ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๑

หน้าที่ ๔๐-๔๑.


                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

                                                                 ๘. มารกถา

ในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระองค์” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า “ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้น หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้น ด้วย ธรรมีกถา เมื่อทรงประทานโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถาอยู่ จิตของภิกษุ เหล่านั้น ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ในโลก ๖๑ รูป
บรรพชากถา จบ
๘. มารกถา
ว่าด้วยมาร
เรื่องส่งพระอรหันต์ ๖๐ รูป ไปประกาศศาสนา
[๓๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งกับภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วง๑- ทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้พวกเธอ ก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ อย่าไปโดยทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน สัตว์ ทั้งหลายที่มีธุลีในตาน้อย มีอยู่ ย่อมเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม จักมีผู้รู้ธรรม ภิกษุ ทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม” @เชิงอรรถ : @ บ่วง ในที่นี้ หมายถึง โลภะ (วิ.อ. ๓/๓๒/๑๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๔๐}

                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

                                                                 ๘. มารกถา

เรื่องมาร
[๓๓] ครั้งนั้น มารผู้มีบาปได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเป็นคาถาความว่า “ท่านได้ถูกบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์๑- คล้องไว้แล้ว ท่านได้ถูกผูกด้วยเครื่องพันธนาการมากมาย แน่ะท่านสมณะ ท่านไม่พ้นจากเราได้” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “เราได้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เราได้พ้นแล้วจากเครื่องพันธนาการมากมาย แน่ะมารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว” มารกราบทูลว่า “บ่วง นี้เที่ยวไปในอากาศ มีในใจ สัญจรไปอยู่ เราจักคล้องท่านด้วยบ่วงนั้น แน่ะสมณะ ท่านไม่พ้นจากเราได้”๒- พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เราปราศจากความพอใจในอารมณ์เหล่านี้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นที่รื่นรมย์ใจ แน่ะมารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว”๓- ขณะนั้น มารผู้มีบาปทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้ จักเรา” มีทุกข์ เสียใจ ได้หายไป ณ ที่นั้น
มารกถา จบ
@เชิงอรรถ : @ บ่วงทิพย์ บ่วงมนุษย์ คือบ่วงกิเลสที่เป็นทิพพกามคุณและกามคุณของมนุษย์ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๓๓/๒๔๔) @๒-๓ สํ.ส. ๑๕/๑๕๑/๑๓๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๔๑}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๔๐-๔๑. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=4&page=40&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=4&A=1138 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=4&A=1138#p40 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 4 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_4 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu4 https://84000.org/tipitaka/english/?index_4



จบการแสดงผล หน้าที่ ๔๐-๔๑.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]