ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต

หน้าที่ ๙๖-๙๘.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

                                                                 ๕. อักโกสวรรค ๔. กุสินารสูตร

๔. กุสินารสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่กรุงกุสินารา
[๔๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์เป็นที่ประกอบ พลีกรรม เขตกรุงกุสินารา ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย มาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค จึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาธรรม ๕ ประการในตน พึงตั้งมั่นธรรม ๕ ประการไว้ในตนแล้วจึงโจทผู้อื่น ธรรมที่ภิกษุผู้เป็นโจทก์พึงพิจารณาไว้ในตน ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า “เราเป็นผู้มี กายสมาจารบริสุทธิ์ เราเป็นผู้ประกอบกายสมาจารบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่ บกพร่องหรือไม่หนอ ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ” หากภิกษุ ไม่เป็นผู้มีกายสมาจารบริสุทธิ์ มิได้เป็นผู้ประกอบกายสมาจารบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่บกพร่อง ก็จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ว่า “เชิญท่านสำเหนียก ความประพฤติทางกายก่อนเถิด” จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ดังนี้ ๒. ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า “เราเป็นผู้มี วจีสมาจารบริสุทธิ์ เราเป็นผู้ประกอบวจีสมาจารบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่ บกพร่องหรือหนอ ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ” หากภิกษุไม่ เป็นผู้มีวจีสมาจารบริสุทธิ์ ไม่เป็นผู้ประกอบวจีสมาจารบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่บกพร่อง ก็จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ว่า “เชิญท่านสำเหนียกความ ประพฤติทางวาจาก่อนเถิด” จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ดังนี้ ๓. ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า “เราเข้าไป ตั้งเมตตาจิตไม่อาฆาตในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายแล้วหรือหนอ ธรรมนี้ มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ” หากภิกษุยังไม่เข้าไปตั้งเมตตาจิตไม่ อาฆาตในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายแล้ว ก็จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ว่า “เชิญท่านเข้าไปตั้งเมตตาจิตในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายเสียก่อนเถิด” จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ดังนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๙๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

                                                                 ๕. อักโกสวรรค ๔. กุสินารสูตร

๔. ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า “เราเป็น พหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมที่มีความงามใน เบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ประกาศ พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนแล้ว ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิหรือไม่หนอ ธรรมนี้ มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ” หากภิกษุไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงสุตะ ไม่ สั่งสมสุตะ ไม่เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น มีความ งามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้ง อรรถ และพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ครบถ้วน ทรงจำไว้ไม่ได้ ไม่คล่อง ปาก ไม่ขึ้นใจ ไม่แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ ก็จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ว่า “เชิญท่านเล่าเรียนคัมภีร์เสียก่อนเถิด” จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ดังนี้ ๕. ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า “เราทรงจำ ปาติโมกข์ทั้งสองได้ดี จำแนกได้ดี ให้เป็นไปได้ดีโดยพิสดาร วินิจฉัยได้ดี โดยสูตร โดยอนุพยัญชนะหรือไม่หนอ ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือ ไม่หนอ” หากภิกษุไม่ทรงจำ ปาติโมกข์ทั้งสองได้ดี ไม่จำแนกได้ดี ไม่ให้เป็นไปได้ดีโดยพิสดาร ไม่วินิจฉัยได้ดีโดยสูตร โดยอนุพยัญชนะ ภิกษุนั้นหากถูกถามว่า “ท่านผู้มีอายุ สิกขาบทนี้ พระผู้มีพระภาคตรัส ไว้ที่ไหน” แก้ไม่ได้ก็จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ว่า “เชิญท่านไปศึกษาวินัย เสียก่อนเถิด” จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ดังนี้ ธรรมที่ภิกษุผู้เป็นโจทก์พึงพิจารณาไว้ในตน ๕ ประการนี้ ธรรมที่ภิกษุผู้เป็นโจทก์พึงตั้งมั่นไว้ในตน ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. เราจักกล่าวในเวลาอันควร จักไม่กล่าวในเวลาอันไม่ควร ๒. เราจักกล่าวถ้อยคำจริง จักไม่กล่าวถ้อยคำไม่จริง ๓. เราจักกล่าวถ้อยคำอ่อนหวาน จักไม่กล่าวถ้อยคำหยาบ ๔. เราจักกล่าวถ้อยคำอันประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่กล่าวถ้อยคำ อันไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๕. เราจักมีเมตตาจิตกล่าว เราจักไม่เพ่งโทษกล่าว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๙๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

                                                                 ๕. อักโกสวรรค ๕. ราชันเตปุรัปปเวสนสูตร

ธรรมที่ภิกษุผู้เป็นโจทก์พึงตั้งมั่นไว้ในตน ๕ ประการนี้ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาธรรม ๕ ประการนี้ไว้ในตน พึงตั้งมั่นธรรม ๕ ประการนี้ไว้ในตนแล้วจึงโจทผู้อื่น
กุสินารสูตรที่ ๔ จบ
๕. ราชันเตปุรัปปเวสนสูตร
ว่าด้วยโทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นใน
[๔๕] ภิกษุทั้งหลาย โทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นใน ๑๐ ประการ โทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นใน ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. พระราชาในโลกนี้ประทับอยู่กับพระมเหสี ภิกษุเข้าไปในที่นั้น พระมเหสี ทรงเห็นภิกษุนั้นแล้วทรงยิ้มแย้ม หรือภิกษุเห็นพระมเหสีแล้วยิ้มแย้ม พระราชาจะทรงสงสัยในอาการนั้นอย่างนี้ว่า “คนทั้ง ๒ นี้คงได้ทำ หรือ จักทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่” นี้เป็นโทษในการเข้าไปในพระ ราชวังชั้นในประการที่ ๑ ๒. พระราชาทรงมีพระราชกรณียกิจมาก เสด็จไปหาหญิงคนใดคนหนึ่งแล้ว ทรงระลึกไม่ได้ หญิงนั้นตั้งครรภ์กับพระองค์ พระราชาก็จะทรงสงสัยใน การตั้งครรภ์นั้นอย่างนี้ว่า “เว้นบรรพชิตเสียแล้ว ใครอื่นจะเข้ามาใน พระราชวังชั้นในนี้ไม่ได้ กรรมนี้น่าจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” นี้ เป็นโทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นในประการที่ ๒ ๓. รัตนะอย่างใดอย่างหนึ่งในพระราชวังชั้นในหายไป พระราชาก็จะทรง สงสัยในการที่รัตนะนั้นหายไปนั้นว่า “เว้นบรรพชิตเสียแล้ว ใครอื่นจะ เข้ามาในพระราชวังชั้นในนี้ไม่ได้ กรรมนี้ น่าจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” นี้เป็นโทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นในประการที่ ๓ ๔. เรื่องลับภายในพระราชวังชั้นในแพร่งพรายออกมาภายนอก พระราชาก็ จะทรงสงสัยในเรื่องลับที่แพร่งพรายออกมาภายนอกนั้นอย่างนี้ว่า “เว้น บรรพชิตเสียแล้ว ใครอื่นจะเข้ามาในพระราชวังชั้นในนี้ไม่ได้ กรรมนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๙๘}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๔ หน้าที่ ๙๖-๙๘. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=24&page=96&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=24&A=2728 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=24&A=2728#p96 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_24 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu24 https://84000.org/tipitaka/english/?index_24



จบการแสดงผล หน้าที่ ๙๖-๙๘.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]