ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๒

หน้าที่ ๑๒๙-๑๓๒.


                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

                                                                 ๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ

เปรียง เนยข้น และเนยใส ภิกษุทั้งหลาย หนทางกันดาร อัตคัดน้ำ อัตคัด อาหารมีอยู่ ภิกษุไม่มีเสบียงเดินทางไป ต้องลำบาก เราอนุญาตให้แสวงหาเสบียงได้ คือ ผู้ต้องการข้าวสารพึงแสวงหาข้าวสาร ผู้ต้องการถั่วเขียวพึงแสวงหาถั่วเขียว ผู้ต้องการถั่วราชมาสพึงแสวงหาถั่วราชมาส ผู้ต้องการเกลือพึงแสวงหาเกลือ ผู้ ต้องการน้ำอ้อยงบพึงแสวงหาน้ำอ้อยงบ ผู้ต้องการน้ำมันพึงแสวงหาน้ำมัน ผู้ ต้องการเนยใสพึงแสวงหาเนยใส ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายที่ศรัทธาเลื่อมใส มอบเงินและทองไว้แก่กัปปิยการกกล่าวว่า ‘สิ่งใดควรแก่พระคุณเจ้า จงถวายสิ่งนั้น จากกัปปิยภัณฑ์นี้’ ดังนี้ก็มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดควรจากกัปปิยภัณฑ์นั้น เรา อนุญาตให้ยินดีสิ่งนั้นได้ แต่เราไม่ได้กล่าวว่า “ภิกษุพึงยินดีและแสวงหาทองและเงิน ไม่ว่ากรณีใดๆ”
๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ
ว่าด้วยเกณิยชฎิลถวายน้ำอัฏฐบาน๑-
[๓๐๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงอาปณนิคม เกณิยชฎิลได้ทราบข่าวว่า “พระสมณโคดมผู้ศากยบุตร เสด็จออกผนวชจาก ศากยตระกูล เสด็จถึงอาปณนิคมแล้ว ท่านพระโคดมผู้เจริญนั้น มีกิตติศัพท์ อันงามขจรไป อย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วย พระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถี ฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค‘๒- พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ด้วย พระองค์เองแล้ว จึงทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น @เชิงอรรถ : @ อัฏฐบาน คือ น้ำดื่ม ๘ ชนิด (ดูหน้า ๑๓๑) @ ดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๑/๑-๒ (เชิงอรรถ) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๒๙}

                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

                                                                 ๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ

มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อม ทั้งอรรถและพยัญชนะบริบูรณ์ บริสุทธิ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลาย เช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง” ครั้งนั้น เกณิยชฎิลได้มีความคิดดังนี้ว่า “เราจะนำอะไรหนอไปถวายพระสมณ โคดม” ได้มีความคิดดังนี้ว่า “พวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ คือ ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษีวามเทวะ ฤๅษีเวสสามิตตะ ฤๅษียมตัคคิ ฤๅษีอังคีรส ฤๅษีภารทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ ฤๅษีกัสสปะ ฤๅษีภคุ ซึ่งเป็นผู้แต่งมนต์ สอนมนต์ ที่พวกพราหมณ์ในเวลานี้สวด สอนซึ่งบทมนต์เก่าที่ท่านสวด สอนรวบรวมไว้ สอนได้ถูกต้องตามที่ท่านสอนไว้ บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านบอกไว้๑- ฤๅษีเหล่านั้น เป็นผู้ไม่ฉันอาหารในราตรี งดฉันในเวลาวิกาล ฤๅษีเหล่านั้นยินดีน้ำดื่มอย่างนี้ แม้พระสมณโคดมก็ไม่ฉันอาหารในราตรี งดฉันในเวลาวิกาล ก็น่าจะยินดีน้ำดื่มอย่าง นี้บ้าง” แล้วสั่งให้เตรียมน้ำดื่มเป็นอันมากให้คนหาบไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ ประทับ ครั้นถึงแล้วได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็น ที่ระลึกถึงกันและกันแล้วได้ยืน ณ ที่สมควร เกณิยชฎิลผู้ยืน ณ ที่สมควรได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระโคดม โปรดรับน้ำดื่มของข้าพระองค์ด้วยเถิด” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เกณิยะ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมรับประเคน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด” ครั้งนั้น เกณิยชฎิลได้นำน้ำดื่มมากมายประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็น ประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ห้ามภัตตาหารแล้ว ทรงละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร @เชิงอรรถ : @ ดู ที.สี. (แปล) ๙/๕๒๖/๒๓๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๓๐}

