ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย มหานิทเทส

หน้าที่ ๑๔๒-๑๔๗.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๖. ชราสุตตนิทเทส

๖. ชราสุตตนิทเทส๑-
อธิบายชราสูตร
ว่าด้วยชรา
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายชราสูตร ดังต่อไปนี้ [๓๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) ชีวิตนี้น้อยนัก มนุษย์ย่อมตายภายใน ๑๐๐ ปี แม้หากผู้ใดจะมีชีวิตอยู่เกินไปกว่านั้น ผู้นั้นก็จะตายเพราะชราแน่แท้
ว่าด้วยชีวิตเป็นของน้อยด้วยเหตุ ๒ ประการ
คำว่า ชีวิต ในคำว่า ชีวิตนี้น้อยนัก อธิบายว่า อายุ ความดำรงอยู่ ความ ดำเนินไป ความให้ชีวิตดำเนินไป ความเคลื่อนไหว ความเป็นไป ความรักษา ความ เป็นอยู่ ชีวิตินทรีย์ อนึ่ง ชีวิตเป็นของน้อยด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ๑. ชีวิตเป็นของน้อย เพราะดำรงอยู่ชั่วเวลาเพียงเล็กน้อย ๒. ชีวิตเป็นของน้อย เพราะมีคุณค่าเพียงเล็กน้อย ชีวิตเป็นของน้อย เพราะดำรงอยู่ชั่วเวลาเพียงเล็กน้อย เป็นอย่างไร คือ ในขณะจิตที่เป็นอดีต ชีวิตเป็นอยู่แล้ว ไม่ใช่กำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่จักเป็นอยู่ ในขณะจิตที่เป็นอนาคต ชีวิตจักเป็นอยู่ ไม่ใช่กำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่เป็นอยู่แล้วในขณะ จิตที่เป็นปัจจุบัน ชีวิตกำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่เป็นอยู่แล้ว ไม่ใช่จักเป็นอยู่ (สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า) @เชิงอรรถ : @ ขุ.สุ. ๒๕/๘๑๑-๘๒๐/๔๙๓-๔๙๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๔๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๖. ชราสุตตนิทเทส

ชีวิต อัตภาพ สุขและทุกข์ทั้งปวง เป็นธรรมที่ประกอบกันขึ้นชั่วขณะจิตเดียว ขณะย่อมหมุนไปอย่างรวดเร็ว เทวดาผู้ดำรงอยู่ได้ตั้ง ๘๔,๐๐๐ กัป ก็มิได้ประกอบด้วยจิต ๒ ดวง(ในขณะจิตเดียว) เป็นอยู่ได้ ขันธ์เหล่าใดของสัตว์ที่ตายไป หรือยังดำรงอยู่ในโลกนี้ดับไปแล้ว ขันธ์เหล่านั้นทั้งหมด เป็นอย่างเดียวกัน ดับไปแล้วก็มิได้สืบต่อกัน ขันธ์ที่แตกไปในอดีตอันหาลำดับมิได้ และขันธ์ที่จะแตกไปในอนาคต มีลักษณะไม่ต่างกับขันธ์ที่ดับในปัจจุบัน สัตว์ไม่เกิดด้วยอนาคตขันธ์ ย่อมดำรงอยู่ด้วยปัจจุบันขันธ์ เพราะจิตแตกดับไป สัตว์โลกชื่อว่า ตายแล้ว นี้เป็นปรมัตถบัญญัติ เพราะมีอายตนะ ๖ เป็นปัจจัย ขันธ์ทั้งหลายที่แปรไปตามฉันทะ ย่อมเป็นไปไม่ขาดสาย เหมือนน้ำไหลไปตามที่ลุ่ม ฉะนั้น ขันธ์ทั้งหลายถึงการทรงตัวอยู่ไม่ได้แตกไปแล้ว กองขันธ์ในอนาคตก็ไม่มี ส่วนขันธ์ที่เกิดแล้วในปัจจุบันก็ดำรงอยู่ เหมือนเมล็ดผักกาดบนปลายเหล็กแหลม ฉะนั้น ความแตกทำลายแห่งขันธ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นเหล่านั้น ปรากฏอยู่ข้างหน้า ขันธ์ทั้งหลายที่มีการแตกเป็นธรรมดา ดำรงอยู่ มิได้รวมกับขันธ์เก่า ขันธ์ทั้งหลายมาโดยสภาวะที่ไม่ปรากฏ แตกทำลายไปแล้ว ก็ไปสู่สภาวะที่ไม่ปรากฏ ย่อมเกิดขึ้นและดับไป เหมือนสายฟ้าแลบในอากาศ ฉะนั้น ชีวิตชื่อว่าเป็นของน้อย เพราะดำรงอยู่ชั่วเวลาเพียงเล็กน้อย เป็นอย่างนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๔๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๖. ชราสุตตนิทเทส

