ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย มหานิทเทส

หน้าที่ ๔๒๔-๔๓๐.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส

๕. กิเลสเครื่องฟูใจคือทิฏฐิ ๖. กิเลสเครื่องฟูใจคือกิเลส ๗. กิเลสเครื่องฟูใจคือกรรม ภิกษุไม่พึงก่อกิเลสเครื่องฟูใจนั้น คือ ไม่พึงให้เกิด ไม่พึงให้เกิดขึ้น ไม่พึงให้ บังเกิด ไม่พึงให้บังเกิดขึ้น คำว่า ในที่ไหนๆ ได้แก่ ในที่ไหน คือ ที่ไหนๆ ที่ไรๆ ภายใน ภายนอก หรือทั้งภายในและภายนอก รวมความว่า ภิกษุไม่พึงก่อกิเลสเครื่องฟูใจ ในที่ไหนๆ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า คลื่นไม่เกิดในส่วนกลางทะเล ทะเลเรียบอยู่ ฉันใด ภิกษุพึงเป็นผู้มั่นคง ไม่หวั่นไหว ฉันนั้น ภิกษุไม่พึงก่อกิเลสเครื่องฟูใจในที่ไหนๆ [๑๕๖] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า) พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุแจ่มแจ้ง ได้ทรงแสดงธรรมที่เป็นพยาน อันเป็นเครื่องกำจัดอันตราย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปฏิปทา คือปาติโมกข์ หรือแม้สมาธิ คำว่า ได้ทรงแสดง ในคำว่า พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุแจ่มแจ้ง ได้ทรงแสดง ได้แก่ ได้ทรงแสดง คือ ได้ทรงชี้แจง ตรัสบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า ได้ทรงแสดง
ว่าด้วยพระจักษุ ๕ ชนิด
คำว่า ผู้มีพระจักษุแจ่มแจ้ง อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแจ่มแจ้ง ด้วยพระจักษุ ๕ ชนิด คือ ๑. มีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยมังสจักขุบ้าง ๒. มีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยทิพพจักขุบ้าง ๓. มีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยปัญญาจักขุบ้าง ๔. มีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยพุทธจักขุบ้าง ๕. มีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยสมันตจักขุบ้าง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๔๒๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส

พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยมังสจักขุ เป็นอย่างไร คือ ในพระมังสจักขุของพระผู้มีพระภาค มีสีอยู่ ๕ สี คือ (๑) สีเขียว (๒) สีเหลือง (๓) สีแดง (๔) สีดำ (๕) สีขาว ณ ที่ที่มีขนพระเนตรขึ้น มีสีเขียว เขียวสนิท น่าชม น่าดู ดุจดอกผักตบ ต่อจากนั้น ก็เป็นสีเหลือง เหลืองสนิท สีเหมือนทองคำ น่าชม น่าดู ดุจดอกกรรณิการ์ เบ้าพระเนตรทั้งสองข้างของ พระผู้มีพระภาคมีสีแดง แดงสนิท น่าชม น่าดู ดุจสีปีกแมลงทับ กลางดวงพระเนตร มีสีดำ ดำเข้ม ไม่เศร้าหมอง สนิท น่าชม น่าดู ดุจสีสมอดำ ต่อจากนั้น เป็นสีขาว ขาวสนิท เปล่งปลั่ง ขาวนวล น่าชม น่าดู ดุจสีดาวประกายพฤกษ์ พระผู้มีพระภาค มีพระมังสจักขุนั้นอยู่โดยปกติ เนื่องในพระอัตภาพ เกิดด้วยสุจริตกรรมที่ทรง สั่งสมมาในภพก่อน ทรงมองเห็นตลอด ๑ โยชน์โดยรอบ ทั้งกลางวันและกลางคืน แม้ในเวลาที่มีความมืดประกอบด้วยองค์ ๔ คือ (๑) ดวงอาทิตย์ตกไปแล้ว (๒) เป็น วันอุโบสถข้างแรม (๓) ป่าชัฏรกทึบ (๔) มีเมฆก้อนใหญ่ผุดขึ้นมา ในความมืดที่ ประกอบด้วยองค์ ๔ อย่างนี้ พระองค์ก็ทรงมองเห็นได้ตลอด ๑ โยชน์โดยรอบ ไม่ มีหลุม บานประตู กำแพง ภูเขา กอไม้ หรือเถาวัลย์มาปิดกั้นการเห็นรูปทั้งหลายได้ หากบุคคลเอางาเมล็ดเดียวทำเครื่องหมาย แล้วใส่ลงในเกวียนบรรทุกงา พระผู้มี- พระภาคก็ทรงสามารถหยิบเอาเมล็ดงานั้นขึ้นมาได้ พระมังสจักขุตามปกติของพระผู้ มีพระภาค บริสุทธิ์อย่างนี้ พระผู้มีพระภาค ชื่อว่ามีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยมังสจักขุ เป็นอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยทิพพจักขุ เป็นอย่างไร คือ พระผู้มีพระภาคทรงเห็นหมู่สัตว์ ซึ่งกำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต ผิวพรรณดี ผิวพรรณทราม ไปดี ตกยาก ด้วยทิพพจักขุอันหมดจดล่วงจักษุมนุษย์ ทรงทราบหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า “สัตว์เหล่านี้แหละหนอ ประกอบด้วยกาย- ทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วย อำนาจมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้ว สัตว์เหล่านั้นก็เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่สัตว์เหล่านี้ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ เป็น สัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ หลังจากตายแล้ว สัตว์เหล่านั้น ก็เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์” พระผู้มีพระภาคทรงเห็นหมู่สัตว์ ซึ่งกำลังจุติ กำลังอุบัติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๔๒๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส

เลว ประณีต ผิวพรรณดี ผิวพรรณทราม ไปดี ตกยาก ด้วยทิพพจักขุ อันหมดจด ล่วงจักษุมนุษย์ ทรงทราบหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม และพระผู้มีพระภาคเมื่อทรง ประสงค์ พึงทรงเห็นได้แม้ ๑ โลกธาตุ... แม้ ๒ โลกธาตุ... แม้ ๓ โลกธาตุ... แม้ ๔ โลกธาตุ... แม้ ๕ โลกธาตุ... แม้ ๑๐ โลกธาตุ... แม้ ๒๐ โลกธาตุ... แม้ ๓๐ โลกธาตุ... แม้ ๔๐ โลกธาตุ... แม้ ๕๐ โลกธาตุ... แม้ ๑๐๐ โลกธาตุ... โลกธาตุขนาดเล็ก ประกอบด้วย ๑,๐๐๐ จักรวาล... โลกธาตุขนาดกลางประกอบด้วย ๒,๐๐๐ จักรวาล... โลกธาตุขนาดใหญ่ประกอบด้วย ๓,๐๐๐ จักรวาล... แม้โลกธาตุที่ประกอบด้วยหลาย พันจักรวาล พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์เพียงใด ก็พึงทรงเห็นได้เพียงนั้น ทิพพจักขุ ของพระผู้มีพระภาคบริสุทธิ์อย่างนี้ พระผู้มีพระภาค ชื่อว่ามีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วย ทิพพจักขุ เป็นอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยปัญญาจักขุ เป็นอย่างไร คือ พระผู้มีพระภาคผู้มีพระปัญญามาก มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระ ปัญญาอาจหาญ มีพระปัญญาฉับไว มีพระปัญญาเฉียบคม มีพระปัญญาเพิกถอน กิเลสได้ ทรงฉลาดในประเภทแห่งปัญญา มีพระญาณแตกฉาน ทรงบรรลุปฏิสัมภิทา ทรงบรรลุเวสารัชชญาณ ๔ เป็นผู้ทรงทสพลญาณ ทรงเป็นบุรุษองอาจ ทรงเป็น บุรุษดุจราชสีห์ ทรงเป็นบุรุษดุจนาค ทรงเป็นบุรุษอาชาไนย ทรงเป็นบุรุษผู้เอาธุระ มีพระญาณหาที่สุดมิได้ มีพระเดชหาที่สุดมิได้ มีพระยศหาที่สุดมิได้ ทรงมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก ทรงมีปัญญาเป็นทรัพย์ ทรงเป็นผู้นำ เป็นผู้นำไปโดยวิเศษ เป็นผู้ตาม แนะนำ ทรงให้รู้จักประโยชน์ ให้พินิจพิจารณา ทรงเพ่งประโยชน์ ทรงทำให้เลื่อมใสได้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงทำมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทรงทำมรรคที่ยังไม่ เกิดพร้อมให้เกิดพร้อม ตรัสบอกมรรคที่ยังมิได้ตรัสบอก ทรงรู้จักมรรค ทรงรู้แจ้ง มรรค ทรงฉลาดในมรรค และสาวกของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ดำเนินไปตาม มรรคอยู่ในบัดนี้ จะเพียบพร้อมด้วยศีลาทิคุณในภายหลัง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น มีพระจักษุ มีพระธรรม มีพระญาณ เป็นดุจพระพรหม ตรัส บอก นำความหมาย ออกมา ประทานอมตธรรม เป็นพระธรรมสามี เป็นพระตถาคต ไม่มีสิ่งที่พระผู้มี- พระภาคพระองค์นั้นยังไม่ทรงทราบ ไม่ทรงเห็น ไม่ทรงรู้แจ้ง ไม่ทรงทำให้แจ้ง มิได้ ทรงถูกต้องด้วยปัญญา ธรรมทั้งปวงรวมทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน ย่อมมาสู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๔๒๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส

คลองเฉพาะพระญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า โดยอาการทั้งปวง ธรรมดา ประโยชน์ที่ควรแนะนำอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นธรรมที่ควรรู้มีอยู่ คือ ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ประโยชน์ในภพปัจจุบันหรือประโยชน์ ในภพหน้า ประโยชน์ตื้นหรือประโยชน์ลึก ประโยชน์ลี้ลับหรือประโยชน์ปิดบัง ประโยชน์ที่ควรแนะนำหรือประโยชน์ที่แนะนำแล้ว ประโยชน์ที่ไม่มีโทษหรือประโยชน์ ที่ไม่มีกิเลส ประโยชน์ที่ผ่องแผ้วหรือประโยชน์อย่างยิ่ง ประโยชน์ทั้งหมดนั้นย่อม เป็นไปภายในพระพุทธญาณ พระญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ไม่ติดขัดในอดีต อนาคต ปัจจุบัน กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมทุกอย่าง ย่อมเป็นไปตามพระญาณของพระ ผู้มีพระภาคพุทธเจ้า บทธรรมที่ควรแนะนำมีอยู่เพียงใด พระญาณก็มีเพียงนั้น พระญาณมีอยู่เพียงใด บทธรรมที่ควรแนะนำก็มีเพียงนั้น พระญาณย่อมมีบทธรรม ที่ควรแนะนำเป็นส่วนสุดรอบ บทธรรมที่ควรแนะนำก็ย่อมมีพระญาณเป็นส่วน สุดรอบ พระญาณย่อมไม่เป็นไปเกินบทธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควร แนะนำก็มีอยู่ไม่เกินกว่าพระญาณ ธรรมเหล่านั้น ตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกัน และกัน เหมือนชั้นแห่งผอบ ๒ ชั้นทับกันสนิทพอดี ชั้นผอบด้านล่างก็ไม่เกิน ด้านบน ชั้นผอบด้านบนก็ไม่เกินด้านล่าง ชั้นผอบทั้ง ๒ ชั้นย่อมวางประกบกันที่ ส่วนสุดโดยรอบของกันและกันฉันใด บทธรรมที่ควรแนะนำ และพระญาณของพระ ผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ก็ตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกันฉันนั้นเหมือนกัน บท ธรรมที่ควรแนะนำมีอยู่เพียงใด พระญาณก็มีเพียงนั้น พระญาณมีอยู่เพียงใด บทธรรมที่ควรแนะนำก็มีเพียงนั้น พระญาณย่อมมีบทธรรมที่ควรแนะนำเป็นส่วน สุดรอบ บทธรรมที่ควรแนะนำก็ย่อมมีพระญาณเป็นส่วนสุดรอบ พระญาณย่อมไม่ เป็นไปเกินกว่าบทธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำก็มีอยู่ไม่เกิน กว่าพระญาณ ธรรมเหล่านั้น ย่อมตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน พระญาณ ของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ย่อมเป็นไปในธรรมทั้งปวง ธรรมทั้งปวงนับเนื่องด้วยความนึก นับเนื่องด้วยความหวัง นับเนื่องด้วย มนสิการ นับเนื่องด้วยจิตตุปบาทของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า พระญาณของ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าย่อมเป็นไปในสัตว์ทั้งปวง พระผู้มีพระภาคทรงทราบอัธยาศัย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๔๒๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส

อนุสัย จริต อธิมุตติของเหล่าสัตว์ทุกจำพวก ทรงรู้จักเหล่าสัตว์ผู้มีกิเลสดุจธุลีน้อย ในปัญญาจักขุ มีกิเลสดุจธุลีมากในปัญญาจักขุ มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ง่าย ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ยาก เป็นภัพพสัตว์ (ผู้สมควรบรรลุธรรม) เป็นอภัพพสัตว์ (ผู้ไม่สมควรบรรลุธรรม) โลกพร้อมทั้ง เทวโลก๑- มารโลก๒- พรหมโลก๓- หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็นไปภายในพระพุทธญาณ @เชิงอรรถ : @ เทวโลก ดูเชิงอรรถข้อ ๗/๓๖ @ มารโลก โลกคือมาร สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากที่หมายอันประเสริฐ สิ่งที่ล้างผลาญ @คุณความดีในโลกมี ๕ ได้แก่ @(๑) กิเลสมาร มารคือกิเลส กิเลสเป็นมาร เพราะเป็นตัวกำจัดขัดขวางความดี ทำให้สัตว์ประสบความ @พินาศทั้งในปัจจุบันและอนาคต @(๒) ขันธมาร มารคือเบญจขันธ์ หรือขันธ์ ๕ เป็นมาร เพราะเป็นสภาพอันปัจจัยปรุงแต่ง มีความขัดแย้ง @กันเองอยู่ภายใน ไม่มั่นคง เป็นภาระในการบริหาร ทั้งแปรปรวนเสื่อมโทรมไปเพราะชราพยาธิเป็นต้น @(๓) อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขาร อภิสังขารเป็นมาร เพราะเป็นตัวปรุงแต่งกรรม นำให้เกิดชาติ ชรา @เป็นต้น ขัดขวางมิให้หลุดพ้นไปจากสังสารทุกข์ @(๔) เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร เทพยิ่งใหญ่ระดับสูงสุดชั้นกามาวจรตนหนึ่ง คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้ง @บุคคลไว้มิให้ล่วงพ้นจากอำนาจครอบงำของตน โดยชักให้พะวงในกามสุขไม่หาญเสียสละออกไป @(๕) มัจจุมาร มารคือความตาย ความตายเป็นมาร เพราะเป็นตัวตัดโอกาสที่จะก้าวหน้าต่อไปในคุณ @ความดีทั้งหลาย (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา ๑/๑๔๔/๓๐๒) @ พรหมโลก โลกคือหมู่พรหม สวรรค์ชั้นพรหม ชั้นรูปพรหม ๑๖ ชั้น @ก. ปฐมฌานภูมิ ๓ (ระดับปฐมฌาน) ได้แก่ (๑) พรหมปาริสัชชา พวกบริษัทบริวารมหาพรหม @(๒) พรหมปุโรหิตา พวกปุโรหิตมหาพรหม (๓) มหาพรหมา พวกท้าวมหาพรหม @ข. ทุติยฌานภูมิ ๓ (ระดับทุติยฌาน) (๔) ปริตตาภา พวกมีรัศมีน้อย (๕) อัปปมาณาภา พวกมีรัศมี @ประมาณไม่ได้ (๖) อาภัสสรา พวกมีรัศมีสุกปลั่งซ่านไป @ค. ตติยฌานภูมิ ๓ (ระดับตติยฌาน) (๗) ปริตตสุภา พวกมีลำรัศมีงามน้อย (๘) อัปปมาณสุภา พวกมี @ลำรัศมีงามประมาณมิได้ (๙) สุภกิณหา