ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

หน้าที่ ๖๙๒-๖๙๓.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๔. สุทธัฏฐกสูตร

๔. สุทธัฏฐกสูตร๑-
ว่าด้วยผู้พิจารณาเห็นความหมดจด
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายดังนี้) [๗๙๕] เราเห็นนรชนผู้หมดจดว่า เป็นผู้ไม่มีโรคอย่างยิ่ง ความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น บุคคลเมื่อรู้จริงอย่างนี้ก็รู้ว่า ความเห็นนี้ยอดเยี่ยม จึงเป็นผู้พิจารณาเห็นความหมดจด เพราะฉะนั้น ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็นญาณ [๗๙๖] ถ้าความหมดจดมีแก่นรชนเพราะความเห็น หรือนรชนนั้นละทุกข์ได้เพราะญาณ นรชนผู้ยังมีอุปธินั้นย่อมหมดจดเพราะมรรคอื่น(ก็ได้) เพราะว่า ทิฏฐิย่อมบ่งบอกถึงนรชนนั้นผู้พูดอย่างนั้น [๗๙๗] พราหมณ์๒- ไม่กล่าวความหมดจดในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ศีลและวัตรหรืออารมณ์ที่รับรู้โดยมรรคอื่น พราหมณ์นั้นผู้ไม่เข้าไปติดในบุญและบาป ละอัตตาได้๓- เรียกว่า ผู้ไม่ทำเพิ่มเติมในโลกนี้ [๗๙๘] สมณพราหมณ์เหล่านั้นละสิ่งแรก อาศัยสิ่งหลัง ไปตามความพลุ่งพล่าน๔- ย่อมข้ามกิเลสเครื่องข้องไม่ได้ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๓-๓๐/๑๐๑-๑๒๓ @ พราหมณ์ ในที่นี้หมายถึงผู้ลอยบาปธรรม ๗ ประการ คือ (๑) สักกายทิฏฐิ (๒) วิจิกิจฉา (๓) สีลัพพต- @ปรามาส (๔) ราคะ (๕) โทสะ (๖) โมหะ (๗) มานะ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๕/๑๐๔) @ ละอัตตาได้ หมายถึงละ สละ และคายความยึดมั่นถือมั่น ความติดใจ ความน้อมใจเชื่อว่าเป็นอัตตาด้วย @อำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๕/๑๐๙) @ ความพลุ่งพล่าน ในที่นี้หมายถึงตัณหา (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๖/๑๑๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๙๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๔. สุทธัฏฐกสูตร

สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมยึดถือ ย่อมสลัดทิ้ง เหมือนลิงจับกิ่งไม้แล้วก็ปล่อย ฉะนั้น [๗๙๙] สัตว์เกิดสมาทานวัตรทั้งหลายเอง ข้องอยู่ในสัญญา๑- ย่อมดำเนินไปลุ่มๆ ดอนๆ ส่วนผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยเวททั้งหลาย๒- แล้ว เป็นผู้มีปัญญาอันไพบูลย์ ย่อมไม่ดำเนินไปลุ่มๆ ดอนๆ [๘๐๐] ผู้มีปัญญานั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง คือ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง ใครๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนดผู้มีปัญญานั้น ผู้เห็นผู้ประพฤติเปิดเผยด้วยเหตุอะไรเล่า [๘๐๑] สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู สัตบุรุษเหล่านั้นไม่กล่าวว่าเป็นความหมดจดสุดโต่ง สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น ที่ร้อยรัดไว้แล้ว ไม่ก่อความหวังในที่ไหนๆ ในโลก [๘๐๒] พระอรหันต์เป็นผู้ไปพ้นเขตแดน๓- แล้ว เป็นพราหมณ์ เพราะรู้และเห็น พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีความถือมั่น ไม่มีความกำหนัดในกามคุณอันเป็นที่กำหนัด ไม่กำหนัดในสมาบัติเป็นที่คลายกำหนัด พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีความถือมั่นว่า ยอดเยี่ยมในโลกนี้
สุทธัฏฐกสูตรที่ ๔ จบ
@เชิงอรรถ : @ ข้องอยู่ในสัญญา หมายถึงพัวพันอยู่ในกามสัญญา พยาบาทสัญญา วิหิงสาสัญญา และทิฏฐิสัญญา @(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๗/๑๑๒) @ รู้ธรรมด้วยเวททั้งหลาย หมายถึงรู้อริยสัจ ๔ ด้วยมรรคญาณ ๔ (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๙๙/๓๖๓) @ เขตแดน หมายถึงกิเลส (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๐๒/๓๖๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๙๓}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๖๙๒-๖๙๓. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=25&page=692&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=25&A=18643 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=25&A=18643#p692 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_25 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25 https://84000.org/tipitaka/english/?index_25



จบการแสดงผล หน้าที่ ๖๙๒-๖๙๓.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]