ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย มหานิทเทส

หน้าที่ ๔๙๒-๔๙๓.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

คำว่า ที่เห็นได้ยาก ในคำว่า ที่เห็นได้ยากอันอาศัยหทัย ได้แก่ เห็นได้ยาก คือ มองเห็นได้ยาก แลเห็นได้ยาก รู้ได้ยาก ตามรู้ได้ยาก แทงตลอดได้ยาก รวมความว่า ที่เห็นได้ยาก คำว่า อันอาศัยหทัย อธิบายว่า จิตตรัสเรียกว่า หทัย ได้แก่ จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ๑- ที่เกิดจากวิญญาณขันธ์นั้น คำว่า อันอาศัยหทัย อธิบายว่า อันอาศัยหทัย คือ อันอาศัยจิต อาศัยอยู่ ในจิต ไปร่วมกัน เกิดร่วมกัน เกี่ยวข้องกัน ประกอบร่วมกัน เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีวัตถุเดียวกัน มีอารมณ์เดียวกับจิต รวมความว่า ที่เห็นได้ยากอัน อาศัยหทัย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เพราะเห็นสัตว์มีที่สิ้นสุดและถูกสกัดกั้น ความไม่ยินดีจึงมีแก่เรา อนึ่ง เราได้เห็นลูกศร ที่เห็นได้ยาก อันอาศัยหทัยในสัตว์เหล่านี้แล้ว [๑๗๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) สัตว์ถูกลูกศรใดปักติดแล้ว วิ่งพล่านไปทุกทิศทาง เพราะถอนลูกศรนั้นได้แล้ว จึงไม่ต้องวิ่งพล่าน ไม่ต้องล่มจม
ว่าด้วยลูกศร ๗ ชนิด
คำว่า สัตว์ถูกลูกศรใดปักติดแล้ว วิ่งพล่านไปทุกทิศทาง อธิบายว่า คำว่า ลูกศร ได้แก่ ลูกศร ๗ ชนิด คือ ๑. ลูกศรคือราคะ ๒. ลูกศรคือโทสะ ๓. ลูกศรคือโมหะ ๔. ลูกศรคือมานะ ๕. ลูกศรคือทิฏฐิ ๖. ลูกศรคือโสกะ ๗. ลูกศรคือความสงสัย @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถข้อ ๑/๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๔๙๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

ลูกศรคือราคะ เป็นอย่างไร คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ความคล้อยตามอารมณ์ ความยินดี ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยความเพลิดเพลิน ความกำหนัดนักแห่งจิต... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ นี้ชื่อว่าลูกศรคือราคะ ลูกศรคือโทสะ เป็นอย่างไร คือ ความอาฆาตเกิดขึ้นว่า “ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา... ผู้นี้กำลัง ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา... ผู้นี้จักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา”... ความดุร้าย ความปลูกน้ำตา (ความเพาะวาจาชั่ว) ความไม่เบิกบานแห่งจิต นี้ชื่อว่าลูกศรคือโทสะ ลูกศรคือโมหะ เป็นอย่างไร คือ ความไม่รู้ในทุกข์... ความไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ความไม่รู้ในส่วน เบื้องต้น ความไม่รู้ในส่วนเบื้องปลาย ความไม่รู้ทั้งในส่วนเบื้องต้นและส่วนเบื้องปลาย ความไม่รู้ในธรรมทั้งหลายที่อาศัยกันเกิดขึ้น คือ ความที่ปฏิจจสมุปบาทมีอวิชชานี้ เป็นปัจจัย ความไม่เห็น ไม่ตรัสรู้ ไม่ตรัสรู้ตาม ไม่ตรัสรู้ชอบ ไม่แทงตลอด ไม่ถือ เหตุด้วยดี ไม่หยั่งลงถึงเหตุ ไม่เพ่งพินิจ ไม่พิจารณา ไม่ทำให้ประจักษ์ ไม่ผ่องแผ้ว ความเป็นคนโง่ ความหลง ลุ่มหลง หลงใหล อวิชชา โอฆะคืออวิชชา โยคะคืออวิชชา อนุสัยคืออวิชชา ปริยุฏฐานคืออวิชชา ลิ่มคืออวิชชา อกุศลมูลคือโมหะเห็นปานนี้ นี้ชื่อว่าลูกศรคือโมหะ ลูกศรคือมานะ เป็นอย่างไร คือ ความถือตัวว่าเราเลิศกว่าเขา ความถือตัวว่าเราเสมอเขา ความถือตัวว่า เราด้อยกว่าเขา ความถือตัว กิริยาที่ถือตัว ภาวะที่ถือตัว ความลำพองตน ความ ทะนงตน ความเชิดชูตนเป็นดุจธง ความเห่อเหิม ความที่จิตต้องการเชิดชูตนเป็นดุจ ธงเห็นปานนี้ นี้ชื่อว่าลูกศรคือมานะ ลูกศรคือทิฏฐิ เป็นอย่างไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๔๙๓}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๙ หน้าที่ ๔๙๒-๔๙๓. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=29&page=492&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=29&A=14643 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=29&A=14643#p492 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 29 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29



จบการแสดงผล หน้าที่ ๔๙๒-๔๙๓.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]