ชีวิตเป็นของน้อย เพราะมีคุณค่าเพียงเล็กน้อย เป็นอย่างไร คือ ชีวิตเกี่ยวเนื่องด้วยลมหายใจเข้า ชีวิตเกี่ยวเนื่องด้วยลมหายใจออก ชีวิต เกี่ยวเนื่องด้วยลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ชีวิตเกี่ยวเนื่องด้วยมหาภูตรูป ชีวิต เกี่ยวเนื่องด้วยอาหารที่กลืนกิน ชีวิตเกี่ยวเนื่องด้วยไฟธาตุ ชีวิตเกี่ยวเนื่องด้วย วิญญาณ มูลเหตุ(กรัชกาย) ของสภาวธรรมเหล่านี้มีกำลังน้อย บุพพเหตุของ สภาวธรรมเหล่านี้มีกำลังน้อย ปัจจัยทั้งหลายมีอารมณ์เป็นต้นมีกำลังน้อย แดนเกิด(ตัณหา) มีกำลังน้อย ธรรมที่เกิดร่วมกันของสภาวธรรมเหล่านี้มีกำลังน้อย ธรรมที่ประกอบกัน (อรูปธรรม)ของสภาวธรรมเหล่านี้มีกำลังน้อย ธรรมที่เกิด พร้อมกันของสภาวธรรมเหล่านี้มีกำลังน้อย กิเลสเครื่องประกอบ(ตัณหา) มีกำลังน้อย สภาวธรรมเหล่านี้แต่ละอย่างมีกำลังน้อยตลอดเวลา สภาวธรรมเหล่านี้แต่ละอย่าง ไม่มั่นคง สภาวธรรมเหล่านี้ต่างก็ทำให้สภาวธรรมอื่นตกล่วงลงไป เพราะสภาวธรรม เหล่านี้ต่างก็ไม่มีความต้านทาน สภาวธรรมเหล่านี้ต่างก็ไม่ดำรงกันและกันอยู่ได้ แม้สภาวธรรมที่ทำให้ธรรมเหล่านี้เกิดก็ไม่มี อนึ่ง ธรรมไรๆ ก็มิได้เสื่อมไปเพราะธรรมไรๆ เพราะขันธ์เหล่านี้ พึงถึงความแตกดับไปโดยประการทั้งปวง ขันธ์เหล่านี้ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยก่อน แม้เหตุปัจจัยที่เกิดก่อนก็แตกดับไปแล้วในก่อน ในกาลไหนๆ ขันธ์ที่เกิดก่อนและที่เกิดภายหลัง จึงไม่ได้เห็นกันและกัน ชีวิตชื่อว่าเป็นของน้อย เพราะมีคุณค่าเพียงเล็กน้อย เป็นอย่างนี้ อนึ่ง เพราะเทียบกับชีวิตของเทวดาชั้นจาตุมหาราช ชีวิตของมนุษย์จึงน้อย คือ เล็กน้อย นิดหน่อย ชั่วขณะ เร็วพลัน ประเดี๋ยวเดียว ตั้งอยู่ไม่นาน ดำรงอยู่ไม่นาน เพราะเทียบกับชีวิตของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ... เทวดาชั้นยามา ... เทวดาชั้นดุสิต ... เทวดาชั้นนิมมานรดี ... เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ... เพราะเทียบเคียงกับชีวิตของ เทวดาชั้นพรหมกายิกา(ผู้นับเนื่องอยู่ในหมู่พรหม) ชีวิตของมนุษย์จึงน้อย คือ เล็ก น้อย นิดหน่อย ชั่วขณะ เร็วพลัน ประเดี๋ยวเดียว ตั้งอยู่ไม่นาน ดำรงอยู่ไม่นาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๔๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๖. ชราสุตตนิทเทส

สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย อายุของมนุษย์น้อย จำต้องไปสู่ปรโลก ต้องประสบกับความตายที่เข้าใจกันอยู่ ควรทำกุศล ประพฤติ พรหมจรรย์ ผู้ที่เกิดมาแล้วไม่ตายไม่มี ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดมีชีวิตยืนนาน ผู้นั้นก็อยู่ ได้เพียง ๑๐๐ ปี หรืออยู่ได้เกินกว่านั้นก็มีน้อย” (พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า) มนุษย์มีอายุน้อย บุคคลผู้ฉลาดพึงดูหมิ่นชีวิตที่น้อยนั้น พึงเร่งประพฤติธรรมเหมือนคนถูกไฟไหม้ศีรษะ ฉะนั้น เพราะความตายจะไม่มาถึงไม่มี๑- วันคืนล่วงเลยไป ชีวิตก็ใกล้หมดสิ้นไป อายุของสัตว์ทั้งหลายก็หมดสิ้นไป เหมือนน้ำในแม่น้ำน้อยจะแห้งไป ฉะนั้น๒- รวมความว่า ชีวิตนี้น้อยนัก คำว่า มนุษย์ย่อมตายภายใน ๑๐๐ ปี อธิบายว่า มนุษย์ย่อมเคลื่อน ตาย สูญหาย สลายไป ในขณะที่เป็นกลละ(น้ำใส)บ้าง ... ในขณะที่เป็นอัพพุทะ(น้ำล้าง เนื้อ)บ้าง ... ในขณะที่เป็นเปสิ(ชิ้นเนื้อ)บ้าง ... ในขณะที่เป็นฆนะ(ก้อนเนื้อ)บ้าง ... ในขณะที่เป็นปัญจสาขา(๕ ปุ่ม คือมือ ๒ เท้า ๒ ศีรษะ ๑)บ้าง ขณะคลอด ย่อมเคลื่อน ตาย สูญหาย สลายไปบ้าง ย่อมเคลื่อน ตาย สูญหาย สลายไป ในเรือนคลอดบ้าง มีอายุเพียงครึ่งเดือน ย่อมเคลื่อน ตาย สูญหาย สลายไปบ้าง มีอายุ ๑ เดือน ... มีอายุ ๒ เดือน ... มีอายุ ๓ เดือน ... มีอายุ ๔ เดือน ... มีอายุ ๕ เดือน ... มีอายุ ๖ เดือน ... มีอายุ ๗ เดือน ... มีอายุ ๘ เดือน ... มีอายุ ๙ เดือน ... มีอายุ ๑๐ เดือน ... มีอายุ ๑ ปี ... มีอายุ ๒ ปี ... มีอายุ ๓ ปี ... มีอายุ ๔ ปี ... มีอายุ ๕ ปี ... มีอายุ ๖ ปี ... มีอายุ ๗ ปี ... มีอายุ ๘ ปี ... มีอายุ ๙ ปี ... มีอายุ ๑๐ ปี ... มีอายุ ๒๐ ปี ... มีอายุ ๓๐ ปี ... มีอายุ ๔๐ ปี ... มีอายุ ๕๐ ปี ... มีอายุ ๖๐ ปี ... มีอายุ ๗๐ ปี ... มีอายุ ๘๐ ปี ... มีอายุ ๙๐ ปี ย่อมเคลื่อน ตาย สูญหาย สลายไปบ้าง รวมความว่า มนุษย์ย่อมตายภายใน ๑๐๐ ปี @เชิงอรรถ : @ สํ.ส. ๑๕/๑๔๕/๑๓๐ @ สํ.ส. ๑๕/๑๔๖/๑๓๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๔๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๖. ชราสุตตนิทเทส