                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

                                                                 ๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ

พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เกณิยะเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจ ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ลำดับนั้น เกณิยชฎิลผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยาก รับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมกับภิกษุสงฆ์ทรงรับ ภัตตาหารของข้าพระองค์เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เกณิยะ ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป และท่านเองก็เลื่อมใสยิ่งนักในหมู่พราหมณ์” แม้ครั้งที่ ๒ เกณิยชฎิลก็กราบทูลนิมนต์ว่า “พระโคดมผู้เจริญ แม้ภิกษุ สงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป และข้าพระองค์ เลื่อมใสยิ่งนักในหมู่พราหมณ์ ก็จริง ถึงกระนั้น ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมกับภิกษุสงฆ์ทรงรับภัตตาหารของ ข้าพระองค์เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด” พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ ครั้งนั้น เกณิยชฎิลทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว ได้ลุกจาก อาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป
ทรงอนุญาตน้ำอัฏฐบาน
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอัฏฐบาน คือ ๑. น้ำมะม่วง ๒. น้ำหว้า ๓. น้ำกล้วยมีเมล็ด ๔. น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด ๕. น้ำมะซาง ๖. น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น ๗. น้ำเหง้าบัว ๘. น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๓๑}

                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

                                                                 ๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ

ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก ภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต น้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะซาง ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอ้อยสด” คืนนั้น เกณิยชฎิลให้เตรียมโภชนาหารอันประณีตที่อาศรมของตนแล้วให้คนไป กราบทูลภัตกาลพระผู้มีพระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหาร เสร็จแล้ว” ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตร และจีวร เสด็จไปที่อาศรมของเกณิยชฎิล ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวายพร้อม ด้วยภิกษุสงฆ์ เกณิยชฎิลได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มี พระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานด้วยมือของตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ห้ามภัตตาหารแล้ว ทรงละพระหัตถ์จากบาตรแล้ว จึงนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิลด้วยพระคาถานี้ว่า ยัญพิธีมีการบูชาไฟเป็นประธาน สาวิตตีฉันท์เป็นประธานของพระเวท๑- พระเจ้าแผ่นดินเป็นประธานของประชาราษฎร์ มหาสมุทรเป็นประธานของแม่น้ำ ดวงจันทร์เป็นประธานแห่งดาวนักษัตร ดวงอาทิตย์เป็นประธานแห่งสิ่งที่ร้อน ฉันใด พระสงฆ์ก็เป็นประธานของทายกผู้มุ่งบุญถวายทานอยู่ ฉันนั้น ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคครั้นทรงอนุโมทนาเกณิยชฎิลเสร็จ จึงทรงลุกจาก อาสนะแล้วเสด็จกลับ @เชิงอรรถ : @ พวกพราหมณ์เมื่อจะสวดสาธยายพระเวท ย่อมสวดสาวิตตีฉันท์ก่อน ฉันท์นี้จึงชื่อว่าเป็นบทนำ เป็นบท @เริ่มต้นแห่งพระเวท (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๓๐๐/๔๐๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๓๒}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๑๒๙-๑๓๒. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=5&page=129&pages=4&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=5&A=3455 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=5&A=3455#p129 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 5 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_5 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu5 https://84000.org/tipitaka/english/?index_5



จบการแสดงผล หน้าที่ ๑๒๙-๑๓๒.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]