ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย มหานิทเทส

หน้าที่ ๕๐๘-๕๑๐.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

คำว่า ไม่พึงทำความเสน่หาในรูป อธิบายว่า คำว่า รูป ได้แก่ มหาภูตรูป๑- ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ คำว่า ไม่พึงทำความเสน่หาในรูป อธิบายว่า ไม่พึงทำความเสน่หา คือ ไม่พึงทำความพอใจ ไม่พึงทำความรัก ไม่พึงทำ ได้แก่ ไม่พึงให้เกิด ไม่พึงให้เกิดขึ้น ไม่พึงให้บังเกิด ไม่พึงให้บังเกิดขึ้นซึ่งความกำหนัดในรูป รวมความว่า ไม่พึงทำ ความเสน่หาในรูป
ว่าด้วยความถือตัวมีนัยต่างๆ
คำว่า ความถือตัว ในคำว่า พึงกำหนดรู้ความถือตัว อธิบายว่า ความถือตัว นัยเดียว คือ ความที่จิตใฝ่สูง ความถือตัว ๒ นัย คือ ๑. การยกตน ๒. การข่มผู้อื่น ความถือตัว ๓ นัย คือ ๑. ความถือตัวว่า เราเลิศกว่าเขา ๒. ความถือตัวว่า เราเสมอเขา ๓. ความถือตัวว่า เราด้อยกว่าเขา ความถือตัว ๔ นัย คือ ๑. เกิดความถือตัวเพราะลาภ ๒. เกิดความถือตัวเพราะยศ ๓. เกิดความถือตัวเพราะสรรเสริญ ๔. เกิดความถือตัวเพราะความสุข ความถือตัว ๕ นัย คือ ๑. เกิดความถือตัวว่าเราได้รูปที่ถูกใจ ๒. เกิดความถือตัวว่าเราได้เสียงที่ถูกใจ ๓. เกิดความถือตัวว่าเราได้กลิ่นที่ถูกใจ ๔. เกิดความถือตัวว่าเราได้รสที่ถูกใจ ๕. เกิดความถือตัวว่าเราได้โผฏฐัพพะที่ถูกใจ @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถข้อ ๑๐/๕๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๐๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

ความถือตัว ๖ นัย คือ ๑. เกิดความถือตัวเพราะมีตาสมบูรณ์ ๒. เกิดความถือตัวเพราะมีหูสมบูรณ์ ๓. เกิดความถือตัวเพราะมีจมูกสมบูรณ์ ๔. เกิดความถือตัวเพราะมีลิ้นสมบูรณ์ ๕. เกิดความถือตัวเพราะมีกายสมบูรณ์ ๖. เกิดความถือตัวเพราะมีใจสมบูรณ์ ความถือตัว ๗ นัย คือ ๑. ความดูหมิ่น ๒. ความดูหมิ่นด้วยอำนาจความถือตัว ๓. ความถือตัวว่าเราด้อยกว่าเขา ๔. ความถือตัวว่าเราเสมอเขา ๕. ความถือตัวว่าเราเลิศกว่าเขา ๖. ความถือเราถือเขา ๗. ความถือตัวผิดๆ ความถือตัว ๘ นัย คือ ๑. เกิดความถือตัวเพราะได้ลาภ ๒. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะเสื่อมลาภ ๓. เกิดความถือตัวเพราะมียศ ๔. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะเสื่อมยศ ๕. เกิดความถือตัวเพราะสรรเสริญ ๖. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะถูกนินทา ๗. เกิดความถือตัวเพราะความสุข ๘. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะความทุกข์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๐๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส

ความถือตัว ๙ นัย คือ ๑. เป็นผู้เลิศกว่าเขาถือตัวว่าเลิศกว่าเขา ๒. เป็นผู้เลิศกว่าเขาถือตัวว่าเสมอเขา ๓. เป็นผู้เลิศกว่าเขาถือตัวว่าด้อยกว่าเขา ๔. เป็นผู้เสมอเขาถือตัวว่าเลิศกว่าเขา ๕. เป็นผู้เสมอเขาถือตัวว่าเสมอเขา ๖. เป็นผู้เสมอเขาถือตัวว่าด้อยกว่าเขา ๗. เป็นผู้ด้อยกว่าเขาถือตัวว่าเลิศกว่าเขา ๘. เป็นผู้ด้อยกว่าเขาถือตัวว่าเสมอเขา ๙. เป็นผู้ด้อยกว่าเขาถือตัวว่าด้อยกว่าเขา ความถือตัว ๑๐ นัย คือ คนบางคนในโลกนี้ ๑. เกิดความถือตัวเพราะชาติ ๒. เกิดความถือตัวเพราะโคตร... (๑๐) ... หรือเกิดความถือตัว เพราะสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้ว๑- ความถือตัว กริยาที่ถือตัว ภาวะที่ถือตัว ความลำพองตน ความทะนงตน ความเชิดชูตนเป็นดุจธง ความเห่อเหิม ความที่จิตต้องการเชิดชูตนเป็นดุจธงเห็น ปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความถือตัว คำว่า พึงกำหนดรู้ความถือตัว อธิบายว่า พึงกำหนดรู้ความถือตัวด้วย ปริญญา ๓ คือ ๑. ญาตปริญญา ๒. ตีรณปริญญา ๓. ปหานปริญญา ญาตปริญญา เป็นอย่างไร คือ นรชนรู้จักความถือตัว คือ รู้เห็นว่า นี้ความถือตัวนัยเดียว คือ ความที่จิต ใฝ่สูง นี้ความถือตัว ๒ นัย คือ (๑) การยกตน (๒) การข่มผู้อื่น ... นี้ ความถือตัว ๑๐ นัย คนบางคนในโลกนี้ (๑) เกิดความถือตัวเพราะชาติ (๒) เกิดความถือตัว @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๒๑/๙๔-๙๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๕๑๐}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๙ หน้าที่ ๕๐๘-๕๑๐. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=29&page=508&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=29&A=15121 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=29&A=15121#p508 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 29 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29



จบการแสดงผล หน้าที่ ๕๐๘-๕๑๐.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]