ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย มหานิทเทส

หน้าที่ ๑๗๓-๑๗๕.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส

คำว่า ของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนืองๆ ได้แก่ ของบุคคลผู้ประกอบ ประกอบทั่ว ประกอบทั่วถึง ประกอบพร้อมในเมถุนธรรม คือ ผู้ประพฤติเรื่องนั้น มากไปด้วยเรื่องนั้น หนักในเรื่องนั้น เอนไปในเรื่องนั้น โอนไปในเรื่องนั้น โน้มไปใน เรื่องนั้น น้อมใจไปในเรื่องนั้น มุ่งเรื่องนั้นเป็นใหญ่ รวมความว่า ของบุคคลผู้ ประกอบเมถุนธรรมเนืองๆ
อธิบายคำว่า ภควา
คำว่า เมตเตยยะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพระเถระนั้นโดยโคตร คำว่า พระผู้มีพระภาค เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายราคะได้แล้ว ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโทสะได้แล้ว ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโมหะได้แล้ว ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายมานะได้แล้ว ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายทิฏฐิได้แล้ว ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายเสี้ยนหนามได้แล้ว ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายกิเลสได้แล้ว ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงจำแนก แยกแยะ แจกแจงธรรมรัตนะ ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำที่สุดแห่งภพได้ ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมพระวรกายแล้ว ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญาแล้ว อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงใช้สอยเสนาสนะที่เป็นป่าละเมาะและป่าทึบ อันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็น สถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๗๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส

อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งอรรถรส๑- ธรรมรส๒- วิมุตติรส๓- อธิสีล อธิจิต อธิปัญญา จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งฌาน ๔ อัปปมัญญา ๔ อรูปสมาบัติ ๔ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งวิโมกข์ ๘ อภิภายตนะ๔- ๘ อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสัญญาภาวนา ๑๐ กสิณสมาบัติ๕- ๑๐ อานาปานสติสมาธิ๖- อสุภสมาบัติ๗- จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ จึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาค @เชิงอรรถ : @ อรรถรส หมายถึงความถึงพร้อมแห่งผลของเหตุ (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๕) @ ธรรมรส หมายถึงความถึงพร้อมแห่งเหตุ (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๕) @ วิมุตติรส หมายถึงความถึงพร้อมแห่งผล (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๕) @ อภิภายตนะ คือฌานที่ครอบงำนิวรณธรรมและอารมณ์ที่เล็กหรือใหญ่ได้ (ม.ม. ๑๓/๒๔๙/๒๒๔) @ กสิณสมาบัติ หมายถึงภาวะสงบประณีตซึ่งพึงเข้าถึงด้วยการกำหนดวัตถุสำหรับเพ่งเพื่อจูงจิตให้เป็นสมาธิ @ได้แก่ ฌาน ๑๐ มีปฐวีกสิณฌานเป็นต้น (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖) @ อานาปานสติสมาธิ ได้แก่สมาธิเกี่ยวเนื่องด้วยการตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖) @ อสุภสมาบัติ หมายถึงภาวะสงบประณีตซึ่งพึงเข้าถึงด้วยการพิจารณาร่างกายของตนและผู้อื่นให้ @เห็นสภาพที่ไม่งาม หมายถึงซากศพในสภาพต่างๆ ๑๐ อย่าง คือ (๑) ซากศพที่เน่าพอง (๒) ซากศพ @ที่มีสีเขียว (๓) ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหล (๔) ซากศพที่ขาดกลางตัว (๕) ซากศพที่สัตว์กัดกินแล้ว (๖) ซาก @ศพที่มีมือเท้าศีรษะขาด (๗) ซากศพที่ถูกสับ ฟัน เป็นท่อนๆ (๘) ซากศพที่มีโลหิตไหลอยู่ (๙) ซากศพ @ที่มีตัวหนอนคลาคล่ำไปอยู่ (๑๐) ซากศพที่ยังเหลืออยู่แต่ร่างกระดูก (วิสุทฺธิ. ๑/๑๐๒/๑๙๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๗๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส

อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งตถาคตพลญาณ๑- ๑๐ เวสารัชชญาณ๒- ๔ ปฏิสัมภิทา๓- ๔ อภิญญา๔- ๖ พุทธธรรม๕- ๖ จึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาค พระนามว่า พระผู้มีพระภาค นี้ มิใช่พระชนนีทรงตั้ง มิใช่พระชนกทรงตั้ง มิใช่พระภาดาทรงตั้ง มิใช่พระภคินีทรงตั้ง มิใช่มิตรและอำมาตย์ตั้ง มิใช่พระญาติและ ผู้ร่วมสายโลหิตทรงตั้ง มิใช่สมณพราหมณ์ตั้ง มิใช่เทวดาตั้ง คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม(พระนามในลำดับการบรรลุ อรหัตตผล)เป็นสัจฉิกาบัญญัติ(บัญญัติที่เกิดเพราะทรงรู้แจ้งอรหัตตผล) ของพระผู้- มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พร้อมกับการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ที่โคนต้นโพธิ์ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมตเตยยะ @เชิงอรรถ : @ ตถาคตพลญาณ หมายถึงพระญาณอันเป็นกำลังของพระตถาคต ๑๐ ประการ ที่ทำให้พระองค์บันลือ @สีหนาท ประกาศพระศาสนาได้มั่นคง คือ (๑) ฐานาฐานญาณ ปรีชาหยั่งรู้กฎธรรมชาติเกี่ยวกับขอบเขต @และขีดขั้นของสิ่งทั้งหลาย (๒) กัมมวิปากญาณ ปรีชาหยั่งรู้ผลของกรรม (๓) สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ @ปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่คติทั้งปวง หรือสู่ประโยชน์ทั้งปวง (๔) นานาธาตุญาณ ปรีชาหยั่งรู้สภาวะ @ของโลกอันประกอบด้วยธาตุต่างๆ เป็นอเนก (๕) นานาธิมุตติกญาณ ปรีชาหยั่งรู้อัธยาศัยเป็นต้น ของ @สัตว์ทั้งหลาย (๖) อินทริยปโรปริยัตตญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย (๗) @ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว เป็นต้น (๘) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ @ปรีชาหยั่งรู้ภพที่เคยอยู่ในหนหลังได้ (๙) จุตูปปาตญาณ ปรีชาหยั่งรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย (๑๐) @อาสวักขยญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย (องฺ.ทสก. ๒๔/๒๑/๒๖-๒๙) @ เวสารัชชญาณ ๔ คือพระญาณอันเป็นเหตุให้ทรงแกล้วกล้า ไม่ครั่นคร้าม @๑. สัมมาสัมพุทธปฏิญญา ๒. ขีณาสวปฏิญญา @๓. อันตรายิกธัมมวาทะ ๔. นิยยานิกธัมมเทสนา (ม.มู. ๑๒/๑๕๐/๑๑๐-๑๑๑) @ ปฏิสัมภิทา ๔ หมายถึงปัญญาแตกฉาน ๔ อย่างคือ @(๑) อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ ปรีชาแจ้งในความหมาย @(๒) ธัมมปฏิสัมปทา ปัญญาแตกฉานในธรรม ปรีชาแจ้งในหลัก @(๓) นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ ปรีชาแจ้งในภาษา ศัพท์ ถ้อยคำบัญญัติ @(๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ ปรีชาแจ้งในความคิดทันการ มีไหวพริบ @(องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๗๒/๑๘๓-๑๘๔) @ อภิญญา ๖ ดูเชิงอรรถข้อ ๓๘/๑๔๑ @ พุทธธรรม ๖ หมายถึงพระปัญญาจักขุของพระพุทธเจ้า ที่ทรงทราบกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมทั้งหมด @เป็นต้น (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖) และดูรายละเอียดข้อ ๑๙๑/๕๔๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๗๕}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๙ หน้าที่ ๑๗๓-๑๗๕. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=29&page=173&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=29&A=5154 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=29&A=5154#p173 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 29 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29



จบการแสดงผล หน้าที่ ๑๗๓-๑๗๕.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]