คำว่า แม้หากผู้ใดจะมีชีวิตอยู่เกินไปกว่านั้น อธิบายว่า ผู้ใดอยู่ได้เกิน ๑๐๐ ปี ผู้นั้นก็อยู่ได้อีก ๑ ปีบ้าง ... ๒ ปีบ้าง ... ๓ ปีบ้าง ... ๔ ปีบ้าง ... ๕ ปีบ้าง ... ๒๐ ปีบ้าง ... ๓๐ ปีบ้าง ... ผู้นั้นก็อยู่ได้อีก ๔๐ ปีบ้าง รวมความว่า แม้หากผู้ใด จะมีชีวิตอยู่เกินไปกว่านั้น คำว่า ผู้นั้นก็จะตายเพราะชราแน่แท้ อธิบายว่า เมื่อผู้ใดชรา คือ สูงอายุ เป็นผู้เฒ่า ล่วงกาลมามาก ผ่านวัยมามาก มีฟันหัก ผมหงอก ผมบาง ศีรษะล้าน หนังย่น ตัวตกกระ หลังโกง หลังค่อม ถือไม้เท้ายันกาย ผู้นั้นก็ย่อมเคลื่อน ตาย สูญหาย สลายไปเพราะชรา ไม่มีความหลุดพ้นจากความตายไปได้ (สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า) สัตว์ที่เกิดมาแล้ว มีภัยจากความตายเป็นนิจ เหมือนผลไม้สุกแล้ว มีภัยจากการหล่นไปในเวลาเช้า ฉะนั้น ภาชนะดินที่ช่างหม้อทำไว้ทั้งหมดมีความแตกเป็นที่สุด ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เป็นฉันนั้น มนุษย์ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ โง่ และฉลาดทั้งหมด ย่อมไปสู่อำนาจของความตาย มีความตายรออยู่ข้างหน้า เมื่อมนุษย์เหล่านั้นผู้ถูกความตายครอบงำอยู่ กำลังจะไปจากโลกนี้สู่ปรโลก บิดาก็ปกป้องบุตรไม่ได้ หรือหมู่ญาติก็ปกป้องหมู่ญาติไม่ได้ เมื่อพวกญาติกำลังเพ่งมองดูอยู่ รำพันกันเป็นอันมากอยู่นั่นแหละว่า จงดูสัตว์แต่ละตนๆ ถูกความตายนำไป เหมือนโคถูกนำไปฆ่าฉะนั้น สัตว์โลกถูกความแก่และความตายครอบงำอยู่อย่างนี้๑- @เชิงอรรถ : @ ขุ.สุ. ๒๕/๕๘๒-๕๘๗/๔๕๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๔๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๖. ชราสุตตนิทเทส

รวมความว่า ผู้นั้นก็จะตายเพราะชราแน่แท้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง ตรัสว่า ชีวิตนี้น้อยนัก มนุษย์ย่อมตายภายใน ๑๐๐ ปี แม้หากผู้ใดจะมีชีวิตอยู่เกินไปกว่านั้น ผู้นั้นก็จะตายเพราะชราแน่แท้ [๔๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) ชนทั้งหลาย ย่อมเศร้าโศกเพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา เพราะความยึดถือที่เที่ยงแท้ไม่มีอยู่ ความพลัดพรากจากกันนี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง กุลบุตรเห็นดังนี้แล้ว ก็ไม่พึงครองเรือน
ว่าด้วยคนเศร้าโศกเพราะการยึดถือ
คำว่า ชนทั้งหลาย ในคำว่า ชนทั้งหลาย ย่อมเศร้าโศกเพราะวัตถุที่ยึดถือ ว่าเป็นของเรา ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร บรรพชิต เทวดา และมนุษย์ ทั้งหลาย คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา ๒ อย่าง คือ (๑) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือว่าเป็นของเรา ด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่า ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ๑- ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่าวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา จักถูกแย่งชิงไป ย่อม เศร้าโศกบ้าง เมื่อวัตถุนั้นกำลังถูกแย่งชิงไป ย่อมเศร้าโศกบ้าง เมื่อวัตถุนั้นถูก แย่งชิงไปแล้ว ย่อมเศร้าโศกบ้าง ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่า วัตถุที่ตนยึดถือว่า เป็นของเราจักแปรผันไป ย่อมเศร้าโศกบ้าง เมื่อวัตถุนั้นกำลังแปรผันไป ย่อมเศร้าโศก บ้าง เมื่อวัตถุนั้นแปรผันไปแล้ว ย่อมเศร้าโศกบ้าง คือ ลำบากใจ คร่ำครวญ ตีอกพร่ำเพ้อ ถึงความหลงใหล รวมความว่า ชนทั้งหลาย ย่อมเศร้าโศกเพราะวัตถุ ที่ยึดถือว่าเป็นของเรา @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๑๒/๕๘-๕๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๔๗}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๙ หน้าที่ ๑๔๒-๑๔๗. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=29&page=142&pages=6&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=29&A=4227 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=29&A=4227#p142 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 29 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29



จบการแสดงผล หน้าที่ ๑๔๒-๑๔๗.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]