พวกมีลำรัศมีงามกระจ่างจ้า @ง. จตุตถฌานภูมิ ๓-๗ (ระดับจตุตถฌาน) (๑๐) เวหัปผลา พวกมีผลไพบูลย์ (๑๑) อสัญญีสัตว์ @พวกสัตว์ไม่มีสัญญา @สุทธาวาส ๕ (พวกมีที่อยู่อันบริสุทธิ์ หรือ ที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์ คือที่เกิดของพระอนาคามี) @(๑๒) อวิหา เหล่าท่านผู้ไม่เสื่อมจากสมบัติของตน ผู้คงอยู่นาน @(๑๓) อตัปปา เหล่าท่านผู้ไม่ทำความเดือดร้อนแก่ใคร หรือผู้ไม่เดือดร้อนกับใคร @(๑๔) สุทัสสา เหล่าท่านผู้งดงามน่าทัศนา @(๑๕) สุทัสสี เหล่าท่านผู้มองเห็นชัดเจนดี หรือผู้มีทัศนาแจ่มชัด @(๑๖) อกนิฏฐา เหล่าท่านผู้ไม่มีความด้อยหรือเล็กน้อยกว่าใคร ผู้สูงสุด @(อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๑๐๒๔-๑๐๒๖/๖๗๑-๖๗๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๔๒๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส

ปลาและเต่าชนิดใดชนิดหนึ่ง รวมทั้งปลาติมิ ปลาติมิงคละและปลาติมิติ- มิงคละ๑- ย่อมเป็นไปอยู่ภายในมหาสมุทร ฉันใด โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็นไปภายใน พระญาณของพระพุทธเจ้า ฉันนั้นเหมือนกัน นกชนิดใดชนิดหนึ่ง รวมทั้งครุฑนาม ว่าเวนไตย ย่อมบินไปในห้วงแห่งอากาศ ฉันใด พระพุทธสาวกทั้งหลาย ผู้เสมอกับ พระสารีบุตรด้วยปัญญา ย่อมเป็นไปในส่วนแห่งพระพุทธญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน พระพุทธญาณย่อมแผ่ครอบคลุมปัญญาของเทวดาและมนุษย์อยู่ เหล่าบัณฑิตผู้เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นคหบดี เป็นสมณะ ผู้มีปัญญา ละเอียด รู้วาทะของผู้อื่น เหมือนนายขมังธนูสามารถยิงเนื้อทรายได้ ดุจจะเที่ยวทำ ลายทิฏฐิของผู้อื่นด้วยปัญญาตน บัณฑิตเหล่านั้นพากันปรุงแต่งปัญหา ย่อมเข้าไป เฝ้าพระตถาคต ทูลถามปัญหาที่ลี้ลับและปิดบัง ปัญหาเหล่านั้น ที่พระผู้มีพระภาค ทรงซักไซ้และตรัสแก้แล้ว เป็นปัญหามีเหตุให้ทรงแสดง บัณฑิตเหล่านั้นถูกดึงดูด ด้วยการวิสัชนาปัญหา จึงเลื่อมใสพระผู้มีพระภาค โดยที่แท้พระผู้มีพระภาคย่อม ทรงรุ่งเรืองยิ่งด้วยพระปัญญาในหมู่คนเหล่านั้น พระผู้มีพระภาค ชื่อว่ามีพระจักษุ แจ่มแจ้งด้วยปัญญาจักขุ เป็นอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยพุทธจักขุ เป็นอย่างไร คือ พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักขุ ได้ทรงเห็นสัตว์ ทั้งหลาย ผู้มีกิเลสดุจธุลีน้อยในปัญญาจักขุ ผู้มีกิเลสดุจธุลีมากในปัญญาจักขุ มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ง่าย ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ยาก บางพวกเป็นผู้เห็นโทษและภัยในปรโลกอยู่ก็มี บางพวกเป็น ผู้ไม่เห็นโทษและภัยในปรโลกอยู่ก็มี เหมือนในกอบัวเขียว ในกอบัวแดง หรือในกอ บัวขาว ดอกบัวเขียว ดอกบัวแดง หรือดอกบัวขาว บางเหล่าเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ขึ้นตามน้ำ จมอยู่ในน้ำและน้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกบัวเขียว ดอกบัวแดง หรือดอก บัวขาว บางเหล่าเกิดในน้ำ เจริญในน้ำตั้งอยู่เสมอผิวน้ำ ดอกบัวเขียว ดอกบัวแดง หรือดอกบัวขาว บางเหล่าเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ โผล่ขึ้นพ้นระดับน้ำ น้ำไม่ติดเปื้อน @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถข้อ ๖๙/๒๑๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๔๒๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส

