ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

หน้าที่ ๗๗๖-๗๘๐.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค]

                                                                 ปารายนานุคีติคาถา

[๑๑๓๗] บุคคลเมื่อเจริญมรรคอันสูงสุด จะพึงจากที่มิใช่ฝั่งไปถึงฝั่งได้ (เพราะ)มรรคนั้น(เป็นไป)เพื่อให้ถึงฝั่ง เพราะฉะนั้น มรรคนั้นจึงชื่อว่า ปารายนะ
ปารายนานุคีติคาถา๑-
ว่าด้วยเพลงขับตามธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
[๑๑๓๘] (ท่านพระปิงคิยะกล่าวแก่พราหมณ์พาวรีท่ามกลางชุมชนดังนี้) อาตมภาพจักกล่าวบทขับที่เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ปราศจากมลทิน พระปัญญาอันไพบูลย์ ปราศจากกาม ทรงไร้กิเลสดังป่า ผู้เป็นนาคะ ทรงเห็นอย่างใดก็ตรัสบอกอย่างนั้น จะพึงตรัสคำเท็จเพราะเหตุแห่งอะไรเล่า [๑๑๓๙] อาตมภาพจักกล่าวถ้อยคำที่ประกอบด้วยคำสรรเสริญ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงละมลทินและโมหะได้แล้ว ผู้ทรงละความถือตัวและความลบหลู่ได้ ณ บัดนี้ [๑๑๔๐] ท่านพราหมณาจารย์ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้กำจัดความมืด มีสมันตจักขุ ทรงถึงที่สุดโลก ทรงล่วงภพได้ทั้งหมด ไม่มีอาสวะ ทรงละทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว ทรงมีชื่อตามความจริง อาตมภาพได้เข้าเฝ้ามาแล้ว @เชิงอรรถ : @ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๕๖-๑๗๔/๓๘-๔๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๗๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค]

                                                                 ปารายนานุคีติคาถา

[๑๑๔๑] นกพึงละป่าเล็กแล้วมาอาศัยป่าใหญ่ที่มีผลไม้มาก ฉันใด อาตมภาพก็ฉันนั้น ละคณาจารย์ผู้มีทัสสนะแคบ๑- ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เหมือนหงส์โผลงสู่สระใหญ่ ฉะนั้น [๑๑๔๒] ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยตอบแก่อาตมภาพว่า เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้ คำตอบทั้งหมดนั้น เป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา คำตอบทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่างๆ (อาตมภาพจึงไม่ยินดียิ่งในคำตอบนั้น) [๑๑๔๓] พระโคดมทรงเป็นเอกบุรุษ ประทับนั่ง ทำลายความมืดอยู่ ทรงรุ่งเรือง ทรงแผ่รัศมี พระโคดมผู้มีพระญาณอันไพบูลย์ พระโคดมผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์ [๑๑๔๔] ธรรมใดไม่มีอะไรๆ ที่ไหนเปรียบได้ พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่จำกัดกาล เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่อาตมภาพ [๑๑๔๕] (พราหมณ์พาวรีกล่าวกับท่านพระปิงคิยะดังนี้) ท่านปิงคิยะ เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงอยู่ปราศจากพระโคดมพระองค์นั้น ผู้มีพระญาณอันไพบูลย์ ผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์ สิ้นกาลชั่วครู่ @เชิงอรรถ : @ ทัสสนะแคบ ในที่นี้หมายถึงมีปัญญาน้อย (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๑๔๑/๔๕๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๗๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค]

                                                                 ปารายนานุคีติคาถา

[๑๑๔๖] ธรรมใดไม่มีอะไรๆ ที่ไหนเปรียบได้ พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่จำกัดกาล เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่ท่าน [๑๑๔๗] (ท่านพระปิงคิยะกล่าวดังนี้) ท่านพราหมณ์ อาตมภาพ มิได้อยู่ปราศจากพระโคดมพระองค์นั้น ผู้มีพระญาณอันไพบูลย์ ผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์ สิ้นกาลชั่วครู่ [๑๑๔๘] ธรรมใดไม่มีอะไรๆ ที่ไหนเปรียบได้ พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่จำกัดกาล เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่อาตมภาพ [๑๑๔๙] ท่านพราหมณ์ อาตมภาพไม่ประมาททั้งกลางคืนและกลางวัน เห็นพระโคดมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยใจเหมือนเห็นด้วยตา อาตมภาพนอบน้อมพระองค์อยู่ตลอดราตรี อาตมภาพเข้าใจความไม่อยู่ปราศจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น [๑๑๕๐] ธรรมเหล่านี้ คือ สัทธา ปีติ มนะ และสติ ย่อมไม่หายไปจากศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า พระโคดมผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์ เสด็จไปสู่ทิศใดๆ อาตมภาพเป็นผู้น้อมไปทางทิศนั้นๆ นั่นแล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๗๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค]

                                                                 ปารายนานุคีติคาถา

[๑๑๕๑] อาตมภาพชราแล้ว มีกำลังและเรี่ยวแรงน้อย เพราะเหตุนั้นแล ร่างกายจึงไปในสถานที่ ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ไม่ได้ แต่อาตมภาพไปเฝ้าพระองค์เป็นนิตย์ โดยการไปด้วยความดำริ ท่านพราหมณ์ เพราะว่าใจของอาตมภาพเกาะเกี่ยวอยู่กับสถานที่ ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่นั้น [๑๑๕๒] อาตมภาพนอนดิ้นรนอยู่ในเปือกตม๑- ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่อีกเกาะหนึ่ง๒- ครั้นต่อมา อาตมภาพได้เฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ [๑๑๕๓] (พระผู้มีพระภาคเสด็จมาตรัสดังนี้) วักกลิ ภัทราวุธ และอาฬวิโคดม เป็นผู้มีศรัทธาน้อมไปแล้ว ฉันใด แม้เธอก็จงปล่อยวางศรัทธา ฉันนั้นเหมือนกัน ปิงคิยะ เธอจักถึงฝั่งโน้น(ฝั่งตรงข้าม)แห่งบ่วงมัจจุราช [๑๑๕๔] (ท่านพระปิงคิยะกราบทูลดังนี้) ข้าพระองค์นี้ฟังพระดำรัสของพระมุนีแล้วเลื่อมใสอย่างยิ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีกิเลสเครื่องปิดบังอันเปิดแล้ว ไม่ทรงมีกิเลสดุจตะปูตรึงใจ ทรงมีปฏิภาณ @เชิงอรรถ : @ เปือกตม ในที่นี้หมายถึงกาม (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๖/๓๘๐) @ ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่เกาะหนึ่ง หมายถึงละจากคำสอนของศาสดาหนึ่งไปหาคำสอนของศาสดาหนึ่ง @(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๖/๓๘๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๗๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สุตตุททานคาถา สรุปคาถาที่มีในสุตตนิบาต

[๑๑๕๕] พระผู้มีพระภาคทรงรู้ชัดอธิเทพ๑- ทรงรู้ธรรมที่ทำความเป็นอธิเทพของพระองค์และของคนอื่นทั้งปวง ผู้ทำส่วนสุดแห่งปัญหาทั้งหลาย เพื่อเหล่าชนผู้มีความสงสัยให้กลับรู้ได้ [๑๑๕๖] สภาวะใดไม่มีอะไรๆ ที่ไหนเปรียบได้ สภาวะนั้นอันอะไรนำไปมิได้ ไม่กำเริบ ข้าพระองค์จักถึงสภาวะนั้นแน่แท้ ความสงสัยในสภาวะนั้นไม่มีแก่ข้าพระองค์ ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นผู้มีจิตน้อมไปในสภาวะนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล
ปารายนวรรคที่ ๕ จบ
สุตตุททานคาถา
สรุปคาถาที่มีในสุตตนิบาต
(๑-๒) ในวรรคที่ ๑ มี ๑. อุรคสูตร ๒. ธนิยสูตร ๓. ขัคควิสาณสูตร ๔. กสิภารทวาชสูตร ๕. จุนทสูตร ๖. ปราภวสูตร ๗. วสลสูตร ๘. เมตตสูตร ๙. เหมวตสูตร ๑๐. อาฬวกสูตร ๑๑. วิชยสูตร ๑๒. มุนิสูตร @เชิงอรรถ : @ อธิเทพ หมายถึงเทพ ๓ จำพวก คือ (๑) สมมติเทพ เทวดาโดยสมมติ ได้แก่ พระราชา พระราชกุมาร @พระราชเทวี (๒) อุปัตติเทพ เทวดาโดยกำเนิด ได้แก่ เทวดาชั้นจาตุมหาราช เป็นต้น (๓) วิสุทธิเทพ @เทวดาโดยความบริสุทธิ์ ได้แก่ พระตถาคต สาวกของพระตถาคต พระอรหันตขีณาสพ พระปัจเจกพุทธเจ้า @(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๙/๓๘๗-๓๘๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๘๐}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๗๗๖-๗๘๐. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=25&page=776&pages=5&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=25&A=21002 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=25&A=21002#p776 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_25 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25 https://84000.org/tipitaka/english/?index_25



จบการแสดงผล หน้าที่ ๗๗๖-๗๘๐.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]