ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

หน้าที่ ๗๕๙-๗๖๒.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค]

                                                                 ๗. นันทมาณวกปัญหา

พระองค์ผู้เป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสตอบปัญหานั้น แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด เพราะธรรมนั้นพระองค์ทรงรู้ชัดแล้ว [๑๐๘๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ) มุนีผู้ถึงความสลายไปย่อมไม่มี(อะไร)เป็นประมาณ ชนทั้งหลายพึงว่ากล่าวมุนีนั้นด้วยกิเลสใด กิเลสนั้นย่อมไม่มีแก่มุนีนั้น (เพราะ)เมื่อมุนีนั้นถอนธรรม๑- ทั้งปวงได้เด็ดขาดแล้ว แม้ครรลองแห่งวาทะทั้งปวงท่านก็ถอนได้เด็ดขาดแล้ว
อุปสีวมาณวกปัญหาที่ ๖ จบ
๗. นันทมาณวกปัญหา๒-
ว่าด้วยปัญหาของนันทมาณพ
[๑๐๘๔] (นันทมาณพทูลถามดังนี้) ชนทั้งหลายกล่าวว่า มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก คำกล่าวนี้นั้นเป็นอย่างไร ชนทั้งหลายย่อมเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยญาณ๓- หรือว่าย่อมเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยความเป็นอยู่๔- ว่า เป็นมุนี @เชิงอรรถ : @ ธรรม ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ธาตุ อายตนะ คติ เป็นต้น (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๔๕/๑๙๓) @ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๒-๑๐๘/๒๒-๒๔ @ ผู้เป็นไปด้วยญาณ หมายถึงผู้เพียบพร้อมด้วยญาณในสมาบัติ ๘ หรือ ญาณในอภิญญา ๕ @(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๔๖/๑๙๖) @ ผู้เป็นไปด้วยความเป็นอยู่ หมายถึงผู้เพียบพร้อมด้วยความเพียรของบุคคลผู้ดำเนินชีวิตเศร้าหมอง @ผู้ทำกิจที่ทำได้ยากยิ่งหลายอย่าง (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๔๖/๑๙๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๕๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค]

                                                                 ๗. นันทมาณวกปัญหา

[๑๐๘๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) นันทะ ชนทั้งหลายผู้ฉลาดในโลกนี้ ย่อมไม่เรียกบุคคลว่า เป็นมุนี เพราะได้เห็น ได้ฟังและได้รู้ เราเรียกเหล่าชนผู้กำจัดเสนามารได้แล้ว ผู้ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวจาริกอยู่ว่า เป็นมุนี [๑๐๘๖] (นันทมาณพทูลถามดังนี้) สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด เพราะรูปที่เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง เพราะศีลและวัตรบ้าง เพราะพิธีหลากหลายบ้าง ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์ สมณพราหมณ์พวกนั้นผู้ประพฤติตนเคร่งครัดในหลักการของตนนั้น ข้ามชาติและชราได้บ้างหรือไม่ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด [๑๐๘๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ) สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวความหมดจด เพราะรูปที่เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตรบ้าง ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง สมณพราหมณ์พวกนั้นประพฤติตนเคร่งครัด ในหลักการของตนนั้นก็จริง แต่เรากล่าวว่า พวกเขายังข้ามชาติและชราไปไม่ได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๖๐}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค]

                                                                 ๗. นันทมาณวกปัญหา

[๑๐๘๘] (นันทมาณพทูลถามดังนี้) สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด เพราะรูปที่เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตรบ้าง ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง หากพระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสว่า สมณพราหมณ์พวกนั้นยังข้ามห้วงกิเลสไม่ได้ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ชื่อว่าข้ามชาติและชราไปได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด [๑๐๘๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ) เราย่อมไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมด ถูกชาติและชราโอบล้อม นรชนเหล่าใดในโลกนี้ละรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ได้รับรู้ หรือศีลและวัตรได้ทั้งหมด ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว๑- เป็นผู้หมดอาสวะ เรากล่าวว่า นรชนเหล่านั้นแลชื่อว่า ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว @เชิงอรรถ : @ กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว หมายถึงกำหนดรู้ตัณหาได้ด้วยปริญญา ๓ อย่าง คือ (๑) ญาตปริญญา กำหนด @รู้ขั้นรู้จัก คือรู้ว่า นี้คือรูปตัณหาเป็นต้น (๒) ตีรณปริญญา กำหนดรู้ขั้นพิจารณา คือ พิจารณาตัณหาโดย @ความเป็นของไม่เที่ยง (๓) ปหานปริญญา กำหนดรู้ขั้นละ คือ ละตัณหาให้ได้เด็ดขาด (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๕๑/๒๑๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๖๑}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค]

                                                                 ๘. เหมกมาณวกปัญหา

[๑๐๙๐] (นันทมาณพกราบทูลดังนี้) ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสนี้ของพระองค์ ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระโคดม นิพพานที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว นรชนเหล่าใดในโลกนี้ละรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ได้รับรู้ หรือศีลและวัตรได้ทั้งหมด ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ แม้ข้าพระองค์ก็กล่าวว่า นรชนเหล่านั้นชื่อว่า ข้ามห้วงกิเลสได้
นันทมาณวกปัญหาที่ ๗ จบ
๘. เหมกมาณวกปัญหา๑-
ว่าด้วยปัญหาของเหมกมาณพ
[๑๐๙๑] (เหมกมาณพทูลถามดังนี้) ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยตอบแก่ข้าพระองค์ว่า เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้ คำตอบทั้งหมด เป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา คำตอบทั้งหมดนั้น มีแต่จะทำให้ตรึกไปต่างๆ ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีในคำตอบนั้น @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๙-๑๑๒/๒๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๖๒}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๗๕๙-๗๖๒. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=25&page=759&pages=4&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=25&A=20540 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=25&A=20540#p759 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_25 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25 https://84000.org/tipitaka/english/?index_25



จบการแสดงผล หน้าที่ ๗๕๙-๗๖๒.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]