ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

หน้าที่ ๕๕๓-๕๕๗.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค]

                                                                 ๑. รตนสูตร

๒. จูฬวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องเล็กน้อย
๑. รตนสูตร๑-
ว่าด้วยรัตนะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสรตนสูตรดังนี้) [๒๒๔] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ ขอให้ภูตทั้งปวงจงเป็นผู้มีใจดี และจงฟังภาษิตโดยเคารพเถิด [๒๒๕] เพราะฉะนั้นแล ภูตทั้งปวง ท่านจงใคร่ครวญ จงแผ่เมตตาต่อหมู่มนุษย์ด้วยเถิด มนุษย์เหล่าใดนำเครื่องเซ่นสรวงมาให้ ทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะเหตุนั้น ขอท่านทั้งหลายอย่าประมาท จงรักษามนุษย์เหล่านั้น [๒๒๖] ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ หรือรัตนชาติที่ประณีตใดๆ ที่มีในโลกนี้ ในโลกอื่น หรือในสวรรค์ ทรัพย์หรือรัตนชาตินั้นๆ ที่เสมอด้วยตถาคต ไม่มี นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี @เชิงอรรถ : @ ดู ขุททกปาฐะ (รตนสูตร ข้อ ๑-๑๘ หน้า ๙-๑๔ ในเล่มนี้) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๕๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค]

                                                                 ๑. รตนสูตร

[๒๒๗] พระศากยมุนีผู้มีพระทัยตั้งมั่น ทรงบรรลุธรรมใดอันเป็นที่สิ้นกิเลส ปราศจากราคะ เป็นอมตธรรมอันประณีต ไม่มีธรรมใดๆ ที่เสมอด้วยธรรมนั้น นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี [๒๒๘] พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ตรัสสรรเสริญสมาธิใดว่าเป็นธรรมสะอาด ตรัสถึงสมาธิใดว่าให้ผลโดยลำดับ สมาธิอื่นที่เสมอด้วยสมาธินั้น ไม่มี นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี [๒๒๙] บุคคล ๑๐๘ จำพวกที่สัตบุรุษสรรเสริญ ซึ่งจัดเป็นบุคคล ๔ คู่ เป็นสาวกของพระสุคต เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา ทานที่เขาถวายในบุคคลเหล่านั้น มีผลมาก นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี [๒๓๐] บุคคลเหล่าใดในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า เป็นผู้ประกอบตนไว้ดี มีใจมั่นคง หมดความห่วงใย บุคคลเหล่านั้นชื่อว่าบรรลุอรหัตตผล หยั่งถึงอมตนิพพาน รับรสความดับสนิทแบบได้เปล่า นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๕๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค]

                                                                 ๑. รตนสูตร

[๒๓๑] สัตบุรุษใดพิจารณาเห็นแจ้งอริยสัจ เราเรียกสัตบุรุษนั้นว่ามีอุปมาเหมือนเสาเขื่อนที่ฝังลงดิน อันไม่หวั่นไหวเพราะลมที่พัดมาจากทิศทั้งสี่ นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี [๒๓๒] พระโสดาบันเหล่าใดรู้แจ้งอริยสัจ ที่พระศาสดาผู้มีปัญญาลึกซึ้งแสดงแล้ว ถึงแม้ว่าพระโสดาบันเหล่านั้นจะประมาทไปบ้าง ท่านเหล่านั้นก็จะไม่ถือกำเนิดในภพที่ ๘ นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี [๒๓๓] พระโสดาบันนั้นละธรรม ๓ ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสได้อย่างสิ้นเชิง พร้อมกับการบรรลุโสดาปัตติมรรค [๒๓๔] พระโสดาบันนั้นพ้นจากอบายทั้งสี่ และจะไม่ทำอภิฐาน ๖ ๑- นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี [๒๓๕] ถึงแม้ว่า พระโสดาบันนั้นจะทำบาปกรรม ทางกาย ทางวาจา หรือทางใจไปบ้าง ท่านก็ไม่ปกปิดบาปกรรมนั้นไว้ @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๔ ขุททกปาฐะ (รตนสูตร ข้อ ๑๑ หน้า ๑๒ ในเล่มนี้) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๕๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค]

                                                                 ๑. รตนสูตร

เรากล่าวว่าผู้เห็นบทแล้ว ไม่อาจทำอย่างนั้นได้ นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี [๒๓๖] พุ่มไม้งามในป่าซึ่งมียอดออกดอกบานสะพรั่ง ในต้นเดือนห้าแห่งคิมหันตฤดู งามอย่างยิ่ง ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ ที่ให้ถึงนิพพาน เพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง ฉันนั้น นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี [๒๓๗] พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ทรงรู้ธรรมอันประเสริฐ ทรงประทานธรรมอันประเสริฐ ทรงนำทางอันประเสริฐมาให้ ทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าใครๆ ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐไว้ นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี [๒๓๘] พระขีณาสพเหล่าใดสิ้นภพเก่าแล้ว ไม่มีการเกิดใหม่ ทั้งมีจิตเบื่อหน่ายในภพที่จะเกิดต่อไป ท่านเหล่านั้นชื่อว่า มีพืชสิ้นแล้ว ไม่มีฉันทะงอกขึ้น เป็นนักปราชญ์ ย่อมดับสนิทเหมือนประทีปดวงนี้ดับไป นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี (ท้าวสักกะจอมเทพกราบทูลดังนี้) [๒๓๙] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระตถาคตพุทธเจ้า ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๕๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค]

                                                                 ๒. อามคันธสูตร

[๒๔๐] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระธรรมของพระตถาคต ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี [๒๔๑] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระสงฆ์ของพระตถาคต ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี
รตนสูตรที่ ๑ จบ
๒. อามคันธสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่มีกลิ่นดิบ
[๒๔๒] (ติสสดาบสทูลถามพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าดังนี้) สัตบุรุษทั้งหลายบริโภคข้าวฟ่าง ลูกเดือย ถั่วเขียว ใบไม้ เผือกมัน และผลไม้ที่ได้มาโดยชอบธรรม ถึงใคร่ในกาม ก็ไม่กล่าวคำเหลาะแหละ [๒๔๓] ข้าแต่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เมื่อเสวยเนื้อชนิดใด ที่ผู้อื่นปรุงเป็นพิเศษเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตบแต่งอย่างประณีตถวาย เมื่อเสวยข้าวสาลีที่เขาหุงสุกแล้วก็ชื่อว่า เสวยกลิ่นดิบ๑- [๒๔๔] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระพรหม พระองค์ตรัสอย่างนี้ว่า ‘กลิ่นดิบไม่สมควรแก่เรา’ แต่ยังเสวยข้าวสาลีที่เขาหุงสุกแล้วกับเนื้อนกที่เขาปรุงเป็นพิเศษ @เชิงอรรถ : @ กลิ่นดิบ ในที่นี้หมายถึงอาหารจำพวกปลาและเนื้อสัตว์ (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๔๓/๕๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๕๗}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๕๕๓-๕๕๗. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=25&page=553&pages=5&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=25&A=14669 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=25&A=14669#p553 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_25 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25 https://84000.org/tipitaka/english/?index_25



จบการแสดงผล หน้าที่ ๕๕๓-๕๕๗.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]