ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

หน้าที่ ๖๒๒-๖๒๕.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

                                                                 ๖. สภิยสูตร

(พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้) [๕๒๕] สภิยะ บุคคลผู้ลอยบาปทั้งปวงได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากมลทิน เป็นผู้ประเสริฐ มีจิตตั้งมั่นด้วยสมาธิ ดำรงตนมั่นคง ข้ามพ้นสังสารวัฏ เป็นผู้บริสุทธิ์ครบถ้วน ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้คงที่ บุคคลนั้นบัณฑิตเรียกว่า พราหมณ์๑- [๕๒๖] บุคคลผู้สงบ ละบุญและบาปได้ เป็นผู้ปราศจากธุลี รู้โลกนี้และโลกหน้า ล่วงพ้นชาติและมรณะได้แล้ว เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น บัณฑิตเรียกว่า สมณะ [๕๒๗] บุคคลผู้ชำระล้างบาปได้ทั้งหมด ทั้งภายในและภายนอก ในโลกทั้งปวง๒- ไม่กลับมาสู่กัป ในเทวดาและมนุษย์ผู้ยังท่องเที่ยวอยู่ในกัป๓- บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า ผู้ล้างบาปได้ [๕๒๘] บุคคลผู้ไม่ทำบาปแม้เล็กน้อยในโลก สลัดสังโยชน์และเครื่องผูกพันได้ทั้งหมด ไม่ติดข้องอยู่ในกิเลสเครื่องข้องทั้งปวง เป็นผู้หลุดพ้น เป็นผู้คงที่ ผู้ดำรงตนอยู่เช่นนั้น บัณฑิตเรียกว่า นาคะ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๕/๑๐๕, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๘/๑๔๗ @ โลกทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงอายตนะทั้งหมด (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๒๗/๒๕๓) @ กัป ในที่นี้หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๒๗/๒๕๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๒๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

                                                                 ๖. สภิยสูตร

ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ฯลฯ ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคเป็นข้อ ต่อไปว่า [๕๒๙] พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกบุคคลเช่นไรว่า ผู้ชนะเขต ตรัสเรียกบุคคลว่า ผู้ฉลาด ด้วยอาการอย่างไร อย่างไร จึงตรัสเรียกว่า บัณฑิต และอย่างไร ตรัสเรียกว่า มุนี ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) [๕๓๐] สภิยะ บุคคลพิจารณาเขต๑- ทั้งสิ้น คือ เขตเทวดา เขตมนุษย์ และเขตพรหมแล้ว ผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกที่เป็นมูลเหตุแห่งเขต๒- ทั้งมวล เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกว่า ผู้ชนะเขต [๕๓๑] บุคคลพิจารณากระเปาะฟอง๓- ทั้งสิ้น คือ กระเปาะฟองเทวดา กระเปาะฟองมนุษย์ และกระเปาะฟองพรหมแล้ว ผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกที่เป็นมูลเหตุแห่งกระเปาะฟองทั้งมวล เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกว่า ผู้ฉลาด [๕๓๒] บุคคลพิจารณาอายตนะทั้ง ๒ ประการ คือ อายตนะทั้งภายในและภายนอกแล้ว @เชิงอรรถ : @ เขต ในที่นี้หมายถึงอายตนะ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๐/๒๕๓) @ เครื่องผูกที่เป็นมูลเหตุแห่งเขต หมายถึงอวิชชา ตัณหา และภพ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๐/๒๕๔) @ กระเปาะฟอง หมายถึงกรรม (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๑/๒๕๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๒๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

                                                                 ๖. สภิยสูตร

มีปัญญาบริสุทธิ์ ก้าวพ้นธรรมดำและธรรมขาว๑- ได้แล้ว เป็นผู้คงที่ ผู้ดำรงตนอยู่เช่นนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกว่า บัณฑิต [๕๓๓] บุคคลรู้ธรรมทั้งของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ ทั้งภายในและภายนอกในโลกทั้งปวง ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจข่ายได้แล้ว ควรได้รับความเคารพบูชาจากเทวดาและมนุษย์ บุคคลนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกว่า มุนี๒- ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ฯลฯ ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคเป็นข้อ ต่อไปว่า [๕๓๔] บุคคลบรรลุอะไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้จบเวท บุคคลปฏิบัติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้รู้ตาม บุคคลประพฤติตนอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้มีความเพียร และบุคคลตัดอะไรได้ บัณฑิตจึงเรียกว่า บุรุษอาชาไนย ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) [๕๓๕] สภิยะ บุคคลเลือกเฟ้นเวท๓- ทั้งสิ้น ของสมณพราหมณ์ทั้งหลายที่มีอยู่ ปราศจากราคะในเวทนาทั้งปวง ก้าวล่วงเวททั้งปวงได้แล้ว บุคคลนั้น บัณฑิตเรียกว่า ผู้จบเวท๔- @เชิงอรรถ : @ ธรรมดำและธรรมขาว หมายถึงบาปและบุญ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๒/๒๕๕) @ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๑/๑๒๙ @ เวท ในที่นี้หมายถึงศาสตร์ความรู้ของสมณพราหมณ์ทั้งหมด (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๕/๒๕๕) @ เวท ในที่นี้หมายถึงมัคคญาณ ๔ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๕/๒๕๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๒๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

                                                                 ๖. สภิยสูตร

[๕๓๖] บุคคลพิจารณารู้เท่าทันกิเลสเครื่องเนิ่นช้า และนามรูปภายในตน และกิเลสอันเป็นมูลเหตุแห่งโรคในภายนอก เป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกอันเป็นมูลเหตุแห่งโรคทั้งปวง เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น บัณฑิตเรียกว่า ผู้รู้ตาม [๕๓๗] ในโลกนี้ บุคคลผู้งดเว้นบาปทั้งหมด ล่วงพ้นทุกข์ในนรก มีความเพียร เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น บัณฑิตเรียกว่า ผู้มีความเพียร มีความมุ่งมั่น เป็นนักปราชญ์ [๕๓๘] บุคคลตัดเครื่องผูก๑- อันเป็นมูลเหตุแห่งกิเลสเครื่องข้อง ทั้งภายในและภายนอกได้แล้ว เป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูก อันเป็นมูลเหตุแห่งกิเลสเครื่องข้องทั้งปวง เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น บัณฑิตเรียกว่า บุรุษอาชาไนย ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ฯลฯ ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคเป็นข้อ ต่อไปว่า [๕๓๙] บุคคลบรรลุอะไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้มีสุตะ บัณฑิตเรียกบุคคลว่า อริยะ ด้วยอาการอย่างไร บุคคลประพฤติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้มีจรณะ และบุคคลปฏิบัติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ปริพาชก ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด @เชิงอรรถ : @ เครื่องผูก ในที่นี้หมายถึงกิเลสทั้งหลาย มีราคะเป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๘/๒๕๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๒๕}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๖๒๒-๖๒๕. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=25&page=622&pages=4&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=25&A=16655 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=25&A=16655#p622 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_25 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25 https://84000.org/tipitaka/english/?index_25



จบการแสดงผล หน้าที่ ๖๒๒-๖๒๕.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]