ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

หน้าที่ ๖๙๕-๖๙๗.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๖. ชราสูตร

[๘๐๘] พระอรหันต์ใดผู้ไม่มีความคะนึงหาในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน ในโลกนี้ ในภพน้อยภพใหญ่ ในโลกนี้หรือในโลกหน้า พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีเครื่องอยู่อะไรๆ ความตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่นก็ไม่มี [๘๐๙] พระอรหันต์นั้นไม่มีทิฏฐิอันสัญญากำหนดไว้แม้นิดเดียว ในรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน หรือในอารมณ์ที่รับรู้ในโลกนี้ ใครๆ ในโลกนี้ จะพึงกำหนดพระอรหันต์นั้น ผู้เป็นพราหมณ์ไม่ยึดถือทิฏฐิอยู่ด้วยเหตุอะไรเล่า [๘๑๐] พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย ย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู(ตัณหาและทิฏฐิ)ไว้ แม้ธรรมทั้งหลาย๑- พระอรหันต์เหล่านั้นก็ไม่ปรารถนา พระอรหันต์ผู้เป็นพราหมณ์นั้น ใครๆ ก็นำไปด้วยศีลและวัตรไม่ได้ เป็นผู้ถึงฝั่ง๒- ไม่กลับมา เป็นผู้คงที่
ปรมัฏฐกสูตรที่ ๕ จบ
๖. ชราสูตร๓-
ว่าด้วยชรา
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่พุทธบริษัทชาวเมืองสาเกตดังนี้) [๘๑๑] ชีวิตนี้น้อยนัก มนุษย์ย่อมตายภายใน ๑๐๐ ปี แม้หากผู้ใดจะมีชีวิตอยู่เกินไปกว่านั้น ผู้นั้นก็จะตายเพราะชราแน่แท้ @เชิงอรรถ : @ ธรรมทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๑๐/๓๖๗) @ ฝั่ง หมายถึงอมตนิพพาน ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวงเป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งปวง เป็นต้น @(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓๘/๑๓๘) @ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓๙-๔๘/๑๔๒-๑๖๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๙๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๖. ชราสูตร

[๘๑๒] ชนทั้งหลายย่อมเศร้าโศก เพราะวัตถุที่ยึดถือว่า เป็นของเรา เพราะความยึดถือที่เที่ยงแท้ไม่มีอยู่ ความพลัดพรากจากกันนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง กุลบุตรเห็นดังนี้แล้ว ไม่พึงครองเรือน [๘๑๓] บุรุษย่อมสำคัญเบญจขันธ์ใดว่า นี้ของเรา เบญจขันธ์นั้นบุรุษนั้นย่อมละไปเพราะความตาย บัณฑิตผู้เป็นพุทธมามกะ รู้ชัดโทษนี้แล้ว ไม่พึงน้อมไปเพื่อความยึดถือว่า เป็นของเรา [๘๑๔] บุรุษผู้ตื่นขึ้นแล้ว ไม่เห็นสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยความฝัน ฉันใด ใครๆ ก็ไม่เห็นชนผู้เป็นที่รัก ซึ่งตายจากไปแล้ว ฉันนั้น [๘๑๕] ชื่อของชนเหล่าใดที่กล่าวกันอยู่นี้ ชนเหล่านั้นยังเห็นกันอยู่บ้าง ยังได้ยินกันอยู่บ้าง สัตว์เกิดจากไปแล้ว เหลือไว้แต่ชื่อเท่านั้นเพื่อกล่าวขานกัน [๘๑๖] ชนทั้งหลายผู้ติดใจในวัตถุที่ยึดถือว่า เป็นของเรา ย่อมละทิ้งความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ และความตระหนี่ไม่ได้ เพราะฉะนั้น มุนีผู้เห็นแดนเกษม ละความยึดถือได้แล้ว เที่ยวไป [๘๑๗] บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่แสดงตนในภพ ของภิกษุผู้ประพฤติหลีกเร้น ใช้ที่นั่งอันสงัดนั้นว่า เป็นความสามัคคี [๘๑๘] มุนีไม่อาศัยในสิ่งทั้งปวง๑- ไม่ทำสิ่ง๒- ไหนให้เป็นที่รัก และไม่ทำสิ่งไหนให้ไม่เป็นที่รัก ความคร่ำครวญและความตระหนี่ไม่ติดอยู่ในมุนีนั้น เหมือนหยาดน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว ฉะนั้น @เชิงอรรถ : @ สิ่งทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงอายตนะ ๑๒ คือ ตาและรูป หูและเสียง จมูกและกลิ่น ลิ้นและรส กายและ @โผฏฐัพพะ ใจและธรรมารมณ์ (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๑๘/๓๗๑) และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๔๖/๑๖๑ @ สิ่ง ในที่นี้หมายถึงสัตว์และสังขาร (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๑๘/๓๗๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๙๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค]

                                                                 ๗. ติสสเมตเตยยสูตร

[๘๑๙] มุนีไม่ติดพันในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่รับรู้ เหมือนหยดน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว เหมือนหยาดน้ำไม่ติดอยู่บนดอกบัว ฉะนั้น [๘๒๐] พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ย่อมไม่สำคัญหมายรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่รับรู้ พระอรหันต์นั้นไม่ต้องการความหมดจดด้วยมรรคอื่น ย่อมไม่กำหนัด ย่อมไม่ต้องคลายกำหนัด
ชราสูตรที่ ๖ จบ
๗. ติสสเมตเตยยสูตร๑-
ว่าด้วยปัญหาของติสสเมตเตยยะ
(ท่านพระติสสเมตเตยยะได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้) [๘๒๑] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอพระองค์โปรดตรัสบอก ความคับแค้นของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนืองๆ ข้าพระองค์ฟังคำสอนของพระองค์แล้วจักศึกษาวิเวก (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมตเตยยะ) [๘๒๒] คำสั่งสอนของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนืองๆ ย่อมเลอะเลือน และบุคคลนั้นย่อมปฏิบัติผิด การปฏิบัตินี้ เป็นธรรมไม่ประเสริฐในบุคคลนั้น @เชิงอรรถ : @ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๔๙-๕๘/๑๖๘-๑๙๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๙๗}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๖๙๕-๖๙๗. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=25&page=695&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=25&A=18731 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=25&A=18731#p695 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_25 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25 https://84000.org/tipitaka/english/?index_25



จบการแสดงผล หน้าที่ ๖๙๕-๖๙๗.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]