ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย มหานิทเทส

หน้าที่ ๖๑๐.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

                                                                 ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส

[๒๐๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) ภิกษุผู้ถูกตักเตือนด้วยวาจา พึงมีสติชื่นชม ทำลายความกระด้างในเพื่อนพรหมจารี พึงเปล่งวาจาเป็นกุศล ไม่พึงเปล่งวาจาเกินขอบเขต ไม่พึงคิดหาเรื่องที่จะว่ากล่าวคน คำว่า ผู้ถูกตักเตือน ในคำว่า ภิกษุผู้ถูกตักเตือนด้วยวาจา พึงมีสติชื่นชม อธิบายว่า อุปัชฌาย์ อาจารย์ ผู้ร่วมอุปัชฌาย์ ผู้ร่วมอาจารย์ มิตร เพื่อนเห็น เพื่อนคบ หรือสหายตักเตือนว่า “ผู้มีอายุ การกระทำของท่านนี้ไม่ควร การกระทำนี้ ยังไม่ถึงแก่ท่าน การกระทำของท่านนี้ ไม่สมควร การกระทำของท่านนี้ ไม่ เหมาะสม” ก็พึงมีสติ พอใจ ชอบใจ เบิกบานใจ อนุโมทนา ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังคำตักเตือนนั้น เปรียบเหมือน สตรีหรือบุรุษที่ยังหนุ่ม ยังสาว ชอบแต่งตัว อาบน้ำดำหัวแล้ว ได้มาลัยดอกบัว มาลัยดอกมะลิ หรือมาลัยดอก ลำดวน ก็ใช้ ๒ มือรับไว้ เอาขึ้นวางไว้บนศีรษะซึ่งเป็นอวัยวะสูงสุด พึงพอใจ ชอบใจ เบิกบานใจ อนุโมทนา ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง ฉันใด ภิกษุผู้ถูกตักเตือนนั้นก็พึงมีสติ พอใจ ชอบใจ เบิกบานใจ อนุโมทนา ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังคำตักเตือนนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน (สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า) บุคคลพึงเห็นผู้มีปัญญามักชี้โทษ มักพูดปรามไว้ เหมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ (และ)พึงคบผู้ที่เป็นบัณฑิตเช่นนั้น เพราะเมื่อคบคนเช่นนั้น ย่อมมีแต่ความเจริญไม่มีความเสื่อมเลย ผู้ใดพึงกล่าวสอน พร่ำสอน และห้ามจากความชั่ว ผู้นั้นย่อมเป็นที่รักของสัตบุรุษทั้งหลาย แต่ไม่เป็นที่รักของอสัตบุรุษทั้งหลาย๑- @เชิงอรรถ : @ ขุ.เถร.(แปล) ๒๖/๙๙๓-๙๙๔/๕๐๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๖๑๐}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๙ หน้าที่ ๖๑๐. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=29&page=610&pages=1&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=29&A=18160 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=29&A=18160#p610 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 29 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29



จบการแสดงผล หน้าที่ ๖๑๐.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]