่าสัจจะตรัสธรรม ๘ ประการดังกล่าวมานี้ เพื่อผู้ครองเรือน ผู้มีศรัทธา อันเป็นเหตุนำสุขมาให้ในโลกทั้ง ๒ คือ ประโยชน์เกื้อกูลในภพนี้ และสุขในภพหน้า จาคะ บุญ๑- นี้ย่อมเจริญยิ่งขึ้น แก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้”
ทีฆชาณุสูตรที่ ๔ จบ
๕. อุชชยสูตร
ว่าด้วยอุชชยพราหมณ์
[๕๕] ครั้งหนึ่ง อุชชยพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนา ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า @เชิงอรรถ : @ บุญ ในที่นี้หมายถึงศรัทธา ศีล และปัญญา (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๕๔/๒๖๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๓๔๔}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๓๔๓-๓๔๔. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=23&page=343&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=23&A=9565 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=23&A=9565#p343 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_23 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu23 https://84000.org/tipitaka/english/?index_23



จบการแสดงผล หน้าที่ ๓๔๓-๓๔๔.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]