อยู่เลย ฉันใด พระผู้มีพระภาค เมื่อทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักขุ ได้ทรงเห็นสัตว์ ทั้งหลายผู้มีกิเลสดุจธุลีน้อยในปัญญาจักขุ ผู้มีกิเลสดุจธุลีมากในปัญญาจักขุ มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ง่าย ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ยาก บางพวกเป็นผู้เห็นโทษและภัยในปรโลกอยู่ก็มี บางพวกเป็นผู้ ไม่เห็นโทษและภัยในปรโลกอยู่ก็มี ฉันนั้นเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “บุคคลนี้มีราคจริต บุคคลนี้มีโทสจริต บุคคลนี้มีโมหจริต บุคคลนี้มีวิตกจริต บุคคลนี้มีสัทธาจริต บุคคลนี้มีญาณจริต” พระผู้มีพระภาคย่อมตรัสอสุภกถาแก่ บุคคลราคจริต ตรัสการเจริญเมตตาแก่บุคคลโทสจริต ย่อมทรงแนะนำบุคคล โมหจริตให้ดำรงอยู่ในการเล่าเรียน การไต่ถาม การฟังธรรมตามกาล การสนทนา ธรรมตามกาล การอยู่ร่วมกับครู ย่อมตรัสอานาปานสติแก่บุคคลวิตกจริต ตรัสบอก นิมิตที่น่าเลื่อมใส ความตรัสรู้ชอบของพระพุทธเจ้า ความเป็นธรรมดีแห่งพระธรรม การปฏิบัติชอบของพระสงฆ์ และศีลของตนแก่บุคคลสัทธาจริต ย่อมตรัสนิมิตแห่ง วิปัสสนา มีอาการไม่เที่ยง มีอาการเป็นทุกข์ มีอาการเป็นอนัตตาแก่บุคคลญาณจริต (สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้มีปัญญาดี มีสมันตจักขุ บุรุษผู้ยืนอยู่บนยอดภูเขาศิลาล้วน พึงเห็นหมู่ชนได้โดยรอบ แม้ฉันใด พระองค์ผู้หมดความโศกแล้ว โปรดเสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรม จักได้เห็นหมู่ชนผู้ตกอยู่ในความเศร้าโศก และถูกชาติชราครอบงำได้ชัดเจน ฉันนั้น๑- พระผู้มีพระภาค ชื่อว่ามีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยพุทธจักขุ เป็นอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยสมันตจักขุ เป็นอย่างไร คือ พระสัพพัญญุตญาณ ตรัสเรียกว่า สมันตจักขุ พระผู้มีพระภาคทรงประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมแล้ว ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ (สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า) @เชิงอรรถ : @ วิ.ม. ๔/๘/๘, ที.ม. ๑๐/๗๐/๓๔, ม.มู. ๑๒/๒๘๒/๒๔๓, ม.ม. ๑๓/๓๓๘/๓๒๐, สํ.ส. ๑๕/๑๗๒/๑๖๕-๑๖๖, @ขุ.จู. ๓๐/๘๕/๑๘๒-๑๘๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๔๓๐}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๙ หน้าที่ ๔๒๔-๔๓๐. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=29&page=424&pages=7&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=29&A=12591 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=29&A=12591#p424 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 29 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29



จบการแสดงผล หน้าที่ ๔๒๔-๔๓๐.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]