ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย มหานิทเทส

หน้าที่ ๔๐๕-๔๑๑.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส

๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส๑-
อธิบายตุวฏกสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้กำจัดบาปธรรมอย่างเร็วพลัน
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายตุวฏกสูตร ดังต่อไปนี้ [๑๕๐] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า) ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ ผู้มีวิเวก มีสันติบท ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ว่า ภิกษุเห็นอย่างไร จึงไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดับไป
ว่าด้วยการถาม ๓ อย่าง
คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ อธิบายว่า คำว่า ทูลถาม ได้แก่ การถาม ๓ อย่าง คือ ๑. การถามเพื่อทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น ๒. การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว ๓. การถามเพื่อตัดความสงสัย การถามเพื่อทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น เป็นอย่างไร คือ โดยปกติลักษณะใด ตนยังไม่รู้ ยังไม่เห็น ยังมิได้เทียบเคียง ยังมิได้ พิจารณา ยังมิได้ทำให้กระจ่าง ยังมิได้ทำให้แจ่มแจ้ง ก็ถามปัญหาเพื่อรู้ เพื่อเห็น เพื่อเทียบเคียง เพื่อพิจารณา เพื่อทำให้ลักษณะนั้นแจ่มแจ้ง นี้ชื่อว่าการถามเพื่อ ทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น @เชิงอรรถ : @ ขุ.สุ. ๒๕/๙๒๒-๙๔๑/๕๑๔-๕๑๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๔๐๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส

การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว เป็นอย่างไร คือ โดยปกติลักษณะใด ตนรู้ เห็น เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว ก็ถามปัญหา เพื่อเทียบเคียงลักษณะนั้นกับบัณฑิตอื่น นี้ชื่อว่า การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว การถามเพื่อตัดความสงสัย เป็นอย่างไร คือ โดยปกติบุคคลเป็นผู้แล่นไปสู่ความสงสัย แล่นไปสู่ความเคลือบแคลง เกิดความคิดเป็น ๒ แง่ว่า “เป็นอย่างนี้หรือไม่หนอ เป็นอะไรหรือ เป็นอย่างไรหนอ” เขาก็ถามปัญหา เพื่อตัดความสงสัย นี้ชื่อว่าการถามเพื่อตัดความสงสัย เหล่านี้ ชื่อว่าการถาม ๓ อย่าง การถามอีก ๓ อย่าง คือ ๑. การถามของมนุษย์ ๒. การถามของอมนุษย์ ๓. การถามของรูปเนรมิต การถามของมนุษย์ เป็นอย่างไร คือ พวกมนุษย์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าแล้ว ทูลถามปัญหา คือ พวก ภิกษุก็ทูลถาม ภิกษุณีก็ทูลถาม อุบาสกก็ทูลถาม อุบาสิกาก็ทูลถาม พระราชาก็ทูล ถาม กษัตริย์ก็ทูลถาม พราหมณ์ก็ทูลถาม แพศย์ก็ทูลถาม ศูทรก็ทูลถาม คฤหัสถ์ก็ ทูลถาม บรรพชิตก็ทูลถาม นี้ชื่อว่าการถามของมนุษย์ การถามของอมนุษย์ เป็นอย่างไร คือ พวกอมนุษย์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าแล้ว ทูลถามปัญหา คือ พวก นาคก็ทูลถาม ครุฑก็ทูลถาม ยักษ์ก็ทูลถาม อสูรก็ทูลถาม คนธรรพ์ก็ทูลถาม ท้าวมหาราชก็ทูลถาม พระอินทร์ก็ทูลถาม พระพรหมก็ทูลถาม เทวดาก็ทูลถาม นี้ชื่อว่าการถามของอมนุษย์ การถามของรูปเนรมิต เป็นอย่างไร คือ พระผู้มีพระภาคทรงเนรมิตพระรูปใด ซึ่งสำเร็จด้วยพระทัย มีอวัยวะน้อย ใหญ่ครบทุกอย่าง มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง พระรูปเนรมิตนั้น เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค พุทธเจ้าแล้ว ก็ทูลถามปัญหา พระผู้มีพระภาคทรงวิสัชนา นี้ชื่อว่าการถามของรูป เนรมิต เหล่านี้ชื่อว่าการถามอีก ๓ อย่าง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๔๐๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส

การถามอีก ๓ อย่าง คือ ๑. การถามเพื่อประโยชน์ตน ๒. การถามเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ๓. การถามเพื่อประโยชน์ตนและผู้อื่น การถามอีก ๓ อย่าง คือ ๑. การถามเพื่อประโยชน์ในภพปัจจุบัน ๒. การถามเพื่อประโยชน์ในภพหน้า ๓. การถามเพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง การถามอีก ๓ อย่าง คือ ๑. การถามเพื่อประโยชน์ที่ไม่มีโทษ ๒. การถามเพื่อประโยชน์ที่ปราศจากกิเลส ๓. การถามเพื่อประโยชน์ที่ผุดผ่อง การถามอีก ๓ อย่าง คือ ๑. การถามถึงอดีต ๒. การถามถึงอนาคต ๓. การถามถึงปัจจุบัน การถามอีก ๓ อย่าง คือ ๑. การถามถึงเรื่องภายใน ๒. การถามถึงเรื่องภายนอก ๓. การถามถึงเรื่องทั้งภายในและภายนอก การถามอีก ๓ อย่าง คือ ๑. การถามถึงกุศลธรรม ๒. การถามถึงอกุศลธรรม ๓. การถามถึงอัพยากตธรรม การถามอีก ๓ อย่าง คือ ๑. การถามถึงขันธ์ ๒. การถามถึงธาตุ ๓. การถามถึงอายตนะ การถามอีก ๓ อย่าง คือ ๑. การถามถึงสติปัฏฐาน ๒. การถามถึงสัมมัปปธาน ๓. การถามถึงอิทธิบาท {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๔๐๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส

การถามอีก ๓ อย่าง คือ ๑. การถามถึงอินทรีย์ ๒. การถามถึงพละ ๓. การถามถึงโพชฌงค์ การถามอีก ๓ อย่าง คือ ๑. การถามถึงมรรค ๒. การถามถึงผล ๓. การถามถึงนิพพาน คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ อธิบายว่า ข้าพระองค์ขอทูลถาม พระองค์ คือ ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ประกาศว่า “ขอโปรดตรัสบอกข้อนั้นแก่ ข้าพระองค์เถิด” รวมความว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ คำว่า ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ อธิบายว่า พระสุริยะ ตรัสเรียกว่า พระอาทิตย์ พระสุริยะชื่อว่าเป็นพระโคดมโดยพระโคตร แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรง เป็นพระโคดมโดยพระโคตร พระผู้มีพระภาคจึงทรงปรากฏโดยโคตรพระอาทิตย์ คือ ทรงเป็นเผ่าพันธุ์โดยโคตรพระอาทิตย์ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้า จึงชื่อว่าผู้ทรงเป็น เผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ รวมความว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์ พระอาทิตย์
ว่าด้วยวิเวก ๓ อย่าง
คำว่า ผู้มีวิเวก มีสันติบท ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อธิบายว่า คำว่า วิเวก ได้แก่ วิเวก ๓ อย่าง คือ ๑. กายวิเวก ๒. จิตตวิเวก ๓. อุปธิวิเวก กายวิเวก เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมใช้สอยเสนาสนะที่สงัด คือ ป่า โคนต้นไม้ ภูเขา ซอกเขา ช่องเขา สุสาน ป่าดงดิบ กลางแจ้ง ลอมฟาง และมีกายสงัดอยู่ คือ เดิน รูปเดียว ยืนรูปเดียว นั่งรูปเดียว นอนรูปเดียว เข้าหมู่บ้านบิณฑบาตรูปเดียว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๔๐๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส

กลับรูปเดียว นั่งในที่ลับรูปเดียว อธิษฐานจงกรมรูปเดียว เที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปรูปเดียว นี้ชื่อว่ากายวิเวก จิตตวิเวก เป็นอย่างไร คือ ผู้บรรลุปฐมฌานย่อมมีจิตสงัดจากนิวรณ์ ผู้บรรลุทุติยฌานย่อมมีจิตสงัด จากวิตกและวิจาร ผู้บรรลุตติยฌานย่อมมีจิตสงัดจากปีติ ผู้บรรลุจตุตถฌานย่อมมี จิตสงัดจากสุขและทุกข์ ผู้บรรลุอากาสานัญจายตนสมาบัติ ย่อมมีจิตสงัดจาก รูปสัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา ผู้บรรลุวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ย่อมมีจิต สงัดจากอากาสานัญจายตนสัญญา ผู้บรรลุอากิญจัญญายตนสมาบัติ ย่อมมีจิตสงัด จากวิญญาณัญจายตนสัญญา ผู้บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ย่อมมีจิต สงัดจากอากิญจัญญายตนสัญญา ผู้เป็นพระโสดาบัน ย่อมมีจิตสงัดจากสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย และเหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียวกับสักกายทิฏฐิเป็นต้นนั้น ผู้เป็นพระสกทาคามี ย่อมมีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ อย่าง หยาบ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อย่างหยาบ และเหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียวกับ กามราคสังโยชน์เป็นต้นนั้น ผู้เป็นพระอนาคามี ย่อมมีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ อย่าง ละเอียด กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อย่างละเอียด และเหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียว กับกามราคสังโยชน์เป็นต้นนั้น ผู้เป็นพระอรหันต์ ย่อมมีจิตสงัดจากรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย เหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียวกับ รูปราคะเป็นต้นนั้น และสังขารนิมิตทั้งปวงในภายนอก นี้ชื่อว่าจิตตวิเวก อุปธิวิเวก เป็นอย่างไร คือ กิเลสก็ดี ขันธ์ก็ดี อภิสังขารก็ดี ตรัสเรียกว่า อุปธิ อมตนิพพาน ตรัส เรียกว่า อุปธิวิเวก คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท นี้ชื่อว่า อุปธิวิเวก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๔๐๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส

กายวิเวก ย่อมมีแก่บุคคลผู้มีกายหลีกออกแล้ว ยินดีในเนกขัมมะ จิตตวิเวก ย่อมมีแก่บุคคลผู้มีจิตบริสุทธิ์ ถึงความเป็นผู้ผ่องแผ้วยิ่ง และอุปธิวิเวก ย่อมมีแก่ บุคคลผู้ปราศจากอุปธิ บรรลุนิพพานอันปราศจากปัจจัยปรุงแต่งแล้ว คำว่า สันติ อธิบายว่า ทั้งสันติ และสันติบท มีความหมายอย่างเดียวกัน สันติบทนั้นนั่นเองคือ อมตนิพพาน ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัด ทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่ สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็น สนิท นี้เป็นบทสงบ เป็นบทประณีต อีกนัยหนึ่ง โดยความหมายต่างกัน ธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อบรรลุความสงบ ถูกต้องความสงบ ทำให้แจ้งความสงบ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ธรรมเหล่านี้ ตรัสเรียกว่า สันติบท(ทางสงบ) ตาณบท(ทางปกป้อง) เลณบท(ทางหลีกเร้น) สรณบท(ทางเป็นที่พึ่ง) อภยบท(ทางไม่มีภัย) อัจจุตบท(ทางที่ไม่จุติ) อมตบท(ทาง อมตธรรม) นิพพานบท(ทางนิพพาน) คำว่า ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้แก่ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงแสวงหาคุณ อันยิ่งใหญ่ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา คือ ค้นหา เสาะหา สีลขันธ์ใหญ่ จึงชื่อว่าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา คือ ค้นหา เสาะหา สมาธิขันธ์ใหญ่... ปัญญา- ขันธ์ใหญ่... วิมุตติขันธ์ใหญ่... วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ใหญ่ จึงชื่อว่าผู้ทรงแสวงหา คุณอันยิ่งใหญ่ พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา คือ ค้นหา เสาะหาเครื่องทำลายกองความ มืดใหญ่ เครื่องทำลายความวิปลาสใหญ่ เครื่องถอนลูกศรคือตัณหาใหญ่ เครื่อง ปลดเปลื้องโครงทิฏฐิใหญ่ เครื่องกำจัดธงคือมานะใหญ่ เครื่องเข้าไปสงบอภิสังขาร ใหญ่ เครื่องปิดกั้นโอฆะใหญ่ เครื่องวางภาระใหญ่ เครื่องตัดสังสารวัฏใหญ่ เครื่อง ดับความเดือดร้อนใหญ่ เครื่องระงับความเร่าร้อนใหญ่ เครื่องยกธงคือธรรมใหญ่ จึงชื่อว่าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๔๑๐}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส

พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา คือ ค้นหา เสาะหาสติปัฏฐานใหญ่ สัมมัปปธาน ใหญ่ อิทธิบาทใหญ่ อินทรีย์ใหญ่ พละใหญ่ โพชฌงค์ใหญ่ อริยมรรคมีองค์ ๘ ใหญ่ ปรมัตถอมตนิพพานใหญ่ จึงชื่อว่าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ที่เหล่าสัตว์มเหศักดิ์แสวงหา คือ ค้นหา เสาะหาว่า พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ไหน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ไหน พระผู้ ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพประทับอยู่ที่ไหน พระผู้ทรงองอาจกว่านรชนประทับอยู่ที่ไหน จึงชื่อว่าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ รวมความว่า ผู้มีวิเวก มีสันติบท ทรงแสวงหา คุณอันยิ่งใหญ่ คำว่า ภิกษุเห็นอย่างไร... ดับไป อธิบายว่า ภิกษุเห็น คือ แลเห็น เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้ง อย่างไร จึงทำให้ราคะของตนดับไป ทำให้ โทสะของตนดับไป ทำให้โมหะของตนดับไป ทำให้โกธะ... อุปนาหะ... มักขะ... ปฬาสะ... อิสสา... มัจฉริยะ... มายา... สาเถยยะ... ถัมภะ... สารัมภะ... มานะ... อติมานะ... มทะ... ปมาทะ... กิเลสทุกชนิด... ทุจริตทุกทาง... ความกระวนกระวายทุกอย่าง... ความเร่าร้อนทุกสถาน... ความเดือดร้อนทุกประการ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท ดับไป คือ ทำให้สงบ ให้เข้าไปสงบ ให้สงบเย็น ระงับเสียได้ คำว่า ภิกษุ ได้แก่ ภิกษุผู้เป็นกัลยาณปุถุชน หรือ ภิกษุผู้เป็นพระเสขะ รวม ความว่า ภิกษุเห็นอย่างไร... ดับไป คำว่า จึงไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ได้แก่ ไม่ถือมั่น คือ ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ๔ คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก คำว่า อะไรๆ ได้แก่ อะไรๆ ที่เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมความว่า จึงไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ด้วยเหตุนั้น พระพุทธเนรมิตจึงทูลถามว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ ผู้มีวิเวก มีสันติบท ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ว่า ภิกษุเห็นอย่างไร จึงไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดับไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๔๑๑}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๙ หน้าที่ ๔๐๕-๔๑๑. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=29&page=405&pages=7&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=29&A=12022 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=29&A=12022#p405 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 29 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29



จบการแสดงผล หน้าที่ ๔๐๕-๔๑๑.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]