ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย มหานิทเทส

หน้าที่ ๔๓๙-๔๔๐.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส

ภิกษุไม่เป็นผู้มีตาลอกแลก เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าสู่ละแวกบ้าน เดินทางไปตามถนน ก็เดินอย่าง สำรวม ไม่มองช้าง ไม่มองม้า ไม่มองรถ ไม่มองพลเดินเท้า ไม่มองสตรี ไม่มอง บุรุษ ไม่มองเด็กชาย ไม่มองเด็กหญิง ไม่มองร้านตลาด ไม่มองหน้ามุขเรือน ไม่มองสูง ไม่มองต่ำ ไม่มองทิศน้อยทิศใหญ่ ภิกษุชื่อว่าไม่เป็นผู้มีตาลอกแลก เป็นอย่างนี้บ้าง อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อ สำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและ โทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุชื่อว่า ไม่เป็นผู้มีตาลอกแลก เป็นอย่างนี้บ้าง อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้งดเว้นจากความขวนขวายในการดูการละเล่นอันเป็น ข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ เหมือนอย่างสมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกบริโภคอาหาร ที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ก็ไม่พากันขวนขวายดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เห็นปานนี้อยู่ คือ การฟ้อน การขับร้อง การประโคมดนตรี การดูมหรสพ การเล่า นิทาน... ภิกษุชื่อว่าไม่เป็นผู้มีตาลอกแลก เป็นอย่างนี้บ้าง คำว่า ภิกษุไม่พึงเป็นผู้มีตาลอกแลก อธิบายว่า พึงละ บรรเทา ทำให้หมด สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความเป็นผู้มีตาลอกแลก คือ พึงเป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นผู้มีตาลอกแลก มีใจเป็น อิสระ(จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า ภิกษุไม่พึงเป็นผู้มีตาลอกแลก คำว่า พึงป้องกันหูมิให้ได้ยินคามกถา อธิบายว่า เดรัจฉานกถา๑- ๓๒ อย่าง ตรัสเรียกว่า คามกถา คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องยาน เรื่องที่นอน เรื่องระเบียบ ดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องเมือง เรื่องชนบท เรื่อง @เชิงอรรถ : @ เดรัจฉานกถา คือถ้อยคำอันขวางทางไปสู่สวรรค์ นิพพาน หมายถึงเรื่องราวที่ภิกษุไม่ควรนำมาเป็นข้อ @ถกเถียงสนทนากัน โดยไม่เกี่ยวกับการพิจารณาสั่งสอนแนะนำทางธรรม อันทำให้คิดฟุ้งเฟ้อและพากัน @หลงเพลินเสียเวลา เสียกิจหน้าที่ที่พึงปฏิบัติตามธรรม (ที.สี.อ. ๑๗/๘๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๔๓๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส

สตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม คำว่า พึงป้องกันหูมิให้ได้ยินคามกถา อธิบายว่า พึงป้องกัน คือ ห้าม กั้น รักษา คุ้มครอง ปิด ตัดขาดหูมิให้ได้ยินคามกถา รวมความว่า พึงป้องกันหูมิให้ได้ ยินคามกถา คำว่า รส ในคำว่า ไม่พึงติดใจในรส ได้แก่ รสจากราก รสจากลำต้น รสจาก เปลือก รสจากใบ รสจากดอก รสจากผล รสเปรี้ยว รสหวาน รสขม รสเผ็ด รสเค็ม รสปร่า รสเฝื่อน รสฝาด รสอร่อย รสไม่อร่อย รสเย็น รสร้อน สมณพราหมณ์ บางพวก ยินดีในรส สมณพราหมณ์เหล่านั้นเที่ยวแสวงหารสเลิศด้วยปลายลิ้น ได้ รสเปรี้ยวแล้วก็แสวงหารสไม่เปรี้ยว ได้รสไม่เปรี้ยวแล้วก็แสวงหารสเปรี้ยว... ได้ของ เย็นแล้วก็แสวงหาของร้อน ได้ของร้อนแล้วก็แสวงหาของเย็น สมณพราหมณ์เหล่า นั้นได้รสใดๆ แล้วก็ไม่ยินดีด้วยรสนั้นๆ ยังแสวงหารสอื่นๆ ต่อไปอีก เป็นผู้กำหนัด ยินดี ติดใจ สยบ หมกมุ่น เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในรสที่ชอบใจ ตัณหาในรสนี้ ภิกษุใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว... เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ภิกษุนั้นพิจารณาแล้ว โดยแยบคาย จึงฉันอาหาร มิใช่เพื่อเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อตบแต่ง มิใช่เพื่อ ประดับ แต่ฉันเพียงเพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ เพื่อให้ร่างกายนี้ดำเนินไปได้ เพื่อขจัด ความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์อย่างเดียวเท่านั้น ด้วยตั้งใจว่า... และ อยู่สบายได้ด้วยวิธีการอย่างนี้ คนทาแผลเพียงเพื่อปลูกเนื้อเยื่อ หยอดเพลาเพียงเพื่อจะขนภาระไป หรือ กินอาหารที่ปรุงจากเนื้อบุตรเพียงเพื่อจะเดินทางออกจากทางกันดารให้พ้นเท่านั้น ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ฉันอาหาร มิใช่เพื่อเล่น... ความไม่มีโทษ และอยู่สบายได้ด้วยวิธีการอย่างนี้ ย่อมละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งตัณหาในรส เป็นผู้งดแล้ว งดเว้นแล้ว เว้นขาดแล้ว ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้วกับตัณหาในรส มีใจเป็นอิสระ(จาก กิเลส) อยู่ รวมความว่า ไม่พึงติดใจในรส คำว่า และไม่พึงยึดถืออะไรๆ ในโลกว่าเป็นของเรา อธิบายว่า คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา ๒ อย่าง คือ (๑) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือว่าเป็นของเรา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๔๔๐}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๙ หน้าที่ ๔๓๙-๔๔๐. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=29&page=439&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=29&A=13061 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=29&A=13061#p439 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 29 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29



จบการแสดงผล หน้าที่ ๔๓๙-๔๔๐.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]